“เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว ” ช่วยกำจัดวัชพืชในนาข้าว

“ หญ้าดอกขาว”  (Leptochloa chinensis)  เป็นวัชพืชที่ปราบยากที่สุด พบแพร่หลายในแหล่งปลูกข้าวพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ที่นิยมทำนาหว่านน้ำตม  ถึงแม้จะใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชก็เอาไม่อยู่ ปัญหาวัชพืชในแปลงนา ทำให้ชาวนา สูญเสียรายได้และผลผลิตข้าวอย่างน่าเสียดาย

ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดของหญ้าดอกขาวต้านทานต่อสารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในนาข้าวได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ในแหล่งปลูกข้าว  ที่นิยมทำนาหว่านน้ำตม สารกำจัดวัชพืชที่เคยใช้ควบคุมหญ้าดอกขาวได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเหลือน้อยชนิดลงทุกที เนื่องจากมีการใช้สารเคมีที่มีกลไกการเข้าทำลายเดียวกันซ้ำๆกันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อควบคุมหญ้าดอกขาวไม่ได้ผล ชาวนาก็ปล่อยให้หญ้าดอกขาวออกดอกติดเมล็ดอยู่ในแปลงนา เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเมล็ดหญ้าสามารถติดไปกับเปลือกเมล็ดข้าวที่ใช้ทำพันธุ์ได้ หรือเมื่อปล่อยน้ำเข้านาเมล็ดหญ้าดอกขาวที่ร่วงอยู่บนพื้นนา สามารถลอยไปตามน้ำไปสู่แปลงข้างเคียง กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดซ้ำซากในแหล่งปลูกข้าวหลายพื้นทื่

ดร.จรรยา มณีโชติ

ดร.จรรยา มณีโชติ  นักวิชาการ กลุ่มงานวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร  ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง  “การควบคุมหญ้าดอกขาวในนาข้าวโดยใช้เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว”  ได้ข้อสรุปว่า ชาวนาไม่ต้องห่วงกังวลปัญหาหญ้าดอกขาวระบาดในแปลงนาเหมือนในอดีต เพราะวัชพืชชนิดนี้ สามารถกำจัดได้ด้วยกลไกธรรมชาติแบบง่าย ๆ โดยใช้ “ เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว ”   แมลงดีที่น่าจับตามอง

ผลการศึกษาระหว่างเดือน กันยายน-ธันวาคม 2549  ดร. จรรยา พบว่า  หญ้าดอกขาว หญ้าข้าวนก ที่ “ดื้อยา” กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งปลูกข้าว โดยเจอหญ้าดอกขาว จำนวน 188 ตัวอย่าง ที่ต้านทานต่อสารเคมีในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ACCase ได้แก่ สาร fenoxaprop, cyhalofop, profoxydim  สูงถึง 45-86% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมดที่ทดสอบ

ผลสรุปจากการวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า  หญ้าดอกขาว เกิดความต้านทานต่อกลุ่มสารเคมี (cross-resistance) การระบาดของวัชพืช ต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหา การดื้อยา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวเพราะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทำให้ชาวนาสูญเสียผลผลิตข้าว และเสียค่าใช้จ่ายการใช้สารกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น

หน่วยงานภาครัญที่เกี่ยวข้อง ควรแนะนำให้เกษตรกรควบคุมวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการวัชพืชแบบผสมผสาน และ ควรมีการระบุกลไกการออกฤทธิ์หรือการเข้าลายวัชพืชของสารเคมีไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้อง

ตัวอ่อนและตัวแก่ดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอก

ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงของหญ้าดอกขาว ดร.จรรยา ได้สำรวจพบ “เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว  เข้าทำลายหญ้าดอกขาว ดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้เมล็ดลีบไปเป็นจำนวนมาก   เมื่อศึกษาวงจรชีวิต ของ “เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว ” เกี่ยวกับ พืชอาหารและพืชอาศัย รวมทั้งศึกษาว่าแมลงชนิดนี้ เป็นพาหะของเชื้อไวรัสสาเหตุโรคใบหงิกข้าวหรือที่เกษตรกรเรียกว่า โรคจู๋ หรือไม่ และศักยภาพในการทำลายเมล็ดหญ้าดอกขาวดีหรือไม่

ผลการศึกษา  พบว่า เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว  มีวงจรชีวิตประมาณ 22 วัน มีหญ้าดอกขาวและหญ้าตีนนกเป็นพืชอาหาร นอกจาก เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว  ไม่ใช่พาหะของโรคใบหงิกข้าว เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาวจำนวน 40 ตัวมีศักยภาพในการเข้าทำลายหญ้าดอกขาวจำนวน  1 ต้น สามารถทำให้เมล็ดหญ้าดอกขาวลีบได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์

ในสภาพธรรมชาติทั่วไปพบว่า มีจำนวนเพลี้ยจักจั่นปีกสีขาวมากกว่า 100 ตัว/ช่อดอก จึงสามารถทำให้เมล็ดหญ้าดอกขาวลีบทั้งรวงได้ นับเป็นการลดจำนวนเมล็ดหญ้าดอกขาวที่สะสมในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหญ้าดอกขาวเพียง 1 ช่อดอก มีเมล็ดหญ้าประมาณ 13,396 เมล็ด ในแปลงนาที่มีหญ้าดอกขาวระบาดหนาแน่นจะพบว่า 1 ตารางเมตร มีหญ้าดอกขาวประมาณ 400 ช่อดอก

ตัวเต็มวัย

เมื่อคำนวณเป็นพื้นที่ 1 ไร่ จะมีจำนวนหญ้าดอกขาว ประมาณ 640,000 ช่อดอก ทำให้มีจำนวนเมล็ดหญ้าดอกขาวที่จะร่วงสะสมในดิน มีค่าเท่ากับ 8,753,440,000 เมล็ด หากมีเพลี้ยจักจั่นปีกสีขาวเข้าทำลายเมล็ดจะลีบได้อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เมล็ดหญ้าดอกขาวที่จะงอกในฤดูต่อๆไปลดลงมากกว่า 4,000 ล้านเมล็ด ตัวเลขนี้จะมีความสำคัญมากขึ้น หากเป็นเมล็ดหญ้าดอกขาวที่ต้านทานต่อสารกำจัดวัชพืช  เกษตรกรไม่สามารถกำจัดได้ด้วยสารกำจัดวัชพืช ทำให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก

นาข้าวที่มีการระบาดของหญ้าดอกขาวดื้อยา

“ ขอฝากให้ชาวนาช่วยดูแล เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว ในนาข้าว หากเจออย่าพ่นยากำจัดแมลงชนิดนี้  เพราะไม่ใช่ศัตรูของชาวนา แต่เป็นมิตรแท้ที่จะช่วยทำลายเมล็ดหญ้าดอกขาว ซึ่งเป็นวัชพืชตัวร้ายให้กับชาวนา  เพลี้ยจักจั่นปีกสีขาว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรจะนำไปใช้ควบคุมหญ้าดอกขาว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ” ดร.จรรยากล่าวในที่สุด

หากผู้อ่านท่านใดสนใจผลงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ที่ ดร. จรรยา มณีโชติ   กลุ่มงานวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 02-5795247  ได้ในวันและเวลาราชการ