ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ จังหวัดยโสธร แหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

เกษตรอินทรีย์ยโสธร

หากใครสนใจอยากทำเกษตรอินทรีย์หรืออยากทำเกษตรหลังเกษียณ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร อยากแนะนำให้ลองไปเยี่ยมชมศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ จังหวัดยโสธร ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ครบวงจร อย่างเป็นกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรหัวใจอินทรีย์ ภายใต้การนำของ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ผลจันทร์ ประธานกลุ่มศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ผลจันทร์ เกษตรกรหัวก้าวหน้าด้านเกษตรอินทรีย์

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ มีสมาชิกประมาณ 50 คน เนื้อที่เพาะปลูกรวม 125 ไร่ เน้นปลูกแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง พวกเขานำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามาพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ เกษตรกรที่ไม่มีงานทำ มีความหวงแหน รักษ์ ในถิ่นฐานบ้านเกิดตน สามารถกลับมาพัฒนาชุมชนโดยอาศัยแนวคิดเรื่องการทำการเกษตรไร้สารเคมี (กสิกรรมธรรมชาติ) ของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) และ อาจารย์อำนาจ ยอดหมายกลาง ผู้อำนวยการโครงการกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังน้ำเขียว มาเป็นแนวทางในการทำการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเป้าหมายการพัฒนาของจังหวัดยโสธร ที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรแบบอินทรีย์ ในสโลแกนที่ว่า “ยโสธรเมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน”

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ถ่ายรูปกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจวิถีเกษตรอินทรีย์

 

น้ำ คือ ชีวิต

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ใส่ใจเรื่องการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำผิวดินและใต้ดินมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2561 ผู้ใหญ่สมศักดิ์เริ่มจาก ขุดบ่อธนาคารน้ำแห่งที่ 1 แต่เจอปัญหาหินดินดาน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการขุดอย่างมาก ทำให้การขุดบ่อน้ำมีต้นทุนสูง แต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุนเพราะมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ทำเกษตร 

ปีต่อมา ได้ขุดบ่อธนาคารน้ำแห่งที่ 2 เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำสำรอง สำหรับการเพาะปลูกพืชหลังฤดูกาลทำนา มีการขุดบ่อน้ำบาดาลเก็บน้ำผิวดินเหมือนกับธนาคารน้ำแหล่งที่ 1 แต่ลักษณะการขุดบ่อจะไม่ลึกถึงชั้นหินดินดานเหมือนกับธนาคารน้ำใต้ดินบ่อแรก หลังจากนั้น มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแห่งที่ 3 เพื่อใช้ทำสวนสมรมวนเกษตรครอบคลุมพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งมีความเพียงพอต่อการทำปลูกพืชแบบผสมผสาน

ผักสดอินทรีย์ขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด

ต่อมา มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำผิวดินแห่งที่ 4 และแหล่งที่ 5 ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ซับน้ำจากบ่อ ธนาคารน้ำแห่งที่ 1 โดยมีการพัฒนาสถานที่ริมบ่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียนรู้ยังศูนย์เกษตรในอนาคต พื้นที่บ่อน้ำที่ 4 ใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเลี้ยงปลานิล และบ่อน้ำแหล่งที่ 5 ใช้เลี้ยงปลาดุก เพื่อสร้างแหล่งอาหารรองรับผู้ที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ณ ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์

 

ใช้พื้นที่ทำเกษตรอย่างคุ้มค่า

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างคุ้มค่า โดยจัดสรรพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ 1. พื้นที่นาข้าว 2. คันนาทองคำ 3. พื้นที่ปลูกผัก 4. พื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน 5. กิจกรรมทางด้านการประมง

พื้นที่นาของศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์มีการใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี โดยปลูกข้าวในช่วงฤดูการทำนา หลังเสร็จสิ้นจากฤดูการทำนา ใช้พื้นที่ในการปลูกผัก พืชไร่ ปลูกหมุนเวียนกัน เพื่อการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ดินให้มากที่สุด

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ไปเยี่ยมชมแปลงปลูกผักเคล สินค้าขายดี

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวเจ้าหอมมะลิ ข้าวเหนียวหอมมะลิ ข้าวเหนียวดำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวญี่ปุ่น โดยเน้นการปลูกด้วยวิธีการปักดำเนื่องจากมีแหล่งน้ำที่เพียงพอและสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างดี ลดปริมาณวัชพืชในระหว่างทำการเพาะปลูกได้มาก มีการหมักฟางก่อนทำการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดิน เพิ่มความหลากหลายทางระบบนิเวศให้กับพื้นที่นา มีการใช้สารสกัดสมุนไพรที่ได้จากการหมัก มาใช้ในการจัดการศัตรูข้าว ทำให้ต้นข้าวของศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์เติบโตแข็งแรง 

ผลผลิตข้าวที่ได้ในแต่ละปีถูกนำมาขัดสีในโรงสีข้าวขนาดเล็ก ซึ่งผู้ใหญ่สมศักดิ์ได้ซื้อมาไว้ใช้งานภายในศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ เมื่อทำการขัดสีเสร็จจริงนำเมล็ดข้าวมาคัดบรรจุในถุงซีลสุญญากาศเพื่อนำไปจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร โดยวางขายที่ร้านค้าสันติอโศกและร้านเพื่อสุขภาพทั่วไป

ที่นี่สูบน้ำรดต้นไม้ด้วยพลังงานโซลาร์เซลล์

 

“คันนาทองคำ” มากคุณค่า

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ส่งเสริมให้เกษตรกรในท้องถิ่นจัดทำ “คันนาทองคำ” บริเวณแปลงนาของตัวเอง เพราะการจัดการแปลงนาลักษณะนี้ช่วยให้กลุ่มเกษตรกรสามารถเก็บน้ำในนาได้ในหน้าฝน เนื่องจากมีคันนาที่สูง คันนาที่ใหญ่สามารถปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล หรือพืชชนิดต่างๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ ผลจากการทำคันนาทองคำ ยังทำให้เกิดวัชพืชในนาข้าวลดน้อยลง เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ขังในนาข้าว วัชพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เป็นการลดการสูญเสียแรงงานในการถอนหญ้าวัชพืชที่ปลูกในนา เหมือนกับการมีคันนาแบบทั่วไปที่เก็บน้ำได้น้อย นอกจากนี้ การทำคันนาทองคำยังเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการทำเกษตรได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ผลจันทร์ โชว์สินค้าใหม่ในปีนี้

 

ผักอินทรีย์ขายดี

ใครอยากกินต้องสั่งจอง

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ได้จัดสรรพื้นที่เพื่อการปลูกพืชผักโดยเฉพาะ จำนวน 1 ไร่เศษ เพื่อผลิตผัก โดยเน้นการผลิตพืชผักเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแปลกใหม่และมีราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค โดยตลาดที่จำหน่ายที่สำคัญคือ บริษัท กรีนซันครอป ซึ่งสนับสนุนให้เกษตรกรศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ทำเกษตรแบบอินทรีย์

ทุกวันนี้ การทำผักอินทรีย์ของศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ มีการจัดการพืชผักแบบครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นการผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง การเตรียมแปลงผักโดยใช้รถไถขนาดเล็ก การจัดการโรคและแมลงโดยชีววิธี เป็นต้น เมื่อผลิตได้แล้วจึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ขายทั้งในตลาดในชุมชน ตลาดในพื้นที่จังหวัด และตลาดพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มวางขายที่ร้านบ้านไทยทิพย์ นวมินทร์ 44

ปัจจุบันศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์มีผลิตภัณฑ์แปรรูปมากถึง 40 กว่าชนิด ในปีนี้รุกขยายตลาดสินค้างาดำ งาขาว และเมิสลี่ อาหารเพื่อสุขภาพที่จำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ซองละ 20-25 บาทเท่านั้น ผู้สนใจสั่งซื้อได้จากร้านบ้านไทยทิพย์ ซอยนวมินทร์ 44 หรือทางเฟซบุ๊ก ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ หรือติดต่อกับ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ผลจันทร์ ประธานกลุ่มศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ เบอร์โทร. 064-436-6978

ผู้ใหญ่สมศักดิ์มุ่งมั่นทำงานอย่างบูรณาการระหว่าง “บ้าน วัด โรงเรียน” และเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน “รัฐ ราษฎร ปราชญ์ สื่อ” ทำให้ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ พัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างมีพลัง ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มากมาย เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอเลิงนกทา สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยโสธร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยโสธร ฯลฯ ทำให้สินค้าพืชผักและผลิตภัณฑ์แปรรูปมีการพัฒนาคุณภาพ ลดปัญหาเรื่องการตลาด สร้างความมั่นคง ยั่งยืน ให้กับเกษตรกร

สินค้าพระเอก 3 ตัวหลักที่จะใช้บุกตลาดในปีนี้

นอกจากนี้ ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์จัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีชาวนาไทยอีสาน เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมการเกี่ยวข้าว รวมทั้งจัดค่ายยุวชนคนสร้างวัฒนธรรมยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา เพื่อการพึ่งตน จนเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ เด็กเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านกสิกรรม สอดแทรกวัฒนธรรม ความรู้ทางคุณธรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความรักภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิด หวนคืนมาพัฒนาสังคม ด้วยอาชีพเกษตรกรรม