เจาะลึกอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวและกะทิ กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ “กะทิชาวเกาะ”

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาภายหลังความนิยมบริโภคมะพร้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง เกิดการตื่นตัวอันเป็นผลมาจากเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวสดหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใดก็ตามต่างขายดีกันทั่วหน้า ขณะที่ผู้บริโภคตื่นตัวกันอย่างเต็มพิกัด ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมต้องตื่นตัวตามไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศไปพร้อมกัน

บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด นับเป็นภาคอุตสาหกรรมมะพร้าวขนาดใหญ่ที่มีบทบาทต่อวงการมะพร้าวมาเกือบครึ่งศตวรรษ สะสมความเป็นมืออาชีพด้วยการต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคการค้าขายมะพร้าวกระทั่งสามารถมายืนแถวหน้าในฐานะผู้ประกอบธุรกิจมะพร้าวรายใหญ่ของประเทศมีผลิตภัณฑ์มะพร้าวทุกรูปแบบวางจำหน่ายทั้งใน/ต่างประเทศ

คุณเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด

สำหรับการสัมมนา “มะพร้าว…พืชเศรษฐกิจทำเงิน” ในตอนนี้ได้รับเกียรติจาก คุณเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ “กะทิชาวเกาะ” ที่หลายคนรู้จักดี มาถ่ายทอดประสบการณ์พร้อมแนวทางการบริหารงานในประเด็น อุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวและกะทิ

คุณเกียรติศักดิ์ อยู่ในวงการธุรกิจมะพร้าวมานานกว่า 50 ปี จนถึงปัจจุบันองค์กรแห่งนี้มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกะทิกว่า 200 ชนิด มีวางจำหน่ายทั้งใน/ต่างประเทศ โดยแตกชื่อกลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกะทิชาวเกาะ อำพลฟูดส์ น้ำพริกตราแม่พลอย ฯลฯ

คุณเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับองค์กรนี้ เริ่มต้นจากอาชีพของคุณพ่อ-แม่ที่ขายมะพร้าวเป็นลูกมาก่อน ขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่เป็นคนกลางที่รับผลมะพร้าวมาจากแถวอำเภอทับสะแก บางสะพาน เพื่อนำไปส่งให้แก่ลูกค้ายังจุดหมายต่างๆ

จากร้านขายมะพร้าวดั้งเดิมที่มีชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมมะพร้าว” ตั้งอยู่แถวท่าเตียน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้รถสิบล้อบรรทุกขนส่งร่วมกับทางเรือ ด้วยการดูว่าเป็นมะพร้าวจากแหล่งใด อย่างกรณีถ้ามาจากทางแม่กลอง บางช้าง สมุทรสงคราม ก็จะใช้เรือเป็นพาหนะบรรทุกมะพร้าว หรือถ้าขนมาจากแถวเกาะสมุยจำเป็นต้องจอดไว้แถวท่าเรือทรงวาด เพื่อขนถ่ายเข้ามาอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น ตัวผมเองจึงเติบโตมากับมะพร้าวตั้งแต่เด็ก

นำผลิตภัณฑ์มาออกโชว์ในงานสัมมนามะพร้าว

กิจการของเทพผดุงพรมะพร้าว เริ่มจากกะทิพาสเจอไรซ์เพื่อขายให้แก่ตลาดสดในกรุงเทพฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมได้ 30 วัน ต้องบอกก่อนว่ากว่าจะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปชิ้นแรกนี้เข้าสู่วงการตลาดสดเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ถ้าไม่ได้เริ่มจากฐานการเป็นพ่อค้าตลาดมะพร้าวมาก่อน

ดังนั้น วิธีแรกคือขอนำผลิตภัณฑ์มะพร้าวกล่องไว้ขายที่ร้านมะพร้าวขูดในตลาดสดก่อน ด้วยการแลกกับค่าน้ำแข็งพร้อมถังแช่เย็น ซึ่งคงมีผู้ขายบางรายไม่ยอมแช่จนทำให้สินค้าเน่าเสีย แต่หลังจากนั้นก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี

นอกจากนั้น ยังมีการวางขายให้กับอุตสาหกรรมไอศกรีมโฟร์โมสต์และอีกหลายราย ต่อจากนั้นเริ่มมีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการผลิตเป็นกะทิกระป๋องที่เป็นระบบสเตอริไลซ์ที่อุณหภูมิ 116 องศา เป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งส่งขายต่างประเทศกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยมีกำลังการผลิต 3-4 แสนกระป๋อง ต่อวัน และมีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก พร้อมกับมียอดสั่งซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีอายุเก็บได้นานถึง 3 ปีตามคำแนะนำ โดยไม่ใส่วัตถุกันเสีย

จากนั้นก็เริ่มผลิตกะทิผงที่มีลักษณะเป็นแป้ง โดยเวลานำมาใช้จะต้องละลายน้ำก่อน ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีเจตนาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคจากที่ใช้คอฟฟี่เมตใส่ในกาแฟก็ให้เปลี่ยนมาเป็นใช้กะทิผงแทน เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า

กะทิผง

ผลิตภัณฑ์ต่อมาเป็นกะทิยูเฮชทีที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยการใช้ความร้อนสูงถึง 130 องศา แล้วใช้เวลาฆ่าเชื้อเพียง 20 วินาที และผ่านการบรรจุในภาชนะที่ปลอดเชื้อทุกขั้นตอน แล้วยังไม่ใส่วัตถุกันเสีย สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 1 ปีครึ่ง

จวบจนเวลาผ่านไปทำให้ต้องคิดถึงความรวดเร็วให้มากขึ้น จึงได้คิดค้นเป็นกะทิดื่มแล้วเป็นวิธีที่ทางจีนดื่มกันเป็นประจำ โดยคนจีนไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติมะพร้าวน้ำหอม แล้วก็มีความเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำมะพร้าวมาตลอด จนกระทั่งเมื่อได้มีโอกาสดื่มน้ำมะพร้าวของจริงที่ส่งมาจากเมืองไทย หรือมีชาวจีนมาเที่ยวเมืองไทยแล้วได้ลองดื่มน้ำมะพร้าว ดังนั้น ทางบริษัทจึงออกผลิตภัณฑ์เป็นน้ำกะทิดื่มไขมันต่ำ 2 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังต่อยอดด้วยการปรับมาใส่มะม่วงหรือทุเรียน ไว้ในน้ำกะทิดื่ม ทั้งนี้ เพื่อสร้างทางเลือกให้ลูกค้า

ในส่วนของขนมก็มีผลิตภัณฑ์ Coconut Chip หรือมะพร้าวอบกรอบด้วยการนำเนื้อมะพร้าวมาสไลซ์เป็นแผ่นแล้วนำไปอบแห้งแต่ไม่ได้ทอด ใช้วิธีอบด้วยความร้อน เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีให้เลือกหลายรสเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มที่นิยมรับประทานขนมขบเคี้ยวแล้วต้องการให้มีความปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย

มะพร้าวอบกรอบ

นอกจากนั้น ทางบริษัทยังได้ผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ซึ่งได้รับความสนใจจากทางประเทศญี่ปุ่นมาก ทั้งนี้ คนญี่ปุ่นทราบดีว่าน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นมีคุณสมบัติที่ช่วยชะลอการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ในผู้สูงอายุ แล้วยังพบว่ามีคุณสมบัติช่วยในเรื่องโรคหัวใจ ช่วยในเรื่องการควบคุมน้ำหนัก แล้วอีกหลายอย่างของงานวิจัยที่มีออกมา

อย่างไรก็ตาม ยังได้ผลิตน้ำมะพร้าวในรูปกล่องยูเฮชที ขวดพีพี หรือเป็นชนิดกระป๋อง เพราะที่ผ่านมาปรากฏว่าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ความห่วงใยในเรื่องสุขภาพ สำหรับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ส่งขายต่างประเทศมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วยังมีวุ้นมะพร้าวที่ใช้น้ำมะพร้าวมาเลี้ยงด้วยยีสต์ เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศที่มองเห็นว่ามีความสำคัญต่อสุขภาพ อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีที่ไปไกลด้วยการนำมาผลิตเป็นครีมทาหน้าของสุภาพสตรีแล้ว

มะพร้าวและขนุนในน้ำเชื่อม(ขวา)น้ำมะพร้าว

อีกส่วนหนึ่งคือกาก ที่เหลือจากการคั้นกะทิก็สามารถนำไปขายเป็นมะพร้าวอบแห้งที่เป็นฝอย โดยต่างประเทศนำไปใช้โรยหน้าขนมเค้กและขนมอีกหลายชนิด เพราะถือเป็น Low Fat ที่มีไขมันต่ำ โดยผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มีตลาดหลักคือที่ฟิลิปปินส์ แต่เป็น High Fat ที่มีไขมันถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับของเทพผดุงพร มะพร้าวมีไขมันเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สำหรับส่วนที่เป็นสิ่งที่เหลือสุดท้ายคือกากมะพร้าวสีดำที่มาจากเปลือกมะพร้าว ทางบริษัทไม่มีการทิ้งให้เสียเปล่าแต่จะนำไปอบแห้งเพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำมันดิบแล้วส่งให้แก่โรงงานน้ำมันพืชเพื่อนำไปผ่านกระบวนการ Cooking Oil ที่เป็นน้ำมันสีเหลือง แล้วต่างจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่เป็นสีขาวใส เนื่องจากไม่ได้ผ่านความร้อน

หรือแม้กระทั่งกากมะพร้าวที่เสียแล้วยังนำไปขายเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีก เพราะรีดไขมันหมดแล้วจึงเหลือเฉพาะความเป็นโปรตีนที่มีประโยชน์กับสัตว์ จึงเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นการผลิตมะพร้าวที่สามารถใช้ได้ทั้งหมดทุกส่วนโดยไม่มีการทิ้งให้เสียเปล่าแม้แต่สักอย่างเดียว

ยังคงมีบางท่านสงสัยว่าแล้วกะลานำไปทำอะไร ต้องบอกว่าความจริงกะลามีมูลค่ามากกว่าส่วนอื่น แต่ที่โรงงานยังไม่มีจำนวนกะลามากพอที่จะนำกะลาไปเผาเป็นถ่านเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเครื่องกรองน้ำ เครื่องดูดสี/กลิ่นได้อย่างดี อย่างไรก็ตามมี การซื้อ-ขายกะลามะพร้าวกันถึงราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท ดังนั้น ในตอนนี้ที่โรงงานจึงใช้เป็นเพียงเชื้อเพลิงแทน ก็ช่วยประหยัดต้นทุนไปได้ส่วนหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้านบาทต่อเดือน

ในส่วนของกะทิชาวเกาะที่ดูแลเรื่องมะพร้าวแก่ได้เริ่มจากการผลิตเป็นน้ำกะทิที่ใช้มะพร้าววันละพันกว่าลูก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 50 ปี มีจำนวนการใช้มะพร้าวเพิ่มขึ้นถึงวันละ 6-7 แสนลูกเป็นอย่างต่ำ ทั้งนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะความต้องการบริโภคกะทิทั่วโลกมีมากขึ้น ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงคุณค่าของกะทิที่มีต่อสุขภาพ

อย่างคราวแรกที่ไปเปิดตลาดจะต้องหิ้วกะทิกระป๋องขึ้นเครื่องไปอเมริกาเพื่อให้ร้านอาหารไทยๆ ได้ลองใช้ เพราะสมัยนั้นในต่างประเทศใช้นมปรุงอาหาร จนกระทั่งเมื่อได้รับการยอมรับบรรดาร้านอาหารเหล่านั้นจึงไปบอกผู้นำเข้าให้สั่งกะทิมาใช้กับร้านอาหารไทย

ภายหลังจากนั้นตลาดก็ยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะการใช้กะทิปรุงอาหารแทนนมจะช่วยทำให้อาหารไทยมีกลิ่นหอม และรสชาติดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากฐานการปรุงอาหารไทยก็มาจากวัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรหลายอย่าง ดังนั้น การใช้มะพร้าวที่เป็นผลไม้มาปรุงกับวัตถุดิบจากสมุนไพรก็เลยทำให้รสชาติอาหารมีความหอมมันมากยิ่งขึ้น จนทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติเกิดความหลงใหลในอาหารไทย

จากจุดนั้นจึงทำให้ร้านอาหารไทยที่มีอยู่จำนวนเกือบ 2 หมื่นแห่งทั่วโลกนำกะทิไปใช้ปรุงอาหารสร้างความชื่นชอบให้แก่ลูกค้าในแต่ละประเทศ ขณะเดียวกัน เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนในไทยก็ได้มีโอกาสมาสัมผัสลองลิ้มชิมรสน้ำมะพร้าวของจริง พร้อมกับอาหารไทยที่ใช้กะทิสดปรุง ทำให้ยิ่งติดใจในรสชาติจนเมื่อกลับไปประเทศตัวเองยังติดใจ พยายามหาอาหารไทยที่ใช้กะทิปรุงมากขึ้น

หลายปีก่อนผมเคยคิดว่ายังไงราคามะพร้าวก็ไม่มีทางต่ำกว่าลูกละ 10 บาท เพราะอย่างที่ประเทศอินโดนีเซียที่มีจำนวนมะพร้าวมากที่สุดในแถบอาเซียนยังเก็บขายจากสวนลูกละ 5-6 บาท แล้วกว่าจะเดินทางเข้ามาในไทยก็ปรับเป็นลูกละ 10 บาทแล้ว อีกทั้งยังมีบางลูกเน่าเสีย

ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วทำไมราคามะพร้าวที่อยู่ในประเทศจะมีราคาต่ำกว่าลูกละ 10 บาท โดยเฉพาะในช่วงอาฟต้า (AFTA) ที่อยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม จำนวน 7 เดือน และเป็นช่วงที่ปริมาณมะพร้าวในไทยขาดและสามารถนำเข้ามะพร้าวได้โดยไม่เสียภาษี แต่พอหลังจากเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ถ้ามีการนำมะพร้าวเข้ามาจะต้องเสียภาษีสูงถึง 54 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภายในประเทศมีมะพร้าวมากกว่า จึงเป็นเหตุผลทำให้รัฐบาลต้องมีการคุ้มครอง

ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จำนวน 4.5 แสนไร่ที่ใช้ปลูกมะพร้าว ซึ่งในทุก 1 ไร่ สามารถปลูกได้จำนวน 20-25 ต้น ฉะนั้น แค่เพียงได้ผลผลิต 7-8 ลูก ต่อครั้ง แล้วแต่ละปีสามารถเก็บได้ถึงหลายสิบล้านลูก ทั้งนี้ ยังไม่นับพื้นที่ปลูกแหล่งอื่นๆ อีกหลายแห่ง ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าถ้านับจำนวนรวมแล้วคงไม่จำเป็นต้องสั่งนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ แต่อาจเกิดจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

ภายหลังที่เกิดโรคระบาดขึ้น พร้อมกับเจอสภาพอากาศที่แปรปวนจึงทำให้เป็นเหตุผลที่เกษตรกรเลิกปลูกมะพร้าวแล้วหันไปปลูกยางพาราและปาล์มเพิ่มขึ้น จึงทำให้ตอนนี้เหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าวไม่มาก

จากประสบการณ์ทำธุรกิจต้องบอกว่าลูกค้าต้องการสินค้าจากประเทศไทยเท่านั้น ประเทศไทยนับเป็นแห่งแรกที่ผลิตกะทิไปพร้อมกับการส่งออกด้วย เพราะฉะนั้น แผนการตลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการวางแผนจากประเทศไทยทั้งนั้น ดังนั้น หากไทยไม่มีการพัฒนาคุณภาพมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้คู่แข่งทางการค้าเข้ามาแย่งตลาดได้ทันที

“ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้กะทิชาวเกาะมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานคุณภาพอยู่ตลอดเวลา แม้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อรักษาคุณภาพก็ต้องยอมเพราะไม่ต้องการให้สูญเสียตลาดไป จึงสรุปได้ว่าสำหรับตลาดมะพร้าวแกงยังมีความสดใสแล้วยังมีโอกาสเติบโตอีกยาวนาน” คุณเกียรติศักดิ์ กล่าว

นับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่ภาคเอกชนได้เข้ามาผลักดันให้คนทั่วโลกรู้จักผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวจนทำให้เกิดการขับเคลื่อนอาชีพเกษตรกรรมต่างๆ ตามมา สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนไทย