“ไร่แนนแนน” นครสวรรค์ ทำธุรกิจกล้าผักแปลงใหญ่จนมั่นคง ต่อยอดสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of small scale farmers” กับผม ดร.ธนากร เที่ยงน้อย เคยได้ยินไหมครับกับคำพูดที่ว่า ทำการเกษตรมันรวยยาก ผมเองก็เคยได้ยินประโยคนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่จนแล้วจนรอดผมก็ต้องเข้ามาอยู่ในวังวนแวดวงของคนในอาชีพเกษตรจนได้ ก็เป็นจริงอย่างที่เขาว่าเลยครับผมทำด้านเกษตรมาก็หลายอย่างยังไม่รวยสักที แต่มีคนที่ทำได้ รวยได้จากอาชีพเกษตร เขามีวิธีอย่างไร ทำอะไรจึงหนีความจนในอาชีพเกษตรได้ ตามผมมาที่ลาดยาว นครสวรรค์ครับ

คุณอดุลย์ และ คุณเสรี กลิ่นสังข์ เจ้าของไร่แนนแนน อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์

เริ่มจากพ่อค้าคนกลางส่งผลไม้

พาท่านมาที่บ้านของ คุณอดุลย์ และ คุณเสรี กลิ่นสังข์ คู่สามี ภรรยา เจ้าของไร่แนนแนน ที่บ้านเลขที่ 109 หมู่ที่ 7 ตำบลเนินขี้เหล็ก อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ คุณอดุลย์ เล่าให้ฟังว่า “เมื่อ 6 ปีที่แล้วผมค้าผลไม้เป็นพ่อค้าคนกลางส่งผลไม้ตามตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และทำสวนมะม่วงของตัวเองในพื้นที่ 14 ไร่ ในช่วงนั้นเป็นช่วงพอดีที่มะม่วงพันธุ์แก้วขมิ้นทะลักเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ผมโดนแก้วขมิ้นเข้ามาตีตลาดจึงทำให้ธุรกิจสวนมะม่วงของผมไปไม่รอด ผมมองดูแล้วว่าผลไม้มีผลเป็นฤดูกาลทำให้เราทำตลาดได้ไม่ตลอดทั้งปี นอกจากนั้น ยังมีผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตีตลาดของเราอีก สุดท้ายผมต้องตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ”

หันมาจับผักเพราะคนไทยกินทุกวัน

หลังจากหยุดเป็นพ่อค้าคนกลางส่งผลไม้คุณอดุลย์และคุณเสรีจึงปรึกษาหาอาชีพใหม่กัน คุณอดุลย์ เล่าว่า มองว่าคนไทยกินผักกันทุกวัน จึงคิดจะหันมาทำผัก” คุณเสรี บอกว่า “เรามานั่งคิดกันว่าคนไทยกินผักที่มีลูกกันเยอะ อย่างมะเขือ ทุกบ้านต้องมีมะเขือติดครัว จะใส่แกง ใส่น้ำพริก กินเป็นผักแกล้มก็ดี หรือหากมีงานบุญ งานวัด งานศพ คนไทยก็ไม่เคยขาดมะเขือ ใช้เยอะเสียด้วย เราจึงตั้งใจจะทำมะเขือก่อนผักชนิดอื่นๆ ส่วนตัวขอใช้คำว่ามะเขือคือผักสิ้นคิด เพราะเราจะเห็นว่าทุกงานใช้ ทุกบ้านใช้มะเขือ รวมทั้งพริกด้วย แล้วคนไทยจะใช้เยอะ

ไร่แนนแนน ต่อยอดสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

หลังจากช่วยกันคิดจนมองเห็นช่องทางคุณอดุลย์และคุณเสรี จึงออกตระเวนดูงานการเพาะกล้าผัก กล้ามะเขือไปทั่วประเทศ

“เราไปดูงานมาทั่ว ทั้งปทุมธานี โคราช ปากช่อง เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี และนครปฐม ที่ไหนที่ธุรกิจเพาะกล้าผักเราเข้าไปดูมาหมดจนเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจพร้อมลงมือทำเอง” คุณอดุลย์ เล่า

Advertisement

สร้างเครือข่ายแจกพันธุ์มะเขือฟรี แต่ไปไม่รอด

คุณอดุลย์ เล่าว่า เราเริ่มจากมะเขือก่อน เราปลูกเองให้ชาวบ้านดู โดยปลูกมะเขือในวงบ่อซีเมนต์ 1,400 บ่อ เพื่อเป็นตัวอย่าง ตอนนั้นเก็บมะเขือได้วันละตันกว่าทุกวันเพื่อหาเครือข่าย ให้ชาวบ้านมาดูแล้วเอาไปทำตาม” คุณเสรี เสริมว่า “เราพยายามสนับสนุนชาวบ้านรอบๆ บ้านเราให้ทำ พยายามขยายเครือข่ายไปทั่ว ทั้งเขตพะเยา เชียงราย อุทัยธานี ให้เกษตรกรปลูกแล้วส่งผลผลิตให้เรา ตอนนั้นเริ่มต้นจากการที่เราสนับสนุนต้นกล้ามะเขือ อุปกรณ์การปลูกต่างๆ ให้เกษตรกรในเครือข่ายฟรี แต่สุดท้ายไปไม่รอด เราก็มานั่งคิดกันว่าทำไมเกษตรกรในเครือข่ายของเราจึงหยุดปลูก หยุดส่งเรา ก็ได้คำตอบว่า เพราะเราให้ต้นพันธุ์ฟรี อุปกรณ์ฟรี เกษตรกรอาจจะมองไม่เห็นคุณค่า จึงต้องปรับธุรกิจของเราใหม่อีกรอบ

Advertisement
การดูแลต้นกล้าก่อนจำหน่ายให้ลูกค้า

เพาะต้นกล้าผักกินลูกขายจนปัง

คุณอดุลย์ เล่าว่า เราหันมาจริงจังกับการเพาะต้นกล้าผักกินลูกขาย ทั้งพริก มะเขือ มะเขือเทศ พร้อมๆ กับรับซื้อผลผลิตผักกินลูก เราซื้อหมดเพื่อเอาไปส่งตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่เราเน้นทำผักกินลูก ไม่ทำผักกินใบ เพราะต้นกล้าผักกินใบมักจะเหี่ยวหากเราต้องขนส่งระยะทางไกล” ที่ไร่แนนแนนเพาะต้นกล้าทุกวัน โดยทำต้นกล้าพริกหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ฮ็อต 1 ฮ็อต 2 เป็นพริกที่เอาไปใช้ทำน้ำจิ้มและทำพริกแห้ง กลุ่มพันธุ์พริกหอม อย่างหอมแปลงยาว พริกหอมสุพรรณ พริกกะเหรี่ยงเขียวและแดง ซึ่งนิยมนำไปกินสดแกล้มกับไส้กรอกและทำน้ำพริก พริกในกลุ่มพริกยำ ที่เป็นตระกูลพริกหนุ่มมีผลยาวเอาไว้ทำซอส กลุ่มพริกกะเหรี่ยงผลสีขาว เหลือง ส้มแดง กลุ่มพริกป๊อบ

คุณอดุลย์ บอกว่า ที่ไร่แนนแนนเราจะเพาะพันธุ์พริกวันละประมาณ 20,000 ต้นต่อวันทุกวัน ส่วนมะเขือเราเพาะพันธุ์มะเขือทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มมะเขือแกง เช่น พันธุ์เจ้าพระยา กลุ่มมะเขือกินสดอย่างพันธุ์ ไข่ม่วง ไข่ขาว สะดิ้ง ลายเสือ มะเขือยาว รวมทั้งมะเขือพวง เราจะเพาะเอาไว้วันละ 20,000 ต้นต่อวันทุกวัน ที่เราต้องเพาะกล้าพริกและมะเขือทุกวันเพราะทั้ง 2 ชนิดนี้มีอายุที่เราสามารถเก็บไว้รอลูกค้าได้ประมาณ 30-60 วันก่อนปลูก เราจึงสามารถเพาะกล้าเพื่อรอลูกค้าได้เลย ต้นกล้าพริกและมะเขือยิ่งโตยิ่งส่งผลดีเมื่อเอาไปปลูกในแปลง ส่วนต้นกล้ามะเขือเทศสีดา เราจะต้องรอคำสั่งซื้อจากลูกค้า เพราะต้นกล้ามะเขือเทศใช้เวลาเพาะ 15 วัน อายุเมื่อนำไปปลูกไม่ควรเกิน 18 วัน

โรงเรือนเพาะต้นกล้า 5 โรงเรือน สามารถเพาะต้นกล้าได้ประมาณ 500,000 ต้นต่อเดือน

ไร่แนนแนน ผู้ผลิตต้นกล้าพริกและมะเขือรายใหญ่สุดในนครสวรรค์

คุณเสรี บอกว่า ตอนนี้ไร่แนนแนนทำต้นกล้ามะเขือและต้นกล้าพริกเป็นหลัก มีโรงเรือนเพาะต้นกล้า 5 โรงเรือน สามารถเพาะต้นกล้าได้ประมาณ 500,000 ต้นต่อเดือน และมียอดขายประมาณ 10,000-30,000 ต้นต่อวัน เป็นผู้ผลิตต้นกล้าพริกและมะเขือรายใหญ่ที่สุดในนครสวรรค์ ลูกค้าของเราจะเป็นเกษตรกรทั่วไป รวมไปถึงเถ้าแก่ที่เอาไปให้ลูกไร่ในเครือข่ายของเขาปลูก ที่ไร่แนนแนนเราต้องเพาะพันธุ์ต้นกล้าหลากหลายสายพันธุ์ก็เพราะการปลูกพริก มะเขือ ในพื้นที่ที่แตกต่างกันก็มีความเหมาะสมของพันธุ์ที่แตกต่างกัน เรามีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สุรินทร์ ซึ่งใช้พันธุ์พริก พันธุ์มะเขือต่างกัน นอกจากนั้น ยังมีลูกค้าที่เราต้องจัดส่งทางบริษัทไปรษณีย์เอกชนไปทั่วประเทศ วันละประมาณ 3,000 ต้น

คุณอดุลย์ เล่าว่า ตอนนี้ที่ไร่แนนแนนเรามีลูกน้องประจำ 9 คน ไม่ประจำอีกหลาย 10 คน ธุรกิจนี้ขยับขยายไปได้ดีส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกสาวของผมมาช่วย ลูกสาวของผมเรียนจบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จบปริญญาโทจากนิด้า เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาช่วยทำตลาดออนไลน์ให้ เราได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เยอะขึ้นและตลาดกว้างขึ้นจากเดิมที่สมัยก่อนผมพยายามซื้อโฆษณาทางวิทยุ FM เดี๋ยวนี้ลูกสาวมาช่วยตลาดออนไลน์ช่วยขยายกลุ่มลูกค้าได้เยอะกว่าเดิม

องุ่นที่ไร่แนนแนนมี 3 สายพันธุ์คือ พันธุ์บิ๊กเพอเลท (Big perlette) พันธุ์อนูทา (Anuta) พันธุ์ S-48 เออร์ลี่ อดอร์ล่า

ต่อยอดสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

หลังจากประสบความสำเร็จจากธุรกิจเพาะพันธุ์ต้นกล้าผักจำหน่ายแล้ว คุณอดุลย์กับคุณเสรียังไม่หยุดนิ่ง พยายามริเริ่มงานใหม่ขึ้นมา ตอนนี้ปลูกกุหลาบ ปลูกองุ่น เพราะมีความชอบส่วนตัวและคิดว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายตัวเรา ว่าพืชเมืองอื่น พืชต่างถิ่นจะเอามาปลูกได้ไหม เลยหาความรู้ไปทั่วแล้วมาลงมือทำ

คุณอดุลย์ เล่าด้วยว่า องุ่นที่ไร่แนนแนนมี 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์บิ๊กเพอเลท (Big perlette) เป็นองุ่นไร้เมล็ด สีเขียว เนื้อแน่น พันธุ์อนูทา (Anuta) ผลสีชมพู ขนาดใหญ่ ผลทรงกรวย เนื้อแน่น รสดี องุ่นสายพันธุ์ S-48 เออร์ลี่ อดอร์ล่า เป็นองุ่นดำไร้เมล็ด จำนวน 160 ต้น ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ มีการจัดทำค้างและโรงหลังคาอย่างสวยงาม

กุหลาบหลากหลายสีของไร่แนนแนน

คุณอดุลย์ เล่าว่า การปลุกองุ่นเราเริ่มจากการปรุงดินปลูกให้เหมาะกับองุ่นแล้วนำต้นพันธุ์ที่เป็นต้นตอป่าติดตาองุ่นพันธุ์ดีมาลงปลูกเมื่อ 23 มีนาคม 2566 ตอนนี้ปลูกมาได้ 6 เดือนแล้วเริ่มมีผลผลิตออกมาให้ชื่นใจแล้วและคาดว่าจะมีผลผลิตองุ่นให้เริ่มขายได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ องุ่นและกุหลาบดึงลูกค้าอีกกลุ่มเข้ามาเยี่ยมชมไร่แนนแนน ในอนาคตผมวางแผนจะขายลูกองุ่น ขายกิ่งพันธุ์องุ่น เพราะองุ่น 3 พันธุ์ที่ปลูกผลสดมีราคาแพง

ก่อนจากกัน คุณอดุลย์ ฝากบอกว่า ตอนนี้ผมอยากจะปั้นเถ้าแก่ใหม่ ใครอยากมาชมธุรกิจเพาะกล้าผัก สวนองุ่น สวนกุหลาบ เข้ามาได้เลย หรืออยากได้ความรู้ คำแนะนำ ใครอยากเป็นเกษตรกรมือใหม่ เป็นเถ้าแก่ใหม่ทุกคนทำได้หมดแต่จะทำแบบไหน มาคุยกันได้ตอนนี้ผมตอบคำถามในเพจ https://www.facebook.com/Rainannan109 หลัง 2 ทุ่ม มาพูดคุยกันได้หรือที่โทร. 081-985-3327 ก็ได้ครับ

ใครสนใจอยากประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรลองติดต่อไปได้นะครับ คุณอดุลย์และคุณเสรีเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่มีคติประจำใจว่า “ทำอะไรทำให้สุดแล้วไปหยุดที่เงินหมด” สำหรับฉบับนี้คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of small scale farmers” กับผม ดร.ธนากร เที่ยงน้อย หมดพื้นที่แล้ว พบกันใหม่ฉบับต่อไป สวัสดีครับ