“น้ำหมักย่อยสลายฟางข้าว” ลดการเผาในพื้นที่เกษตร

ฟางข้าวที่อยู่ในนา สามารถนำมาเปลี่ยนให้เป็นปุ๋ย เพราะฟางข้าวมีธาตุฟอสฟอรัสสูงมาก เป็นประโยชน์ต่อดิน และโพแทสเซียม จะช่วยในการสร้างรวงและสร้างแป้งให้ข้าว ซึ่งสองแร่ธาตุนี้มีอยู่แล้วในฟางข้าว เกษตรกรจึงมีการใช้ฟางข้าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจัดการเปลี่ยนให้เป็นปุ๋ยเสียเลย

วิธีการนำฟางมาย่อยสลายสามารถทำได้หลากหลายวิธีดังนี้

1. นำฟางมาหมักกลบกับดิน แล้วใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายเข้าไป

2. การใส่จุลินทรีย์เข้าไปย่อยสลาย ใช้สาร พด.2 จากกรมพัฒนาที่ดิน หรือจะหมักเองจากจุลินทรีย์หน่อกล้วยก็ได้ เพราะในหน่อกล้วยมีกลุ่มจุลินทรีย์ที่โคนกล้วยอยู่แล้วเพราะมีความชื้น จุลินทรีย์ชอบเกาะกลุ่มอยู่ ก็นำมาขยายเชื้อ โดยการใช้กากน้ำตาลผสมกับหน่อกล้วยสับ แล้วก็หมักทิ้งไว้ 7 วัน หลังจากนั้นก็นำมาบีบให้เกิดหัวเชื้อ จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์หน่อกล้วย หลังจากนั้นก็นำไปใส่กับน้ำเปล่าแล้วเติมกากน้ำตาลลงไป คนทุกวัน ทิ้งไว้ประมาณ 5 วัน แล้วก็นำไปปล่อยในแปลงนา

3. เวลานำไปปล่อยในแปลงนา คนปล่อยไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปในนา เพราะเราต้องปล่อยน้ำเข้านาอยู่แล้ว ให้ใส่สายยางตั้งถังไว้ แล้วก็หยดลงไปเพียงแค่นั้น น้ำไปถึงไหนจุลินทรีย์ก็วิ่งตามไปถึงนั่นเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเดินให้เหนื่อย นี่เป็นเทคนิคง่ายๆ

4. การใส่จุลินทรีย์ ไม่จำเป็นต้องวัดอัตราส่วนก็ได้ ยิ่งใส่มากก็ยิ่งสลายเร็ว การหมักจุลินทรีย์กลุ่มนี้จะไปย่อยสลายฟาง เศษวัสดุต่างๆ ที่อยู่ในนาที่เป็นอินทรียวัตถุให้กลายเป็นฮิวมัสและเป็นอาหารพืชต่อไป ควรหมักไว้ไม่ต่ำกว่า 7 วัน เพื่อให้คายก๊าซ เพราะในฟางข้าวเกิดการทับถมกันอยู่ในดินจะเกิดก๊าซ มีความร้อน ถ้าก๊าซคายไม่หมดจะทำให้ข้าวต้นเหลืองแห้ง ถ้าเราหว่านข้าวไปแล้วก๊าซไม่หมดแล้วต้นข้าวเหลือง ให้แก้โดยวิธีปล่อยน้ำออกให้แห้ง ให้ดินแตกเป็นหัวระแหงออกมา ให้อากาศเข้าไปถ่ายเทดูดก๊าซออกมาได้ 

ถ้าหากชาวนาไม่เผาฟาง ตอซัง จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ไม่ไปเร่งให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และจะช่วยลดอุบัติเหตุจากควันไฟ นอกจากนี้ ฟางข้าวที่ไถกลบหรือไถพรวน จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีที่สุดด้วย วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านมีสูตรน้ำหมักย่อยสลายฟางข้าวที่สามารถทำตามกันได้ง่ายๆ ไปดูวัตถุดิบและวิธีการทำได้เลย

วิธีทำปุ๋ยอินทรีย์จาก "ฟางข้าว" หมักไม่นาน ลดต้นทุนได้จริง - เทคโนโลยีชาวบ้าน

วัตถุดิบ

– น้ำเปล่า 150 ลิตร

– พด.2 จำนวน 2 ซอง

– หยกกล้วยสับ 30 กิโลกรัม

– ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม

– กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม

– เปลือกสับปะรดสับ 2 หัว

– แป้งข้าวหมาก 2 ลูก

– รำละเอียด 2 กิโลกรัม

วิธีการทำ

  1. นำหยกกล้วยสับ เปลือกสับปะรดสับ รำละเอียด กากน้ำตาล พด.2 ปุ๋ยยูเรีย ใส่ลงในถังผสมให้เข้ากัน
  2. เติมน้ำ 150 ลิตร คนให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ในที่ร่ม ปิดฝาถังให้สนิท
  3. เปิดฝาถังคนทุกวัน วันละ 1 ครั้ง โดยคนไปในทิศทางเดียวกัน หมักทิ้งไว้ 15 วัน จึงนำไปใช้ได้ 

วิธีการใช้งาน

1. นำมากรองเอากากใยออก แล้วนำน้ำไปใช้

2. กรณีผสมน้ำแช่ฟางในนา ในอัตราส่วนน้ำหมัก 10-15 ลิตรต่อไร่ นำน้ำหมักมาเจือจางไปกับน้ำที่แช่ฟางข้าวในนา

3. กรณีใช้ฉีดพ่น ในอัตราส่วน น้ำหมัก 10-15 ลิตรต่อไร่ (ปริมาณน้ำที่ผสมขึ้นกับชนิดเครื่องพ่น) ฉีดพ่นฟางให้ทั่วทั้งแปลง โดยที่แปลงนายังมีความชื้นอยู่ หรือนำน้ำเข้านาก่อนฉีดพ่น 1 วัน

หลังจากแช่ฟางประมาณ 4-7 วัน ฟางจะเริ่มอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย รถไถสามารถไถกลบ หรือปั่นกลบได้ง่ายขึ้น

ธุรกิจ“ ฟางข้าวอัดก้อน” ลงทุนน้อย กำไรงาม - เทคโนโลยีชาวบ้าน

ประโยชน์ของฟางข้าว

ในฟางข้าวจะมีปริมาณธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ดังนี้

ไนโตรเจน (N) = 0.59%, ฟอสฟอรัส (P) = 0.08%, โพแทสเซียม (K) = 1.56%, แคลเซียม (Ca) = 0.38%, แมกนีเซียม (Mg) = 0.23%, กำมะถัน (S) = 0.08%

ซึ่งจะช่วยปรับโครงสร้างดินให้ดินโปร่งร่วนซุย ระบายน้ำ และอากาศดี และเพิ่มอินทรียวัตถุที่เป็นแหล่งอาหารและพลังงานให้กับจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน

วิธีการอย่างนี้ชาวนาจะสามารถทำนาได้มากรอบขึ้น และจะสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ส่วนหนึ่ง และยังส่งผลดีต่อการป้องกันกำจัดข้าววัชพืช ข้าวเรื้อ ข้าวค้างฤดู หรือเมล็ดวัชพืชได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขอบคุณสูตรจาก : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอลานกระบือ