“นาเกลือแปลงใหญ่” จุดเปลี่ยน อาชีพการทำนาเกลือสู่ความยั่งยืน

สมัยก่อน หากใครเดินทางลงไปทางภาคใต้ ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี จะเห็นพื้นที่นาเกลือดูกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา การทำนาเกลือทะเลแบบโบราณนิยมใช้เครื่องกังหันลมผันน้ำเข้านา ระยะหลังลมฟ้าอากาศไม่สม่ำเสมอ การใช้กังหันลมแบบเดิมไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ช่วยสูบน้ำเข้านาเกลือแทน

แม้เครื่องจักรประเภทลูกกลิ้ง-เครื่องยนต์ จะกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยทุ่นแรงในการผลิตเกลือทะเล แต่เกษตรกรนาเกลือส่วนใหญ่ยังคงอนุรักษ์กรรมวิธีการผลิตเกลือทะเลแบบโบราณไว้อย่างครบถ้วน โดยปล่อยน้ำทะเลใส่ในแปลงนา แล้วปล่อยให้น้ำระเหยจนกลายเป็นเม็ดเกลือในที่สุด

 

การผลิตเกลือทะเล

ขั้นตอนที่ 1 ของการทำนาเกลือ เริ่มจากปรับพื้นที่นาเกลือ ขูดขี้แดดนาเกลือ ซึ่งเป็นแผ่นตกสะเก็ดอยู่ที่พื้นผิวดินอันนาเกลือ ซึ่งพบมากในนาอันเชื้อ และนาอันตาก ต้องขูดขี้แดดนาเกลือ หรือ “ดินหนังหมา” ออกทิ้งให้หมด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกลือเกิดน้อยและคุณภาพเม็ดเกลือสกปรก

ขั้นตอนที่ 2 สูบน้ำเข้านาอันขังน้ำ หรือนาขังน้ำให้เต็ม

ขั้นตอนที่ 3 ปล่อยน้ำจากนาอันตาก อันเชื้อ และอันปลง เพื่อให้ดินนิ่ม ใช้พลั่วแทงดินทำคันนาใหม่ และแทงรางหลอดรอบอันนาทุกนา

ขั้นตอนที่ 4 ปล่อยน้ำจากนาอันตากสู่นาอันเชื้อพอประมาณ เพื่อคราดนา ทั้งนาอันเชื้อและนาอันปลง

ขั้นตอนที่ 5 หลังจากคราดนาจนดินฟูดีแล้ว ชาวนาเกลือจะใช้ไม้ละเลงนา ละเลงดินในอันนาเกลือให้เรียบเสมอกัน ทั้งนาอันเชื้อและนาอันปลง

ขั้นตอนที่ 6 ปล่อยให้น้ำแห้ง แล้วใช้ลูกกลิ้ง หรือรถกลิ้งๆ นาให้ดินเรียบและแน่นแห้งสนิทในนาอันปลงเท่านั้น

หลังจากนั้น เป็นขั้นตอนการหมักเกลือ เกษตรกรจะปล่อยน้ำในนาอันตากเข้าสู่นาอันเชื้อ นาอันปลง ทีละน้อย ทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อตากน้ำให้เค็ม เมื่อนาอันเชื้อและนาอันปลงเริ่มแห้งงวดลง มีความเค็มสูงขึ้นเรื่อยๆ ให้เติมน้ำจากนาอันเชื้อมานาอันปลง แล้วปล่อยน้ำจากนาอันตากมาสู่นาอันเชื้อ ทำเช่นนี้จนกระทั่งวัดความเค็มของนาอันเชื้อได้ 10-16 ดีกรี และวัดความเค็มน้ำของนาอันปลงได้ 20-25 ดีกรี ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน นาอันปลงก็จะตกผลึกเป็นเกลือ จากนั้นจะเอาน้ำเค็มออก เรียกว่าช่วงกลับน้ำ ชาวนาเกลือจะเอาน้ำเค็มจากนาอันปลงที่เป็นเกลือแล้ว กลับไปเก็บที่นาอันเชื้อ เพื่อนำมาหมักเกลือในนาอันปลงใหม่ ทำให้เกิดเกลือได้เร็วขึ้น

หลังจากเกิดเกลือในนาอันปลงแล้ว ชาวนาเกลือจะรื้อเกลือ โดยใช้อุปกรณ์ คือ คทารื้อ คทาชักแถว คทาซุ่ม ปุ้งกี๋หาบเกลือ ใช้แรงงานคนช่วยกันรื้อ ชักแถวกองเกลือแล้วหาบเกลือเข้าเก็บในยุ้งเก็บเกลือ ในขณะที่ความเค็มน้ำเค็ม 20-25 ดีกรี ตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ ถ้าต้องการให้ได้เกลือมากและแดดดีก็หมัก 10-15 วัน จะได้เม็ดเกลือมากขึ้นอีก

หลังจากขนเกลือเข้ายุ้งแล้ว เกษตรกรจะปรับนาอันปลงที่เกิดเกลือแล้วให้เรียบ แล้วปล่อยน้ำออกให้แห้ง ใช้ลูกกลิ้งหรือรถกลิ้งๆ นาเกลือให้เรียบและแน่น ตากนาให้แห้งสนิท แล้วปล่อยน้ำเค็มจัดจากนาอันเชื้อลงนาอันปลง ตากไว้วันแรกจะเกิดเกสรเกลือ จนกระทั่งความเค็มถึง 20-25 ดีกรี ก็จะเป็นเกลือในระยะเวลาประมาณ 10-15 วัน ก็รื้อเกลือได้อีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะมีเกลือรื้อได้ทุกๆ 1-2 เดือน รื้อเกลือได้ 3 ครั้ง เกลือทะเลที่ผลิตได้ จะมีพ่อค้าคนกลาง เรียกว่าเถ้าแก่เกลือมารับซื้อผลผลิตถึงแปลงนา แต่เกษตรกรบางรายจะเปิดแผงขายเกลือริมถนน

ด้านการตลาด

เกลือทะเล (เกลือแกง หรือเกลือสมุทร) คือเกลือที่ได้จากน้ำทะเล มีแร่ธาตุกว่า 80 ชนิด ซึ่งมีแร่ธาตุที่มนุษย์ต้องการถึง 24 ชนิด เกลือทะเลที่จำหน่ายโดยทั่วไป แบ่งได้ 3 เกรด คือ

  1. เกลือขาว (เกลือคัด) เป็นเม็ดเกลือใหญ่ ไม่มีเศษดินตะกอน จัดเป็นเกลือคุณภาพดี ขายได้ราคาแพง นิยมใช้เพื่อการบริโภค
  2. เกลือกลาง มีขนาดเล็กกว่าเกลือคัด มีสีคล้ำเล็กน้อย มีเศษดินตะกอนปนอยู่บ้าง จัดเป็นเกลือคุณภาพต่ำลงมา นิยมใช้ล้างผัก ดองปลา ขายได้ราคาถูกกว่าเกลือคัด
  3. เกลือดำ เป็นเศษเกลือ เรียกว่า เกลือก้นกอง เม็ดเกลือมีขนาดเล็กและมีเศษตะกอนปนอยู่มาก นิยมใช้เติมบ่อกุ้ง เลี้ยงปลา และปรับสภาพดินในสวนผลไม้ ขายในราคาถูกๆ

 

โรงเรียนนาเกลือ จังหวัดสมุทรสาคร

หากใครอยากเรียนรู้วิถีชีวิตและกรรมวิธีการทำนาเกลือแบบโบราณ สามารถแวะชมได้ที่ โรงเรียนนาเกลือ (ศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ) ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านสหกรณ์ เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  โทรศัพท์ (086) 524-1021 เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

คุณเลอพงษ์ จั่นทอง ทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือและปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำนาเกลือ เล่าว่า วิถีชีวิตการทำนาเกลือเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 สมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้เป็นของ รัชกาลที่ 5 ต่อมาได้ทรงสละที่ดินให้ราษฎรทำกินเพื่อหล่อเลี้ยงครอบครัว และรุ่นพ่อแม่ของผมได้รับการจัดสรรที่ดินตรงนี้เช่นกัน สร้างความปลาบปลื้มแก่ครอบครัวเป็นที่สุด และรักในการทำอาชีพนี้มาตลอด และมีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์และหวงแหนรักษาพื้นที่นี้ไว้ตลอดการทำอาชีพนาเกลือให้ยาวนาน เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านในนิคมสหกรณ์โคกขาม

พื้นที่ในตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเกลือทะเลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ปัจจุบันเกษตรกรที่ยึดอาชีพการทำนาเกลือมีจำนวนลดลง เกษตรกรในท้องถิ่นจึงเกิดแรงบันดาลใจในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การทำนาเกลือ เพื่ออนุรักษ์อาชีพการทำนาเกลือให้อยู่คู่กับตำบลโคกขามต่อไป ขณะเดียวกันต้องการให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตการทำนาเกลือทะเล เพื่อปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนรู้ว่าอาชีพการทำนาเกลือ เป็นอาชีพที่สุจริต มีคุณค่าต่อชีวิต เพราะชีวิตคนเราขาดเกลือไม่ได้เลย

 

คุณค่าของเม็ดเกลือ

สมัยเด็กๆ หลายคนคงจะเคยท่องจำว่า ข้อดีของการบริโภคเกลือทะเลคือ ได้ธาตุไอโอดีน ช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก หากใครมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนโรงเรียนนาเกลือแห่งนี้ จะได้เรียนรู้ว่า เกลือ มีมากมายหลายชนิด และมีคุณประโยชน์อย่างน่าทึ่งทีเดียว

เกลือทะเล แบ่งลักษณะเม็ดเป็น 2 เพศ คือ “เกลือตัวผู้” รูปร่างเม็ดยาวแหลม นิยมใช้เป็นส่วนผสมในยาแผนไทย เช่น ผสมยาตราไก่กวาดคอเด็กแก้ซาง หรือผสมน้ำมะนาว จิบแก้ไอ หรือใช้อุดฟัน รักษาอาการปวดฟัน ส่วน “เกลือตัวเมีย” รูปร่างแบนเป็นเหลี่ยม นิยมใช้ดองยา ดองผัก ดองปลา ดองน้ำปลาและใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

ดอกเกลือ (เกสรเกลือ) เป็นผงเกลือป่นลอยอยู่บนผิวน้ำในนาเกลืออันปลง ขณะที่น้ำทะเลในนาเกลือเริ่มเค็มจัด ในระดับความเค็ม 20-25 ดีกรี ดอกเกลือ เป็นเกลือทะเลสะอาดที่มีไอโอดีน นิยมใช้ในการบริโภคและแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะผลิตภัณฑ์สปาขัดผิว

“เกลือจืด” ได้จาก “อันเชื้อ” ที่ตกผลึกทับถมกันนานหลายๆ ปี จนกลายเป็นผลึกเกลือจืด คล้ายเม็ดทรายจมอยู่ในดิน ไม่ละลายน้ำ เกษตรกรนิยมนำเกลือจืดไปคั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนๆ (สะตุ) จนได้ผลึกเกลือ เป็นแป้งเกลือจืด มีสีขาว นิยมนำไปแปรรูปเป็นเครื่องสำอางบำรุงผิว หรือผลิตยาสีฟัน

ขี้แดดนาเกลือ (ดินหนังหมา) เกิดจากตะไคร่น้ำ และจุลินทรีย์จากบ่อพักน้ำทำนาเกลือ หลังฤดูฝน ประมาณช่วงเดือนตุลาคม หากนำไปแช่น้ำจะเกิดกลิ่นเหม็นคล้ายสุนัขตาย จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดินหนังหมา” นั่นเอง ขี้แดดนาเกลือ จัดอยู่ในกลุ่มปุ๋ยธรรมชาติจากนาเกลือ ผลวิจัยพบว่า ขี้แดดนาเกลือมีธาตุฟอสฟอรัส 0.13% และมีธาตุโพแทสเซียมอยู่ถึง 2% ซึ่งเป็นประโยชน์แก่พืช ผัก ผลไม้ และไม้ดอกเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยปรับโครงสร้างของดิน และกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เกษตรกรนิยมนำขี้แดดนาเกลือมาใส่โคนต้นไม้ผล เช่น ส้มโอ ลำไย มะม่วง มะพร้าว ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้พืชมีผลผลิตสูงขึ้น และช่วยให้ผลไม้มีรสหวานเพิ่มขึ้น

 

รวมกลุ่มแปลงใหญ่นาเกลือ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรชาวนาเกลือในพื้นที่นิคมสหกรณ์โคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร รวมกลุ่มกันบริหารจัดการนาเกลือแบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกลือให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และยังช่วยแก้ไขปัญหาราคาเกลือทะเลตกต่ำอีกทางหนึ่ง

คุณอุไร ทับเทศ สหกรณ์จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า การรวมตัวกันทำนาเกลือในรูปของแปลงใหญ่จะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น การรวมซื้อรวมขาย การรวบรวมอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำนาเกลือไว้ในจุดเดียว เพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้ามากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ประมาณ 20% จากต้นทุนการผลิตเกลือทะเล 1,200 บาท/เกวียน

จังหวัดสมุทรสาคร ได้มอบเงินให้กับสหกรณ์ชาวนาเกลือ 2 แห่ง ของจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรนาเกลือสมุทรสาคร จำกัด แห่งละ 10 ล้านบาท สำหรับนำไปพัฒนากระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์สินค้าเกลือทะเลให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด

เมื่อปี 2559 สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์ ตามนโยบายประชารัฐ ของรัฐบาล โดยหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้ามาช่วยแนะนำเรื่องการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเกลือทะเลในลักษณะ เกลือสปาแช่เท้า เกลือสมุนไพรขัดผิว เกลืออโรมา สบู่เหลวขัดผิว และเกลือปรับอากาศ ฯลฯ กลายเป็นของขวัญของฝากที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดสมุทรสาคร

ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมกระบวนการส่งเสริมแปลงใหญ่นาเกลือและผลิตภัณฑ์เกลือสปาได้ที่ สหกรณ์กรุงเทพ จำกัด ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โทร. (086) 524-1021