ชาวลับแล ปลูกลองกองคุณภาพแปลงใหญ่ ส่งขายตลาดในประเทศและเพื่อนบ้าน

ลองกองลับแล เป็นผลไม้เลื่องชื่อของจังหวัดอุตรดิตถ์มานาน เพราะปลูกแบบธรรมชาติจึงมีความอร่อย รสหวาน ผลใหญ่ ดก ได้รับความสนใจทั้งตลาดในและต่างประเทศ

แต่เดิมลับแลมีลางสาดพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมาก่อน กระทั่งพบว่าลองกองมีคุณสมบัติหลายอย่างที่เหมาะกับการปลูกเชิงพาณิชย์จึงนำยอดลองกองมาเสียบ ติดตากับต้นลางสาดเดิม เปลี่ยนยอดลางสาดเป็นลองกอง เนื่องจากต้นตอลางสาดมีความแข็งแรง ระบบรากดี ทำให้มีการขยายพันธุ์ลองกองเพิ่มมากขึ้น กระทั่งตอนนี้จำนวนต้นลางสาดลดลง

ทุกช่อให้จำนวนผลดก และสมบูรณ์มาก

พื้นที่ปลูกลองกองที่ลับแลมี 2 ลักษณะ คือ พื้นที่เก่าแก่ที่อยู่ในสวนป่าหรือเนินเขาตามธรรมชาติกับพื้นที่ปลูกใหม่บนที่ราบ เช่น พื้นที่ทำนา แล้วจัดเป็นสวนเกษตร หรือบางแห่งทำเป็นสวนผลไม้ผสมเปิดเข้าเที่ยวชม โดยทั้ง 2 ลักษณะได้ปรับเทคนิคการปลูกด้วยนำหลักวิชาการ เทคโนโลยี ปรับปรุงบำรุงการดูแลรักษา ตัดแต่งกิ่ง และแต่งช่อผลเข้ามาในกระบวนการปลูก ขณะเดียวกัน ด้วยลักษณะทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เกื้อกูลให้ลองกองอุตรดิตถ์มีคุณภาพสมบูรณ์ ได้มาตรฐานไม่แพ้แหล่งปลูกทางใต้และตะวันออก จึงนับเป็นตลาดแหล่งใหญ่ทางภาคเหนือ

คุณธวัช ดีมูล มีสวนทุเรียนและลองกอง อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 4 ตำบลนานกกก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นสวนเก่าแก่ที่ปลูกไม้ผลมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ทุเรียนเป็นพันธุ์พื้นเมือง ใช้พื้นที่ปลูกอยู่ในป่าตามที่ลาดเชิงเขา แล้วยังมีต้นลางสาดปลูกอยู่ในพื้นที่ด้วย ซึ่งสมัยก่อนมีแต่ทางคนเดินขรุขระ เมื่อเข้าสู่ช่วงเก็บผลผลิตต้องใช้วิธีปีนขึ้นต้นตัดใส่เข่งแล้วหาบลงมาขายที่ตลาดหัวดงหรือที่ด่านนาขาม โดยจะมีพ่อค้าชาวจีนมารับซื้อเพื่อไปขายต่อที่พิษณุโลกหรือกรุงเทพฯ

ต้องปีนเก็บด้วยความระมัดระวัง หลังตัดที่ขั้วช่อผลแล้วนำใส่เข่ง

แต่เดิมชาวบ้านปลูกลางสาดเป็นพันธุ์พื้นเมืองเก่าแก่ พอในราวปี 2530 คนพื้นที่แห่งนี้ได้เดินทางไปเที่ยวทางภาคตะวันออกพบเห็นลองกองปลูกกันมาก เมื่อชิมมีรสชาติดี ผลใหญ่ จึงนำพันธุ์ลองกองติดกลับมาเสียบกับต้นลางสาดจนสำเร็จได้ผลผลิตสมบูรณ์มีคุณภาพ ที่สำคัญคือปลูกและดูแลง่าย เนื้อมาก เมล็ดน้อยหรือแทบไม่มี จำนวนผลต่อช่อมีมาก จึงเหมาะปลูกเชิงพาณิชย์ ประจวบกับชาวบ้านเห็นว่าราคาลางสาดลดลง อีกทั้งผลสุกมีอายุสั้น เน่าเสียง่าย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ชาวบ้านในพื้นที่จึงปรับเปลี่ยนจากลางสาดมาปลูกลองกองด้วยการเสียบยอดจากต้นลางสาดเดิมอย่างแพร่หลาย ลองกองจึงกลายเป็นผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับอำเภอลับแลมาจนทุกวันนี้ ถึงกระนั้นชาวบ้านบางรายก็ยังเก็บต้นลางสาดไว้เพื่อต้องการอนุรักษ์

ชาวบ้านปลูกลองกอง
ทั้งแบบเสียบยอดและต้นกล้า

ต้องบอกก่อนว่าลองกองถูกนำมาปลูกที่ตำบลนานกกกเป็นแห่งแรก มีลักษณะวิธีการปลูก 2 แบบ คือ 1. นำมาเสียบกับต้นลางสาดที่ปลูกอยู่เดิมในพื้นที่ตามธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นเนินลาดชัน ข้อดีแบบนี้จะทำให้ต้นโตเร็ว แข็งแรง มีความต้านทานโรค และผลผลิตดก กับ 2. เป็นการปลูกในพื้นที่ใหม่ราบลุ่มที่มักใช้ผืนนาเดิมมาปรับเพื่อปลูกต้นลองกองโดยซื้อกล้ามาปลูกหรือหากล้าพันธุ์ลางสาดมาใส่ถุงแล้วเสียบยอดลองกองในถุงไปพร้อมกันแล้วจึงนำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้

ถ้าปลูกบนพื้นที่นาต้องไถปรับหน้าดินก่อน แล้วยกร่องปลูกเพื่อระบายน้ำ ขุดหลุมระยะ 3 คูณ 4 เมตร หรือ 4 คูณ 4 เมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเฉลี่ยได้ 45 ต้นต่อไร่ แล้วนำต้นกล้าลงปลูกโดยไม่ต้องรองก้นหลุมด้วยวัสดุปลูกเพราะดินที่ลับแลมีคุณภาพอุดมสมบูรณ์มาก ลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายสีดำ เพียงแค่ใส่ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง ใส่ปริมาณตามขนาดต้น ระยะแรกรดน้ำเท่านั้นเพื่อให้ต้นแข็งแรง

ส่วนหนึ่งของสวนลองกองคุณธวัช

การปลูกลองกองตามธรรมชาติด้วยการใช้น้ำฝนตามฤดู ต้นลองกองเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 6-7 ปี หากสวนใดสามารถจัดระบบให้น้ำได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพก็อาจช่วยให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้นเพียงช่วงประมาณ 5-6 ปี สำหรับกรณีที่เป็นกิ่งเสียบต้นตอลางสาดสามารถให้ผลผลิตในเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น และการปลูกแบบกิ่งเสียบต้นตอไม่จำเป็นต้องวางระบบน้ำอาศัยน้ำตามธรรมชาติก็เพียงพอเพราะรากต้นลางสาดเดิมสามารถหาอาหารและน้ำจากใต้ดินได้

การใส่ปุ๋ย

ในช่วงเริ่มปลูกให้ใส่เป็นปุ๋ยคอกเท่านั้น ใส่ทุกปี ปีละ 2 ครั้ง คือก่อนฝนและช่วงกลางฤดูหนาว ต้องใส่ตามขนาด อายุ และความสมบูรณ์ของต้น ถ้าต้นอายุน้อยใส่ 1-2 บุ้งกี๋ เมื่อต้นโตอายุมากขึ้นใส่เป็นเข่ง จนถึงเป็นกระสอบ หลังจากปลูกผ่านไป 10 ปีต้นลองกองให้ผลผลิตไปแล้วหลายรุ่นจะเริ่มโทรม ควรเติมปุ๋ยสูตรที่ผสมปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยคอก

ปุ๋ยสูตรสำหรับใส่ต้นลองกอง ได้แก่ 46-0-0 หรือ 15-15-15 พอเริ่มมีตาดอกจะใส่ปุ๋ยกระตุ้นและสร้างความสมบูรณ์ตาดอกเป็นสูตร 8-24-24 เมื่อตาดอกโผล่ให้ใส่สูตร 15-15-15 ไปเรื่อยจนกว่าจะเก็บผลผลิต พอผลผลิตเริ่มมีขนาดโตจะใส่สูตร 13-13-21 ใส่ปริมาณตามขนาดและจำนวนผลผลิต

ผลใหญ่ ช่อผลมีจำนวนมาก

เมื่อช่อดอกแทงออกมายาวประมาณ 3 ข้อนิ้วมือให้คัดเลือกช่อที่มีความสมบูรณ์ไว้ โดยให้พิจารณาว่าแต่ละกิ่งควรเก็บช่อดอกที่สมบูรณ์ไว้เท่าไร รวมถึงทั้งต้นควรเก็บช่อดอกไว้เท่าไร ส่วนช่อดอกที่ไม่สมบูรณ์ให้ตัดทิ้ง ช่วงนี้เรียกว่าเป็นการแต่งดอกลองกอง หลังจากตัดแต่งช่อดอกเสร็จเรียบร้อยให้รดน้ำใส่ปุ๋ยไปจนถึงดอกมีขนาดเหรียญบาท จึงใส่ปุ๋ยสูตรตัวหลังสูงอย่าง 13-13-21

การเตรียมต้นเพื่อให้ผลผลิตรอบใหม่เริ่มจากการตัดแต่งทรงพุ่มให้จัดการภายหลังเก็บผลผลิต จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกกับปุ๋ยสูตร 46-0-0 รดน้ำตามเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้น จนเมื่อถึงช่วงเริ่มมีดอกให้หยุดน้ำ ปล่อยให้ต้นขาดน้ำจนใบทิ้งตัว เมื่อเข้าช่วงหน้าฝนช่อดอกจะแตกจากกิ่ง สำหรับสวนที่วางระบบน้ำอาจใช้วิธีกั้นหรือหยุดรดน้ำประมาณ 1 เดือน แล้วจึงรดน้ำอีกครั้งให้ชุ่มเต็มที่แล้วช่อดอกจะแทงออกมา

คุณธวัชมีพื้นที่ปลูกลองกองกับลางสาดรวมกันกว่า 30 ไร่ ปลูกแบบ GAP จุดเด่นหรือเอกลักษณ์ของลองกองลับแล คือ 1. มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย (ต่างจากทางตะวันออก) 2. มีกลิ่นหอม 3. ผลใหญ่ สีสวย ดูน่าทาน 4. เนื้อมาก ไม่แฉะ เมล็ดลีบเล็ก บางผลไม่มีเมล็ด

โรคและแมลงศัตรูพืช

เพลี้ยแป้งเป็นศัตรูสำคัญของลองกอง มักจะเกาะตามผลสังเกตเห็นเป็นสีขาว กับโรคราดำที่กำจัดยากที่สุด มักพบราดำติดที่ผล การป้องกันและรักษาทำได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คุณธวัช ชี้ว่า ควรหาทางป้องกันด้วยการตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อให้โปร่งแสงส่องลงมาตามกิ่ง ก้าน ใบ และโคนต้น อีกทั้งไม่ควรปล่อยให้โคนต้นรวมถึงบริเวณสวนทั้งหมดสกปรกรก ควรกำจัดวัชพืชและเศษขยะออกไป เพราะสาเหตุที่นำมาสู่การเกิดโรคและแมลงศัตรูคือความชื้นที่สะสมไว้นาน

คุณธวัช บอกว่า ผลผลิตต่อต้นถ้าสมบูรณ์มากได้ต้นละ 4 เข่ง เข่งละ 30 กิโลกรัม รวม 120 กิโลกรัม แต่ถ้าต้นอายุมากแล้วมีความสมบูรณ์ด้วยจะให้ผลผลิตต้นละ 6-7 เข่ง หรือ 180-210 กิโลกรัม สำหรับสวนคุณธวัชเมื่อปี 2565 ให้ผลผลิตรวมกว่า 10 ตัน

“ทั้งนี้ ตัวแปรปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อการให้ผลผลิตคือสภาพอากาศ หากปีใดแล้งมาก ฝนทิ้งช่วง เมื่อมีฝนตกต้นจะแข่งกันแทงช่อดอกออกกันอย่างเต็มที่ แล้วผลผลิตจะออกมาล้นตลาด ราคาขายไม่ดี แต่ถ้าปีใดฟ้าฝนมาเป็นปกติตกตามช่วงเวลาแล้วปีนั้นผลผลิตจะมีปริมาณเหมาะสม ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด”

การตลาด

ช่วงเวลาเก็บผลผลิตตั้งแต่เดือนกันยายน ชาวสวนต้องดูว่าผลผลิตพร้อมเก็บหรือไม่ด้วยการใช้ 3 วิธี คือ 1. ดูสีผลว่ามีสีเหลือง 2. ใช้วิธีบีบผลว่านิ่มไหม และ 3. การสุ่มชิมผล สำหรับสวนคุณธวัชเลือกใช้วิธีดูสีเปลือกกับบีบผล วิธีเก็บผลผลิตต้องปีนขึ้นต้นแล้วใช้อุปกรณ์ตัดอย่างพิถีพิถันและระมัดระวัง จากนั้นนำช่อผลไปคัดความสมบูรณ์เป็นเกรดคุณภาพจำนวน 4 เกรด คือ 1, 2, 3 และผลร่วง หรือบางรายกำหนดขายแบบเหมาคละเกรด ขึ้นอยู่กับแต่ละสวน ทั้งนี้ ราคาขายแบบแบ่งเกรดสูงกว่า เพราะมีกระบวนการจัดการที่ยุ่งยากและมีต้นทุนด้วย

ใส่ปิคอัพเตรียมส่งไปขายที่ตลาดกลางผลไม้

หลังจากเสร็จกระบวนการคัดแยกเกรดเรียบร้อยแล้ว ผลผลิตจะบรรทุกไปที่ตลาดผลไม้ตำบลนานกกก เป็นตลาดกลางขายส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งทางภาคเหนือเพื่อประมูลราคา แล้วต้องประมูลทุกวันเนื่องจากแต่ละวันราคาไม่เท่ากัน ทั้งยังมีขายทางออนไลน์ด้วย

คุณธวัช บอกว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา สังเกตว่าราคาลองกองสูงขึ้น โดยพบว่ามีพ่อค้า-แม่ค้ามาจับจองพื้นที่รับซื้อผลผลิตจากสวนเพิ่มขึ้น เท่าที่ทราบมีตลาดส่งขายต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา

“อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งที่ปลูกลองกองมาก โดยเฉพาะตำบลนานกกก มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด เพราะถ้าลองกองที่ลับแลไม่มีคุณภาพ กลุ่มคนรับซื้อจากหลายแห่งคงไม่เดินทางมาจับจองพื้นที่กันมากมายเช่นนี้”

ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณธวัช ดีมูล โทรศัพท์ 087-842-5312 หรือ เฟซบุ๊ก : ผู้ใหญ่ธวัช ดีมูล

หลังเก็บจากต้น ให้นำมาคัดแยกเกรดตามความสมบูรณ์
มอร์เตอร์ไซค์เป็นพาหนะใช้บรรทุกเข่งที่ตัดผลจากต้นมาคัดแยก