แนะเทคนิค เลือกปลูกสับปะรดอย่างไร ให้ตรงกับความต้องการของตลาด

สับปะรดในประเทศไทย นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์ในลำดับต้นๆ ของโลก มูลค่าส่งออกสูงถึง 25,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกมากคือ สับปะรดกระป๋อง ร้อยละ 80 และน้ำสับปะรด ร้อยละ 20 โดยมีทั้งการส่งออกในตราสินค้าของตนเองและการรับจ้างผลิต แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการรับจ้างผลิต ในปี 2554 มีโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้นที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มากกว่า 75 โรง กำลังผลิตรวมกันประมาณ 800,000 ตัน/ปี ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกประมาณปีละ 600,000 ตัน/ปี    คู่แข่งสำคัญของไทยในอุตสาหกรรมสับปะรด คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย และจีน

พันธุ์สับปะรดที่เกษตรกรปลูก หากเป็นสับปะรดส่งโรงงานนิยมปลูกพันธุ์ปัตตาเวีย เนื่องจากมีเนื้อแน่น รสหวานปานกลางหรือหวานจัดสามารถปลูกได้ทั่วไป สำหรับพันธุ์รับประทานผลสดมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก กล่าวคือ พันธุ์นางแล ลักษณะใบมีขอบเรียบหรือมีหนามเล็กน้อย ผลรูปทรงกลม   ตานูน เปลือกบาง เนื้อหวานจัด สีเหลืองทอง พบปลูกในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะที่ตำบลนางแล อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นับว่าเป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมที่สุด

ในพื้นที่ภาคใต้ นิยมปลูกสับปะรดพันธุ์ภูเก็ต และพันธุ์สวี ภาคตะวันออกนิยมปลูกสับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง โดยสับปะรดทั้งสามพันธุ์ขอบใบมีหนามมาก ผลมีตาลึก เมื่อแก่จัดเปลือกสีส้ม และมีส่วนของกลีบดอกอยู่ที่เปลือก เนื้อหวานกรอบมีรูพรุน สีเหลืองเข้ม ทั้งนี้ พันธุ์สวีจะมีผลสั้นกว่าพันธุ์ภูเก็ตและพันธุ์ตราดสีทอง โดยที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ภูเก็ต ส่วนจังหวัดตราดเป็นแหล่งที่เหมาะสม

สำหรับพันธุ์ตราดสีทอง และอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์สวี นอกจากนี้ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ยังปลูกสับปะรดพันธุ์อินทรชิดขาว-แดงอีกด้วย ตลอดจนมีการนำเข้าพันธุ์สับปะรดจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์บราซิล พันธุ์ Tainan จากไต้หวัน และพันธุ์ White
Jewel จากฮาวาย เป็นต้น

15590110_902637959872248_221246293023766082_n

สำหรับสับปะรดพันธุ์เพชรบุรีที่กล่าวถึง และชาวเพชรบุรีเรียกว่า สับปะรดพันธุ์ฉีกตานั้น เป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่ปี 2541 ทำการรวบรวมและศึกษาพันธุ์ที่สถานีทดลองพืชสวนเพชรบุรี (ชื่อเดิม) เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะต่อการรับประทานผลสด ให้ผลผลิตสูง และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ดังกล่าวได้ ลักษณะเด่นของพันธุ์เพชรบุรี คือ ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ภูเก็ตร้อยละ 17.7 และสูงกว่าพันธุ์สวี ร้อยละ 23.2 อยู่ในกลุ่มพันธุ์เดียวกัน รสชาติหวานอมเปรี้ยว ปริมาณ soluble solids สูงถึง 16.9 องศาบริกซ์ และมีปริมาณกรดค่อนข้างต่ำราวร้อยละ 0.45 มีกลิ่นหอมแรง เนื้อกรอบใกล้เคียงกับพันธุ์สวีและพันธุ์ภูเก็ต สีเนื้อเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ สามารถแกะแยกผลย่อยหรือตา (fruitlet) ออกจากกันโดยง่าย และรับประทานแกนผลได้ ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย สามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ไม่ชอบพื้นที่ที่มีน้ำขัง

แหล่งปลูกสับปะรดที่สำคัญของไทย คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ชลบุรี เพชรบุรี และพิษณุโลก ผลผลิตออกมากในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน และพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี ในปี 2551 ประเทศไทยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวสับปะรดประมาณ 580,000 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 2.28 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3.91 ตัน/ไร่ สำหรับปี 2555 คาดว่าจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวประมาณ 646,000 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 2.52 ล้านตัน และผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3.89 ตัน/ไร่ ในขณะที่ปี 2554 ที่ผ่านมา มีพื้นที่เก็บเกี่ยวไม่แตกต่างจากปี 2555 มากนัก แต่ผลผลิตรวมสูงกว่าเล็กน้อยประมาณ 2.58 ล้านตัน โดยผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ตัน/ไร่

15590649_902637899872254_1932692493582940024_n

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตสับปะรดในปี 2555 ลดลง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกสับปะรดไปปลูกอ้อยหรือมันสำปะหลัง อีกทั้งการปลูกสับปะรดในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้นยางพาราและต้นปาล์มน้ำมันเริ่มโตมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถปลูกสับปะรดแซมได้อีก อย่างไรก็ตาม ในแหล่งปลูกยางใหม่ หรือสวนมะพร้าวที่ปลูกใหม่ เกษตรกรได้ปลูกสับปะรดแซมมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องความแห้งแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานในเขตปลูกสับปะรดที่สำคัญ เช่น บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี ส่งผลให้ผลผลิตไม่สมบูรณ์ ภาพรวมของผลผลิตสับปะรดจึงต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของ FAO ในปี 2553 พบว่าประเทศยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตสับปะรด 5 อันดับแรก คือ ฟิลิปปินส์ บราซิล คอสตาริก้า ไทย และจีน มีผลผลิตรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณสับปะรดทั้งโลก

สับปะรด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ananas comosus เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีอายุหลายปี มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีความสูงประมาณ 90-100 เซนติเมตร มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับซ้อนกันถี่มาก รอบต้นกว้าง 6.5 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 1 เมตร ไม่มีก้านใบ ดอกช่อออกจากกลางต้น มีดอกย่อยจำนวนมาก ผลเป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีใบเป็นกระจุกที่ปลายผล ต้องการอากาศค่อนข้างร้อนในการเจริญเติบโต อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 23.9-29.4 องศาเซล    เซียล ปริมาณน้ำฝนที่ต้องการอยู่ในช่วง 1,000-1,500 มิลลิเมตร ต่อปี โดยต้องกระจายสม่ำเสมอตลอดปี และมีความชื้นในอากาศสูง

ลักษณะดินที่เหมาะสม ควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย สามารถเจริญเติบโตได้ในดินปนลูกรัง และดินทรายชายทะเล และที่ลาดเท เช่น ที่ลาดเชิงเขา แต่ไม่ควรสูงกว่าระดับน้ำทะเล เกิน 600 เมตร ไม่เหมาะในสภาพน้ำท่วมขัง สภาพความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินควรเป็นกรดเล็กน้อย คือตั้งแต่ 4.5-5.5 แต่ไม่เกิน 6.0 ดินควรมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีอินทรียวัตถุไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1.5 การระบายน้ำดี และระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

สำหรับการปลูกสับปะรด ต้องวางแผนการผลิตให้ดี เพื่อให้ผลผลิตกระจายตัวสม่ำเสมอ ไม่มีปัญหาในการจำหน่าย โดยเฉพาะสับปะรดส่งโรงงาน โดยหลักการแล้ว หากมีแหล่งน้ำเพียงพอสามารถปลูกสับปะรดได้ตลอดปี แต่ถ้าหากไม่มีแหล่งน้ำ ควรปลูกสับปะรดในช่วงต้นฝน โดยช่วงฤดูแล้งควรปลูกด้วยจุก ช่วงฤดูฝนควรปลูกด้วยหน่อ เพื่อเป็นการกระจายการผลิต

การเตรียมดิน สำหรับพื้นที่เคยปลูกสับปะรด ให้ไถสับใบและต้น ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 เดือน แล้วไถกลบ จากนั้นให้ไถอีก 1 ครั้ง เพื่อทำการตากดินไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงไถพรวนประมาณ 1-2 ครั้ง แล้วยกแปลงสูง 15 เซนติเมตร ทำแนวปลูกสับปะรด หากเป็นพื้นที่ลาดเอียงมากกว่าร้อยละ 3 ต้องทำร่องระบายน้ำรอบแปลงปลูก เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน และควรวิเคราะห์ดินก่อนปลูก พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำในแต่ละแหล่งปลูก โดยเฉพาะการจัดการอินทรียวัตถุในดิน

วิธีการปลูก ทำได้สองวิธี คือ การปลูกด้วยหน่อ และการปลูกด้วยจุก โดยการปลูกด้วยหน่อให้คัดหน่อขนาดเดียวกันสำหรับปลูกในแต่ละแปลง เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ซึ่งสามารถบังคับดอกได้เมื่ออายุปลูก 8-12 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่อที่ใช้ปลูก สำหรับการปลูกด้วยจุก จุกควรมีขนาดตั้งแต่ 180 กรัมขึ้นไป สามารถบังคับดอกได้เมื่ออายุปลูก 10-14 เดือน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาปลูก ก่อนปลูกต้องชุบหน่อหรือจุกด้วยสารป้องกันโรครากเน่าหรือต้นเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกช่วงกลางฤดูฝน ตามคำแนะนำ และควรปลูกในลักษณะแถวคู่ ระยะปลูก30 x 30 x (80-90) เซนติเมตร ปลูกได้ประมาณ 7,500-8,500 ตันต่อไร่ แต่ไม่ควรเกิน 12,000 ตันต่อไร่

การให้ปุ๋ย ให้ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 และให้ปุ๋ยบริเวณกาบใบล่างของต้น ด้วยปุ๋ยเคมีสัดส่วน 2:1:3 หรือ 3:1:4 เช่น สูตร 12-6-15 หรือ 12-4-18 หรือ 15-5-20 หรือ 13-13-21 ให้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 กรัมต่อต้น ครั้งแรกหลังปลูก 1-3 เดือน ครั้งต่อมาห่างกัน 2-3 เดือน หากไม่ได้ให้ปุ๋ยรองพื้น จะให้ปุ๋ยทางกาบใบล่างของต้นก็ได้ แต่เพิ่มจำนวนเป็น 3 ครั้ง ควรสังเกตดูว่าสับปะรดมีใบสีเขียวซีดจางเนื่องจากได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอหรือไม่ หากพบให้พ่นปุ๋ยทางใบเสริม เช่น ปุ๋ยเคมีสูตร 23-0-30 ผสมน้ำเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ อัตรา 75 มิลลิลิตร ต่อต้น จำนวน3 ครั้ง คือ ระยะก่อนบังคับดอก 30 วัน 5 วัน และหลังบังคับดอก 20 วัน

สำหรับการให้น้ำ ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ถ้ามีปริมาณน้ำฝนสม่ำเสมอตลอดฤดูกาล แต่ในฤดูแล้งหากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ควรให้น้ำต้นสับปะรดที่กำลังเจริญเติบโต สัปดาห์ละ 1-2 ลิตร ต่อต้น และหลังใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้าย ถ้าไม่มีฝนต้องให้น้ำเพื่อให้ต้นสับปะรดใช้ปุ๋ยให้หมด อีกทั้งควรให้น้ำก่อนและหลังการออกดอก และหยุดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยว 15-30 วัน

การบังคับดอก ในแปลงเดียวกัน ควรบังคับดอกพร้อมกัน โดยบังคับดอกหลังการให้ปุ๋ยทางกาบใบแล้ว  2 เดือน หรือหลังการพ่นปุ๋ยทางใบ 1 เดือน และบังคับดอกเมื่อต้นสับปะรดมีน้ำหนักต้นปลูกประมาณ 2.5-2.8 กิโลกรัม และน้ำหนักต้นตอประมาณ 1.8-2.0 กิโลกรัม ด้วยสารผสมของเอทธิฟอน (39.5%) อัตรา 8 มิลลิลิตร กับปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 300 กรัม และน้ำ 20 ลิตร อัตรา 60-75 มิลลิกรัม ต่อต้น หรือใส่ถ่านแก๊ส อัตรา 1-2 กรัม ต่อต้น ในขณะมีน้ำอยู่ในยอดทั้ง 2 วิธี บังคับ 2 ครั้ง ห่างกัน 4-7 วัน ทำการบังคับดอกในช่วงเย็นหรือกลางคืน หากมีฝนตกภายใน 2 ชั่วโมง หลังหยอดสารบังคับดอก ควรหยอดซ้ำภายใน 2-3 วัน

การเก็บเกี่ยว สับปะรดสำหรับโรงงาน เก็บเกี่ยวผลสับปะรดที่มีความสุกแก่ตามมาตรฐาน และห้ามใช้สารเคมีทุกชนิดเร่งให้สับปะรดสุกก่อนกำหนด เก็บโดยใช้มือหักผลออกจากต้นโดยไม่ต้องเหลือก้าน แล้วหักจุกออก คัดทิ้งผลแกน ถูกแดดเผา หรือจุกผิดปกติออก คัดขนาดให้ได้ตามมาตรฐานของโรงงาน และควรส่งโรงงานภายใน 1-2 วัน เพื่อรักษาคุณภาพของสับปะรด และการจัดเรียงผลสับปะรด ให้จัดเรียงโดยด้านจุกอยู่ด้านล่าง เพื่อรับน้ำหนักและป้องกันผลช้ำ สำหรับสับปะรดบริโภคสด ควรเก็บเกี่ยวเมื่อตาสับปะรดเริ่มเปิด 2-3 ตา หรือผิวเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้มีดตัดให้เหลือก้านยาวติดผลประมาณ 10 เซนติเมตร โดยไม่ต้องหักจุกออก

15578970_902637903205587_5582396210634097966_nการจัดการต้นตอ เนื่องจากสับปะรดสามารถไว้ตอได้ 1-2 ครั้ง โดยไม่ต้องปลูกใหม่ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ควรใช้มีดตัดต้นสับปะรดระดับเหนือดิน 20-30 เซนติเมตร และตัดใบให้เหลือประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นให้ใช้ต้นและใบสับปะรดคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันการงอกของวัชพืช รวมทั้งให้ปุ๋ยและน้ำตามคำแนะนำ ตลอดจนหักหน่ออากาศ หรือหน่อที่เกิดจากต้นไปใช้ขยายพันธุ์ เหลือเฉพาะหน่อดินไว้เป็นต้นตอ

โรคที่สำคัญของสับปะรดที่มักพบบ่อยๆ คือ โรครากเน่าหรือต้นเน่า และโรคผลแกน ซึ่งโรครากเน่าหรือต้นเน่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราทำให้ใบยอดล้มพับและหลุดง่าย ระบาดรุนแรงในฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่มีสภาพเป็นด่าง สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการใช้หน่อ หรือจุกสับปะรดจากแหล่งและแปลงที่มีโรคระบาด ลักษณะอาการส่วนยอดของสับปะรดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีเหลืองซีด ใบยอดล้มพับและหลุดง่ายบริเวณฐานใบมีรอยเน่าซ้ำสีเหลืองอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เกิดอาการเน่าและมีกลิ่นเฉพาะตัว มักระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่มีสภาพเป็นด่าง โรคนี้สามารถป้องกันและกำจัดได้โดยปรับพื้นที่แปลงปลูกให้มีการระบายน้ำได้ ดี ปรับสภาพความเป็นกรดด่างของดินให้ต่ำกว่า 5.5 โดยใช้กำมะถันผง หลีกเลี่ยงการใช้หน่อหรือจุกสับปะรดจากแหล่งและแปลงที่มีโรคระบาด และจุ่มหน่อหรือจุกก่อนปลูก และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชทุก 2 เดือน ตามคำแนะนำ เมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้เก็บต้นที่เป็นโรคเผาทำลาย แล้วพ่นต้นสับปะรดบริเวณใกล้เคียง ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามคำแนะนำ

สำหรับโรคผลแกน เกิดจากปฏิกิริยาร่วมระหว่างเชื้อแบคทีเรีย กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ลักษณะอาการเริ่มเมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในผลตั้งแต่ระยะดอกบาน และแสดงอาการเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ ผลสับปะรดที่เริ่มแก่ จะมีน้ำมากขึ้น บริเวณตาและเนื้อผลที่ถูกเชื้อเข้าทำลาย เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และแข็งกระด้าง ไม่ยืดหยุ่นเหมือนเนื้อสับปะรดปกติ ช่วงเวลาระบาดรุนแรงในระยะ 7-10 วัน ก่อนที่ผลสับปะรดจะเก็บเกี่ยวได้ การป้องกันสามารถทำได้โดยเพิ่มจำนวนต้นต่อไร่ให้มากขึ้น และให้โพแทสเซียมคลอไรด์ ตามคำแนะนำ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559