เกษตรกรดีเด่น จังหวัดตรัง พลิกผืนนาร้าง กลายเป็นไร่นาสวนผสม

นาข้าวที่เคยเป็นวิถีหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เมื่อครั้งสมัยก่อน ค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับความเจริญเติบโตของเมืองใหญ่ จนปัจจุบันนาข้าวของตำบลนาตาล่วงได้เปลี่ยนแปลงไป เป็นพื้นที่สวนยาง สวนปาล์ม ตลอดจนบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยของชุมชนเมือง

ตำบลนาตาล่วง มีเรื่องเล่าขานตามชื่อของตำบลว่า ครั้งหนึ่ง มีชาวบ้านชื่อ นายล่วง ได้เดินทางผ่านมาในพื้นที่นี้เพื่อเอาเงินและทองมาทำบุญสร้างเจดีย์ วัดพระธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่แล้วต้องมาล้มป่วยลง ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงได้มาทำนาหาเลี้ยงชีพอยู่ในพื้นที่นี้ ต่อมา ชาวบ้านจึงได้เรียกขานว่า “นาตาล่วง” และกลายมาเป็นชื่อตำบลเรื่อยมา

ร.ต.ท. ธีรวุฒิ พานิช เกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม จังหวัดตรัง

ปัจจุบันที่ดินที่เคยเป็นผืนนาร้างแปลงหนึ่ง ไม่ไกลจากเขานาขา ได้มีการปลูกข้าว ทำนา แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ เพียง 2 ไร่ 2 งาน แต่ก็เกิดจากความตั้งใจ มุ่งมั่น ของ ร.ต.ท. ธีรวุฒิ พานิช เจ้าของไร่คุ้มพานิช ในพื้นที่ 21 ไร่ ของหมู่ที่ 2 ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ที่มีการทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม ปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนให้กับครอบครัวหลังจากการลาออกจากราชการ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 และต่อมาในปี 2564 ร.ต.ท. ธีรวุฒิได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม ของสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวรวมถึงสมาชิกในชุมชนที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นาข้าวผืนนี้

นายจรูญ ภักดีโชติ เกษตรอำเภอเมืองตรัง และเจ้าหน้าที่เกษตร ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนกิจกรรมการเกษตรแบบผสมผสาน

ร.ต.ท. ธีรวุฒิ เล่าว่า ตนเองมีความฝันที่อยากจะเห็นวิถีชีวิตเมื่อครั้งตนเองยังเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวชาวนา ทำนา หาปลา ปลูกผัก อยู่กับธรรมชาติ และอยู่ในสังคมที่เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน และมีมิตรไมตรีที่บ้านเกิด ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง แม้ปัจจุบันตนเองไม่ได้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมแล้ว แต่ก็ยังฝันที่จะมีนาข้าวเป็นของตนเอง จึงได้ซื้อที่ดินที่เป็นนาร้างแปลงนี้ ซึ่งอยู่บริเวณชานเมืองเพื่อทำนา และทำไร่นาสวนผสม ร่วมกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ได้หลายช่องทางให้กับครอบครัว

โดยมี คุณศศิลักษณ์ พานิช ภรรยา ซึ่งเป็นข้าราชการพยาบาลเกษียณ เป็นกำลังสำคัญ ในการดูแล บริหารกิจการ ในส่วนของร้านอาหาร “ไร่คุ้มพานิชส้มตำลอยฟ้า กาแฟยอดไม้” และการทำโฮมสเตย์ ในพื้นที่เกษตรให้กับนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสบรรยากาศธรรมชาติ โดยมีทั้งโฮมสเตย์ที่อยู่ในนาข้าว และในพื้นที่บริเวณสวนผสม รวมจำนวน 18 หลังสามารถรองรับการประชุมสัมมนาและการจัดงานเลี้ยงให้กับผู้มาเยือน ได้ถึง 200 คน

ในส่วนของการปลูกพืชต่างๆ ในพื้นที่ มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอม 400 ต้น ให้ผลผลิตประมาณ 15,000 ผลต่อปี จำหน่ายในรูปแบบของพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม ปีละประมาณ 6,825 ผล ผลละ 80 บาท ทำให้มีรายได้ประมาณ 546,000 บาทต่อปี, ส้มโอพันธุ์ทองดีและพันธุ์ทับทิมสยาม รวม 50 ต้น ปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2562 ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลผลิต, ฝรั่งพันธุ์กิมจู 200 ต้น ผลิตประมาณ 3,360 กิโลกรัมต่อปี มีรายได้ประมาณ 100,800 บาทต่อปี, หน่อข่า 200 ต้น จำหน่ายทั้งหน่อข่าและข่าอ่อน รวมผลผลิตประมาณ 650 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 45 บาท มีรายได้ประมาณ 29,250 บาทต่อปี, นาบัวหลวง เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ตัดบัวจำหน่าย ในทุกวันพระเดือนละ 2 ครั้ง ตัดดอกบัวได้ประมาณ กอละ 3 ดอก ราคาดอกละ 5 บาท คิดเป็นรายได้ 15,000 บาทต่อปี

โรงเรือนปลูกเมล่อน ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 20 เมตร จำนวน 2 หลัง ซึ่งปัจจุบันได้พักการปลูกและได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มาปลูกผักปลอดสารพิษ เช่นเดียวกับการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง ประมาณ 2 งาน ให้ชาวบ้านปลูกดาวเรืองเพื่อเป็นรายได้เสริม และมีการเลี้ยงปลา จำนวน 3 บ่อ มีพันธุ์ปลา ได้แก่ ปลากด ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาหมอ และปลาดุก รวมจำนวน 3,000 ตัว มีรายได้ประมาณ 90,800 บาทต่อปี

รวมรายได้ทั้งหมดจากการทำไร่นาสวนผสมเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว คิดเป็นรายได้รวม 781,850 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ได้แก่ หว้า กระโดน กก ชุมเห็ด และพืชต่างๆ ให้คงอยู่

ร.ต.ท. ธีรวุฒิ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมคือ ตนเองได้บอกเล่ากับเพื่อนบ้านและคนในชุมชนถึงความตั้งใจที่จะทำนา เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์วิถีชาวนาเอาไว้ ภายหลังสมาชิกในชุมชนก็ให้การสนับสนุน เมื่อมีกิจกรรมสำคัญที่เกี่ยวกับนาข้าวก็จะเดินไปบอกเพื่อนบ้าน ชาวบ้าน รวมทั้งผู้นำชุมชน ให้ช่วยบอกกล่าวคนในชุมชนที่สนใจให้มาร่วมด้วยช่วยกันในกิจรรมต่างๆ เช่น การทำแปลงเพาะกล้า ถอนกล้า ดำนา ไปจนถึงการเกี่ยวข้าว ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นอย่างดี

ร.ต.ท. ธีรวุฒิ เล่าว่า การทำนานั้นเริ่มต้นด้วยการคัดเมล็ดข้าวพันธุ์เล็บนก ที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายผู้ปลูกข้าวจังหวัดพัทลุง โดยใช้เมล็ดข้าว 13 กิโลกรัม แช่น้ำทิ้งไว้ 2 คืน และพัก 1 คืน แล้วนำหว่านลงในแปลงกล้าที่เตรียมไว้ เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตเต็มที่ ระยะเวลา 30 วัน จึงถอนมาปักดำ ในส่วนของการเตรียมพื้นที่นา มีการเตรียมดินโดยใช้รถไถ 7 จาน เนื่องจากดินไม่แข็งมาก แล้วทิ้งดินที่ไถไว้ประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้น นำปุ๋ยมูลไก่ จำนวน 15 กระสอบ ร่วมกับมูลเป็ด 15 กระสอบ ใส่ลงในดินที่ไถทิ้งไว้ เมื่อฝนเริ่มตกก็ทดน้ำเข้านา แล้วทำการสับเทือกโดยใช้จอบ ใช้แรงงานประมาณ 4 คน โดยมีสมาชิกในชุมชนสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาช่วยทำเทือก เป็นเวลา 2 วัน ก็เริ่มดำนา

โดยมีสมาชิกในชุมชนมาช่วยกันดำนาจนเสร็จ แต่ละคนก็หิ้วปิ่นโตหรือพาข้าวหม้อแกงหม้อกันมา ร่วมด้วยช่วยกัน แม้จะเหนื่อยและต้องสละเวลากันมา แต่ก็มีความอิ่มเอมใจ เมื่อข้าวแตกกอ แตกใบเต็มที่ยามที่ลมพัดผ่านนาข้าว จะได้กลิ่นหอมใบข้าวลอยมาตามลม สร้างความรื่นรมย์ให้แก่ผู้มาเยือน

ร.ต.ท. ธีรวุฒิ เล่าต่อว่า แต่แล้วเมื่อย่างเข้าถึงเดือนตุลาคม เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลนาตาล่วง รวมถึงนาข้าวที่กำลังเริ่มแตกกอ มองไปรอบพื้นที่ เหมือนมีนาข้าวอยู่ในทะเลสาบแต่ต้นข้าวยังยืนต้นมาได้จนวันที่ระดับน้ำลดลง เมื่อครบ 120 วัน ผืนดินทั้งผืนจึงกลายเป็นทุ่งรวงทอง ให้เราได้เห็นถึงความงามและความอุดมสมบูรณ์ และบ่งบอกถึงความสามัคคีที่เกิดเป็นผลเช่นเดียวกับรวงข้าวสีทอง

ชาวบ้านช่วยกันดำนา

แม้ผลผลิตข้าวที่ได้จะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยของข้าวพันธุ์เล็บนก คือได้ข้าวเปลือกประมาณ 500 กิโลกรัม จากผลกระทบน้ำท่วม และมีนกกระจาบ นกกระติ๊ด หรือภาษาถิ่นคือนกลา และนกอื่นๆ มากินเมล็ดข้าว และกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าวในระยะน้ำนม ทำให้ข้าวเมล็ดลีบ แต่ก็เป็นมีนิมิตหมายอันดีได้เริ่มต้นเพาะปลูก และคิดว่าจะปลูกข้าวในแปลงนี้อีกทุกๆ ปี ข้าวเปลือกที่ได้มานี้ ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้เป็นพันธุ์ข้าว เพื่อปลูกในปีต่อไป จำนวน 20 กิโลกรัม อีกส่วนหนึ่งจะนำมาสีเป็นข้าวสารนำส่งมอบให้กับผู้ที่มาร่วมทำนา ข้าวที่เหลือจะนำมาจำหน่ายกิโลกรัมละ 35 บาท และจะมีการเก็บข้าวในยุ้งฉางเพื่อให้มีกิจกรรม

การตากข้าว นวดข้าว สีข้าวด้วยครกสีข้าว ครกตำข้าวแบบโบราณ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มาหัดสีข้าว ด้วยตัวเอง แม้เป็นเพียงกิจกรรมเพียงเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับข้าว แต่อย่างน้อยก็เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตชาวนา และทำให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสเสี้ยวหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวนา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าของอาชีพทำนา ซึ่งเป็นอาชีพที่เป็นเสมือนต้นน้ำ ผลิตข้าวที่เป็นอาหารหลัก หล่อเลี้ยงคนทุกชนชั้นต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ร.ต.ท. ธีรวุฒิ พานิช หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง โทร. 075-218-681