ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ไร่กำนันเยื่อ สวนอินทผลัมน้องใหม่แห่งเมืองกาญจน์ เจ้าของเป็นหนุ่มแบงค์ ผู้หลงใหลในงานด้านเกษตร ใช้ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ขับรถจากกรุงเทพฯ ไปเมืองกาญจน์ เพื่อไปดูแลสวนอินทผลัมที่ตนเองรัก จากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 4 ปี ที่หนุ่มแบงค์คนนี้เดินบนเส้นทางสายเกษตร มุ่งมั่นตั้งใจ จนสามารถสร้างผลผลิตออกมาได้อย่างงดงาม และในปีนี้แอบได้ยินมาว่า ผลผลิตที่สวนออกมาเยอะ คุณภาพแน่น มีจุดเด่นที่สายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน ที่มีรสชาติหวาน กรอบ ไม่มีรสฝาด กับอีกพันธุ์น้องใหม่ที่ยังไม่มีใครได้ลองชิมคือ สายพันธุ์อัสซัน ในประเทศไทยเพิ่งมีการนำเข้าได้ 2 ปีที่แล้ว ปีนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ทุกสวนที่ปลูก และผู้บริโภคจะได้ลิ้มรสชาติของอินทผลัมสายพันธุ์อัสซันเป็นครั้งแรกในเมืองไทยไปพร้อมกัน ที่ไร่กำนันเยื่อ
คุณอนุกูล วิเศษสิงห์ หรือ พี่เต๋ สวนอยู่ที่ไร่กำนันเยื่อ หมู่ที่ 17 บ้านหนองสำโรง ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี หนุ่มแบงค์ สวมบทบาทเป็นเกษตรกรวันหยุด เนรมิตสวนอินทผลัมที่เมืองกาญจน์ บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ สร้างจุดเด่นด้วยการปลูกอินทผลัมสายพันธุ์ที่แปลกใหม่ หารับประทานได้ยาก มีอยู่ 3 สายพันธุ์หลักด้วยกัน คือ
- สายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน มีจุดเด่นที่รสชาติหวาน กรอบ ไม่มีรสฝาด หรือที่หลายคนให้คำจำกัดว่า รสชาติคล้ายน้ำผึ้งเดือนห้า สีของผลเป็นสีโอลด์โรส และเป็นพันธุ์ที่ยังปลูกน้อยในประเทศไทย เนื่องจากเป็นต้นพันธุ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ค่อนข้างมีต้นทุนที่สูง
- สายพันธุ์บาร์ฮี มีจุดเด่นที่รสชาติหวาน กรอบ ลูกใหญ่ สีผลเป็นสีเหลือง ผสมเกสรติดง่าย หาซื้อง่าย มีวางขายตามห้างร้านชั้นนำทั่วไป
- สายพันธุ์อัสซัน เป็นอินทผลัมสายพันธุ์น้องใหม่ที่ประเทศไทยเพิ่งมีการนำเข้ามาปลูกได้ประมาณ 2 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นทุกสวนยังไม่มีใครเคยเห็นผลสด และชิมรสชาติว่าเป็นอย่างไร เห็นแต่เพียงในรูปภาพที่มีลักษณะสีของผลเป็นสีน้ำตาล ซึ่งในปีนี้ช่วงประมาณเดือนมิถุนายน ผลผลิตจะออกมาให้ได้เห็นกันเป็นครั้งแรก พร้อมๆ กันทั่วทั้งประเทศ ท่านใดสนใจทดลองชิม ที่ไร่กำนันเยื่อยินดี
โดยอินทผลัมทั้ง 3 สายพันธุ์หลัก ที่กล่าวมานี้ พี่เต๋ บอกว่าส่วนใหญ่เป็นอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นการเพาะเมล็ด ซึ่งข้อดีของต้นพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น คือ การโคลนนิ่ง ต้นกล้าที่ได้จึงเป็นพันธุ์แท้ โดยจะมีคุณสมบัติเหมือนต้นแม่พันธุ์ทุกประการ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูงและสม่ำเสมอ สามารถขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากและรวดเร็ว เหมาะสำหรับการปลูกในเชิงพาณิชย์ แต่ต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าการปลูกด้วยเมล็ด
ซึ่งต้นพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนใหญ่ของที่สวน นำเข้าจากแล็บประเทศอังกฤษ และแล็บ UAE เช่น สายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน ที่นำเข้าจากแล็บ UAE ซึ่งที่สวนปลูกนำเข้ามาล็อตสุดท้ายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นที่ผ่านมายังไม่มีการนำเข้าอีกเลย เพราะฉะนั้นสายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน เป็นพันธุ์ที่น้อยสวนมากจะมีปลูก แต่ในแง่ของการปลูกและการดูแลจะดูแลยากมาก ทุกสวนจะเจอปัญหาการติดจั่นยาก และลูกแตกง่ายถ้าโดนฝน เพราะฉะนั้นราคาที่แพงจะเป็นไปตามความยากง่ายของการดูแล และต้นพันธุ์ที่หายาก
เทคนิคการปลูกอินทผลัมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
เจ้าของบอกว่า ที่สวนจะปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 8×8 เมตร 1 ไร่ สามารถปลูกได้ 24 ต้น เป็นระยะห่างที่กำลังพอดี เพราะระยะห่างมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้น
อินทผลัมจะออกจั่นติดลูกช่วงประมาณปลายเดือนมกราคมถึงเมษายน จะต้องอาศัยอุณหภูมิที่ประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึงจะติดจั่นแล้วรอเกสรตัวผู้มาผสม
วิธีการปลูก… ที่สวนจะใช้รถแบ๊คโฮขุดหลุม ลึกประมาณ 1×2 เมตร เพื่อหมักปุ๋ยไว้ก่อน 1 เดือน จากนั้นนำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก ขนาดของต้นพันธุ์มีขนาดเท่าๆ กับน้ำอัดลมขวดลิตร
ระบบน้ำ… เนื่องจากทำงานประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงใช้วิธีการรดน้ำแบบไทม์เมอร์ ตั้งเวลาเปิด-ปิด ความสม่ำเสมอในการรดน้ำหากเป็นช่วงที่ผลผลิตยังไม่ออก จะรด 2-3 วันครั้ง แต่ถ้าออกอยู่ในช่วงที่กำลังติดผลผลิต จะเปิดรดน้ำทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมงต่อต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแตก เปรียบเสมือนกับคนเวลากินอาหารอย่าปล่อยให้อดอยาก เพราะถ้าอดอยากแล้วเวลาได้กินจะไม่รู้จักอิ่ม
“ตั้งแต่เล็กจนโต พี่สอนให้ต้นไม้ของพี่กินข้าววันละจาน เพราะฉะนั้นต้นไม้ก็จะชินว่ากินแค่จานเดียวอิ่มแล้ว ไม่ว่าจะเจอมากน้อยก็กินได้เท่าที่อิ่ม แต่จะไม่ให้อดอยาก ถ้าเขาอดอยากแล้วเขามาเจอของกินที่อร่อย ก็จะกินเท่าไรก็ไม่อิ่ม กินเยอะจนท้องแตก เพราะฉะนั้นการให้น้ำพี่จะให้น้ำกำหนดไปเลยว่า ต้องให้ปริมาณเท่าไรให้เขาชิน”
ปุ๋ย… ใช้ปุ๋ยเคมีผสมผสานกับปุ๋ยชีวภาพ เพราะว่าอินทผลัม 1 ต้น ออกลูกมาประมาณ 100 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นในมุมของที่สวนเป็นการปลูกเพื่อสร้างรายได้และหวังผล จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี แต่วิธีการใส่ปุ๋ยของที่สวนจะใช้วิธีการฝังกลบดินเดือนละครั้ง จะไม่โรยปุ๋ยที่ต้น แล้วกำจัดวัชพืชภายในสวนด้วยตนเอง จะไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีฆ่าหญ้า
ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช
จะมีคนงานคอยเดินดูโรคหรือแมลงทุกๆ เช้า ในช่วงฤดูฝนจะประสบปัญหาเชื้อรา ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่า ส่วนที่สองเป็นแมลงศัตรูพืชตัวสำคัญ คือ ด้วงแรดเจาะลำต้น จะป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ และใช้วิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน คือวิธีการเดินดู ถ้าเจอตัวก็จัดการทันที
การดูแลผิว… ห่อด้วยถุงตาข่ายก่อน 1 ชั้น และครอบด้วยถุงกระดาษ ถ้าไม่ห่อช่วงที่มีผลผลิต ฝนตกจะทำให้ผลร่วง ผลแตก ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ
ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์
พี่เต๋ บอกว่า ผลผลิตอินทผลัมของที่สวนเพิ่งออกมาให้เก็บเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว คือ ปี 63 มาปีนี้ ปี 64 คาดการณ์ไว้ว่าผลผลิตจะออกมาเยอะมากกว่า 10 ตัน ผลผลิตออกเยอะขึ้นเป็นไปตามประสบการณ์ที่ปลูก ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ เพราะในแต่ละปีเจอปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างปีที่แล้วเจอฝนแล้ง มาปีนี้เจอปัญหาโรคแมลง ถือเป็นอาชีพที่ต้องมีการเรียนไม่รู้จบ และนอกจากปริมาณผลผลิตที่ออกมาเยอะแล้ว เรื่องของคุณภาพก็เป็นที่น่าพอใจอย่างมาก เพราะได้ผลผลิตออกมาลูกใหญ่ รสชาติหวาน กรอบ เมล็ดเล็ก ผิวสวย ราคาขายแตกต่างกันตามสายพันธุ์
- พันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน ขายกิโลกรัมละ 900 บาท ราคาเป็นไปตามความยากง่ายของการปลูกและดูแล
- พันธุ์บาร์ฮี ขายกิโลกรัมละ 450-500 บาท และ
- อัสซัน ในส่วนของสายพันธุ์นี้ยังตอบราคาไม่ได้ เนื่องจากผลผลิตจะออกมาปีนี้เป็นปีแรกพร้อมกันในเมืองไทย รออีกประมาณเดือนกว่าๆ ก็จะได้ทราบผล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นว่าจะออกมาเป็นยังไง เพราะว่าการที่จะกำหนดราคาได้ขึ้นอยู่กับรสชาติ ถ้าออกมาฝาดคนก็ไม่นิยม
เน้นทำตลาดเอง… ตลาดหลักตอนนี้มีอยู่ 4 ช่องทางด้วยกัน
- ขายเองหน้าสวน
- ช่องทางออนไลน์ที่เพจเฟซบุ๊ก : ไร่กำนันเยื่อ
- เปิดตลาดขายเองให้กับเพื่อนๆ ในวงการธนาคาร และสาขาอื่นๆ
- วางขายที่ร้านบ้านคัดสรร ถนนราชพฤกษ์
และในอนาคตมีการวางแผนไว้ว่าจะทำให้สวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้ที่สวนอินทผลัมแห่งนี้เป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเมืองกาญจน์ และหวังว่าจะทำให้เกิดขึ้นภายในเร็วๆ นี้ ถึงแม้ว่าสวนเราจะเป็นสวนน้องใหม่ แต่รับรองว่าด้านของรสชาติเราไม่เป็นสองรองใครแน่นอน หากท่านใดอยากลองชิมอินทผลัมพันธุ์ใหม่ของที่สวน เชิญชวนให้ติดตามเข้ามาได้ ผลผลิตจะออกมาประมาณกลางเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนสิงหาคม
ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่
“สำหรับพนักงานธนาคารอย่างพี่ใช้เวลาขลุกอยู่กับตัวเลขทางด้านการเงินตลอด การที่จะมาทำเกษตรได้ต้องอาศัยความมีใจรักมากๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งถ้าพี่ทำได้คนอื่นก็ต้องทำได้ แต่ต้องอาศัยความเพียรพยายามหน่อย งานเกษตรไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ถ้าเราตั้งใจ และถือเป็นงานที่วางอนาคตหลังเกษียณได้ดีอีกอาชีพหนึ่ง ได้อยู่กับต้นไม้ ได้ออกกำลังกาย และยังเป็นอาชีพที่มั่นคงในยามแก่เฒ่าอีกด้วย” คุณอนุกูล กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจสั่งซื้ออินทผลัม ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 064-794-9669 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : ไร่กำนันเยื่อ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564