ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
---|---|
เผยแพร่ |
วิทยาลัยการอาชีพไชยา (วก.ไชยา) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดการเรียนการสอนในระดับ ปวช. และระดับ ปวส. นายณรงค์ หวังอีน เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพไชยาคนปัจจุบัน มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันทักษะวิชาชีพและการประกวดสิ่งประดิษฐ์ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา วิทยาลัยการอาชีพไชยามีผลงานที่ได้รับรางวัลในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ เป็นสถานศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) และศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center)
ชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา
ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
ชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นหนึ่งในผลงานของวิทยาลัยการอาชีพไชยา ที่ได้รับรางวัลระดับชาติ เกิดจากแนวคิดของนักศึกษา : นางสาวธิดารัตน์ สักจันทร์ นายธนพล ใสสะอาด นายธนวัฒน์ ร่มเย็น นายพรเทพ ย้อยไชยา นายอัมรินทร์ เบิกบาน นายปัณณวรรธ พันเรือง และอาจารย์ที่ปรึกษา : นายสัจกร ทองมีเพชร นาย นันทวุฒิ เนียมมีศรี ฯลฯ จุดเด่นของนวัตกรรมชุดนี้คือ ใช้เนื้อที่น้อยในการปลูกผัก เลี้ยงปลา และเลี้ยงนกกระทา ลดการใช้น้ำ และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำงาน ลดการใช้สารเคมี ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม
ชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ออกแบบกลไกให้สามารถปลูกผักและเลี้ยงปลา โดยผ่านระบบรีไซเคิลน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยกลไกในการปลูกผักจะหมุนอยู่ด้านบนของชุดชิงช้า และเลี้ยงปลาอยู่โครงสร้างด้านล่าง ทำให้ผักที่ปลูกได้ปุ๋ยที่เกิดจากการเลี้ยงปลา และน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านระบบการกรองหมุนเวียนกลับมาใช้ในการเลี้ยงปลาได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประหยัดพื้นที่ ประหยัดเวลา และแรงงานในการปลูกผัก เลี้ยงปลา และเลี้ยงนกกระทา ยังได้ผักที่ปลอดสารพิษไว้กินอีกด้วย
ลักษณะของชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลาฯ ตัวเครื่องมีความกว้าง 1 เมตร ยาว 1.50 เมตร สูง 1.60 เมตร โครงสร้างทำด้วยเหล็กสำหรับยึดชุดทำงานต่างๆ ติดล้อหมุน สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก มีโครงสร้างหลังคาปิด เพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิ ประกอบด้วยชุดหลักๆ ดังนี้ ชุดที่ใช้เลี้ยงปลา ประกอบด้วย เหล็กที่เชื่อมเป็นบ่อ ปูพื้นด้วยพลาสติก ส่วน ชุดปลูกผัก ประกอบด้วย กระถางปลูกผัก 4 ชั้น 1 ชั้นประกอบด้วยกระถาง จำนวน 6 กระถาง ใช้หลักการทำงานโดยการหมุนสลับกันทีละชั้น
ชุดที่ใช้เลี้ยงนกกระทา ประกอบด้วย โครงสร้างของเหล็กที่เชื่อมเป็นกรงเลี้ยงนกกระทา ส่วนระบบรีไซเคิลน้ำ การทำงาน ประกอบด้วยชุดถังกรองหยาบ ถังกรองละเอียด และถังพักน้ำเติมออกซิเจน แล้วหมุนเวียนน้ำผสมจุลินทรีย์ไปยังบ่อเลี้ยงปลา และถ้วยให้น้ำภายในกรงนกกระทา เป็นระบบหมุนเวียนน้ำ และ ชุดปั๊มน้ำ ประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 12 V DC ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ และปั๊มน้ำใช้มือหมุนทำหน้าที่ปั๊มน้ำผสมจุลินทรีย์อีเอ็มเพื่อฉีดน้ำเติมลง
ขั้นตอนการใช้งาน เริ่มจากเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งชิ้นงาน ระบบไฟฟ้า และชุดจ่ายพลังงานแสงอาทิตย์ เติมน้ำเข้าในระบบในบ่อเลี้ยงปลา 80 ลิตร นำปลาใส่ลงในบ่อ จำนวน 50 ตัว นำผักที่อนุบาลไว้มาใส่ในกระถางแล้วนำใส่ลงสู่ชุดชิงช้า 4 แถว รวมจำนวน 24 ต้น นำนกกระทา อายุประมาณ 30-40 วัน นำมาใส่กรงที่ได้เตรียมไว้ จำนวน 30 ตัว ใส่อาหารไว้ในราง ตอนเช้าของทุกวันๆ หลังเก็บไข่นกกระทา เปิดปุ่มการทำงานของชุดควบคุมการทำงานของมอเตอร์และปั๊มน้ำ ชุดชิงช้าจะหมุน และจะหยุดให้ผักแต่ละแถวแช่น้ำ 5 วินาที ตลอดเวลา ให้อาหารปลาที่เลี้ยงไว้ วันละ 2 มื้อ คือ มื้อเช้าและมื้อเย็น ให้อาหารเพียงพอต่อการกินแต่ละมื้อ อย่าให้อาหารเหลือ สำหรับระบบรีไซเคิลน้ำ จะมีถังกรอง 3 ชุด ปั๊มน้ำดูดส่งน้ำ และผสมจุลินทรีย์อีเอ็มไปยังบ่อปลา เมื่อผักและปลาเจริญเติบโตได้ขนาดที่ต้องการก็นำไปทำอาหาร หรือจำหน่าย สำหรับชุดชิงช้าปลูกผัก เลี้ยงปลา ระบบรีไซเคิลน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ราคา 12,000 บาท
หากใครสนใจนวัตกรรมชิ้นนี้ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ วิทยาลัยการอาชีพไชยา เลขที่ 221 หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84110 เบอร์โทร. 077-310-954, 077-310-955
เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ.2567