บ้านรักผักอินทรีย์

โดยปกติการทำข่าวเรื่องการเกษตร คนที่ให้ข่าวถึงเป็นเกษตรกรก็จริงแต่ 9 ใน 10 ไม่ได้เป็นคนที่จบทางด้านการเกษตรโดยตรง นานๆ จะมีคนจบด้านเกษตรโดยตรงมาให้ความรู้ด้านการเกษตรสักที ผมก็ไม่รู้คนที่จบจากการด้านการเกษตรส่วนมากเขาไปทำงานด้านไหนกัน อาจเพราะงานด้านเกษตรเป็นงานหนักและต้องกรำแดดกรำฝนทำให้คนเหล่านั้นหนีหายไปประกอบอาชีพอื่น

ผักในโรงเรือน

น่าเสียดายกับวิชาชีพเกษตรที่เรียนมาทำให้คนที่ไม่ได้เรียนเกษตรมะงุมมะงาหราทำการเกษตรกัน แต่ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ทำให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะคนที่เรียนมา ดังนั้น คนที่ไม่เรียนมาก็อย่าได้ถอดใจ

ผักกาดอิตาลี
ผักเจริญเติบโตได้ดี

มีโอกาสได้เจอ คุณเฟิร์น หรือ คุณนันทลี เอี้ยนไธสง ที่จบเกษตรโดยตรงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งปริญญาตรีและโทด้านพืชสวน ได้ทำงานศูนย์อนุรักษ์ดินและน้ำอยู่ประมาณ 1 ปีในตำแหน่งวิชาการเกษตร ต่อมาได้ย้ายมาเป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ประจำสำนักงานเกษตรอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 ด้วยความที่เป็นครอบครัวเกษตรกรมาก่อนมีความสนใจเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ เพราะเห็นพ่อที่ทำเกษตรเคมีมาโดยตลอด ไม่อยากเห็นพ่อใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อคนใช้และคนกิน แต่ตอนเริ่มต้นก็มีแรงต่อต้านจากพ่อเนื่องจากความเคยชินในการทำเกษตรเคมีซึ่งแตกต่างกับเกษตรอินทรีย์อย่างสุดขั้ว

ปัจจุบันมี 5 หลัง 

การเตรียมดินสำคัญสำหรับเกษตรอินทรีย์

บนพื้นที่ดิน 200 ตารางวารวมบ้านที่พักอาศัย ที่หมู่ 10 บ้านตะเคียนทอง ตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คุณเฟิร์นได้เริ่มทำงานเป็นเกษตรกรอินทรีย์กับพ่อและแม่ โดยเริ่มต้นพ่อได้ทำโรงเรือนขนาดเล็ก 2 หลังเพื่อปลูกผัก จัดการเตรียมดินด้วยการหมักดิน โดยใช้มูลม้าเนื่องจากบริเวณใกล้บ้านเป็นคอกม้า แกลบดิบ และเศษฟาง อย่างละหนึ่งส่วนเท่าๆ กัน วางกองสลับชั้น ใช้ พด.1 ผสมน้ำราดกอง จำเป็นต้องใช้น้ำมากในตอนแรกเนื่องจากขี้ม้าจะแห้ง หมักโดยการกลับกองประมาณ 15 วันต่อครั้ง ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนกองปุ๋ยจะเริ่มใช้ประโยชน์ได้ แต่ต้องตรวจสอบว่าปุ๋ยหมักได้ที่หรือไม่ด้วยการตรวจสอบความร้อนในกอง ถ้ายังมีความร้อนอยู่ก็จะทิ้งหมักไว้อีกจนกระทั่งหายร้อน

บานเท่าหน้าแล้วน
พร้อมปลูก

การใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า

การขยายเชื้อไตรโคเดอร์ม่าที่ใช้ในสวนของคุณเฟิร์น เริ่มจากการหุงข้าว โดยหุงข้าวในอัตรา ข้าว 2 ส่วน น้ำ 1 ส่วน จะทำให้ข้าวที่หุงออกมาเป็นเม็ดไม่แฉะจนเกินไป ในระหว่างนี้ก็ทำความสะอาดโต๊ะด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อ และเตรียมอุปกรณ์คือ ถุงร้อน แอลกอฮอล์ ยางรัดถุง และเข็มสำหรับเจาะถุง หลังจากที่ข้าวสุกก็ทำการคุ้ยข้าวเล็กน้อยเพื่อระบายความร้อน จากนั้นทำการฉีดแอลกอฮอล์ เพื่อทำความสะอาดมือ ก่อนที่ตักใส่ถุง ประมาณ 2 ทัพพี หรือประมาณ 250 กรัม ปิดปากถุงลงเพื่อป้องกันการปนเปื้อน

มารับเองที่บ้าน

จากนั้นพักไว้เพื่อให้ข้าวอุ่นลง เมื่อข้าวอุ่นแล้วเติมเชื้อไตรโคเดอร์ม่าลงในถุงประมาณ 3-5 หยด จากนั้นมัดปากถุงและเขย่าให้เชื้อกระจายในเม็ดข้าว แล้วจึงเจาะถุงบริเวณใต้ที่รัดยางเพื่อระบายอากาศ ประมาณ 20-30 ครั้ง นำไปวางในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก ดึงบริเวณกลางถุงขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้อากาศสามารถเข้าได้ ทิ้งไว้ 7-10 วันในที่ร่ม ก็จะได้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าที่พร้อมนำไปใช้ วิธีใช้นำเชื้อไตรโคเดอร์ม่าสด 1 ถุง ผสมน้ำ 50 ลิตร นำน้ำที่กรองได้ไปฉีดพ่นหรือรดต้นพืช เพื่อป้องกันโรคเน่าจากเชื้อรา ในช่วงอากาศร้อนแล้วฝนตกผักจะเป็นเชื้อราโรคเน่า จำเป็นต้องใช้ไตรโคเดอร์ม่า และเมื่อนำมาผสมน้ำแล้วต้องใช้ให้หมดไม่ควรค้าง

เริ่มสร้างโรงเรือนแบบง่ายๆ 

น้ำหมักชีวภาพ

การทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษพืช ในการปลูกผักจะมีเศษผักที่เหลือจากการตัดแต่ง และผักที่เสียหายไม่สามารถขายได้ หรือใบไม้แห้ง หญ้าในแปลงและผลไม้ที่เหลือจากการทำอาหารในครัวเรือน สามารถเก็บรวบรวมมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในแปลงปลูกได้ ซึ่งถือเป็นการคัดแยกขยะ ลดภาระของเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่ง โดยวิธีการทำน้ำหมักชีวภาพไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด วัสดุที่ใช้ประกอบด้วย เศษผักผลไม้ 40 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม น้ำสะอาด 10 ลิตร และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง สามารถขอได้จากสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่ได้ วิธีการทำเริ่มจากการนำเศษผักหรือผลไม้มาสับให้ชิ้นเล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการย่อยสลาย

ส่งเพื่อนๆ ในตลาดปากช่อง

จากนั้นนำมาใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ควรเป็นถังที่มีฝาปิด นำ พด.2 ใส่น้ำสะอาดเพื่อปลุกเชื้อจุลินทรีย์ โดยการคนประมาณ 5 นาที จากนั้นนำมาผสมกากน้ำตาลเพื่อลดความหนืดและเทส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงในถังหมัก คนให้เข้ากันแล้วทำการปิดฝาถังโดยไม่ต้องปิดให้สนิท เนื่องจากการหมักจะมีแก๊สเกิดขึ้นภายในถัง หากปิดสนิทเกินไปอาจทำให้เกิดแรงดันภายในถังหมักได้ โดยพื้นที่วางถังหมักควรเป็นที่ร่มมีอากาศถ่ายเทสะดวก ใช้เวลาในการหมักประมาณ 7 วัน

หว่านในกล่อง แล้วลงถาดเพาะ

โดยก่อนใช้ควรสังเกตว่าน้ำหมักมีความร้อนหรือกลิ่นที่ผิดปกติหรือไม่ หากยังมีความร้อนและมีแก๊สภายในถัง ควรหมักต่อจนกว่าความร้อนและแก๊สในถังหมักจะหมด หากมีกลิ่นเหม็นแสดงว่าใส่กากน้ำตาลน้อยเกินไป สามารถเติมน้ำตาลและหมักต่อได้ จนกว่าจะมีกลิ่นน้ำหมักที่หอม โดยมีอัตราการใช้ น้ำหมัก 4 ช้อนแกงต่อน้ำเปล่า 20 ลิตรใช้ฉีดพ่นหรือผสมน้ำรดพืชสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของต้นและใบ เร่งการงอกของเมล็ด ช่วยให้พืชติดดอกและผลดีขึ้น

บร็อกโคลี่
นอกโรงเรือน

วิธีการเพาะของสวนนี้จะเพาะเมล็ดผักลงในกล่องพลาสติกเจาะรูข้างล่างใส่พีทมอส เมื่อโรยเมล็ดลงไปแล้วก็จะฉีดน้ำด้วยหัวพ่นฝอยให้ชื้น ปิดฝา นำไปไว้ในที่มืด และทุกเช้าจะฉีดน้ำพร้อมเปิดรับแสง ใช้เวลาประมาณ 3-5 วันก็จะย้ายกล้าลงถาดเพาะขนาด 105 หลุม เลี้ยงในถาดเพาะประมาณ 20-25 วัน ก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้เลย

เชื้อไตรโคเดอร์ม่า หมักกับข้าวสวย

คุณเฟิร์นได้นำเรื่องราวการปลูกผักลงในเฟซบุ๊กตั้งแต่การทำโรงเรือน มีผู้ติดตามชมและให้กำลังใจมากมาย ผักที่ปลูกเป็นผักสลัด คะน้า กวางตุ้ง บร็อกโคลี่ กะหล่ำ เป็นหลัก เมื่อเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กเห็นก็ขอแบ่งซื้อไปบ้าง ทำให้คุณเฟิร์นต้องเพิ่มจำนวนผลิตให้เพียงพอกับความต้องการไปเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้เพิ่มเป็น 5 โรงเรือนและพื้นที่นอกโรงเรือนรอบๆ บ้าน เพื่อให้พอกับความต้องการของลูกค้า ผักที่ผลิตได้จะขายในราคาประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม มีลูกค้าส่วนหนึ่งอยู่ในตลาดปากช่องจะมีการนัดรับผักกัน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าต่างจังหวัด จะต้องส่งรถห้องเย็นเพื่อถนอมผัก ค่าขนส่งจะแพงกว่าปกติ คือ 1-3 กิโลกรัมราคาขนส่ง 150 บาทสำหรับผักสลัดจะส่งแบบนี้ แต่ถ้าเป็นคะน้า กวางตุ้ง บร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี และกะหล่ำหัวจะส่งอีเอ็มเอส เพราะค่าขนส่งจะถูกกว่า

ใกล้จะตัดได้แล้ว
กะหล่ำหัว

คุณเฟิร์นจะใช้เวลาในช่วงเช้ารดน้ำผัก ต่อจากนั้นก็ให้เป็นหน้าที่ของพ่อ เมื่อกลับมาหลังจากงานเลิกก็จะมาดูอีกครั้ง ส่วนใหญ่จะใกล้ค่ำจึงมักเห็นคุณเฟิร์นส่งไฟฉายคอยตรวจตราแปลงผักอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจดูศัตรูพืชตอนกลางคืนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีรายได้จากการขายผักนอกเหนือจากงานประจำเดือนละ 10,000-20,000 บาท

กองปุ๋ยมูลม้า

จากจุดประสงค์การปลูกผักเพื่อการประกอบอาหารในครอบครัว และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่ทำมาแต่ต้น แต่สามารถทำรายได้เพื่อเป็นรายได้เสริมให้จำนวนไม่น้อยทีเดียวสำหรับพื้นที่ 200 ตาราวา เรื่องราวนี้น่าจะเป็นแนวคิดในการปลูกพืชในเมืองข้างบ้านบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าสนใจผักหรืออยากสอบถามความรู้ทางการเกษตรสามารถติดต่อได้ที่เพจ Little House Organic Farm