ที่มา | วิถีท้องถิ่น |
---|---|
ผู้เขียน | กฤช เหลือละมัย |
เผยแพร่ |
ช่วงที่ผมยังทำงานประจำอยู่กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณนั้น มีอยู่ฉบับหนึ่ง พวกเราตัดสินใจทำเรื่องจากปกเป็นทุเรียนเมืองนนท์ มีการออกไปถ่ายภาพในพื้นที่ สัมภาษณ์คุณลุงคุณป้าเจ้าของสวนทุเรียนเก่า แถมยังสืบค้นบทความย้อนอดีตหาอ่านยากหลายเรื่องมาตีพิมพ์รวมไว้ในเล่มด้วย ทว่า เพียงไม่นานหลังจากนั้น มหาอุทกภัยปลายปี พ.ศ. 2554 ก็ทำลายล้างเกือบทั้งหมดของทุเรียนเมืองนนท์ไป
สวนทุเรียนโบราณที่ได้ขึ้นปกวารสารฉบับนั้นต้องร้างไปในที่สุด เจ้าของสวนเองก็จากไปหลังจากนั้นไม่นานนัก
ที่จริงผมเคยอ่านผ่านตามาบ้าง เรื่องการล่มสลายของสวนทุเรียนหลายแห่งในเขตธนบุรีและนนทบุรี เพราะถูกน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2485 แต่สำหรับมหาอุทกภัยเมื่อสิบปีก่อนมันหนักหนาสาหัส จนไม่นึกว่าพืชสวนยกร่องที่ต้องการการดูแลประคบประหงมอย่างทุเรียนจะฟื้นตัวกลับมาได้อีกแล้ว
“ตอนนั้นคิดแต่ว่า จะเลิกแล้ว รู้สึกมันไม่คุ้มทุนเลย แต่พวกเรามาได้กำลังใจ คือสมเด็จพระเทพฯ ท่านเสด็จมาทรงเยี่ยม ให้กำลังใจว่าให้สู้ ให้หาคนมาทำต่อ เราเลยสู้ จนเดี๋ยวนี้ทำพื้นที่ได้ทั้งหมด 82 ไร่ ที่ตำบลไทรม้านี่หนาแน่นที่สุด คนทำที่อายุมากที่สุดตอนนี้คือ 86 ปี” ผู้ใหญ่หนึ่ง คุณหนึ่งฤทัย สังข์รุ่ง เลขานุการกลุ่มอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ เกริ่นกล่าวไว้ในตอนหนึ่งของการเสวนาออนไลน์ของมูลนิธิชีววิถี เรื่อง “จักรวาลทุเรียน” ตอนกินทุเรียนแบบไหนให้อร่อย? เมื่อค่ำวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา การเสวนาเรื่องทุเรียนที่มีจัดติดต่อกันถึง 4 วัน (1-4 มิถุนายน) นี้ มีแง่มุมดีๆ มากมายที่ผู้สนใจสามารถหาฟังคลิปย้อนหลังได้จากเพจของมูลนิธิฯ นะครับ
ผมเห็นว่า ทั้งคำบอกเล่าและภาพถ่ายทุเรียนสวนเมืองนนท์ของผู้ใหญ่หนึ่ง ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงเหตุที่มาแห่งราคาอันแสนแพงระยับในแวดวงการซื้อขายทุเรียนเมืองไทย เลยจะขอสรุปมาเล่าให้ฟังต่อ ตามความเข้าใจของผมนะครับ
………………..
กิตติศัพท์ของทุเรียนสวนเมืองนนทบุรี ราคาก่อนน้ำท่วมใหญ่เมื่อทศวรรษที่แล้ว คือ สาม หรือสี่ใบต่อ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) นะครับ โดยไม่มีการชั่งน้ำหนักใดๆ ทั้งสิ้น ถามว่าทำไมทุเรียนที่นั่นถึงได้แพงปานนี้
“เพราะเราปลูกและดูแลอย่างประณีต ใส่ใจทุกรายละเอียดค่ะ โดยเฉพาะการตัด” ผู้ใหญ่หนึ่ง บอกเล่าอย่างชัดถ้อยชัดคำ “ทุเรียนสวนบ้านเรา ยกตัวอย่างพันธุ์ก้านยาวนะ สมมุติต้นหนึ่งๆ ติดผลทั้งหมด 10 ลูก ก็จะมีที่คุณภาพดีไม่เกิน 3 ลูกเท่านั้น แล้วทุเรียนก้านยาวที่ดีคือต้องกินในวันที่ 5 นับจากวันตัด กลิ่นจะหอมเหมือนเกสรดอกไม้ มีความมัน แต่ถ้าลูกไหนสุกแล้ว 3-4 วัน เริ่มมีกลิ่นคล้ายเศษไม้เน่าๆ จะกินไม่อร่อย เพราะต้นไม่สมบูรณ์พอ หรือตัดจากตำแหน่งไม่ดี ทุเรียนลูกที่อยู่ชิดโคนต้นจะสมบูรณ์ที่สุดค่ะ หากอยู่ปลายกิ่ง น้ำเลี้ยงไปไม่ทั่วถึง เนื้อจะจืด” ฟังแล้วก็ช่างเป็นความรู้ใหม่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนไม่เคยสนใจทุเรียน พืชยืนต้นที่นับว่าปลูกยาก ดูแลยากที่สุดชนิดหนึ่งจริงๆ
“จะได้ทุเรียนดีๆ ตอนตัดก็ต้องตัดช่วงเช้า แล้วไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะตัดได้เลยนะ ต้องปีนไปดูจุดต่างๆ เช่น ตรงขั้ว ว่าได้ที่แล้วหรือยัง เฉพาะพันธุ์ก้านยาวเรายิ่งต้องละเอียดมาก เรียกว่าพลาดไม่ได้เลย คนตัดต้องแม่นจริงๆ แล้วบางทีต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีก เช่นว่าทุเรียนก้านยาวแก่ ขั้วแห้ง ได้เวลาตัดแล้วแหละ แต่ฝนเกิดตกลงมา ทุเรียนจะดูดน้ำเข้าไปอีก เราก็ต้องยืดเวลาตัดออกไป รอให้ลูกมันคายน้ำ จะได้ไม่แฉะ หรือหากเป็นพันธุ์หมอนทอง คนตัดต้องสังเกตปลายหนาม ต้องให้ปลายหนามแห้งจริงๆ หมอนทองของเราหนามจะเป็นทรงเล็บเหยี่ยว ปลายงอนคม เปลือกบาง ถ้าลักษณะหนามใหญ่ ความอร่อยจะสู้ที่หนามเล็กถี่ไม่ได้ เพราะมันดูดซึมน้ำเข้าไปได้มากกว่า เส้นใยก็จะเยอะกว่า แต่เราก็พอมีวิธีแก้ไขอยู่ คือต้องตัดในเวลาที่เหมาะจริงๆ ถึงจะได้รสชาติดีเท่าๆ แบบหนามถี่”
ต่อคำถามที่ว่า จะต้องมีการคัดตัดจำนวนออก ให้เหลือต้นละกี่ลูกหรือไม่ ผู้ใหญ่หนึ่งนับจำนวนคร่าวๆ ให้คนฟังตาลุกวาวได้ว่า เมื่อลูกทุเรียนโตได้ที่ จะต้องคัดให้เหลือแต่ลูกสมบูรณ์ เช่น พันธุ์ก้านยาว เหลือแค่ 5 ลูก ต่อหนึ่งต้น กระดุม 12-13 ลูก พวงมณี อาจได้ถึง 20 ลูก หากแต่ก็มีบางพันธุ์ ที่ยิ่งเก็บไว้มาก คุณภาพกลับจะยิ่งดี เช่น พันธุ์กบชายน้ำ โดยเฉพาะกบแม่เฒ่า ยิ่งเก็บไว้มาก เปลือกจะบาง ได้คุณภาพดีกว่า
………………..
ความจุกจิกซับซ้อนในวิธีจัดการทุเรียนของชาวสวนเมืองนนทบุรี โดยเฉพาะสวนตำบลไทรม้า ทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพสูงเหมือนช่วงก่อนอุทกภัยใหญ่ปี 2554 ผู้ใหญ่หนึ่ง เล่าว่า อย่างเช่น พันธุ์หมอนทอง จะใช้เวลาพัฒนาคุณภาพในแต่ละต้นไปจนราวปีที่ 4 ของการติดผล จากที่เปลือกหนา หนามห่าง ไส้ใหญ่ เปลือกจะค่อยๆ บางลง หนามเริ่มถี่เป็นเล็บเหยี่ยว เมื่อประกอบกับการคัดลูกไม่สมบูรณ์ทิ้งให้เหลือตามจำนวนที่ตั้งไว้ และระยะการตัดที่เหมาะเหม็ง ก็ทำให้ชาวสวนทุเรียนสามารถรับประกันคุณภาพหมอนทองสวนเมืองนนท์ได้ทุกลูก
พันธุ์อื่นๆ ที่มีชื่อเป็นที่รู้จัก ก็เช่น กบแม่เฒ่า เนื้อสีเหลืองเข้มเนียนละเอียด หวาน กลิ่นหอม
กบชายน้ำ ความเนียนของเนื้ออาจด้อยกว่า คือมีเส้นใยบ้าง แต่มีความมันกว่าอย่างเห็นได้ชัด
กบสีนาค เป็นพันธุ์ที่ชาวสวนไทรม้าลงความเห็นว่า ปีนี้คุณภาพดีที่สุด รสชาติเหมือนสมัยดั้งเดิมแล้ว ขนาดลูกไม่โตมาก แต่ออกดก เนื้อละเอียดสีเหลืองเข้ม เม็ดตาย มีความมัน เรียกว่าเกือบจะดีเท่าพันธุ์ก้านยาวเลยทีเดียว
คำร่ำลือที่ได้ยินกัน และถูกยืนยันโดยผู้ใหญ่หนึ่งว่าเป็นความจริง ก็คือทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์นั้น ถ้ามี 5 พูเต็ม ไม่นับว่าดีที่สุด ขนาดที่แท้จริงต้องอยู่ที่ 4 พูครึ่ง หรือ 3 พูครึ่ง ซึ่งราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท คือกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท
เรื่องราวของทุเรียนสวนเมืองนนท์จากปากคำผู้ใหญ่หนึ่ง ฟังๆ ดูก็เหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งต่างหากไปจากโลกของทุเรียนหลังรถปิกอัพริมทาง กิโลกรัมละไม่ถึง 200 บาท และมีลักษณะเนื้อแบบ “กรอบนอกนุ่มใน” ที่ดูจะเป็นที่นิยมกันในปัจจุบันนี้ แน่นอนว่า เรื่องการฉีดสารเคมีในทุเรียนตลาดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเรื่องนี้ ก็ยังมีการถกเถียงกันถึงความเหมาะสมในวิธีการใช้อยู่นะครับ แต่ประเด็นข้อจำกัดที่มีเงื่อนไขการตลาดขนาดใหญ่มากำกับตั้งแต่ต้น คือปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว จำต้องตัดขณะยังไม่แก่ คือตัดเพียงในระยะ 60-70 % มีการจุ่มชุบยา แล้วต้องรีบขายเร็วๆ ในปริมาณมาก เช่น การขายส่งที่ตลาดไทครั้งละนับร้อยนับพันลูก กระบวนการเช่นนี้ ย่อมเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ได้เนื้อทุเรียนแบบหนึ่ง ซึ่งจำเป็นอยู่เองที่กลุ่มผู้ขายต้องพยายามสร้าง “นิยาม” กรอบนอกนุ่มใน ขึ้นมาชักจูง เพื่อตอบโจทย์จุดขายให้เป็นผลสำเร็จให้จงได้
สำหรับผู้บริโภค การมีโลกของรสชาติอย่างน้อยที่สุดสองใบให้เปรียบเทียบกัน ย่อมเป็นสิ่งดี อย่างน้อยก็เพื่อการเสาะแสวงหาโลกใบที่สาม สี่ ห้า ต่อๆ ไป
อย่างที่หลายท่านเคยบอก ว่าแต่ละคนมีรสนิยมการกินทุเรียนไม่เหมือนกัน ทั้งกลิ่น รส ความมัน เนื้อหยาบเนื้อละเอียด ฯลฯ การไม่ยอมจำนนต่ออะไรง่ายๆ ย่อมเป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้บริโภคยุคใหม่ จริงไหมครับ
โลกของทุเรียนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกว่าที่คิด หากมีประเด็นน่าสนใจ ก็คิดว่าจะลองเอามาชวนคุยกันอีกสักครั้งสองครั้งนะครับ
………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2564