แนะป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) แบบไม่ต้องพึ่งสารเคมี

หนอนหัวดำมะพร้าว เป็นแมลงศัตรูมะพร้าวต่างถิ่นที่ระบาดเข้ามาในไทย พบการระบาดครั้งแรกที่ประจวบคีรีขันธ์ หนอนหัวดำมะพร้าวเข้าทำลายใบเฉพาะระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยจะแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบ โดยเฉพาะใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว

ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายจะมีใบแห้ง และมีสีน้ำตาล ผลผลิตลดลง หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้ หนอนหัวดำมะพร้าวสามารถแพร่กระจายตัวโดยติดไปกับต้นกล้ามะพร้าว หรือปาล์มประดับ ผลมะพร้าว หรือส่วนใบมะพร้าวที่มาจากแหล่งที่มีการระบาดแล้วนำเข้าไปในพื้นที่ใหม่ ดังนั้นหนอนหัวดำจึงจัดเป็นแมลงศัตรูสำคัญของต้นมะพร้าวที่กำลังแพร่ขยายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

จังหวัดศรีสะเกษ แม้จะมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวไม่มาก แต่ชาวบ้านก็ใช้ประโยชน์จากมะพร้าวในการบริโภค อีกทั้งในบางพื้นที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านเริ่มมองมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะสามารถส่งขายให้แก่นักท่องเที่ยว และส่งขายประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาสูงกว่าด้วย ฉะนั้น หากหนอนหัวดำเกิดระบาดขึ้นในพื้นที่อาจส่งผลเสียหายต่อรายได้เกษตรกรทันที

นายอำเภอกันทรารมย์(เสื้อขาว)พร้อมหัวหน้าเกษตรร่วมปล่อยแตนเบียน

“โครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว ด้วยวิธีผสมผสาน แบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน” เป็นอีกหนึ่งโครงการของสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนอนหัวดำที่เป็นศัตรูตัวร้ายของมะพร้าวเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง จึงควรหาวิธีเร่งกำจัดเสียก่อน

งานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือและผนึกกำลังกันของทุกหน่วยงานภาคเกษตร รวมถึงเกษตรกรทุกคนในพื้นที่อย่างคึกคักเข้มแข็ง ภายในงานมีการสาธิตที่มาของหนอนหัวดำ พร้อมแสดงให้เห็นความร้ายกาจของศัตรูตัวนี้ อีกทั้งยังมีการสาธิตปล่อยแตนเบียนเพื่อเข้าทำลายหนอนหัวดำ พร้อมกับการเผาทำลายทางมะพร้าวที่หนอนหัวดำวางไข่ด้วย

โอกาสนี้ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านจึงเชิญผู้เกี่ยวข้องกับงานในครั้งนี้มาล้อมวงคุยกันบริเวณสวนมะพร้าวของชาวบ้านทุ่งมั่ง หมู่ที่ 4 ตำบลอีปาด อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ในประเด็นความพร้อมต่อการป้องกันหนอนหัวดำของศรีสะเกษ

คุณชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ นายอำเภอกันทรารมย์ กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีการแพร่ระบาดหนอนหัวดำในพื้นที่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นบริเวณกว้าง แล้วถือว่ายังไม่ร้ายแรง ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าควรแนะนำและให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อป้องกันไว้ก่อน อีกทั้งวิธีที่นำมาใช้จะไม่มีสารเคมีเลย เนื่องจากต้องการให้เกิดความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

ขณะเดียวกันถ้าเกษตรกรยึดแนวทางนี้จะช่วยทำให้เกิดความยั่งยืน นำมาสู่การยอมรับจากหลายหน่วยงานว่ามะพร้าวในพื้นที่นี้ปลอดสารเคมีอย่างแท้จริง เพื่อจะเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกกีดกันทางการค้าด้วย

ตั้งวงคุยกันในสวนมะพร้าว

มะพร้าว เป็นพืชที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการนำมาบริโภค แล้วยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวที่มีต่อร่างกายด้วย รวมถึงยังมีการโยงใยไปถึงทางด้านท่องเที่ยว ทางด้านสปา แล้วดีต่อสุขภาพเมื่อนำน้ำมันมะพร้าวไปใช้ ฉะนั้นจึงมีการสนับสนุนการปลูกมะพร้าวในเชิงเศรษฐกิจแก่ชาวบ้านในจังหวัด เพราะมองตลาดผู้บริโภคมะพร้าวทุกประเภทแล้วต้องมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ว่าที่พันตรี ณรงค์ชัย ค่ายใส ผอ. ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าภารกิจของหน่วยงานนี้คือ ต้องการให้เกษตรกร ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืชด้วยการใช้วิธีทางธรรมชาติในการปราบศัตรูมะพร้าว ซึ่งแนวทางนี้ได้ดำเนินไปหลายพื้นที่ ในเขต 8 จังหวัด ภาคอีสานตอนล่าง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเจ้าหน้าที่ทางการเกษตรและชาวบ้าน เหตุผลสำคัญคือ ต้องการให้สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความสมดุลกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างเดิม

สำหรับแนวทางที่ป้องกันศัตรูพืชในมะพร้าวคือ การใช้แตนเบียนที่เป็นแมลงขนาดเล็กปล่อยไปในธรรมชาติบริเวณต้นมะพร้าว เพื่อให้ไปจัดการปราบหนอนหัวดำที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ถ้าเปรียบแตนเบียนเหมือนตำรวจ และหนอนหัวดำเป็นผู้ร้าย ฉะนั้นตอนนี้พบว่าเริ่มมีผู้ร้ายเข้ามาก่อกวน จึงต้องจัดหาตำรวจมาปราบ แล้วการเข้ามาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษก็เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกับภาคราชการสร้างตำรวจขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อให้ปราบผู้ร้าย

อย่างไรก็ตาม มะพร้าว นอกจากมีประโยชน์ด้านการบริโภคแล้ว ทุกส่วนของลำต้นยังมีประโยชน์ในการประดิษฐ์เป็นของใช้ในครัวเรือน อย่าง ไม้กวาด หรือกะลา ไว้ใช้หรือจำหน่ายสร้างรายได้อีก ทั้งนี้ลักษณะทรงต้นของมะพร้าวยังไม่มีกิ่งก้าน จึงทำให้สามารถปลูกพืชอายุสั้นบริเวณใต้ต้นมะพร้าวได้อีก เพื่อเป็นการหารายได้ระหว่างรอมะพร้าวให้ผลผลิต

หนอนหัวดำมะพร้าว

มะพร้าว เป็นพืชที่มีคุณสมบัติทนต่อสภาพอากาศ ขณะที่มะพร้าวน้ำหอมยังเป็นสินค้าบริโภคด้านการท่องเที่ยว แล้วในตอนนี้มีหลายพื้นที่ทางภาคอีสานที่ปลูกมะพร้าวในเชิงพาณิชย์กันแล้ว อาจเป็นเพราะโดยธรรมชาติของมะพร้าวเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ไม่ยุ่งยากมากนัก

แตนเบียนที่ใช้ปราบหนอนหัวดำ

นอกจากจะใช้แมลงทางธรรมชาติเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ ตัวผมยังได้คิดค้นอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับปล่อยแตนเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้จะเป็นท่อต่อยาวขึ้นไปเกือบถึงยอดสุดของมะพร้าว แล้วจัดการปล่อยแตนเบียนออกจากภาชนะใส่ ทั้งนี้ เพื่อให้แตนเบียนเข้าไปใกล้หนอนหัวดำมากที่สุด เพราะวิธีเดิมคือการปล่อยด้านล่างทำให้แตนเบียนมีโอกาสบินขึ้นไปกำจัดหนอนหัวดำได้น้อยกว่าวิธีนี้

เผาทำลายหนอนหัวดำที่วางไข่ทางมะพร้าว

อุปกรณ์นี้ได้ทำต้นแบบแล้วนำไปใช้ทางพื้นที่ภาคใต้ที่ปลูกมะพร้าว ก็ประสบความสำเร็จดีตามความคาดหมาย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เวลาคิดแก้ไข ประมาณ 2 เดือน มีต้นทุนไม่เกิน 300 บาท จึงเหมาะกับเกษตรกรจะนำไปผลิตเองเพราะวัสดุมีขายตามร้านค้าทั่วไป และไม่ยุ่งยาก

คุณกิตติศักดิ์ วิมลสุข หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ชาวบ้านในจังหวัดศรีสะเกษปลูกมะพร้าวกันมานานแล้ว ในช่วงแรกไม่มีเจตนาเพื่อการค้า แต่ปลูกไว้ใช้บริโภค ฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงปลูกกันตามหัวไร่ปลายนา รุ่นนี้ต้นมะพร้าวมีอายุสิบกว่าปี และต่อมามีการปลูกเพิ่มในเชิงการค้า รุ่นนี้มีอายุประมาณ 4-5 ปี เนื้อที่ปลูกรวมทั้งหมด ประมาณ 590 ไร่ เป็นทั้งมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ ปลูกเพื่อบริโภคและสร้างรายได้ด้วย

จากสถานการณ์โรค แมลงศัตรูพืชที่เริ่มมีการระบาดคือ หนอนหัวดำ ที่เกิดขึ้นเกือบทุกอำเภอ โดยทางหน่วยงานได้ติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้าน โดยผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนที่ตั้งอยู่ทุกอำเภอ ทุกพื้นที่เพื่อจะได้รายงานให้ต้นสังกัดทราบถึงการระบาดและความเสียหายที่เกิดขึ้น

สำหรับอำเภอที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดคือ กันทรลักษ์ ศรีรัตนะ และขุนหาญ ลักษณะคุณภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายและมีความเหมาะสม อีกทั้งยังมีแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ไม่เคยขาดแคลนด้วย จึงทำให้มะพร้าวน้ำหอมมีคุณภาพดี มีความหวาน หอม และมีศักยภาพถึงขนาดส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันชาวบ้านเห็นช่องทางสร้างรายได้ด้วยการขายหน่อมะพร้าวกันเป็นจำนวนมาก เพราะมีราคาสูงกว่าขายผลสด จึงทำให้มะพร้าวผลสดขาดแคลนในตลาด โดยชาวบ้านจะขายมะพร้าวอยู่ในพื้นที่ เพราะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงในสวน

ชาวบ้านสนใจเข้าฟังการแนะนำวิธีปราบหนอนหัวดำกันอย่างเนืองแน่น

ผมคิดว่าขณะนี้มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดที่กำลังมีอัตราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติ สามารถปลูกพืชไม้ผลได้คุณภาพทุกชนิด รวมถึงยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง แล้วมะพร้าวจะเป็นผลไม้ดึงดูดที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน จึงมองว่าคงมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น อีกทั้งคงมีการจัดระบบการปลูกให้มีมาตรฐานตามมาด้วยเช่นกัน

คุณสมาน ประดับทอง เกษตรอำเภอกันทรารมย์ เผยว่า สำหรับปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำในพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้ไม่หนักใจ เนื่องจากลักษณะการปลูกมะพร้าวของชาวบ้านไม่ได้มีขนาดเป็นแปลงใหญ่ แต่มีลักษณะแบบหัวไร่ปลายนาที่มีอายุ 10 ปี หรือสวนขนาดเล็กที่มีอายุ 4-5 ปี แต่จะปลูกในทุกพื้นที่ จึงสามารถควบคุมได้

ดังนั้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่เกษตรกรยังไม่รู้มาก่อน แล้วหากไม่รีบดำเนินการอาจช้าเกินไป ขอให้เกษตรกรเพิ่มความเอาใจใส่ หมั่นสังเกต แล้วปฏิบัติตามขั้นตอน และวิธีที่ทางเกษตรจังหวัดแนะนำให้ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่อำเภอกันทรารมย์มีพืชที่ปลูกเป็นหลักคือ ข้าว หอมแดง กระเทียม นอกจากนั้น เป็นพืชสวนครัว ส่วนมะพร้าวจัดเป็นพืชที่ทนทาน ปลูกง่าย ต้นทุนต่ำ จึงสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้ไม่น้อย

ป้ายประชาสัมพันธ์

คุณทองชุ่น สุรวิทย์ กำนันตำบลอีปาด บอกว่า มะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวอื่นเป็นพืชทางเลือกชนิดใหม่ของชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากจะปลูกหอมแดงและกระเทียมกันแล้ว อย่างไรก็ตาม มองว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นไม้ผลที่มีความน่าสนใจ มีโอกาสสร้างรายได้ ขณะเดียวกันมะพร้าวยังเป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่ยุ่งยาก ใช้สารเคมีน้อยมาก และเมื่อดูคุณสมบัติของมะพร้าวแล้วพบว่าในพื้นที่กันทรารมย์มีความเหมาะสมอย่างมาก เพราะไม่เคยขาดน้ำ หรือไม่เคยมีความแล้งรุนแรง จึงถือเป็นจุดแข็งของพื้นที่ พร้อมกับเอื้อประโยชน์ต่อพืชชนิดอื่นอีกด้วย

สำหรับการปลูกมะพร้าวของเกษตรกรจะปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น เป็นการปลูกแบบผสมผสาน เพื่อช่วยให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญมะพร้าวที่ชาวบ้านปลูกยังไม่ทันจะส่งไปขายก็มีพ่อค้ามารับซื้อถึงในสวน

คุณอดิศักดิ์ จันทรัตน์ นายก อบต. อีปาด กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลอีปาด มีการส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมด้วยการทำสวนผสมผสาน พร้อมกับได้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในเรื่องการใช้ไฟฟ้า อย่างที่เห็นว่าถ้าให้เกษตรกรใช้เครื่องสูบน้ำในการทำการเกษตรจะเพิ่มต้นทุนมาก เลยมาช่วยชาวบ้านจัดหาไฟฟ้าให้อย่างเต็มที่

“นอกจากนั้น ยังดูแลเรื่องการสร้างถนนที่เป็นเส้นทางการเกษตรเพื่อให้เกิดความสะดวก คล่องตัว ประหยัดต้นทุน และประหยัดเวลา ต่ออาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้าน แล้วยังมีการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการเกษตรกรรมด้านอื่นๆ พร้อมกับส่งไปดูงานเกษตรกรรมต่างพื้นที่เพื่อเติมความรู้ และสร้างแรงจูงใจในการทำเกษตรกรรม”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทรศัพท์ (045) 615-783