ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ปุ๋ยเพิ่มการเจริญเติบโตของพืช

ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ หรือปุ๋ยชีวภาพแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เป็นปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณรากพืช ทั้งบริเวณดินรอบๆ ราก ผิวราก ภายในราก ต้น และใบพืช

ดร.กัลยกร โปร่งจันทึก นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร อธิบายว่า พีจีพีอาร์ (PGPR : Plant Growth Promoting Rhizobacteria) เป็นแบคทีเรียกลุ่มใหญ่ที่นิยมมาใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ แบคทีเรียกลุ่มนี้สามารถตรึงไนโตรเจน ผลิตสารคล้ายฮอร์โมนพืช ละลายฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม และผลิตสารที่ช่วยละลายธาตุเหล็กเข้าสู่เซลล์ของพืช

ปัจจุบัน นักวิจัยมีความสนใจศึกษาประโยชน์ของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ รากพืชกันมากขึ้น เนื่องจากพบว่าแบคทีเรียกลุ่มนี้มีศักยภาพในการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพได้

ประโยชน์ที่สำคัญของแบคทีเรียกลุ่มนี้คือ การตรึงไนโตรเจน ผลิตสารคล้ายฮอร์โมนพืชที่ช่วยให้รากมีพื้นที่ผิวมากขึ้น มีผลช่วยให้พืชดูดน้ำและธาตุอาหารได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จึงนำมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์

เริ่มศึกษาวิจัยใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ในข้าวโพดหวาน

ดร.กัลยกร กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดหวานประสบกับปัญหาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้กำไรที่ได้จากการปลูกข้าวโพดหวานของเกษตรกรลดลง เกษตรกรจึงเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวโพดหวานในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ดร.กัลยกร บอกว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มผลผลิต และสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวโพดหวานและพืชชนิดอื่นๆ ได้

ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ต่อการเจริญเติบโต และเพิ่มผลผลิตข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 โดยเลือกพื้นที่ทำการศึกษาวิจัย 2 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี (ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี เดิม) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์

Advertisement
ดร.กัลยกร โปร่งจันทึก ผู้วิจัยกับแปลงอ้อยชำข้อ ที่ใช้ปุ๋ยพีจีพีอาร์-ทรี ที่จังหวัดร้อยเอ็ด

ดร.กัลยกรเริ่มทำการศึกษาวิจัยในช่วงแรกปี 2554-2558 และช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2559-2564 การศึกษาวิจัยเริ่มต้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรนครสวรรค์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี เหตุที่เลือกพื้นที่ศึกษาวิจัย 2 ศูนย์ดังกล่าว เนื่องจากทั้งสองพื้นที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดจำนวนมาก

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ (ศวพ.นครสวรรค์) เป็นตัวแทนพื้นที่ ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ส่วนศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี (ศวพ.ลพบุรี เดิม) เป็นตัวแทนพื้นที่ ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง เนื้อดินเป็นดินร่วนปนเหนียว

“ดังนั้น เราจึงใช้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรี เป็นพื้นที่ในการทดสอบปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ในการผลิตข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 เพียงอย่างเดียว”

ดร.กัลยากร โปร่งจันทึก กับแปลงของเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู จังหวัดนครปฐม

ทดสอบการใช้ปุ๋ยพีจีพีอาร์-วัน ร่วมกับปุ๋ยเคมี

ดร.กัลยกร กล่าวว่า การศึกษาวิจัยการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ร่วมกับปุ๋ยเคมี ในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรีและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ ระหว่างปี 2559-2564 มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน สองแบบ คือ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 (สูตรดั้งเดิม) และปุ๋ยชีวภาพ พีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 2 (สูตรใหม่) ร่วมกับปุ๋ยเคมี 5 กรรมวิธี ดังนี้

กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมี 20-5-10 / 30-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (อัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน)

กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 20-5-10 / 30-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่

กรรมวิธีที่ 3 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 20-5-10 / 30-10-5 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่

กรรมวิธีที่ 4 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 15-3.75-7.5 / 22.5-7.5-3.75 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (75% อัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน)

กรรมวิธีที่ 5 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 2 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 15-3.75-7.5 / 22.5-7.5-3.75 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่ (75% อัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน)

ดร.กัลยกร อธิบายเพิ่มเติมว่า ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 เป็นสูตรดั้งเดิมแยกเชื้อจากรากหญ้าแฝก แบบที่ 2 สูตรใหม่ แยกเชื้อจากรากข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชลพบุรีพบว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ทั้งสองแบบร่วมกับปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือ 75% ของอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน ให้ผลการทดลองใกล้เคียงกันทั้ง 6 ปี แต่การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ร่วมกับปุ๋ยเคมี 75% ของอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินสามารถช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าในส่วนของการลดการใช้ปุ๋ยเคมีจากอัตราแนะนำลงมา 25%

ส่วนผลการทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์พบว่า ทั้ง 5 กรรมวิธี มีผลการทดลองไปในทิศทางเดียวกันคือ กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน แบบที่ 1 ร่วมกับปุ๋ยเคมี 30-10-5 กิโลกรัมต่อไร่ (อัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดิน) พบว่า ข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 มีน้ำหนักฝักสดรวมเปลือก และน้ำหนักฝักสดปอกเปลือกสูงสุด คือ 1,800-3,037 และ 1,267-2,146 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังพบว่าการใส่ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ทั้งสองแบบ ทำให้ผลผลิตข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 ของทั้งสองแปลงทดลองมีความหวานได้มาตรฐาน ตามมาตรฐาน มกษ. 1512-2554 (8-18 °brix) และยังช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียทั้งสามสกุลที่อยู่ในปุ๋ยชีวภาพทั้งสองแบบ ซึ่งแบคทีเรียทั้งสามสกุลมีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจน ชี้ให้เห็นว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์สามารถช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนลงได้ และยังช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าวโพดได้อีกด้วย และเพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนมากขึ้นจึงมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวรวมทั้งการศึกษาเพิ่มเติมในข้าวโพดหวานสายพันธุ์อื่นด้วย ดร.กัลยกร กล่าว

ปุ๋ยพีจีพีอาร์

ศึกษาวิจัยการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ในพื้นที่ สวพ. 1-8

ดร. กัลยกร บอกว่า กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน ยังได้ทำการศึกษาวิจัยการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ทั้ง 3 ชนิด คือ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู และปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี ในพื้นที่ สวพ. เขตที่ 1-6 ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกหลักส่วนใหญ่จะเป็นพืชไร่หรือพืชล้มลุก เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง พืชผักและพืชสมุนไพร จึงสามารถทำการศึกษาวิจัยการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ทั้ง 3 ชนิด

ส่วนในพื้นที่ สวพ .7-8 ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้นั้น เกษตรกรมีการเพาะปลูกพืชไร่และทำนาน้อย จึงศึกษาเฉพาะปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน สำหรับข้าวโพด พืชผักและพืชสมุนไพร และศึกษาการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู สำหรับผลิตข้าวเท่านั้น

แปลงกะหล่ำดอก ที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ร่วมกับปุ๋ยหมักเติมอากาศ จังหวัดอุบลราชธานี

ความแตกต่างของปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ทั้ง 3 ชนิด

ดร.กัลยกร อธิบายว่า ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน ประกอบด้วย แบคทีเรีย 3 สกุล แยกมาจากรากหญ้าแฝกและข้าวโพด เหมาะสำหรับข้าวโพด ข้าวฟ่าง พืชผัก พืชสมุนไพร ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู ประกอบด้วย แบคทีเรีย 2 สกุล แยกมาจากรากข้าวหอมมะลิ 105 เหมาะสำหรับข้าวทุกสายพันธุ์ ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี ประกอบด้วย แบคทีเรีย 2 สกุล แยกมาจากรากอ้อยสายพันธุ์บราซิล เหมาะสำหรับอ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด

ดร.กัลยกร บอกว่า การที่กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน ทำการศึกษาวิจัย การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงเท่ากับเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร รวมถึงการแนะนำให้เกษตรกรรู้จักการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราแนะนำตามค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะกับการปลูกพืชแต่ละชนิด

การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ให้ประโยชน์แก่เกษตรกร ดังนี้

  1. ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับเป็นการลดต้นทุนการผลิตลง
  2. ช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
แปลงมันสำปะหลัง จังหวัดขอนแก่น ที่มีการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี

วิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ให้ตรงกับพืช การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน

1. คลุกเมล็ดก่อนปลูก ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน จำนวน 1 ถุง (500 กรัม) ผสมน้ำให้ข้นแล้วนำเมล็ดข้าวโพด 3-4 กิโลกรัม หรือเมล็ดข้าวฟ่าง 2-3 กิโลกรัม คลุกเคล้าจนเนื้อปุ๋ยเคลือบติดเมล็ด แล้วนำไปปลูกทันที

2. ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-วัน จำนวน 1 ถุง (500 กรัม) ละลายน้ำสะอาด 20 ลิตร ราดกองปุ๋ยที่หมักสมบูรณ์แล้วประมาณ 250 กิโลกรัม ปรับความชื้นในกองปุ๋ยหมักให้ได้ประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก คลุกเคล้าให้เข้ากัน บ่มไว้ 1 สัปดาห์ ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 250 กิโลกรัมต่อไร่

ใช้ปุ๋ยพีจีพีอาร์-วัน

การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู

1. คลุกเมล็ดก่อนปลูก ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู จำนวน 1 ถุง (500 กรัม) ใส่น้ำสะอาดผสมให้ข้นเหนียว ใส่เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 10-15 กิโลกรัม คลุกเคล้าจนเนื้อปุ๋ยเป็นสีดำเคลือบติดผิวเปลือกเมล็ดแล้วจึงนำไปปลูก

2. ใช้ร่วมกับปุ๋ยหมัก นำปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทู จำนวน 1 ถุง (500 กรัม) ผสมกับปุ๋ยหมักประมาณ 250 กิโลกรัม หว่านลงไปในแปลงปลูกข้าว อัตรา 250 กิโลกรัมต่อไร่

นาแปลงใหญ่ จังหวัดกาฬสินธุ์

การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี ในอ้อย

1. พ่นลงบนท่อนพันธุ์ ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี ละลายกับน้ำสะอาดในอัตราส่วนปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี 1 กิโลกรัม (2 ถุง) ต่อน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นเป็นฝอยลงบนท่อนพันธุ์อ้อยให้ทั่วนำไปปลูกแล้วกลบทับด้วยดินทันที

2. ใช้ร่วมกับปุ๋ยหมัก นำปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี จำนวน 1 ถุง (500 กรัม) ผสมกับปุ๋ยหมัก 250 กิโลกรัม หว่านลงในแปลงอ้อยก่อนปลูกอัตรา 250 กิโลกรัมต่อไร่

 

การใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี ในมันสำปะหลัง

1. แช่ท่อนพันธุ์ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี ละลายน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1 : 20 หรือใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี 1 กิโลกรัม (2 ถุง) ต่อน้ำ 20 ลิตร นำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังลงไปแช่ 5-30 นาที แล้วนำไปปลูกทันที

2. ใช้ร่วมกับปุ๋ยหมัก นำปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-ทรี 1 ถุง (500 กรัม) ผสมกับปุ๋ยหมัก 250 กิโลกรัม หว่านลงในแปลงมันสำปะหลังก่อนปลูก อัตรา 250 กิโลกรัมต่อไร่

เกษตรกรสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ประโยชน์และวิธีการใช้ได้ในส่วนภูมิภาค ได้ที่ ศวพ.ลำปาง สวพ.2 พิษณุโลก ศวพ.กาฬสินธุ์ สวพ.4 อุบลราชธานี สวพ.5 ชัยนาท ศวพ.ระยอง ศปผ.ขอนแก่น และกลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร โทร. 02-579-7522

………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2565