มังคุด คุณภาพดี อยู่ที่การจัดการ

ช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงฤดูกาลที่ผลไม้ภาคตะวันออกยกขบวนกันเข้าสู่ตลาดให้ซื้อมารับประทานกันเป็นประจำทุกปี ผลไม้ในที่นี้หมายถึง ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มผู้บริโภคว่า ผลไม้ตะวันออกขึ้นชื่อเรื่องของรสดีและคุณภาพดี

ซึ่งผลไม้ทุกผลของชาวสวนตะวันออก ผ่านการปฏิบัติดูแลรักษากันมาอย่างดี มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ผสมผสานกับความเชี่ยวชาญชำนาญการของเกษตรกร ร่วมกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้ผลไม้ภาคตะวันออกเป็นที่ตั้งตารอของผู้บริโภค

มังคุด เป็นไม้ผลเมืองร้อน ผลกลมๆ มีสีม่วงๆ มีเนื้อนุ่มสีขาวๆ รสชาติหวานซ่อนเปรี้ยว และมีขั้วผลคล้ายมงกุฎ จึงได้รับฉายาว่า “Queen of Fruits” ปลูกกันมากในภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยมีถิ่นกำเนิดจากหมู่เกาะซันดา (Sunda Island) ซึ่งเป็นหมู่เกาะเล็กๆ แถบมาลายู ผลผลิตมังคุดจะเริ่มให้ผล ในปีที่ 7 ซึ่งผลผลิตต่อต้นในระยะแรกจะต่ำ และสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมังคุดมีอายุ 13-20 ปี จะเป็นช่วงที่ให้ผลผลิตต่อต้นสูงสุด แหล่งผลิตมังคุดที่สำคัญของภาคตะวันออก อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง

ว่าด้วยเรื่อง มังคุดภาคตะวันออก

คุณชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวเปิดประเด็นถึงมังคุดภาคตะวันออกว่า มังคุดภาคตะวันออกมีพื้นที่ปลูกรวม 3 จังหวัด มากกว่า 190,000 ไร่ จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือประมาณ ร้อยละ 60 ของพื้นที่ปลูกมังคุด โดยมีผลผลิตรวมมากกว่า 120,000 ตัน ต่อปี โดยผลผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ประมาณ ร้อยละ 55-60 บริโภคภายในประเทศ ร้อยละ 30-35 และการแปรรูปประมาณร้อยละ 5-10

คุณชาตรี บุญนาค

โดยที่ลักษณะมังคุดที่ตลาดต่างประเทศต้องการคือ ผลขนาดใหญ่ โดยมีขนาดตั้งแต่ 100 กรัม ขึ้นไป หรือประมาณ 8-10 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม ผิวของผลสะอาด ไม่มีร่องรอยของการทำลายด้วยโรคและแมลง มีผิวนวลตามธรรมชาติ เปลือกของผลมีความหนาปานกลาง ไม่แข็ง เนื้อภายในมีสีขาวน่ารับประทาน ไม่มีอาการยางไหลที่เปลือกและไม่มีอาการเนื้อแก้วหรือเนื้อเน่าช้ำ

สถานการณ์ปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อมังคุดคุณภาพ ได้แก่
1. ผลมีขนาดเล็ก น้อยกว่า 7 กรัม ต่อผล เหมาะสำหรับการบริโภคภายในประเทศ เพราะมีเมล็ดน้อย
2. ผิวของผลแตก มียางไหลทั้งภายนอกและภายในผล
3. เป็นเนื้อแก้ว มีอาการเนื้อภายในผลช้ำ
4. เปลือกแข็ง และภายในเน่าเสีย

มังคุดเนื้อแก้วยางไหล เป็นปัญหาสำคัญที่ปัจจัยสาเหตุหลักเกิดจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ซึ่งยากต่อการควบคุม เนื้อแก้วยางไหลในมังคุด ไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันในช่วงการเก็บเกี่ยวหรือก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน เกิดจากการได้รับน้ำมากเกินไป จากสาเหตุฝนตกหนักเป็นปัจจัยหลัก จากปริมาณน้ำที่มากเกินไป ทำให้ต้นมังคุดดูดน้ำไปมากเกินไปด้วย ทำให้เซลล์เปลือกมังคุดแตก จนมีอาการยางไหล และเนื้อสีขาวเกิดอาการชุ่มน้ำจัด จึงเรียกกันว่า เนื้อแก้ว

สำหรับขนาดผลที่เล็กเกิดจากการที่เกษตรกรไว้จำนวนผลต่อต้นมากเกินไป ร่วมกับการจัดการไม่ดี ส่วนเปลือกแข็ง ส่วนใหญ่เกิดจากการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่ถูกต้อง

การจัดการเพื่อมังคุดคุณภาพของสวนปิยารมณ์

คุณปรีชา ปิยารมณ์ เกษตรกรชาวสวนมังคุดจังหวัดจันทบุรี ปลูกในเนื้อที่ 20 ไร่ ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ต้นมีอายุ 46 ปี ลุงปรีชาเป็นผู้ที่คร่ำหวอดกับมังคุดมานานหลายสิบปี ปัจจุบัน อายุ 82 ปี ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ที่สวนมีการผลิตมังคุดคุณภาพ ได้ร้อยละ 70 และพบปัญหามังคุดเนื้อยางไหลถึงร้อยละ 20 ผลแตก ร้อยละ 20 จึงได้ดำเนินการจัดการสวนมังคุดใหม่เพื่อแก้ปัญหา จนปัจจุบัน ที่สวนสามารถผลิตมังคุดได้ถึงร้อยละ 80 พบเนื้อแก้วยางไหล ร้อยละ 5 และผลแตก ร้อยละ 5

หัวใจของการผลิตมังคุดคุณภาพ คือ การตัดแต่งกิ่ง การจัดการสภาวะในสวน และการควบคุมคุณภาพผลผลิต เช่น การจัดการน้ำ การจัดให้ตรงกับความต้องการของมังคุด

ปี 2559 ผลผลิตมังคุด เฉลี่ยของสวน 800 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาขาย เฉลี่ย 52 บาท ต่อกิโลกรัม

ปี 2560 ผลผลิตมังคุด เฉลี่ยของสวน 900 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาขาย เฉลี่ย 59-60 บาท ต่อกิโลกรัม โดยผลผลิต ร้อยละ 30 ขายเฉลี่ยที่ 80 บาท ต่อกิโลกรัม

ปี 2561 ตั้งเป้าผลผลิต เฉลี่ยมังคุด 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ และน้ำหนักผล 7-10 ผล ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตมังคุด ประมาณ 18 บาท ต่อกิโลกรัม

เกษตรกรสนใจมาก

การตัดแต่งกิ่ง

จะเป็นการตัดแต่งแบบเปิดหน้าต่างด้านบนของทรงพุ่ม ให้แสงแดดส่องลอดเข้าไปในลำต้นได้ และตัดปลายกิ่งนอกทรงพุ่มออก พร้อมกับควบคุมความสูงโดยการตัดยอดมังคุด ให้ต้นมีความสูงประมาณ 4-5 เมตร เพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว ตัดแต่งประมาณ 2 ปี ต่อครั้ง เพื่อควบคุมทรงพุ่ม ควบคุมปริมาณผลผลิตและทำให้ผลติดในทรงพุ่มมากกว่า โดยจะตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว

การจัดการสภาวะในสวน

การจัดการสภาพสวนให้เหมาะสมไม่ให้รับแสงแดดมากเกินไป โดยจะปลูกต้นทองหลางควบคู่กับมังคุด ทองหลางเป็นพืชพี่เลี้ยงที่มีหน้าที่ในการบังร่ม บังลม และช่วยสร้างธาตุอาหาร ช่วยหาอาหาร สร้างปุ๋ยได้ เนื่องจากที่ปมรากสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ราก ลำต้น ใบ ดอกทองหลางเป็นปุ๋ยให้กับมังคุด และดูดซึมน้ำในดินไว้เลี้ยงลำต้น นอกจากนี้ มังคุด ที่ปลูกร่วมกับทองหลางไม่พบเพลี้ยไฟเข้ามาทำลายอีกด้วย

ต้นทองหลาง ขึ้นอยู่ข้างหลังต้นมังคุด

วิธีการควบคุมคุณภาพ

1. การจัดการน้ำเพื่อควบคุมปริมาณดอก หลังงดน้ำช่วงเตรียมการเพื่อการออกดอก (พบมีร่องเหี่ยวที่ข้อใบ จำนวน 4 ร่อง ของ 1 ข้อใบ) ให้น้ำครั้งแรก 1 ครั้ง รอจนพบว่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีดอกออกมา จำนวน 5 ดอก จึงเริ่มให้น้ำครั้งที่ 2 จำนวน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ยอดที่เหลือแตกเป็นใบอ่อน (ในกรณีที่ดอกออกไม่ถึง 5 ดอก ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ให้โชยน้ำช่วย ประมาณ 1 ชั่วโมง เว้น 4-5 วัน จนดอกออกครบ 5 ดอก) เพื่อให้มังคุดมีปริมาณดอกหรือประมาณร้อยละ 30-40 ดอก ต่อต้น การให้น้ำมังคุดปกติ 600 ลิตร (1 ชั่วโมง) ต่อวันเว้นสองวัน มังคุดดินทราย แห้งเร็ว ออกดอกง่าย ที่สวนนี้ไม่กวาดหรือคราดโคน เนื่องจากเปลืองต้นทุนค่าแรง และทำให้ระบบนิเวศเสียหาย

คนมาดูงาน สวนคุณปรีชา ปิยารมณ์

2. การใส่ปุ๋ย
– ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เคมี สูตร 6-12-12 ทุก 20 วัน ครั้งละ 1 กิโลกรัม ต่อต้น ใส่ตลอดฤดูกาล โดยเว้นช่วงตั้งแต่ก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน จนถึงช่วงเก็บเกี่ยว และสูตร 10-5-10 ใส่หลังเก็บเกี่ยว (เตรียมต้น) จำนวน 2 ครั้ง
– หลังเก็บเกี่ยว ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน ร่วมกับไธโอยูเรีย (ใช้ครั้งเดียว) อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร พร้อมสาหร่ายและน้ำตาลทางด่วน

3. การจัดการเพื่อลดอาการมังคุดเนื้อแก้วยางไหล
– ฉีดพ่นแคลเซียมและโบรอนทางใบ ในระยะดอกเริ่มบานจนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ฉีดพ่นทุกๆ 10 วัน (ประมาณ 3 เดือน) อัตราตามฉลาก หรือ 100 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร (ธาตุโบรอน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนำพาแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ได้ดียิ่งขึ้น มังคุดมีความต้องการน้อยแต่ขาดไม่ได้ และทำให้เนื้อมีคุณภาพดี)
– ใส่ปูนโดโลไมท์ ปีละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 5 กิโลกรัม ต่อต้น (จากค่า pH 4 ปัจจุบันเป็น 6 ในระยะเวลา 5 ปี มังคุดดูดอาหารได้ดีขึ้น) โดยวิธีการหว่าน ถ้าเป็นฤดูฝนหว่านทั้งแปลง ฤดูแล้งหว่านเฉพาะทรงพุ่ม
อาการเนื้อแก้วยางไหล เกิดจากปัจจัยสาเหตุคือ มังคุดได้รับน้ำกะทันหัน หรือมีฝนตกชุกช่วงก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน หรือ สัปดาห์ที่ 12-13 หลังดอกบาน ซึ่งหลักการในการแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือ การทำให้มังคุดติดดอกออกผลเร็วขึ้น

อายุมาก ยังให้ผลผลิตดีอยู่

ทิ้งท้าย…จาก ลุงปรีชา
“การปลูกทองหลาง เป็นไม้พี่เลี้ยง ทำให้มังคุดใบใหญ่และผลใหญ่มากขึ้น และนอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหามังคุดผิวลายจากการทำลายของเพลี้ยไฟ เนื่องจากใบทองหลางคายน้ำเร็ว ทำให้ช่วยเพิ่มความชื้นในสวนให้สูงขึ้น ทำให้ลดการระบาดของเพลี้ยไฟได้”

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปรีชา ปิยารมณ์ ตำบลพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โทร. (081) 860-2491 หรือ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี โทร. (039) 322-158 และที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง โทร. (038) 611-578