กระแจะ ตลาดกระแดะ ปากน้ำกระแดะ บ้านกระแดะแจะ ไม่มีต้นกระแจะ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hesperethusa crenulate (Roxb) Roem.

ชื่อวงศ์             RUTACEAE

ชื่ออื่นๆ             ขะแจะ (เหนือ) พญายา (ราชบุรี) ตุมตัง (ตะวันออกเฉียงเหนือ) พุดไทร จุมจัง ฮางแกง กระแจะจัน พินิยา ทานาคา ตะนาว (มอญ)

หนูไม่ใช่สาวเนื้อนิ่ม แม้ว่าใหม่ๆ สีเนื้อขาว แต่พอโดนแดดลมสีจะเปลี่ยนเนื้อเป็นเหลืองอ่อนแล้วเป็นสีน้ำตาล แต่ผิวขรุขระแตกร่องเข้ม ขัดแย้งกับที่ว่าทำไมผู้คนชอบเอาเนื้อหนูไปบดฝนเป็นผงละเอียดผสมแป้งใส่กลิ่นหอมทาหน้า ทาแก้ม อย่าแปลกใจนะคะที่หนูขึ้นต้นคำว่า “กระแดะ” ไม่ใช่คำหยาบนะ หลายคำมีที่มาและรู้ว่าเป็นคำเรียก-พูดใช้มาตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวด ปัจจุบันเขียนแค่คำว่า “กะแดะ” คือหนูมีเพื่อนอยู่ที่อำเภอกาญจนดิษฐ์ สุราษฎร์ธานี เขาชวนไป “ปากแดะ” กินหอยนางรม เพราะบ้านอยู่ที่ “ปากน้ำกระแดะ” แล้วนั่งเรือออกทะเลดูฟาร์มหอยแครง หอยนางรม แต่ต้องแวะที่ “กระแดะ” คือตลาดในอำเภอหรือจะไปดูศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรที่ “แดะแจะ” ด้วย

หนูนี้งงสุดๆ คิดว่าเขาพูดชื่อหนูผิด จาก “กระแจะเป็นกระแดะ” เขาอธิบายว่าที่กาญจนดิษฐ์พูดคำสั้นๆ เช่น ไปตลาดกระแดะ พูดว่า “ไปแดะหรือไปหลาดแดะ” ไปปากน้ำกระแดะว่า “ไปปากแดะ” ที่เขาพูดว่า “กระแดะ, ปากกระแดะ” ไม่ได้ต่อว่าใครนะ เป็นชื่อเรียกท้องที่ รวมทั้งไปดูลิงที่ “บ้านกระแดะแจะ” ก็พูดว่า “ไปแดะแจะ” จ้า พอดีผ่านหมู่บ้าน “เฉงอะ” หนูอ่านว่า “เฉง-อะ” เขาว่าต้องอ่าน “ฉะเหงอะ” หนูก็ถึงบางอ้อ !

Advertisement

มีคนแซวหนูว่าทำให้สาวๆ แตกแยก คืออยู่ที่แก้มสาวๆ รู้ว่าเป็นสาวมอญ สาวพม่า แต่เป็นสาวไทยก็เรียกหรูหราว่า “พัฟ” (Powder Puff) แหม.! รุ่นย่าทวดท่านใช้ “แป้งดินสอพอง” ก็สวยพอ เรื่องหนูมีอิทธิพลต่อความงามของผิวพรรณสาวๆ มาก โดยเฉพาะในบ้านสาวเมียนมาจะต้องมีท่อนไม้ทานาคา (tanaka) ทุกเรือน เพราะเป็นเครื่องประทินผิวแบบโบราณ ที่ยังมีศักยภาพและความนิยมถึงสังคมปัจจุบัน โดยอยู่ในรูปแบบผสมเครื่องสำอาง เรียกชื่อการค้าอย่างไรขึ้นอยู่กับสังคมแฟชั่นนั้นๆ ในธรรมชาติ “ท่อนไม้สำอาง” นี้มีในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง กระจายพันธุ์ ตั้งแต่พม่า ปากีสถาน ศรีลังกา อินเดีย บังกลาเทศ มณฑลยูนนานของจีน ภูมิภาคอินโดจีน

Advertisement

ส่วนในประเทศไทยพบแถบภาคเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ชื่อ “กระแจะตะนาว” มาจากการเรียกตามชื่อเทือกเขาตะนาวศรี ในตำรายาไทยใช้ปรุงยาเชิงบำรุงร่างกายสารพัดประโยชน์ เช่น บำรุงเลือด แก้กระษัย ลำไส้ โดยใช้ต้ม ดองเหล้า และฝนทารักษาผิวนอก ในวิชาการมีการวิจัยพบสารสำคัญที่เป็นผลดีต่อเซลล์ผิวหนัง การสังเคราะห์การเพิ่มสร้างโปร-คอลลาเจน ต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งเป็นที่มาของกลิ่นหอมที่นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณท์ผงในเครื่องสำอางอีกด้วย

หนูคุยมาก จนใครๆ ไม่คิดว่าหนูคือ ท่อนไม้เปลือกต้นหยาบๆ แตกร่องเป็นสะเก็ด เป็นวัตถุสำคัญในวงการความงาม หนูได้เปิดตัวทางสื่อออนไลน์ครั้งหนึ่งที่ภูมิใจมาก คือ YouTube ในเทคโนโลยีชาวบ้าน โดย “ข่าวสดออนไลน์” คอลัมน์ “อาทิตย์ละต้น” วันเสาร์ 31 มีนาคม 2561 ได้เผยแพร่เรื่องราวไว้ คนจึงรู้จักหนูมาก แต่หนูก็อยากโชว์ตัวอีก เพราะชื่อหนูแปลกกลัวเรียกผิดว่า “กระแดะ” หรือ “ประแจะ” นี่ไม่ได้ประจบประแจงนะ

ขอย้ำว่าชื่อ “กระแจะ” ที่เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้น ขนาดกลาง สูงได้ตั้งแต่ 5 ถึงกว่า 10 เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านต่ำ ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลขรุขระเป็นร่องแตกสะเก็ด มีหนามที่กิ่งออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ยาวถึง 2.5 เซนติเมตร ใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-7 เซนติเมตร โคนและปลายใบสอบแคบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ แต่ก็พบหนาบ้างก็มี ขอบใบหยักเป็นซี่ฟันเลื่อยตื้นๆ จุดเด่นอยู่ที่เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใสๆ ทั่วไป ออกดอกเป็นช่อกระจะ รวมเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆ หรือซอกใบ มีดอกสีขาวอมเหลือง กลีบดอก 4 กลีบ เมื่อบานจะแผ่ลู่ไปทางก้าน

กลีบดอกรูปไข่มีต่อมน้ำมันประปราย ผลสดรูปทรงกลมประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่ออ่อนสีเขียวแก่จัดเป็นสีม่วงคล้ำ ก้านผลยาวถึง 2 เซนติเมตร เมล็ดรูปเกือบกลมสีน้ำตาลอมส้มอ่อนๆ มี 1-4 เมล็ด เนื้อไม้เมื่อตัดมาใหม่ๆ สีขาวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ทิ้งไว้นานจะเป็นน้ำตาลเข้ม ส่วนนี้ที่คนรู้จักกันในนาม “ท่อนทานาคา” โดยเฉพาะสาวพม่า มอญ และถ้าหากไปที่ตลาดชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก ก็พบได้ทุกขนาดท่อนละจ๊ะ

สรรพคุณด้านสมุนไพรตำรับยาไทย ใช้ตั้งแต่ใบแก้ลมบ้าหมู มีรสขมเฝื่อนจึงผสมสมุนไพรอื่นต้มดื่ม รากรสขมเย็นแก้โรคลำไส้ แก้ปวดท้อง ลำไส้ใหญ่ ลิ้นปี่อักเสบ ฝนกับน้ำฝนแทนแป้งทาแก้สิว ฝ้า ผลมีรสขมเฝื่อน แก้พิษไข้ อาหารไม่ย่อย ผลสุกแก้ไข้ เป็นยาสมานแผล แก้โรคประดง ต้นต้มกับน้ำดื่ม 3 เวลา แก้อาการปวดเมื่อย ข้อเส้นตึง ปวดกระดูก แก่นใช้ดองเหล้า จุดเด่นดังของท่อนไม้กระแจะหรือทานาคา ก็คือนำไปใช้เป็นเครื่องยาประทินผิว ต่อยอดเป็นเครื่องสำอาง สำหรับชาวบ้านทั่วไปใช้ท่อนไม้นี้ฝนกับแผ่นหิน มีร่องหยอดน้ำให้ไหลออกมา จะได้กลิ่นหอมอ่อนๆ อาจจะผสมแป้งใช้ทาผิว ลดความมันบนใบหน้าไม่ทำให้ผิวหนังแห้ง ป้องกันผิวหน้าจากแสงแดดและรักษาสิว ฝ้า

ในงานวิจัยพบว่า มีสารชื่อ marmesin เป็นสารกรองแสงอัลตราไวโอเลต ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง โดยกระตุ้นการสังเคราะห์เอนไซม์ไปตัดเส้นใยโปรตีนคอลลาเจน ช่วยคงความแข็งแรงและยืดหยุ่นเนื้อเยื่อผิวหนัง ลดการเสื่อมของเซลล์ มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสี melanin ต้นเหตุของฝ้า กระ รอยด่างดำของผิว ส่วนกลิ่นหอมมาจากสารกลุ่ม coumarins 4 ชนิด ผงกลิ่นหอมอ่อนๆ นี้ นิยมกันในพม่าเป็นตำรับยาโบราณผสมเป็นเครื่องหอม “กระแจะตะนาว” เมื่อใช้เปลือกไม้และท่อนไม้มาฝนกับน้ำเป็นเครื่องหอมประทินผิวแล้วฝนผสมผงไม้จันทน์ (Sandalwood) เราจึงคุ้นหูกับความหอมของแป้งทาผิวที่เรียกกันว่า “กระแจะจันทน์”

หอมกลิ่นร่ำตั้งแต่โบราณ รู้จัก “แป้งร่ำกระแจะจันทน์” หรือ กระแจะจันทน์อบร่ำ ถ้าพระเครื่องก็เป็น “พระเนื้อผงว่านกระแจะจันทน์” จะมีเสน่ห์ไม่แพ้ห้อย “ขุนแผน” หรือใครจะใช้ “กระแจะจุณ” เจิมหน้าผากก็ได้ แต่มิตรรักนักเพลง คงจะเคยฟังเพลง “กลิ่นกระแจะจันทน์” ขับร้องโดย ปรีชา บุญยเกียรติ (ถ้าเกิดก่อน พ.ศ. 2500) หรือเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย โดย สมยศ ทัศนพันธ์ ว่า “หอมกลิ่นน้ำปรุงฟุ้งอยู่ทุกวัน กลิ่นกระแจะจันทน์ หอมเอยผิวพรรณนั้นต่างชาวนาฯ” หนุ่มขึ้นมาอีกฟัง ชรินทร์ นันทนาคร เพลงจุมพิตนวลปราง ว่า “พลิกนวลปรางอิ่มแอบมา กลิ่นปรางหอมดั่งทิพย์กระแจะจันทน์เครื่องหอมนานาฯ” เพลงในอ้อมกอดพี่ รำพันว่า “กลิ่นนวลเนื้อนางช่างเหมือนกระแจะจันทน์ หอมยังกรุ่นผูกพัน แต่เจ้านั้นมาหายไปฯ” ไม่ต้องตามหานางหรอกนะ อย่างน้อยก็มีกลิ่นหอมไว้ แต่ไม่ทราบว่าทิ้ง “ท่อนไม้จันทน์” ไว้หรือเปล่า