เกษตรกรอำนาจเจริญ ปรับเปลี่ยนที่นาแบ่งมาปลูกอ้อยแปลงใหญ่ประชารัฐ ลดความเสี่ยงเรื่องตลาด มีรายได้มั่นคง

เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานหลายรายปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าว ปรับเปลี่ยนไปทำเกษตรอื่นที่เหมาะสมกว่า ดังเช่น ในจังหวัดอำนาจเจริญ ที่เกษตรกรรวมตัวกันปรับเปลี่ยนการทำนาในพื้นที่ไม่เหมาะสมมาทำไร่อ้อยให้สอดรับกับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ในลักษณะแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ซึ่งเป็นการทำเกษตรแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) ที่มีการดำเนินการร่วมกันระหว่างเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ในการพัฒนารายได้สินค้าเกษตร สร้างรายได้เร็ว เชื่อมโยงตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้แก่เกษตรกรรายย่อย คาดหวังให้สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า แนวทางการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ในปีงบประมาณ 2560 มีแปลงเกษตรเพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 1,910 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 3,400,000 ไร่ เกษตรกร 250,000 ราย อยู่ใน 10 กลุ่มสินค้า 67 ชนิดสินค้า โดยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นคือ กลุ่มแปลงใหญ่แมลงเศรษฐกิจ เช่น ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด เป็นต้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เสริมการใช้เทคโนโลยี มีการเชื่อมโยงตลาด และเพิ่มเติมการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรให้เกิดความมั่นคง มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการแปลงเกษตรของตนเอง นอกจากนี้ ในแปลงเกษตรที่เข้าร่วมโครงการใหม่จะเน้นให้เกษตรกรได้วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแผน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และในปี 2561 ได้วางเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,200 แปลง ขณะที่โรดแมปในระยะ 20 ปีนั้นจะต้องทำให้พื้นที่การเกษตรของไทยร้อยละ 60 เป็นรูปแบบการเกษตรแปลงใหญ่ เนื่องจากการทำเกษตรแปลงใหญ่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรได้จริง จนสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึงรายละ 50,000 บาท

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

สำหรับความคืบหน้านโยบายประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ ที่แบ่งกลุ่มสินค้าเป็น 5 กลุ่ม อาทิ พืชเศรษฐกิจหลัก สัตว์บก ประมง เกษตรสร้างรายได้เร็ว (Clash Crop) หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าว คือ อ้อย มีราคารับซื้อที่แน่นอน และสิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันคือ แปลงใหญ่ประชารัฐ เพราะมีเอกชนดูตลาด รัฐให้ความรู้โดยศูนย์ ศพก. 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ จะเป็นเสาหลักแนะนำเกษตรกร ซึ่งเมื่อพูดถึงลักษณะของเกษตรแปลงใหญ่อ้อย หลายคนคงคิดถึงไร่อ้อยโรงงานที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ผืนเดียวกัน แต่จริงๆ แล้ว เกษตรแปลงใหญ่คือ การรวมกลุ่มของเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่เข้าด้วยกัน อย่างเช่น ที่ตำบลกุดปลาดุก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีการรวมกลุ่ม เกษตรกร 10 ราย เนื้อที่รวมกัน จำนวน 121 ไร่

นายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ

ด้าน นายทรงพันธ์ จันทร์สว่าง เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวเสริมว่า จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต มีการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการรวมกันผลิตและรวมกันจำหน่าย มีตลาดรองรับที่แน่นอน สามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งการดำเนินแปลงใหญ่อ้อยประชารัฐ ดำเนินการในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองอำนาจเจริญ เกษตรกรเป้าหมาย 159 ราย พื้นที่ 2,945 ไร่ อำเภอเสนางนิคม เกษตรกรเป้าหมาย 117 ราย พื้นที่ 2,019 ไร่ อำเภอหัวตะพาน เกษตรกรเป้าหมาย 258 ราย พื้นที่  2,359 ไร่

แปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ (อ้อยโรงงาน) จังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่รวม 7,323 ไร่ รวม 3 อำเภอ พื้นที่มีความเหมาะสมบนพื้นที่ N ของข้าว 3,450 ไร่ ปรับเปลี่ยนปลูกอ้อย 3,047 ไร่ มีเกษตรกรสมาชิก 534 ราย กลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม มี Smart Farmer 200 คน สินค้าอ้อยโรงงานและพันธุ์อ้อย ผลผลิตรวม 8,678.4 ตัน มีการดำเนินงานจัดเตรียมข้อมูลพื้นฐานสมาชิกแปลงใหญ่ ถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการองค์กรเกษตรในแต่ละแปลง/การรวมกลุ่มเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร หลักสูตรการบริหารจัดการการตลาด/เชื่อมโยงการตลาด โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิต ร้อยละ 7.18 ลดต้นทุนจาก 11,150 บาท ต่อไร่ เป็น 10,350 บาท ต่อไร่ เพิ่มผลผลิต ร้อยละ 20 จาก 10 ตัน ต่อไร่ เป็น 12 ตัน ต่อไร่

กิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่ว หรือปอเทืองบำรุงดิน ไม่เผาใบอ้อย ลดการอัดแน่นของเครื่องจักรเหยียบย่ำ (Control Traffic) ลดการไถพรวนเพื่อรักษาโครงสร้างดิน เพิ่มผลผลิต ใช้พันธุ์คุณภาพดี ใช้ปุ๋ยเหมาะสม จัดระยะปลูกรองรับรถตัดอ้อย 1.65 เมตรขึ้นไป ไถดะลึก 40 เซนติเมตร ลงริบเปอร์ฝังปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าผลผลิต ปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัท และดูแลรักษาต่อเนื่อง บริหารจัดการแปลงแบบ Mitrphol Modern Farm มาตรฐาน Bonsucro เป็นต้น