เกษตรกรพังงา “ปลูกพืชร่วมยาง” สร้างรายได้เฉลี่ย 89,000 บาท/ไร่/ปี

ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ราคายางพาราในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ค่อยสู้ดีนัก ทำให้เกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราหลายรายจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ จากที่เคยทำสวนยางพาราสร้างรายได้หลักเพียงอย่างเดียว ต้องหาอย่างอื่นทำเพิ่ม เพื่อให้มีรายได้เข้ามาทดแทนในยามราคายางพาราตก แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ เพราะถ้าหากมองในแง่ของการทำเกษตรกับพืชชนิดอื่น ข้อดีของการปลูกยางพาราน่าจะอยู่ตรงที่ในระยะยาวมีเงินออมที่ได้จากการขายไม้ยางในช่วงยางหมดอายุ ซึ่งพืชเกษตรอื่นไม่มีรายได้ส่วนนี้ และการทำสวนยางค่อนข้างมีการจัดการดูแลสวนที่ไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญมีพื้นที่ว่างระหว่างร่องเยอะ ทำให้สามารถปลูกพืชร่วมยางได้หลากหลายชนิด และยังช่วยเป็นพืชพี่เลี้ยงสร้างร่มเงาให้กับพืชชนิดอื่นได้เป็นอย่างดี

คุณบุญชู สิริมุสิกะ เจ้าของสวนไผ่อาบู

คุณบุญชู สิริมุสิกะ เจ้าของ สวนไผ่อาบู ตั้งอยู่ที่ 142 หมู่ที่ 5 ตำบลลำภี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา อดีตวิศวกรผันตัวทำเกษตร ต่อยอดสวนยางพาราของพ่อกับแม่ ปลูกพืชผสมผสาน ทั้งไม้ผล พืชผักสมุนไพร และเน้นการปลูกไผ่ และไม้เศรษฐกิจแซมในสวนยาง สร้างรายได้แบบไม่รู้จบ

ไผ่ลายพระนาย

พี่บุญชู เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรว่า ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกร ตนทำงานเป็นวิศวกรออกแบบระบบการผลิตให้กับบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง มีหน้าที่หลักคือ การวางแผนออกแบบกระบวนการผลิต ถือเป็นงานที่รักและถนัด และได้รับผลตอบแทนที่ดี แต่จุดพลิกผันที่มาเป็นเกษตรกร เกิดขึ้นจากวันหนึ่งขณะที่ดูทีวีรายการหนึ่ง ตนได้เห็นปราชญ์เกษตรท่านหนึ่ง ชื่อว่า ลุงนิล ซึ่งในตลอดระยะเวลาที่ได้นั่งดูลุงแกให้สัมภาษณ์ ตนสัมผัสได้ถึงความสุข ความเพลิดเพลินของลุงที่ได้อยู่กับการทำเกษตร สื่อให้เห็นถึงความเรียบง่าย รวมถึงที่ลุงนิลได้พลั่งพลูถึงวิธีการบริหารจัดการพื้นที่ทำเกษตรได้อย่างลงตัว ก่อเกิดเป็นรายได้และเป็นแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ตนเอง เมื่อได้เห็นวิถีที่ลุงนิลแกเล่ามา จึงย้อนกลับมามองตนเองและบอกกับตนเองว่า “ลุงนิลทำได้ เราก็ต้องทำได้” หลังจากนั้นจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตรมาเรื่อยๆ จนได้โอกาสลาออกจากงานมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว จากวันนั้นจึงถึงวันนี้ก็นับเป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว

ไผ่ยักษ์เมืองน่าน

ต่อยอดสวนยางพาราของพ่อกับแม่
ทำเกษตรผสมผสาน ปลายทางคือความยั่งยืน

พี่บุญชู เล่าให้ฟังว่า ตนไม่ได้กลับมาเริ่มต้นปลูกยาง แต่ยางคือพืชที่พ่อกับแม่ปลูกไว้ก่อนแล้วบนพื้นที่ประมาณ 23 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้บริบทการทำเกษตรของพ่อกับแม่คือเป็นสวนยางเชิงเดี่ยว ตนจึงกลับมาต่อยอดจากสวนเชิงเดี่ยวให้กลายเป็นสวนผสมผสาน ด้วยแนวคิดตั้งต้นคือ การกลับมาพัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรที่พ่อแม่ทำมาแต่ดั้งแต่เดิม โดยมีโจทย์หลัก คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่เดิมต้องยังคงอยู่ ส่วนหน้าที่ของเราคือพัฒนาต่อยอด มีเป้าหมายของการทำคือ วิถีของการทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืน ด้วยการยึดคติประจำใจที่ว่า “ในการทำเกษตรไม่ว่าจะปลูกหรือทำอะไร หากธงของการทำคือความยั่งยืนไม่ว่าราคาจะผันผวนก็กระทบน้อย ด้วยเพราะวิถีของการจัดการแปลงอย่างยั่งยืนนั่นมีความหลากหลายของกิจกรรม เสมือนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในยามวิกฤต แปลงสวนยางของที่นี่ก็เช่นกัน แม้เดิมทีเคยเป็นสวนยางเชิงเดี่ยว แต่ถูกพัฒนาต่อยอดมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นรากฐานที่มั่นคง ไม่ว่าราคาพืชผลทางการเกษตรจะเปลี่ยนแปลงก็กระทบกับวิถีการดำเนินชีวิตของที่นี่น้อยมาก”

ปลูกแซมไปเรื่อยๆ ตามแบบแผนที่วางไว้
ผักพื้นบ้านสดๆ ตามมาอุดหนุนกันได้

และที่นี่จะมีหลักการในการเลือกพืชมาปลูกร่วมในสวนยางอยู่ 2 ข้อหลักๆ คือ 1. ต้องเป็นพืชที่เหมาะสมกับบริบทของเรา 2. พืชที่ปลูกแล้วต้องสามารถเป็นอาชีพให้เราได้ ดังนั้น พืชต่างๆ ที่ปลูกที่นี่จึงผ่านกระบวนการออกแบบพื้นที่ ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาก่อน ไม่ได้ปลูกไปเรื่อยๆ แต่ทำอย่างมีแบบแผน มีเหตุและมีผล

โดยระยะห่างในการปลูกยางของที่สวน จะปลูกอยู่ 2 ระยะด้วยกัน คือ ระยะ 3×6 และ 3×7 เมตร มีการจัดสรรพื้นที่ปลูกอย่างเป็นระบบดังนี้

ไผ่ยักษ์เมืองน่าน
อยู่ในระยะห่างที่เหมาะสม
  1. พื้นที่ปลูกไผ่และเกษตรผสมผสานรวมยาง 5 ไร่ แปลงนี้เน้นรายได้ระยะสั้น เก็บขายได้เร็ว ทำตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการแปรรูป และเตรียมวางรากฐานต่อยอดไปสู่แปลงเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว จำนวน 1 แปลง ทำบนบริบทของสวนยางยั่งยืนที่ใช้ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้
  2. พื้นที่ปลูกไผ่ขายลำ และไม้เศรษฐกิจผสมผสานในยาง 5 ไร่ แปลงนี้เน้นรายได้ระยะกลางและระยะยาว สู่ขั้นตอนการดำเนินการต่อยอดสู่สวนยางยั่งยืน 1 แปลง
  3. พื้นที่ปลูกสวนป่าไม้เศรษฐกิจร่วมยางพารา 13 ไร่ แปลงนี้เน้นการสร้างป่าในสวนยางพาราตามแนวทางของวนเกษตร

แนวทางการพิจารณา
วางแผนปลูกพืชร่วมยาง

พาภรรยานำพืชผักที่ปลูกมาขายสร้างรายได้
ใบมะกรูดพืชผักสวนครัวก็มีขาย

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาการเลือกชนิดของพืชที่จะมาปลูกร่วมยางพารา ควรพิจารณาอะไรบ้าง พี่บุญชู ยกตัวอย่างการปลูกไผ่ร่วมยางของที่สวนให้ฟังว่า มีหลักการพิจารณาดังนี้ 1. ผู้ปลูกควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ของไผ่ให้ดีก่อนปลูก เพราะไผ่มีมากมายหลายชนิด และแต่ละชนิดก็จะมีคุณสมบัติในการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน การที่เรามีความรู้เรื่องไผ่จะช่วยให้เราสามารถพิจารณาได้ง่ายขึ้น ว่าไผ่ชนิดไหนที่เราควรจะนำมาปลูกร่วมในสวนยางพารา และแต่ละสายพันธุ์หวังผลผลิตด้านไหน เช่น ปลูกเพื่อขายหน่อ หรือปลูกเพื่อขายลำ หรือจะปลูกเพื่อต่อยอดทำเกษตรเชิงท่องเที่ยว

การตอนกิ่งไผ่ยักษ์เมืองน่าน

ส่วนเทคนิคการปลูกนั้น ไผ่ เป็นพืชที่มีอัตราการเติบโตเร็ว การนำไผ่มาปลูกร่วมยางพาราจึงต้องทำในช่วงที่เหมาะสม โดยควรปลูกในช่วงที่ยางพารามีอายุ 3-4 ปี ระยะกอควรห่าง 6-9 เมตร

การดูแลจะคล้ายกับการปลูกพืชทั่วไป ในช่วงเริ่มปลูกให้ปุ๋ยบ้างปีละ 2-3 ครั้ง หลังจากนั้นสามารถปล่อยให้โตตามธรรมชาติได้ แต่หากต้องการให้ได้ผลผลิตสูงก็ต้องดูแลให้ปุ๋ยสางแต่งกอ ต้องเอาใจใส่ดูแลเช่นเดียวกับพืชอื่นๆ และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนควรปลูกไม้เศรษฐกิจสลับระหว่างกอ และใส่พืชร่วมให้มีความหลากหลายในแปลงยางพารา เพื่อต่อยอดสู่สวนยางยั่งยืน

พืชสมุนไพรกระชาย แบ่งขายง่ายๆ
พริกไทยจากสวน มากด้วยคุณภาพ

การสร้างรายได้จากพืชหลัก
และพืชร่วมยาง มีรายได้ไม่ขาดมือ

รอบนี้ออกขี้ยางเต็มพ่วงเลย
โตขึ้นทุกวัน ไผ่ตงดำ ปลูกร่วมในสวนยางพารา

เจ้าของบอกว่า สำหรับการสร้างรายได้จากสวนผสมผสาน พืชหลักนอกจากยางพาราที่สร้างรายได้ให้กับที่สวนคือไผ่ โดยไผ่ของที่สวนจะมีหลากหลายชนิด ทั้งขายหน่อ ขายลำ แปรรูป ตลอดจนต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ สรุปโดยรวมแล้วรายได้จากหลายกิจกรรมที่ทำรวมๆ กันที่เกิดจากไผ่ บนพื้นที่ 5 ไร่ อยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนบาท ต่อปี ทั้งนี้ทั้งนั้นรายได้ในส่วนนี้ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงศักยภาพสูงสุดตามบริบทของกิจกรรมที่ทำ เพราะกิจกรรมแทบจะทั้งหมดของที่นี่ทำบนพื้นฐานของความพอดี คือ ทำพอเหมาะแก่กำลังที่มี ทำเพื่อเลี้ยงชีพให้ดำรงอยู่ได้ มีเหลือให้เก็บออมตามสมควร ไม่ได้จะมุ่งทำเอารวย

“สรุปรายได้เฉลี่ยการปลูกไผ่ร่วมยางรวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดจากการต่อยอดทำสวนยางยั่งยืนช่วยให้มีรายได้ประมาณ 89,000 บาทต่อไร่ต่อปี ทีั้งนี้ทั้งนั้นรายได้แปรผันตามความขยันและการเอาใจใส่ของเจ้าของแปลง ถ้าปลูกแล้วบริหารจัดการแปลงดีๆ 89,000 บาทต่อไร่ต่อปี ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ดูแล ไม่หมั่นศึกษาเรียนรู้ ไม่ต่อยอดแปรรูป โอกาสที่จะเกิดรายได้สูงก็เป็นไปได้ยาก”

กิจกรรมดูแลสวนเกษตรผสมผสานที่รัก
ปลูกไผ่ร่วมยางพารา

ฝากถึงเกษตรกร ชาวสวนยางพาราเชิงเดี่ยว

“การทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวไม่มีความมั่นคง เกษตรกรควรน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิต และน้อมนำแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับสวนยางเชิงเดี่ยว เพื่อต่อยอดสู่การทำสวนยางแบบยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชร่วมยางให้มีความหลากหลายทางนิเวศในแปลง ไผ่เป็นหนึ่งตัวเลือกที่สามารถปลูกเป็นพืชร่วมในสวนยางพาราได้ดี แต่ทว่าควรปลูกบนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจ ไม่ปลูกตามกระแส ด้วยเพราะการทำเกษตรด้วยความรู้ความเข้าใจเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้สามารถต่อยอดไปสู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืนได้ไม่ยาก” พี่บุญชู กล่าวทิ้งท้าย

ยางพารา พืชสร้างรายได้หลักก็ยังให้คุณภาพน้ำยางคุณภาพ
กรีดยางเสร็จอย่าให้ว่าง ปลูกไม้ไข่เขียวกันต่อ
หน่อไผ่กิมซุ่งที่ปลูกร่วมในสวนยางพารา ราคาขายกิโลกรัมละ 15-35 บาท

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 086-282-2176 หรือติดต่อได้ทางช่องทางเฟซบุ๊ก: สวนไผ่อาบู