เฉลิมพล ทัศมากร@สวนสมโภชน์เกาะช้าง เกษตรไลฟ์สไตล์ คิดเอง ทำเอง ใช้เอง

ภาพในอดีตที่เกษตรกรทำการเกษตรด้วยความยากลำบาก ใช้แรงงาน มีรายได้น้อย ทำให้อาชีพเกษตรกรรมอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดิน ทว่าย้อนหลังไป 4-5 ปี เกษตรกรได้พัฒนาตัวเอง รวมทั้งมีเกษตรกรรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้ปรับเปลี่ยนอาชีพหันมาทำเกษตรกรรรม นำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาบริหารจัดการต้นทุน พัฒนาผลผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และด้านการตลาด ทำให้ภาพของเกษตรกรยุคใหม่เปลี่ยนไป เป็นเกษตรกรมีองค์ความรู้ คิดเครื่องมือนวัตกรรมที่ช่วยในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน หาช่องทางการตลาดได้กว้างขวาง ทำให้เกษตรกรรมยุคใหม่ไม่ต้องใช้แรงงานหนักอีกต่อไป และมีรายได้ดีไม่แพ้อาชีพอื่นๆ หรือมากกว่า

 

เฉลิมพล ทัศมากร ทิ้งเงินเดือน กลับบ้านทำสวนทุเรียน

คุณเฉลิมพล ทัศมากร หรือ “ต่าย” อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 49/2 หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เรียน ปวช. ปวส. สาขาช่างยนต์ และจบปริญญาตรี สาขาการจัดการอุตสาหกรรรม มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2551 จากนั้นไปทำงานบริษัทที่รับโปรเจ็กต์ไซต์ รับเหมางานก่อสร้างในนิคมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้ 1 ปี และย้ายมาทำงาน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ บริษัท ซี.พี. ที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ทำอยู่ 10 ปี ตำแหน่งสุดท้าย หัวหน้าแผนกคลังสินค้า ปี 2559 ตัดสินใจลาออก กลับบ้านเกิดช่วยพ่อแม่ทำสวนทุเรียนที่เกาะช้าง ชื่อ “สวนสมโภชน์”

คุณเฉลิมพล เล่าว่า ตั้งแต่เด็กๆ เห็นว่าการทำสวนเป็นงานหนัก เหนื่อย รายได้น้อย ภาพที่เห็นชินตาคือพ่อแม่ใช้แรงงานการผลิต ปลูก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวผล ตอนเรียน ปวช. ปวส. เลือกเรียนสาขาช่างยนต์เพราะชอบมอเตอร์ไซค์ ไม่ได้คิดจะเรียนแล้วกลับมาทำสวนหรือมีเป้าหมายจะทำอาชีพอะไร เรียนจบแล้วทำงานบริษัท 2 แห่ง ยังคงไม่ได้ใช้วิชาช่างยนต์ หรือการจัดการอุตสาหกรรมประกอบอาชีพโดยตรง ช่วงที่ทำงาน บริษัท ซี.พี. เป็นหัวหน้าแผนกคลังสินค้า ได้รับเงินเดือนค่อนข้างสูง แต่งานรับผิดชอบก็สูงตามไปด้วย ต้องดูแลการขนส่งสินค้าส่งออกตลาดต่างประเทศให้เรียบร้อย ช่วงหนึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ บริษัทต้องปรับลดพนักงานบางแผนก แม้จะไม่กระทบถึงตำแหน่งงานที่ทำอยู่ แต่เกิดความคิดว่าอนาคตต้องกลับบ้านไปทำสวนต่อจากพ่อแม่ เพราะเป็นลูกชายคนโต (มีน้องสาว 2 คน ทำงานบริษัทเอกชน ที่จังหวัดระยอง) ถ้ากลับมาเร็วเท่าไร จะทำให้มีเวลา มีเรี่ยวแรงทำสวน และได้อยู่ดูแลพ่อแม่ด้วย เมื่อปี 2559 จึงตัดสินใจหันหลังให้มนุษย์เงินเดือน ลาออกจากงานบริษัทกลับมาทำสวน

 

เกษตรไลฟ์สไตล์ คิดเอง ทำเอง ใช้เอง

3 โปรเจ็กต์ ลดต้นทุน แก้ปัญหาแรงงาน

คุณเฉลิมพล เล่าว่า สวนสมโภชน์เกาะช้าง มีพื้นที่ทำสวนทุเรียน 8 ไร่ สวนยาง 4 ไร่ สวนทุเรียนจะปลูกพืช ผลไม้อื่นๆ แซมด้วยเล็กน้อย เช่น เงาะ ลองกอง มังคุด มะยงชิด มะปราง มะปริง มะม่วง กล้วยหอมทอง เมื่อเริ่มต้นชีวิตเป็นเกษตรกรอย่างไม่มีองค์ความรู้ คิดว่าจะใช้เวลาค่อยๆ เรียนรู้ประสบการณ์จากพ่อแม่ แต่เมื่อเข้าไปช่วยงานในสวนพบปัญหาต่างๆ จากการบริหารจัดการ กระบวนการทำงาน เช่น ต้นทุนการผลิต การใช้แรงงานให้น้ำ ให้ปุ๋ย การพ่นยา แม้กระทั่งปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงใช้ความรู้พื้นฐานที่เรียนมาบวกกับประสบการณ์จากการทำงาน คิดสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือเครื่องมือช่วยในการทำงานแทนแรงงาน และช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัดต้นทุนการผลิต ช่วงระยะเวลา 1 ปีเศษ ได้คิดสร้างนวัตกรรมใช้งานในสวน ตามไลฟ์สไตล์เกษตรกรยุคใหม่ คิดเอง ทำเอง ใช้เอง 3 โปรเจ็กต์ คือ ชุดล่อแมลงพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องพ่นสารชีวภาพและให้ปุ๋ยทางใบ และการให้น้ำ-ปุ๋ย ผ่านสมาร์ทโฟน

 

ชุดล่อแมลงพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งเวลาทำงานได้

คุณเฉลิมพล เล่าว่า ชุดล่อแมลงพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นงานโปรเจ็กต์แรก ที่เริ่มต้นใช้ชีวิตเกษตรกรในสวนของครอบครัว โดยคิดประยุกต์ทำชุดล่อแมลงประยุกต์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนพลังงานไฟฟ้าโดยติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ ขนาด 50 วัตต์ ตั้งเวลาปิด-เปิด เครื่องให้ใช้งานเฉพาะช่วงเวลาที่แมลงออกหากิน ไม่ต้องเปิดทิ้งไว้ทั้งคืน และเป็นแบบโมบายเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่างๆ ได้ ทำให้ประหยัดต้นทุน ไม่สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า สะดวกต่อการใช้งานในหัวไร่ปลายนาที่ไม่ต้องเดินสายไฟฟ้าไกลๆ และแผงโซล่าร์เซลล์นี้อายุการใช้งานได้นาน 20-25 ปี

“อุปกรณ์ที่ใช้ทำไม่ยุ่งยาก สามารถติดตั้งเองได้ และต้นทุนไม่สูง เช่น แผงโซล่าร์เซลล์ ขนาด 50 วัตต์ หลอดไฟแบล็คไลท์ที่ล่อแมลง พัดลมดูดแมลง ถุงผ้าใส่แมลง แบตเตอรี่เก็บประจุไฟ โครงเหล็กที่ใช้ติดตั้ง ที่สำคัญต้องเข้าใจการทำงานของระบบไฟฟ้า คือการติดตั้งกล่องคอนโทรลระบบการทำงานของไฟฟ้า มีคอนโทรลชาร์จเจอร์ ควบคุมการชาร์จไฟจากแผงโซล่าร์เซลล์เข้าแบตเตอรี่ อินเวอร์เตอร์แปลงไฟกระแสสลับเป็นกระแสตรง ทั้งหมดต่อพ่วงกับไทม์เมอร์ (เครื่องตั้งเวลา เปิด-ปิด) และที่สำคัญต้องมีการศึกษาข้อมูลช่วงแมลงที่จะออกมาหากิน พื้นที่ที่มีแมลงจำนวนมาก เพื่อที่เคลื่อนย้ายเครื่องไปตั้งตามจุดต่างๆ และตั้งโปรแกรมเวลาใช้งานอัตโนมัติ 2 ช่วง ทุกวัน คือ เช้ามืด 05.00-06.30 น. และกลางคืน 19.00-21.30 น. ทุกวัน” คุณเฉลิมพล กล่าว

ระบบพ่นหมอกแบบไทม์เมอร์หรือตั้งเวลา ลดการสูญเสียปุ๋ย ทดแทนแรงงานคน  

คุณเฉลิมพล เล่าว่า เครื่องมือชุดนี้ระบบการทำงานแบบไทม์เมอร์ ใช้วิธีกดปุ่มเดียวทำงานได้จนจบ ใช้ติดตั้งกับสวนทุเรียน บนต้นทุเรียน คิดทำขึ้นใช้พ่นสารชีวภาพและให้ปุ๋ยทางใบ เพื่อช่วยลดต้นทุนจากปริมาณการใช้ปุ๋ยและสารชีวภาพ และแก้ปัญหาแรงงานหายาก แต่เมื่อติดตั้งการใช้งานไปแล้วด้วยสภาพที่เป็นสวนมีพืชอื่นๆ แซมด้วย การฉีดพ่นที่กระจายได้ทั่วถึงทั้งสวน นอกจากทำให้ต้นทุเรียนได้รับปุ๋ยแล้ว พืชอื่นๆ ที่ปลูกแซมไว้ได้ผลพวงเพิ่มความสมบูรณ์ และในฤดูร้อนช่วยลดอุณหภูมิและลดการระบาดของไรแดงด้วย ซึ่งการจัดทำระบบพ่นหมอกให้ปุ๋ย สารชีวภาพทางใบนี้ ใช้อุปกรณ์ที่ใช้งานในสวนทั่วไปมาประยุกต์ขึ้นใหม่ให้เหมาะกับการใช้งาน ระบบการทำงานมีอุปกรณ์ที่สำคัญๆ คือ กล่องควบคุมระบบพ่นหมอก ประกอบด้วย

ที่ต้องติดตั้ง 5 ส่วน คือ

  1. 1. ออกแบบติดตั้งหัวพ่นหมอกบนต้นทุเรียนให้เหมาะกับขนาดพุ่มแต่ละต้น
  2. 2. เบรกเกอร์ปิด-เปิด ไทม์เมอร์ตั้งเวลา กล่องอแมคเนติก และโอเวอร์โลด
  3. 3. เครื่องปั๊มน้ำ 3 สูบ (ใช้เครื่อพ่นยา 3 สูบ มาประยุกต์)
  4. 4. ถังบรรจุน้ำ ขนาด 200 ลิตร ต่อเข้ากับเครื่องปั๊มน้ำ และต่อกับวาล์วที่ปิด-เปิด ที่นำน้ำปุ๋ยจากถังผ่านท่อไปพ่นหมอก และ
  5. 5. การจัดทำแผนผัง (Lay Out) แบ่งโซนการใช้ระบบเครื่องพ่นหมอกในสวนทุเรียน ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือนี้ต้องใช้เวลาออกแบบ ประดิษฐ์และทดลองการใช้งานได้จริง ก่อนที่จะติดตั้งทั้งแปลงต้องคำนวณการใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสั่งซื้อและนำมาประยุกต์ดัดแปลงประกอบด้วยตัวเอง

“การใช้ระบบพ่นหมอกให้ปุ๋ยทางใบ ตั้งเวลา แถวละ 10 นาที สลับหยุด 10 นาที จะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยทางน้ำได้ครึ่งหนึ่ง จากแปลงที่ใช้งานในสวนถ้าใช้เครื่องพ่นยาจะใช้ปุ๋ยน้ำถึง 400 ลิตร ใช้คนงาน 2 คน ใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ใช้ระบบพ่นหมอก ใช้ปุ๋ยน้ำ 200 ลิตร และใช้เวลาเพียง 20 นาที โดยที่สามารถตั้งเวลาทำงานอัติโนมัติ ช่วยลดต้นทุนทั้งค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน และประหยัดเวลา และการพ่นด้วยเครื่องจะเป็นฝอยเป็นละอองมากกว่า และลดการสูญเสียระหว่างการย้ายต้นพ่น และช่วยทำให้เกิดความชุ่มชื้นกับพืชที่ปลูกแซมทั่วสวน ที่สำคัญเกษตรกรไม่ต้องสัมผัสกับสารพิษต่างๆ เพราะปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ที่สวนสมโภชน์มีเป้าหมายที่จะทำสวนอินทรีย์ ตอนนี้เราลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ 30% แล้วเป้าหมายคือ 100% อีก 5 ปีข้างหน้า” คุณเฉลิมพล กล่าว

ไฮไลต์ โปรเจ็กต์การให้น้ำ-ปุ๋ย ผ่านสมาร์ทโฟน

คุณเฉลิมพล กล่าวว่า โปรเจ็กต์การให้น้ำ-ปุ๋ย ผ่านสมาร์ทโฟน เป็นโจทย์ที่ต้องใช้เวลาคิด ทำ ทดลองกว่า 1 ปีเศษ เพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2560 นี้เอง ด้วยปัญหาการเสียเวลารอรดน้ำในสวนทุเรียนด้วยสปริงเกลอร์แต่ละแถวต้องใช้เวลานาน 30 นาที จึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร หรือมีระบบรดน้ำแบบไหนบ้างที่ไม่เสียเวลารอปิด-เปิด แต่ใช้ตั้งเวลาได้อัตโนมัติเพื่อช่วยประหยัดเวลาไปทำงานอย่างอื่นได้ จึงเริ่มค้นหาข้อมูลจากยูทูบพบอุปกรณ์ดังกล่าวที่สามารถสั่งงานผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีแอปพลิเคชั่นโหลดให้ใช้ฟรี เพียงแต่ต้องคิดนำมาประยุกต์ใช้กับระบบน้ำโดยคิดหาอุปกรณ์มาช่วยเปิด-ปิด วาล์วน้ำอัตโนมัติ ใช้ความรู้พื้นฐานทางไฟฟ้าและดูจากคลิปบ้าง เริ่มต้นด้วยติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวในแปลงทดลองเล็กๆ มีทุเรียน 30-40 ต้น ใช้แอปพลิเคชั่นเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ตั้งเวลาปิด-เปิด เมื่อทดลองใช้ได้ผลแล้ว คิดว่าถ้าเชื่อมต่อเครื่องมือเซ็นเซอร์วัดปริมาณความชื้นของดิน จะกำหนดเวลาการให้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการได้ และได้ประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบการให้ปุ๋ยทางน้ำด้วย ทั้งหมดเป็นที่มาของโปรเจ็กต์การให้น้ำ-ปุ๋ย ผ่านสมาร์ทโฟน ที่ต้องใช้เวลาคิดค้นและทำขึ้น กว่าจะใช้งานได้ ประโยชน์ของการให้น้ำพืชผ่านสมาร์ทโฟน คือ

  1. 1. สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ ในฟาร์มได้หลายชนิด เช่น สปริงเกลอร์ เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความชื้น เครื่องตั้งเวลาอัติโนมัติ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ
  2. 2. สามารถใช้ให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ
  3. 3. สามารถปรับเปลี่ยนหรือตั้งเวลาการทำงานได้ตามที่ต้องการ และ
  4. 4. สามารถสั่งงานระยะไกล ผ่าน wifi ภายในบ้าน หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต 3G และ 4G

“ระบบการทำงาน ติดตั้งระบบให้น้ำผ่านสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือ ระบบ wifi หรือสมาร์ทโฟน 3G 4G แอปพลิเคชั่น eWelink เชื่อมต่อเซ็นซอร์เครื่องวัดความชื้นเทนซิโอมิเตอร์ อุปกรณ์ที่จำเป็น มีถังน้ำ ขนาด 200 ลิตร ตัวกรอง โซลินอยด์วาล์ว ท่อเมนน้ำ ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ การติดตั้งวาล์ว และกล่องควบคุมเมนหลักที่ควบคุมการปิด-เปิดน้ำ ติดตั้งสวิตช์วาล์วทั้งหมด และกล่องควบคุมเมนูย่อยมีไทม์เมอร์ตั้งเวลาปิด-เปิด ตัวรับสัญญาณ wifi ตัวแปลงกระแสไฟฟ้าตรงเป็นกระแสสลับ 24 โวลต์ การให้ปุ๋ยทางน้ำจะตั้งเวลา 2 นาที สลับกับการล้างน้ำเปล่าในท่อให้ปุ๋ยอีก 2 นาที ใช้เวลาเพียง 25 นาที จะให้ปุ๋ยทางน้ำหมด 200 ลิตร การใช้งานสะดวกหากอยู่นอกพื้นที่ขอเพียงให้มีสัญญาณ Wifi ให้เสถียรจะสั่งให้ปุ๋ยรดน้ำได้” คุณเฉลิมพล กล่าว

ศูนย์เรียนรู้ เปิดบริการโฮมสเตย์

คุณเฉลิมพล กล่าวว่า นวัตกรรมทั้ง 2 ระบบ เครื่องพ่นสารชีวภาพและให้ปุ๋ยทางใบแบบตั้งเวลา และการให้น้ำ-ปุ๋ย ผ่านสมาร์ทโฟน ค่าใช้จ่ายติดตั้งในแปลงสวนทุเรียน 40 ต้น ระบบละ 50,000 บาท 2 ระบบ ใช้เงิน 100,000 บาท ซึ่งในระยะ 10 เดือน จะสามารถคุ้มทุนได้ จากการทดแทนการจ้างแรงงาน 2 คน คนละ  12,000 บาท ต่อเดือน หากคิดคำนวณง่ายๆ 10 เดือน ก็คุ้มแล้ว ค่าต้นทุนปุ๋ยที่สามารถประหยัดได้ถึง 50% จากการใช้ปุ๋ย ถังขนาด 200 ลิตร ถ้าใช้คนพ่นมีการสูญเสีย ต้องใช้ 400 ลิตร และในส่วนของแรงงานที่ต้องใช้ดูแลการให้ปุ๋ย ให้น้ำ แบบเดิมๆ สามารถใช้เวลาไปทำงานที่ต้องใช้เทคนิคอื่นได้ และที่สำคัญอยู่นอกพื้นที่ที่มีสัญญาณผ่าน wifi สามารถใช้สมาร์ทโฟนสั่งงานได้

กาญจนา จินตกานนท์

“นวัตกรรมใหม่ๆ คิดและทำขึ้นเพื่อใช้งานในสวน ต้องคิดเอง ทำเอง ใช้เอง ต้องเหมาะสมกับสภาพสวนของตนเองด้วย เช่น ขนาดพื้นที่สวน แหล่งน้ำ ส่วนใหญ่อุปกรณ์ที่ใช้มีอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาประยุกต์ใช้งาน ซึ่งต้องเรียนรู้ เข้าใจระบบการทำงานของเครื่องมือที่ใช้ 3 โปรเจ็กต์นี้ ไม่ได้คิดทำเป็นเชิงพาณิชย์ ยินดีที่จะให้คำปรึกษา ให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยมีบริการที่พักโฮมสเตย์ ‘สวนสมโภชน์เกาะช้าง’ อนาคตจะสร้างสวนสมโภชน์เกาะช้าง เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเกษตรกรทั่วไป และเด็กๆ เยาวชนได้ซึมซับเห็นต้นแบบการทำเกษตร ได้ทดลองใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีเพื่อสร้างเกษตรยุคใหม่ที่ก้าวสู่เกษตรกรรม 4.0” คุณเฉลิมพล กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถาม คุณเฉลิมพล ทัศมากร โทร. (086) 022-6346 ศึกษาข้อมูล ที่ Facebook:สวนสมโภชน์เกาะช้าง Line : สวนสมโภชน์เกาะช้าง ID Line086-0226346

วาล์วควบคุมระบบให้น้ำ