อดีตพยาบาลสาว เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี ได้ประโยชน์ 3 ต่อ ขายไข่-ขายขี้-พร้อมเป็นปุ๋ยใส่แปลงผักผลไม้ในสวน

คุณวนิดา ศรีราเพ็ญ หรือ พี่กานต์ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์นครศรีธรรมราช ที่อยู่ 39 หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตพยาบาลสาวผันตัวเป็นเกษตรกรทำเกษตรผสมผสานปลูกผัก เลี้ยงไก่ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวไม่มีขัดสน

พี่กานต์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรว่า เมื่อก่อนตนเองประกอบอาชีพเป็นพยาบาล แต่เนื่องด้วยลักษณะงานที่ทำต้องมีการทำงานเป็นกะทำให้ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก จึงได้ลาออกจากงานประจำหันมาทำธุรกิจส่วนตัว เพื่อที่จะได้มีเวลาดูแลลูกทั้ง 2 คน ด้วยการเริ่มต้นเป็นเกษตรกรปลูกพืชผสมผสานสร้างรายได้ แต่เมื่อถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งก็เริ่มมีแนวคิดที่อยากจะผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง เนื่องจากที่ผ่านมาที่ฟาร์มมักจะประสบปัญหาในการซื้อปุ๋ยขี้ไก่ที่จะมีการผสมโซดาไฟลงมาด้วย ทำให้พืชผักที่ปลูกไม่โต มีอาการใบเหลือง ผลผลิตไม่มีคุณภาพ จนเกิดเป็นแนวคิดที่จะเลี้ยงไก่ไข่เพื่อผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง และนอกจากนี้ ยังมีการคิดไปถึงอนาคตไว้ว่า นอกจากจะได้ปุ๋ยจากการเลี้ยงไก่แล้ว ในแต่ละวันยังสามารถเก็บไข่ขายได้ และยังสามารถเก็บขี้ไก่ส่วนหนึ่งมาทำเป็นปุ๋ยหมักขี้ไก่ขายได้อีกทางหนึ่ง เรียกได้ว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัว”

คุณวนิดา ศรีราเพ็ญ หรือ พี่กานต์ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์นครศรีธรรมราช

เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี 150 ตัว
สร้างรายได้ไม่รู้จบ

เจ้าของบอกว่า จากที่คิดจะเลี้ยงไก่เพราะอยากได้ขี้มาทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองภายในฟาร์ม ก็กลับกลายมาเป็นอาชีพสร้างรายได้ดีอีกทางหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นเลี้ยงเพียง 100 ตัว หลังจากนั้น ได้มีการขยับขยายเลี้ยงเพิ่มขึ้นมาเป็น 150 ตัว เพราะลูกค้าติดใจจนไก่ผลิตไข่ไม่ทันขาย แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ฟาร์มมีไม่มาก แต่การเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีให้ดีจำเป็นต้องมีพื้นที่ไว้ให้สำหรับแม่ไก่ได้เดินเล่นหาอาหาร มีรางน้ำ มีรางอาหารไว้ให้กิน แต่ในที่นี้คือต้องมีรั้วหรือคอกล้อมไว้ด้วย เพื่อให้สะดวกในการควบคุมโรคและเพื่อป้องกันสัตว์มารังแกไก่ของเรา

โดยจุดเด่นของไข่ไก่อารมณ์ดีของที่ฟาร์ม คือจะมีลักษณะไข่แดงสีสด นูนออกมา ไข่ขาวข้นเป็นก้อนเห็นได้ชัด และอีกเสียงจากลูกค้าที่กินไข่ลวกจะบอกมาว่าไข่ของเราไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งสาเหตุก็เกิดจากวิธีการเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ ปล่อยให้ได้หากินเอง ไม่ได้เลี้ยงด้วยหัวอาหารเพียงอย่างเดียว ทำให้ระบบขับถ่ายของไก่ดี และในคอกดูแลให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่มีกลิ่นเหม็น และประโยชน์ที่ตามมาอีกข้อคือยังช่วยทำให้เกิดปัญหาไก่ป่วยน้อยลง ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ จะมีเพียงการให้น้ำสมุนไพรเพิ่มเติมไปเท่านั้น

เลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ

เทคนิคการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี

  1. เริ่มจากการหาแม่พันธุ์ที่ดี ที่ฟาร์มจะเลือกซื้อแม่พันธุ์จากแหล่งที่เชื่อได้ มีใบรับรองมาตรฐาน และต้องมีการสอบถามก่อนว่าไก่ที่เราจะซื้อไปเลี้ยงมีการหยอดวัคซีนมาครบหรือยัง เพื่อให้มั่นใจว่าแม่พันธุ์ที่รับไปเลี้ยงจะไม่เกิดปัญหาเรื่องโรคติดมาด้วย โดยที่ฟาร์มจะเลือกซื้อเป็นไก่ไข่สาวพร้อมไข่ อายุประมาณ 16-17 สัปดาห์ แล้วนำมาเลี้ยงต่ออีก 1 สัปดาห์ ไก่ก็พร้อมให้ไข่ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าวิธีนี้อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนต้องควักเงินซื้อแม่พันธุ์ตัวละ 185-195 บาท แต่ให้ลองคิดอีกแง่มุมหนึ่งว่าการซื้อไก่สาวมาเลี้ยงจะช่วยเพิ่มอัตราการรอด ลดการสูญเสีย และเป็นการประหยัดต้นทุนค่าอาหารไปในตัว
  2. พื้นที่เหมาะสมไม่แออัดจนเกินไป สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีจำเป็นต้องมีพื้นที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่แออัดจนเกินไป เพื่อปล่อยให้ไก่เดินเล่นหาอาหารเองได้ โดยที่ฟาร์มจะมีพื้นที่ส่วนที่เป็นโรงเรือนไว้สำหรับให้ไก่ได้นอนพัก หลบฝน หลบแดด โดยลักษณะของโรงเรือนจะทำแบบง่ายๆ ใช้เสาปูนสำเร็จรูป มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเก่าเพื่อประหยัดต้นทุน แล้วล้อมคอกด้วยกรงลวดตาข่าย ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเพื่อช่วยป้องกันสัตว์ชนิดอื่นๆ ไม่ให้เข้ามาทำร้ายไก่ที่เราเลี้ยงได้ โดยอัตราการปล่อยจะคำนวณพื้นที่ขนาด 1 ตารางเมตรต่อไก่ไข่ 5 ตัว ส่วนพื้นที่นอกโรงเรือนไว้สำหรับให้ไก่ได้คุ้ยเขี่ยจะมีขนาดกว้างขึ้นเป็น 2 เท่าของพื้นที่ในโรงเรือน และที่สำคัญในช่วงเช้าจรดเย็นที่ฟาร์มจะมีการเปิดเพลงให้ไก่ฟัง เพื่อลดความเครียดจากเสียงรบกวนรอบข้าง รวมถึงเสียงฟ้าร้อง เพราะเสียงเหล่านี้ทำให้ไก่ตกใจ ที่เป็นปัจจัยส่งผลทำให้ไก่ไม่ออกไข่
  3. สูตรอาหารลดต้นทุน โดยปกติแล้วที่ฟาร์มอื่นๆ อาจจะมีการให้อาหารวันละ 2 เวลา แต่ที่ฟาร์มเนื่องด้วยเป็นอาหารที่มีต้นทุนต่ำ หาวัตถุดิบได้จากแหล่งธรรมชาติ จึงมีการเพิ่มมื้ออาหารเป็นวันละ 3 มื้อ เช้า-กลางวัน-เย็น ด้วยแนวความคิดที่ว่าหากให้ไก่ได้กินอิ่มเขาก็จะให้ไข่เราดี แต่จะมาลดต้นทุนค่าอาหารตรงที่ใช้หยวกกล้วยหมัก หญ้าหวานอิสราเอล หนอนแมลงวันลาย รวมถึงเศษผักที่เหลือจากการตัดแต่ง ริดใบ

    เตรียมอาหารสำหรับให้แม่ไก่อารมณ์ดี

โดยส่วนผสมสูตรอาหารในแต่ละมื้อมีดังนี้ มื้อเช้า-มื้อเย็น มีอัตราส่วนผสมคือ หยวกกล้วยหมัก 4 ลิตร รำ 1 ลิตร ข้าวเปลือก 1 ลิตร หัวอาหารไก่ 1 ลิตร และหัวอาหารเป็ด 1 ลิตร และ มื้อเที่ยง จะเป็นการให้อาหารเสริมตามความสะดวก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในฟาร์ม เช่น หญ้าหวานอิสราเอลสับ แหนแดง หนอนแมลงวันลาย จากที่ฟาร์มได้ทำโครงการกำจัดขยะในครัวเรือนและในชุมชน ด้วยการนำเศษอาหารจากทั้งคนในชุมชนและแม่ค้าในตลาด นำมาหมักเป็นปุ๋ย ซึ่งในการทำปุ๋ยหมักจะพบหนอนแมลงวันลายที่มีประโยชน์สามารถนำไปเป็นอาหารให้ไก่ได้

  1. ต้นทุนค่าอาหาร

ใน 1 สัปดาห์ ให้อาหารไก่วันละ 3 มื้อ คิดเป็นต้นทุนค่าอาหารโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับการเลี้ยงแบบใช้หัวอาหาร 100 เปอร์เซ็นต์แล้วถือว่าคุ้มค่า ยังมองเห็นกำไรครึ่งต่อครึ่ง เพราะจากการที่ได้สอบถามจากเพื่อนที่เลี้ยงไก่ด้วยกัน ทุกคนจะยอมแพ้กับการเลี้ยงไก่แบบใช้หัวอาหาร 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้นทุนค่าอาหารกับราคาไข่ที่ขายได้ไม่สมดุลกัน

หยวกกล้วยหมัก สูตรอาหารลดต้นทุน
แหนแดง อาหารเสริมชั้นดี

เลี้ยงไก่ไข่สร้างประโยชน์ 3 ต่อ

ตามที่กล่าวไปข้างต้นในเรื่องของประโยชน์จากการเลี้ยงไก่ พี่กานต์ บอกว่า นอกจากการได้สนองความต้องการที่อยากจะได้ขี้ไก่มาทำเป็นปุ๋ยแล้วนั้น ในส่วนถัดมาคือการเก็บไข่ขายได้ทุกวัน วันละประมาณ 120-130 ฟอง ช่วยสร้างรายได้ทุกวัน วันละ 500 บาท และอีกส่วนยังได้ขี้ไก่มาทำเป็นปุ๋ยไว้ขายได้ โดยที่ฟาร์มจะนำขี้ไก่มาหมักทำเป็นปุ๋ยหมักขี้ไก่พร้อมปลูกได้เลย เพราะที่อื่นจะโกยขี้ไก่ใส่กระสอบแล้วขาย แต่ของที่ฟาร์มจะทำการหมักขี้ไก่ไว้ก่อน ประมาณ 15-30 วัน แล้วค่อยนำมาขาย ผู้ซื้อสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เลยโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าต้นไม้จะตาย เป็นการสร้างมูลค่าจากขี้ไก่ปกติที่ยังไม่ผ่านการหมักขายได้กระสอบละ 20-30 บาท แต่เมื่อผ่านกระบวนการหมักแล้วสามารถตักแบ่งขายเป็นกิโลได้ในราคา 2 กิโลกรัม ราคา 20 บาท เท่ากับว่าขี้ไก่ 1 กระสอบ ที่ฟาร์มสามารถขายได้กระสอบละ 150-200 บาท 1 ตัวให้ไข่ได้นานประมาณปีครึ่ง เมื่อเราปลดระวางแล้วสามารถขายเป็นไก่เนื้อได้อีก

Advertisement

หาตลาดยังไง…การตลาดเริ่มต้นจากคุณภาพแล้วเกิดเป็นการบอกปากต่อปาก จนกลายเป็นลูกค้าประจำต้องสั่งจองผลผลิตล่วงหน้า รวมถึงการตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

ไข่ไก่อารมณ์ดี ลูกค้าแย่งกันซื้อ

อาชีพเกษตรกรดีอย่างไร

“อันดับแรกคือดีกับตัวเองก่อน เพราะเราจะได้กินของดีๆ สร้างสุขภาพที่ดี ในอันดับถัดมาคือการสร้างรายได้ เมื่อเราผลิตของดี ขายของที่มีคุณภาพก็มีแต่คนอยากจะซื้อของเรา เกิดเป็นการสร้างอาชีพและขยายฐานลูกค้าไปในตัว ยกตัวอย่างที่ฟาร์มคุณแม่ของพี่เปิดโฮมสเตย์ พี่ก็ต่อยอดด้วยการปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงไก่ ไว้สำหรับเป็นวัตถุดิบให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพัก รวมถึงทำเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กๆ หรือเกษตรกรมือใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้วิถีเกษตร”

Advertisement

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสนใจติดต่อเข้ามาเยี่ยมชม “เพาะรัก2ภูฟาร์ม” ของพี่กานต์ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 089-140-2038

หนอนแมลงวันลาย