ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทดแทนข้าวนาปรัง รับมือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

ในช่วงฤดูแล้ง สภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในแหล่งต่างๆ มักมีจำกัด จึงชวนเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ชลประทานหันมาปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทน เช่น แตงโม ถั่วลิสง มะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน เป็นต้น

แตงโม

ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม

การปลูก

– เตรียมดิน ไถดะตากดิน 1 ครั้ง ไถพรวน 1 ครั้ง ปรับปรุงดินโดยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านปูนขาวให้ทั่วเพื่อปรับสภาพดิน จากนั้นไถยกร่องขนาดแปลงกว้าง 2-3 เมตร ความยาวตามสภาพพื้นที่ระยะปลูก เจาะหลุมปลูก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร และใช้พลาสติกสีดำคลุมแปลง ระยะปลูกระหว่างหลุม 60 เซนติเมตร ระหว่างแถวห่าง 6 เมตร เมื่อต้นกล้าอายุ 10-12 วัน คัดต้นกล้าสมบูรณ์ทําการย้ายปลูกต้นกล้าที่สมบูรณ์ปลูก 1 ต้นต่อหลุม

– เตรียมเมล็ดพันธุ์ นําเชื้อไตรโคเดอร์มาผสมกับดินปลูก อัตรา 1 : 4 ใส่กระบะเพาะเมล็ด นำเมล็ดแช่น้ำอุ่น (40-50 องศาเซลเซียส) นาน 4-6 ชั่วโมง ขัดเมือกออกบ่มไว้ 2 คืน แล้วนําไปเพาะในถาดเพาะที่เตรียมไว้

ให้น้ำ

– ให้น้ำตามร่องทุก 5-7 วัน ตามสภาพความชื้นของดิน ไม่ควรให้น้ำระบบพ่น ฝอยเพราะอาจทำให้เกิดโรคเหี่ยวได้

สายพันธุ์ที่แนะนำ

  1. ซอนญ่า พลัส

– เนื้อแดง รสชาติหวานกรอบ

– ผลกลมรี ลายสีเขียวอ่อน สลับแถบสีเขียวเข้ม

– ปลูกง่าย ติดผลดี ให้ผลผลิตสูง

– ปลูกได้ทุกภาค ตลอดทั้งปี

– น้ำหนักผลเฉลี่ย 4-6 กิโลกรัม

– อายุเก็บเกี่ยว 50-55 วัน หลังย้ายปลูก

  1. ทัมอัพ

– เนื้อกรอบแน่น รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์

– ผลกลมรี สีเขียวเข้มเกือบดำ คล้ายแตงโมญี่ปุ่น

– ติดลูกดีมาก ปลูกได้ทุกภาค ตลอดทั้งปี

– น้ำหนักผลเฉลี่ย 3-5 กิโลกรัม

– อายุเก็บเกี่ยว 52-55 วัน หลังย้ายปลูก

  1. กินรี 188

– เนื้อแดงจัด รสชาติหวานกรอบ

– ผลใหญ่ เนื้อแน่น เปลือกบาง ลูกลายสีเขียวสลับสีเขียวเข้ม

– ผลผลิตเก็บไว้ได้นาน

– ต้านทานต่อโรคพืชได้ดี

– น้ำหนักผลเฉลี่ย 5-8 กิโลกรัม

– อายุเก็บเกี่ยว 52-55 วัน หลังย้ายปลูก

ถั่วลิสง

ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมเดือนธันวาคม-มกราคม 

การปลูก

– เตรียมดิน ไถดะ 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน จากนั้นไถพรวน 1 ครั้ง เก็บซากวัชพืช ใส่ปุ๋ยคอก 1,000 กิโลกรัมต่อไร่

– ไถยกร่องปลูกสูง 20-25 เซนติเมตร ความกว้างของสันร่องประมาณ 60-100 เซนติเมตร

– ใช้เมล็ดพันธุ์ 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนปลูกคลุกด้วยไรโซเบียม อัตรา 200 กรัม ต่อเมล็ดพันธ์ุ 20-25 กิโลกรัม 

– ปลูกโดยวิธีหยอดหลุม หลุมละ 2-3 เมล็ด ลึก 10 เซนติเมตร ระยะห่าง 50×20 เซนติเมตร ให้น้ำทันทีหลังปลูก 

ให้น้ำ

ให้น้ำทุก 7 วัน ในเดือนแรก หลังจากนั้นให้น้ำทุก 10 วันห้ามขาดน้ำช่วงอายุ 30-60 วันหลังงอก

สายพันธุ์ที่แนะนำ

  1. สุโขทัย38

– เส้นลายบนฝักและจงอยฝักเห็นชัดเจน

– จำนวนเมล็ด 2-4 เมล็ดต่อฝัก

– เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง

– อายุเก็บเกี่ยว 85-95 วัน

  1. กาฬสินธุ์1

– ทรงต้นเป็นพุ่ม ติดฝัก เป็นกระจุกที่โคนต้น

– ลำต้นสีเขียวอมแดงดอกสีเหลือง

– เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง

– เปลือกฝักค่อนข้างเรียบ ล้างทำความสะอาดง่าย

– อายุเก็บเกี่ยวฝักสด 80-85 วัน

  1. ไทนาน9

– ทรงต้นเป็นพุ่ม ดอกสีเหลือง ติดฝักเป็นกระจุกที่โคนต้น

– จำนวนเมล็ด 2 เมล็ดต่อฝัก

– ฝักค่อนข้างเล็ก เปลือกบาง มีเส้นลายไม่เด่นชัด และจงอยปากเห็นได้ชัด

– อายุเก็บเกี่ยว 95-100 วัน

  1. ขอนแก่น5

– ทรงต้นเป็นพุ่มกว้าง ดอกสีเหลือง ติดฝักเป็นกระจุกที่โคนต้น

– จำนวนเมล็ด 2 เมล็ดต่อฝัก

– เส้นลายฝักชัด

– เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพูเข้ม

– อายุเก็บเกี่ยว 85-115 วัน

มะเขือเทศแปรรูป

ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมช่วงเวลาที่เหมาะสมปลูกได้ตลอดทั้งปี

การปลูก

– เตรียมดิน ไถตากดิน 7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ไถพรวน 1-2 ครั้ง 

– นํากล้ามะเขือเทศอายุ 20-25 วัน ลงปลูกระยะห่างระหว่างต้น 50-60 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 1 เมตร

– ปักค้างเมื่อมะเขือเทศอายุ 20-25 วันหลังย้ายปลูก

ให้น้ำ

– ระบบน้ำหยด ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และให้น้ำทันทีหลังใส่ปุ๋ย

สายพันธุ์ที่แนะนำ

  1. เอ็กซ์ตร้าโกลด์

– ทรงต้นเป็นพุ่มใหญ่ปานกลาง

– ต้นแข็งแรง เจริญเติบโตดี

– ผลดก ทรงผลกลมรี 70-80 กรัมต่อผล

– ผลดิบสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง

– เนื้อหนาปานกลาง

– ผลแข็งมากทนต่อโรคและการขนส่ง

– อายุเก็บเกี่ยว 80-85 วัน หลังย้ายปลูก

  1. ป๊อปปี้287

– ต้นแข็งแรง เจริญเติบโตดี

– ผลดก กลม สีแดงเข้ม มันวาว

– คุณภาพผลหลังเก็บเกี่ยวดี เป็นที่ยอมรับของโรงงานแปรรูปเกษตรกร และผู้บริโภค

– อายุเก็บเกี่ยว 65-70 วัน หลังย้ายปลูก

  1. เพอร์เฟคโกลด์111

– ทรงต้นเป็นพุ่มสูง

– ผลแก่สีแดง เนื้อหนาแข็ง ขั้วผลสวย

– ทนทานโรคไวรัส และโรคเหี่ยวเขียว

– อายุเก็บเกี่ยว 55-85 วัน หลังย้ายปลูก

ข้าวโพดหวาน

ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสมเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม

การปลูก

– เตรียมดิน ไถดะด้วยผาล 3 ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน ไถแปรด้วยผาล 7 แล้วยกร่องปลูกสูง 25-30 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1-2 เมล็ด

ให้น้ำ

ให้น้ำทุก 10-14 วัน และไม่ควรปล่อยให้ข้าวโพดขาดน้ำ หากขาดน้ำในช่วง ออกดอกหรือผสมเกสรจะทําให้ผลผลผลิตขาดคุณภาพ และควรหยุดให้น้ําก่อน เก็บเกี่ยว 2-3 วัน

สายพันธุ์แนะนำ

  1. จัมโบ้ สวีท

– ฝักใหญ่ไซซ์จัมโบ้ 

– รสชาติหวานกรอบ

– เมล็ดสีเหลืองอ่อนเนื้อเด้ง ไม่ยุบง่าย เรียงแถวตรง จรดปลายฝัก

– ระบบรากและลำต้นแข็งแรง

– ผลผลิตต่อไร่สูง 

– ทนทานโรคใบไหม้แผลใหญ่ 

– อายุเก็บเกี่ยว 72-75 วัน หลังหยอดเมล็ด

  1. ไฮบริกซ์3

– ต้นแข็งแรงโตเร็ว 

– ติดฝักสม่ําเสมอ

– ฝักยาวใหญ่ 

– เมล็ดเหลืองนวลเรียงตัวถึงปลายฝัก

– รสชาติหวานนุ่ม 

– ผลผลิตต่อไร่สูง 

– อายุเก็บเกี่ยว 65-70 วัน หลังหยอดเมล็ด

  1. ชูการ์75

– ระบบรากแข็งแรง 

– รสชาติหวานนุ่มอร่อย

– ทนทานโรคใบไหม้ดี 

– ฝักใหญ่ให้ผลผลิตสูง 

– อายุเก็บเกี่ยว 70-74 วัน หลังหยอดเมล็ด

ดังนั้น ชนิดพืชหลังนาที่ควรปลูกในช่วงฤดูแล้งนั้น ควรเป็นพืชที่เหมาะสมสำหรับปลูกในนาข้าว เป็นพืชที่อายุสั้น ใช้น้ำน้อย และสามารถทนแล้งได้ดี มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยแบ่งได้ตามประเภทได้ดังนี้

พืชไร่ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วพุ่ม ถั่วลิสง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดเทียน ข้าวฟ่าง งา มันเทศ และทานตะวัน

พืชผัก เช่น คะน้า กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักกาดหอม ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ผักกาดหัว ผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี ผักชี มะเขือเทศ มะเขือเทศเชอร์รี่ มะเขือเปราะ มะเขือยาว/มะเขือม่วง มะระจีน ถั่วฝักยาว บวบเหลี่ยม แตงโม แตงกวา/แตงร้าน แคนตาลูป พริกขี้หนู/พริกมัน/พริกหนุ่ม และผักบุ้งจีน

ไม้ดอก เช่น แอสเตอร์ บานไม่รู้โรย ดาวเรืองตัดดอก ทานตะวันตัดดอก และบานชื่น

พืชปรับปรุงดิน เช่น โสนอัฟริกัน ถั่วพุ่ม และถั่วพร้า

พืชใช้น้ำน้อยที่กล่าวมานั้น นอกจากจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรได้เลือกปลูกในช่วงแล้ง ช่วยให้มีรายได้หมุนเวียนต่อจากการทำนาแล้ว ยังช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่หลายๆ พื้นที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมการเกษตร