ทุเรียนปราจีนบุรี รสอร่อย @ สวนนายแป๊ะ อำเภอนาดี

ทุเรียนปราจีน ชื่อนี้มีแต่ความอร่อย ทุเรียนปราจีนได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีจำนวน 7 สายพันธุ์ แบ่งเป็นทุเรียนพันธุ์การค้า ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี กระดุมทอง และมีกลุ่มทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอีก 3 สายพันธุ์ ได้แก่ กบชายน้ำ ชมพูศรี และพันธุ์กำปั่น

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับทุเรียนปราจีน ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอนาดีเท่านั้น เนื่องจากทำเลดังกล่าวมีสภาพดินเหมาะสมสำหรับเพาะปลูกทุเรียน เพราะสภาพดินชั้นบนเป็นดินร่วนปนทราย ดินชั้นล่างเป็นหินผุและศิลาแลง ทำให้การระบายน้ำสะดวก น้ำไม่ขังในเนื้อดิน การกระจายตัวของธาตุอาหารทั่วถึง ลักษณะภูมิอากาศและปริมาณน้ำฝน ประกอบกับความชื้นสัมพัทธ์เหมาะสมพอดีกัน

คุณสุชาติ ธนะพฤกษ์ หรือ คุณแป๊ะ กับทุเรียนหมอนทอง

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่ในจังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ปลูกทุเรียนไม่มาก ใช้แรงงานคนในครอบครัวเป็นหลัก มีการดูแลจัดการสวนในลักษณะเกษตรอินทรีย์ ไม่ค่อยใช้สารเคมี และแปลงผลิตส่วนใหญ่ผ่านการรับรองการผลิตตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว ชาวสวนจะตัดตามความสุกแก่ในแต่ละมีด ทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพดี เนื้อทุเรียนมีสีเหลือง แห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน เปลือกผลบาง ผิวเปลือกสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม หนามถี่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นสำคัญของทุเรียนปราจีนบุรีที่โดนใจแม่ค้าและผู้บริโภคอย่างแรง ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาดี จนผลิตไม่พอขายอีกต่างหาก

ปล่อยต้นหญ้าขึ้นรกช่วงหน้าแล้ง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ต้นไม้

“แก่งดินสอ” ทำเลใหม่ปลูกทุเรียนปราจีน

ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี เป็นแหล่งผลิตทุเรียนแห่งใหม่ที่มีศักยภาพของจังหวัดปราจีนบุรี เพราะดินดี น้ำดี มีแหล่งน้ำชลประทานจากเขื่อนนฤบดินทรจินดา มีความชื้นสัมพัทธ์เหมาะสม เอื้อต่อการเติบโตของไม้ผล โดยเฉพาะทุเรียนที่มีรสชาติอร่อยสุดๆ กระบวนการดูแลสวนทุเรียนมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ ทั้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

สวนนายแป๊ะ เนื้อที่ 60 ไร่ ของ คุณสุชาติ ธนะพฤกษ์ หรือ คุณแป๊ะ เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำสวนทุเรียนคุณภาพดี ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP) จากกรมวิชาการเกษตร สินค้าขายดีจนผลิตไม่พอขายเพราะเน้นตัดทุเรียนตามความสุกแก่ในแต่ละมีด เนื้อทุเรียนหมอนทองแห้ง หนา เส้นใยน้อย หวานมัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่โดดเด่นของทุเรียนปราจีนที่โดนใจ ผู้บริโภคอย่างแรง

ปลูกต้นกล้วยเป็นพี่เลี้ยงทุเรียนต้นเล็ก

“ทุกวันนี้ พื้นที่ตำบลแก่งดินสอ และตำบลทุ่งโพธิ์ นับเป็นแหล่งผลิตทุเรียนแห่งใหม่ของจังหวัดปราจีนบุรี ที่ได้รับอานิสงส์จากเขื่อนนฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พื้นที่ตำบลแก่งดินสอ และตำบลทุ่งโพธิ์ อยู่บนเส้นทางของการเชื่อมภาคตะวันออกกับอีสาน คือ ถนน 304 ผมมั่นใจว่า พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งซื้อขายไม้ผลสำคัญบนเส้นทางการสัญจรระหว่างภาคตะวันออกและภาคอีสาน ในอนาคต” คุณแป๊ะ กล่าว

ปลูกทุเรียนแบบยกโคกสูง 

การปลูกดูแล

ปัจจุบัน ทุเรียนปราจีนเข้าสู่ตลาดหลังจากผลผลิตทุเรียนจันทบุรี อย่างไรก็ตาม คุณแป๊ะมั่นใจว่า ทุเรียนปราจีนสามารถเข้าสู่ตลาดในช่วงต้นฤดูได้พร้อมกับทุเรียนจันทบุรี เพราะโดยศักยภาพแล้ว จังหวัดปราจีนบุรีมีสภาพอากาศหนาวเร็วกว่า ทั้งนี้ คงต้องไปปรับรูปแบบการจัดการสวนทุเรียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตออกพร้อมทุเรียนจันทบุรีในอนาคต

ปัจจุบัน สวนนายแป๊ะ เนื้อที่ 60 ไร่ มีต้นทุเรียนทุกขนาด รวมๆ กันกว่า 1,000 ต้น โดยธรรมชาติแล้ว ต้นทุเรียนเป็นพันธุ์ไม้ป่า ต้องการอินทรียวัตถุค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอินทรียวัตถุประเภทมูลสัตว์ ทั้งมูลวัว มูลไก่ และอินทรียวัตถุต่างๆ เข้าไปบำรุงให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ตามหลักการที่ว่า “อินทรียวัตถุเลี้ยงดิน ปุ๋ยเคมีเลี้ยงต้น” เมื่อดินมีอินทรียวัตถุ มีจุลินทรีย์ในดิน ส่งผลให้สภาพดินอุดมสมบูรณ์ ต้นทุเรียนจะตอบสนองปุ๋ยเคมีได้ดีขึ้น

ทุเรียนหมอนทอง

ระยะแรกของการปลูกทุเรียน คุณแป๊ะได้ประยุกต์ภูมิปัญญาชาวสวนส้มบางมดมาใช้ในการบริหารจัดการสวนแห่งนี้ โดยปลูกส้มเป็นไม้ประธาน ในระยะห่าง 3.5 เมตร พร้อมปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นพืชร่วมแปลง ในระยะห่าง 8-12 เมตร ดูแลให้ปุ๋ยพืช ตามหลักเรโชปุ๋ย และสอดคล้องกับความต้องการของพืช รวมทั้งใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปช่วยย่อยสารอาหารในดิน กระตุ้นการดูดซึมธาตุอาหารของรากพืชได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นความหวานแก่ผลส้มอีกทางหนึ่ง ต่อมา ต้นส้มเกิดปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชระบาดจึงตัดต้นส้มออก เหลือแต่ต้นทุเรียนอย่างเดียว

ในระยะแรกของการปลูกทุเรียน คุณแป๊ะปลูกต้นกล้วยน้ำว้าเป็นพืชร่วมแปลงทุเรียน เพื่อเป็นพืชเสริมรายได้ระหว่างรอต้นทุเรียนโตแล้ว การปลูกต้นกล้วยน้ำว้า ยังช่วยทำให้แปลงปลูกทุเรียนมีความร่มเย็น เกิดความชื้นสัมพันธมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุเรียนมีการเจริญเติบโตดีขึ้นตามไปด้วย

ทุเรียนหมอนทองที่รอการขาย

ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน คุณแป๊ะจะปล่อยให้ “ต้นหญ้า” เติบโตตามธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่รักษาความชื้นบนผิวดิน หลังจากนั้นจะตัดหญ้าในสวนให้โล่งเตียนสวยงาม เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นหญ้าอุ้มน้ำในช่วงฤดูฝน เรียกได้ว่า ต้นหญ้าเป็นตัวช่วยดีที่สุด ในการปรับปรุงคุณภาพดินภายในสวนแห่งนี้ เพราะรากต้นหญ้าจะทำหน้าที่พรวนดินในแปลงปลูกไม้ผลตลอดเวลา

สวนทุเรียนโดยทั่วไป มีมาตรฐานการเก็บเกี่ยวผลทุเรียนในช่วงอายุ 120 วัน แต่สวนทุเรียนในจังหวัดปราจีนบุรี ส่วนใหญ่มักเก็บเกี่ยวผลทุเรียนหมอนทองในช่วงแก่จัดๆ ประมาณ 140 วัน ทำให้ทุเรียนปราจีนเนื้อแห้งมากขึ้น รสชาติเข้มข้นขึ้น อร่อยถูกใจผู้บริโภค ทำให้ “ทุเรียนปราจีน” ติดหนึ่งในทำเนียบทุเรียนพันธุ์ดีของไทย เพราะขึ้นชื่อลือชาในเรื่องรสชาติความอร่อย เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกไม่มาก ผลผลิตมีจำนวนจำกัด คุณแป๊ะจึงขายผลผลิตได้ราคาสูงกว่าทุเรียนในท้องตลาดทั่วไปประมาณ 10%

ทุเรียนหมอนทองปราจีน เนื้อแห้ง รสชาติอร่อย 

ด้านตลาด

ด้านสถานการณ์ตลาดทุเรียนในปีนี้ คุณแป๊ะ มองว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แนวโน้มราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนขนาดใหญ่ของประเทศ เกิดปัญหาโรคพืชระบาด ทำให้ต้นทุเรียนที่พร้อมให้ผลผลิตเสียหายไม่ต่ำกว่า 30-40% ส่วนต้นทุเรียนเล็กก็ยังไม่พร้อมให้ผลผลิต ประกอบกับ ต้นทุนการผลิต ทั้งค่าปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ค่ายา ค่าน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ราคาทุเรียนหมอนทองความแก่ 120 วันที่พร้อมส่งขายจีนมีราคาสูงถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาขายอยู่ที่ 140-150 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

ที่ผ่านมา คุณแป๊ะอาศัยจำหน่ายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กและร้านค้าในท้องถิ่น ก็ขายดิบขายดี สินค้ามีจำนวนจำกัด ใครมาช้าก็อดไปตามระเบียบ เพราะทุเรียนสวนนายแป๊ะมักถูกจับจองโดยกลุ่มลูกค้าขาประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเพื่อนและคนที่รู้จักของคุณแป๊ะ ที่มีโอกาสลิ้มลองรสชาติของทุเรียนของสวนแห่งนี้มาก่อน พวกเขาต่างติดใจในรสชาติหวานมันอร่อยของสวนแห่งนี้ ที่เน้นตัดทุเรียนแก่จัดเท่านั้น เมื่อเปิดรับจองสินค้าหน้าเฟซบุ๊ก ทำให้สินค้าทุเรียนของสวนแห่งนี้หมดอย่างรวดเร็วทุกรอบ สนใจทุเรียนสวนนายแป๊ะ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-374-5226 ไอดีไลน์ : 081-374-5226 หรือทางเฟซบุ๊ก : สุชาติ ธนะพฤกษ์ สวนนายแป๊ะ ฝรั่งหวานพิรุณ