ลำไยสอยดาว  ผลผลิต 70-80 กิโลกรัม ต่อต้น มีผลผลิตส่งต่างประเทศทั้งปี

เกษตรกรนำลำไยและลิ้นจี่ เข้าไปปลูกในพื้นที่อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี นานมาแล้ว ลำไยให้ผลผลิตบ้าง 2-3 ปีครั้งหนึ่ง ลิ้นจี่ก็เช่นกัน ปัจจัยที่ทำให้พืชทั้งสองชนิดออกดอกติดผลคือ อากาศหนาวเย็น

ต่อมามีการค้นพบสารทำให้ลำไยออกดอกได้ตามที่ต้องการ พื้นที่ปลูกจึงเพิ่ม ถือได้ว่า อำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี รวมถึงอำเภอวังสมบูรณ์และอำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว เป็นแหล่งใหญ่ของการปลูกลำไยในประเทศไทย

ปัจจัยที่ทำให้ลำไยปลูกได้ผลดีเพราะภูมิอากาศ ปริมาณของน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งความชำนาญของเกษตรกร ด้วยเหตุนี้ เมื่อขับรถไปตามถนนสายรอง ในเขตพื้นที่ปลูกลำไย จึงมีล้งรับซื้อผลผลิตกระจายเต็มไปหมด

ลำไยเขตนี้ เป็นลำไยสั่งได้ จะเก็บผลผลิต วันที่ 1 มกราคม ให้ออก วันที่ 13 เมษายน ทำได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญคือ สารที่ราด และการดูแลเอาใจใส่นั่นเอง

สำหรับลิ้นจี่ ปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที เพราะไม่มีสารราดให้ออกดอก…อากาศหนาวเย็น นานปีจึงจะมาทีหนึ่ง

พบผู้ปลูกมืออาชีพ ทำจนเชี่ยวชาญ

คุณสมพงษ์ สุขเกษม และ คุณสง่า ไทยปิยะ สามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 247 หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการปลูกลำไยมากที่สุดคนหนึ่ง พื้นที่การผลิตปัจจุบันมี 300 ไร่ ที่ดินส่วนหนึ่งเป็นของตนเอง มีบางส่วนที่เช่าทำ

“อยู่ที่นี่มานานแล้ว เราทำอะไรทำมาก แฟนเขาปลูกมะเขือพวงที 80-90 ไร่ เคยขายได้ แต่ก็ไม่ดีเท่าที่ควร ข้าวโพดก็ปลูกกันมาก” คุณสง่า เล่า

คุณสง่า ไทยปิยะ และ คุณสมพงษ์ สุขเกษม

“ช่วงมะเขือพวงราคาไม่ดี นำไปขายไม่ได้ราคา บางทีต้องทิ้ง หากนำมาแกง ใช้วัวทั้งตัวแกงก็ใช้มะเขือพวงไม่หมด…มะละกอ ผมก็ปลูกมานะ ปลูกหลายหมื่นต้น เคยประสบปัญหาราคาไม่ดี ก็เลยเลิกปลูก ทุกวันนี้ปลูกลำไย มีตลาดแน่นอน ผลผลิตเก็บได้กลางเดือนกันยายน 2560 เขามาซื้อก่อนหน้านี้ ตกลงกัน กิโลกรัมละ 40 บาท” คุณสมพงษ์ เล่าบ้าง

คุณสมพงษ์ เล่าว่า ลำไยที่ปลูกเป็นพันธุ์อีดอก้านอ่อน ขนาดผลผลิตโดยเฉลี่ย 36 ผล ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่ราดสาร จนกระทั่งเก็บผลผลิต ใช้เวลา 6 เดือน กับ 15 วัน

ถามว่า ทำไมไม่ปลูกพันธุ์อื่น เกษตรกรบอกว่า เขาไม่ซื้อ ลำไยพันธุ์นี้มีคนมาซื้อส่งไปยังต่างประเทศ

วิธีการปลูกนั้น คุณสมพงษ์ ปลูกลำไยด้วยกิ่งตอน ระยะระหว่างต้นระหว่างแถวที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 8 คูณ 8 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 25 ต้น หากปลูกระยะ 6 คูณ 6 พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 44 ต้น แต่ปลูกไประยะหนึ่งต้องตัดต้นเว้นต้น

“8 คูณ 8 ดีกว่า เพราะทรงพุ่มไม่ชิดกันเร็ว หลังปลูกไป 3 ปี ก็ราดสารได้ บางคน 2 ปี ก็ราดสารได้แล้ว อยู่ที่การดูแลรักษา และขนาดของทรงพุ่ม” คุณสง่า บอก

คุณสมพงษ์ บอกว่า ปัจจัยการผลิตที่สำคัญมากนั้นคือ เรื่องน้ำ การทำลำไยนอกฤดู โดยการราดสารนั้น น้ำจำเป็น เพราะต้องให้ต้นเจริญเติบโตมสมบูรณ์แข็งแรง ถึงแม้เขตอำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาวฝนดีพอสมควร แต่ช่วงแล้ง ต้องให้น้ำ

ผสมผสาน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน

คุณสมพงษ์ เล่าว่า หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย เจ้าของตัดแต่งกิ่งให้ราว 20 เปอร์เซ็นต์ งานตัดแต่งกิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อเก็บผลผลิต แรงงานใช้มือหักปลายกิ่ง

การตัดแต่งกิ่งครั้งต่อมา ดูความเรียบร้อย กิ่งที่ฉีกขาด

หลังตัดแต่งกิ่ง เจ้าของใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 ให้ต้นละ 1 กิโลกรัม

จากนั้นต้นลำไยจะแตกใบอ่อน เจ้าของต้องระวังเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย รวมทั้งแมลงหวี่ขาว การรักษาใบสำคัญอย่างยิ่ง หากใบไม่สมบูรณ์ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

เจ้าของรอให้ลำไยใบแตกออกมา 2 ชุด จึงเริ่มราดสารโพแทสเซียมคลอเรต 1 ครั้ง และพ่นสารโพแทสเซียมคลอเรตและไทโอยูเรียทางใบให้ สารที่ใช้ทุกวันนี้มีความปลอดภัย เพราะเขาผสมและเจือจางมาแล้ว

โดยเฉลี่ยแล้ว หลังเก็บผลผลิตและตัดแต่งกิ่ง หากดูแลดี 3-4 เดือน เจ้าของก็จะราดสารได้

หลังราดสาร 6 เดือน กับอีก 15 วัน จึงเก็บผลผลิตได้ ดังนั้น หากต้องการเก็บผลผลิต วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เจ้าของต้องราดสาร วันที่ 1 สิงหาคม 2560

งานขายผลผลิตของคุณสมพงษ์และคุณสง่า เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนราดสาร ส่วนใหญ่การซื้อขายก็จะเป็นอย่างนี้ พ่อค้าจะตระเวนตามสวน ดูต้นดูใบแล้วก็ตกลงราคาซื้อขายกัน

สิ่งหนึ่งที่สวนแห่งนี้ดูแลรักษาเป็นพิเศษคือ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์เบกรีนให้กับลำไยช่วงติดผลเท่าเมล็ดถั่วเขียว จำนวน 5 กิโลกรัม ต่อต้น

ใช้บันไดเก็บผลผลิต

“สาเหตุที่ไม่ใส่ช่วงแต่งกิ่ง กลัวว่าต้นจะงามเกินไป งามมากจะทำให้ออกดอกยาก” คุณสมพงษ์ บอก

“ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เห็นความแตกต่างชัดเจน ผลผลิตต่อต้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เปลือกลำไยแข็งแรงไม่แตกง่าย รสชาติที่ได้หวาน ปริมาณผลผลิตไซซ์ใหญ่มีมาก สม่ำเสมอ เนื่องจากใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ความอุดมสมบูรณ์ของดินมีเพิ่มขึ้น จึงลดปุ๋ยเคมีลงได้ในฤดูกาลต่อๆ มา…ดินที่ผ่านการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วนซุยขึ้น มีไส้เดือนมาอยู่ ปกติแล้วหายไปนาน… ปีหนึ่งๆ เราใช้ปุ๋ยอินทรีย์ราว 20 ตัน” คุณสง่า เล่า

คุณพัชรินทร์ พรมนิกร ผู้ชำนาญการด้านการตลาด บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยเบกรีน เล่าว่า เครือเบทาโกรทำเกษตรอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร เริ่มตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มที่เป็นระบบปิดเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ผู้บริหารที่เป็นเจ้าของ มีแนวคิดทำอาหารแล้ว ต้องทำครบวงจรเพื่อผู้บริโภค ก็เลยทำปุ๋ยอินทรีย์ยี่ห้อเบกรีนออกมา โดยใช้วัตถุดิบจากเครือเบทาโกรทั้งหมด เริ่มต้นจากขี้ไก่พันธุ์ มูลสุกรที่มีไนโตรเจนสูง มีโรงซุปที่เป็นซุปกระดูกหมู กระดูกไก่ กระดูกที่เหลือนำมาทำปุ๋ยด้วยก็จะเป็นแหล่งของแคลเซียม ฟอสฟอรัส แหล่งวัตถุดิบมีมาตรฐาน เรามีการตรวจสอบคุณภาพทุกถุงที่ออกจากโรงงานก่อนที่จะส่งถึงมือผู้ใช้

คุณเซน ยศปัญญา ผู้แทนขาย บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด เล่าว่า ในไม้ผลมีใช้ปุ๋ยเบกรีนในลำไย ทุเรียน ในภาคตะวันออกและภาคอื่นๆ ช่วงที่นิยมใช้เป็นหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว…ลำไยต้นที่ทรงพุ่ม 3 เมตร ใส่ 3 กิโลกรัม…ลักษณะปุ๋ยเป็นปั้นเม็ด ขนาด 3-5 มิลลิเมตร ข้อดีคือ ใส่กับปุ๋ยเคมีได้ดี ขนาดกระสอบละ 40  กิโลกรัม ไม้ผลอย่างอื่นมีเงาะ มังคุด ปาล์มน้ำมัน พืชผัก ปัจจุบัน แบรนด์ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะโฆษณาในสื่อ เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจนิยมใช้กัน

“จะซื้อใช้ เรามีเพจปุ๋ยอินทรีย์ เบกรีนติดตามความเคลื่อนไหวได้…ตามจังหวัดต่างๆ มีร้านตัวแทนจำหน่าย…ปัจจุบัน โครงสร้างดินแย่ลง ดินเป็นกรด อยากแนะนำปุ๋ยอินทรีย์ อาจจะเป็นของเราหรือทั่วๆ ไป…ปุ๋ยอินทรีย์ที่เราผลิตขึ้นมีธาตุหลัก ธาตุอาหารรองที่จำเป็น” คุณเซน กล่าว

คุณสง่า บอกว่า ก่อนเก็บผลผลิต มีการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตด้วยปุ๋ย สูตร 15-5-20 จำนวน 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น ทั้งนี้ดูปริมาณผลผลิตบนต้นในการตัดสินใจ

 

ต้น 8 ปี ผลผลิต 70-80 กิโลกรัม ต่อต้น

งานผลิตลำไยที่อำเภอโป่งน้ำร้อนและอำเภอสอยดาวทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ผลผลิตมีหมุนเวียนทั้งปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้ สร้างงานทำเงินอย่างต่อเนื่อง นอกจากคนในประเทศมีงานทำแล้ว แรงงานจากต่างชาติก็มีรายได้ดี

อาชีพหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ทำสวนลำไยให้เขาเช่า

บางคนมีสวนเก่า ลำไยต้นสูงใหญ่ ให้คนอื่นเช่าก็มีรายได้ดี

ผลผลิตลำไยในถิ่นนี้ ต้นใหญ่ๆ บางสวนมีผลผลิตมากถึง 500 กิโลกรัม ต่อต้น

ที่สวนคุณสมพงษ์ คุณสง่า ต้นอายุ 8 ปี ผลผลิตที่เก็บได้ครั้งหนึ่ง 70-80 กิโลกรัม ต่อต้น นั่นหมายถึง สร้างรายได้ให้กับเจ้าของ 2,800-3,200 บาท ต่อต้น

ต้นอายุมากขึ้น ผลผลิตก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เจ้าของจะแบ่งพื้นที่การผลิตเป็นแปลงๆ บางแปลง 50 ไร่ บางแปลง 80 ไร่ ทำให้มีงานหมุนเวียน ไม่เร่งรีบเกินไป

เนื่องจากขายผลผลิตล่วงหน้าไปแล้ว การเก็บผลผลิตจึงเป็นหน้าที่ของคนซื้อ วันที่ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณสมพงษ์และคุณสง่า คนซื้อนำแรงงานมาเก็บ จำนวน 130 คน คาดว่าจะเป็นราว 4-5 วัน จำนวนลำไยทั้งสิ้น 80 ตัน

แรงงาน 1 คน เก็บลำไยได้ราว 120 กิโลกรัม ต่อวัน ขั้นตอนการเก็บ ใช้มือหักปลายกิ่งลำไยที่มีผลผลิต จากนั้นคัดใส่ตะกร้าพลาสติก ใส่เบอร์ 1-4 ในตะกร้าเดียวกัน ตกเกรดหรือที่ชาวสวนเรียก “ก๊อกแก๊ก” แยกไปอบแห้ง

ผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของผลผลิต นำลำไยในตะกร้าไปอบฆ่าศัตรูพืช แล้วส่งออกไปต่างประเทศ ดูแล้วขั้นตอนไม่มากนัก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเกษตรกรผู้ปลูกดูแลผลผลิตเริ่มต้นดีนั่นเอง

“เคยขายได้ 80 บาท ต่อกิโลกรัม นานแล้ว บางคนได้ 100 บาท ปีนี้ขายได้ 40 บาท ยังดี ทางภาคอื่นสวยๆ ขายกันกิโลกรัมละ 20 บาท ตั้งแต่ทำมาถือว่า ดีกว่าอย่างอื่น” คุณสง่า บอก

“ผมทำมามาก อย่าง ข้าวโพด มันสำปะหลัง หากแล้งขาดทุน มาทำลำไยดีกว่าอย่างอื่น ที่อื่นหากมีน้ำปลูกได้ ญาติอยู่ลพบุรีทำได้ผล สำคัญที่ขาย สอยดาวคนปลูกมาก มีคนมารับซื้อ ไม่ต้องไปขายที่ไหน” คุณสมพงษ์ ยืนยัน

สอบถามเพิ่มเติมครอบครัวนี้ได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (081) 175-1860 และ (081) 862-5524

สอบถามเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ โทรศัพท์ (02) 833-8684