เปิดประสบการณ์ “สวนโชคอำนวย” สวนมะม่วงเงินล้าน เมืองพิจิตร

ภาคเหนือตอนล่าง ถือเป็นแหล่งผลิตมะม่วงเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกมะม่วงรวมประมาณ 200,000 ไร่ ผลิตมะม่วงคุณภาพดีส่งขายตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ที่จังหวัดพิจิตร ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก ถือเป็นจุดเริ่มต้นการผลิตมะม่วงเชิงพาณิชย์ที่เก่าแก่ที่สุด มีการปลูกมะม่วงมานานกว่า 30 ปี ปัจจุบัน มีพื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 20,000 ไร่ ผลผลิตหลัก ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงฟ้าลั่น และมะม่วงเพชรบ้านลาด

สวนโชคอำนวย  ผลิตมะม่วงคุณภาพ ปีละกว่า 500 ตัน   

คุณจรัญ อยู่คำ เจ้าของ “สวนโชคอำนวย” หรือที่หลายคนเรียกว่า “พ่อเลี้ยงจรัญ” อยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร โทร. (099) 271-1303 ถือได้ว่าเป็นเกษตรกรระดับแนวหน้าที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เซียนมะม่วงตัวจริง” เพราะทุกปีมะม่วงจากสวนโชคอำนวย นอกจากจะติดผลดกแล้ว ยังเป็นสวนที่ผลิตมะม่วงได้สวยงามมีคุณภาพดี ผลผลิตจะเริ่มขายตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเมษายน

พื้นที่สวนโชคอำนวย มีกว่า 400 ไร่ ถูกจัดสรรแบ่งแปลงปลูกอย่างลงตัว โดยแบ่งเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ 250 ไร่ และส่วนที่เหลือเป็นแปลงปลูกมะม่วงรับประทานผลดิบ เช่น ฟ้าลั่น และเพชรบ้านลาด คุณจรัญ  แนะนำว่า ถ้าเราจะปลูกมะม่วงในเชิงพาณิชย์ จะต้องปลูกมะม่วงหลายพันธุ์ เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการตลาด

ยกตัวอย่าง มะม่วง 3 สายพันธุ์ ของสวนโชคอำนวย

  1. มะม่วงฟ้าลั่น เป็นมะม่วงบริโภคผลดิบ รสชาติมัน กรอบ หรือที่เรียกกันว่า มะม่วงมัน เป็นพันธุ์ที่จัดการง่าย สู้ฝน (กรณีทำมะม่วงผ่าฝน) มีระยะเวลาในการดูแลสั้น หลังออกดอกไม่เกิน 4 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว และไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการห่อผลที่จะมีต้นทุนมากพอสมควร ออกผลค่อนข้างดกลักษณะผลจะกลมมากกว่ามะม่วงพันธุ์สายฝน แต่มีความยาวพอๆ กัน ปลายผลกลมมนเมื่อผลแก่จัดเนื้อจะเปราะบางมาก และอาจจะแตกทันทีเมื่อถูกคมมีดซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์เห็นได้ชัด

ลักษณะ เปลือกจะหนา แต่ไม่เหนียว มีต่อมขนาดปานกลางเห็นได้ชัด และกระจายอยู่ทั่วผล ผิวเปลือกเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อขาวนวล ลักษณะผิวหยาบ กรอบ มีเสี้ยนค่อนข้างน้อย รสชาติมันตั้งแต่ผลเล็กๆ เมื่อแก่จัดรสชาติจะหวานมัน ผลสุก ผิวเขียวปนเหลือง เนื้อเป็นสีเหลืองเนื้อค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนน้อย รสหวานไม่จัดนัก อย่างพื้นที่ปลูกมะม่วงขายดิบ 1 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 1.5-2 ตัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 15-20 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพผลผลิต และภาวะการตลาด บางครั้งพบว่าช่วงขาดตลาด ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 28 บาท ก็มี

  1. มะม่วงเพชรบ้านลาด เป็นมะม่วงบริโภคผลดิบอีกพันธุ์ที่มีรสชาติมันอร่อย ที่ปลูกเพราะติดผลง่ายจัดการไม่ยุ่งยาก แม้ราคาจะต่ำกว่ามะม่วงฟ้าลั่น แต่ก็ยังเป็นมะม่วงที่ทำเงินได้เร็วสำหรับชาวสวน ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 10-15 บาท ต่อกิโลกรัม
  2. มะม่วงน้ำดอกไม้ จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ “มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4” และ “น้ำดอกไม้สีทอง” โดยทั่วไปแล้วราคาน้ำดอกไม้สีทองจะสูงกว่าน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 แต่ที่ยังมีมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 อยู่เพราะเป็นต้นที่ปลูกก่อน มีอายุมาก ไม่สามารถเปลี่ยนยอดได้แล้ว ซึ่งความแตกต่างก็จะเป็นที่เปลือก น้ำดอกไม้ เบอร์ 4 จะมีผิวเขียวกว่า ส่วนน้ำดอกไม้สีทองจะออกสีเหลืองมากกว่า และเมื่อสุกสีจะแตกต่างชัดเจน (กรณีไม่ห่อผล)
มะม่วงน้ำดอกไม้ ส่วนหนึ่งที่คัดเข้าสู่เกรดส่งออกญี่ปุ่น

โดยมะม่วงน้ำดอกไม้ทั้งหมดจะห่อผลด้วยถุงห่อคาร์บอนทั้งหมด เพื่อให้ผิวเหลืองสวยทั้งหมด เป็นที่ต้องการของตลาดและป้องกันแมลงวันทอง ส่วนรสชาติน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 รสชาติจะหวานช่ำกว่าและเนื้อนิ่มกว่า ส่วนน้ำดอกไม้สีทองจะออกหวานแต่ไม่หวานจัดเท่าน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 และเนื้อจะแข็งกว่า ในเรื่องความนิยม เบอร์ 4 นั้น จะได้รับความนิยมมากในผู้ที่รับประทานกับข้าวเหนียวมูนจะเข้ากันมากเพราะรสชาติที่หวานจัด ส่วนน้ำดอกไม้สีทองนั้นความนิยมก็ไม่ได้แพ้กัน เนื่องจากผิวที่เหลืองสวยงาม เนื้อมะม่วงค่อนข้างทนต่อสภาพอากาศ เก็บไว้ได้นานกว่า แม้รสชาติจะเป็นรอง เบอร์ 4 จึงเป็นที่นิยมส่งออกไปยังต่างประเทศ นอกจากผิวสวยแล้วยังเก็บรักษาได้นาน เพราะเนื้อแข็งกว่า เบอร์ 4 นั่นเอง

“มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4” เปลือกบาง หวานจัด เหมาะขายตลาดในประเทศ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-35 บาท “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” เปลือกหนา หวานน้อยกว่าน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 แต่เป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศ เพราะผิวเหลืองสวยงาม ราคามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนั้นจะต่างกันมาก ระหว่างขายในประเทศ และขายตลาดต่างประเทศ บางครั้งพบว่าราคาขายในประเทศอยู่ที่ กิโลกรัมละ 35-50 บาท แต่ถ้าคัดส่งขายต่างประเทศมีราคาสูง กิโลกรัมละ 90-120 บาท เลยทีเดียว

สำหรับผลผลิตของมะม่วงน้ำดอกไม้ทั้ง 2 พันธุ์ ผลผลิตจะเฉลี่ยอยู่ที่ ไร่ละ 1-1.5 ตัน ขึ้นอยู่กับขนาดของต้น ถ้าต้นใหญ่สามารถไว้ผลได้ 150-200 ผล แต่ถ้าต้นเล็กไม่ควรให้ติดผลมากกว่า 100 ผล เพราะการปล่อยให้ติดผลเยอะเกินไปจะทำให้ผลมีขนาดเล็ก ขายไม่ได้ราคา (ขนาดผลที่เหมาะสมคือ 350 กรัม หรือประมาณ 3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม)

แม้มะม่วงน้ำดอกไม้จะเป็นมะม่วงที่มีราคาสูง ราคาจูงใจ แต่การจัดการจะค่อนข้างยุ่งยากกว่ามะม่วงฟ้าลั่น และเพชรบ้านลาด ข้อนี้ชาวสวนมือใหม่ก็ต้องเก็บไปคิดหรือนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง ต่อไปนี้จะเป็นการบอกเล่าถึงประสบการณ์การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพดีของสวนโชคอำนวย มาดูกันว่าทำอย่างไร ให้มะม่วงติดผลดก และผลมีคุณภาพดี สีสวยงาม รสชาติหวานชื่นใจ ขายได้ราคา

 

จะทำมะม่วงให้ดก ต้องเริ่มจากใบอ่อน

คุณจรัญ กล่าวว่า “การจะทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้ ออกดอกสม่ำเสมอจะต้องเริ่มจากการทำใบอ่อนให้ออกเสมอก่อน” ในพื้นที่ตำบลวังทับไทร จะเป็นการปลูกมะม่วงในพื้นที่ดอน ดินส่วนใหญ่จะเป็นลูกรัง มีหน้าดินต่ำ ดินพวกนี้จะเป็นดินที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ และที่สำคัญในพื้นที่ตำบลวังทับไทร ไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีระบบน้ำในสวน การปลูกมะม่วงที่นี่จะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ดังนั้น ก่อนการแต่งกิ่งจะต้องรอให้มีฝนตกใหญ่ อย่างน้อย 2-3 ครั้ง เสียก่อน ให้ดินมีความชื้นพอสมควร จึงจะเริ่มตัดแต่งกิ่ง ซึ่งจะตรงกับเดือนมิถุนายนของทุกปี

หลังแต่งกิ่งเสร็จให้ดูพยากรณ์อากาศ ช่วงไหนจะมีฝนตกให้ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 ในอัตราส่วน 2 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน และใส่ต้นละ 1-2 กิโลกรัม ถ้าฝนตกน้อยปุ๋ยไม่ละลาย ต้องหาน้ำรดทันที หลายคนไม่ยอมลงทุนใส่ปุ๋ยทางดินทำให้ต้นมะม่วงขาดความสมบูรณ์ การแตกใบอ่อนไม่สม่ำเสมอ การออกดอกก็จะไม่เสมอเช่นกัน คุณจรัญ ย้ำว่า ปีหนึ่งๆ เราเก็บผลผลิตมะม่วงออกไปเท่าไร ถ้าไม่ใส่ปุ๋ยเพิ่มให้กับต้นมะม่วง ปีต่อไปก็จะไม่มีผลผลิตดีๆ ให้เรา

การเร่งให้มะม่วงแตกใบอ่อนพร้อมกันทั้งต้น

จะต้องพ่นสารไทโอยูเรีย อัตรา 80 กรัม ผสมกับ สาหร่าย แอ็กกรีน อัตรา 20 ซีซี น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5 วัน ถ้าพบว่าต้นไหนยังไม่แตกใบอ่อนก็ต้องพ่นซ้ำ (ใช้มือฉีด) ให้ออกใบอ่อนทุกต้น การเตรียมใบอ่อนถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะถ้าใบอ่อนออกไม่เสมอ การออกดอกจะไม่เสมอเช่นกัน

 

ใช้สารแพคโคลบิวทราโซลคุมใบอ่อน

คุณจรัญ จะเน้นการเลือกใช้สารแพคโคลบิวทราโซล (เช่น สารแพนเที่ยม) ที่มีคุณภาพดี และละลายน้ำง่าย การเลือกใช้สารแพคโคลบิวทราโซลนั้นจะต้องเลือกบริษัทที่มีมาตรฐาน เพราะหลายครั้งพบว่า มีการหลอกขายสารแพคโคลบิวทราโซล ราคาถูกแต่เปอร์เซ็นต์ไม่เต็ม ทำให้ไม่สามารถควบคุมการแตกใบอ่อนได้ ในการราดสารแพคโคลบิวทราโซลทุกครั้งจะต้องผสมน้ำราดที่โคนต้นในขณะดินมีความชื้น ไม่แนะนำให้นำสารแพคโคลบิวทราโซลไปโรยแบบแห้งแล้วรอฝนตก เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของสารแพคโคลบิวทราโซลไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่

เน้นสะสมอาหารทางใบ

หลังจากราดสารแพคโคลบิวทราโซล ประมาณ 15 วัน จะเริ่มสะสมอาหารทางใบ โดยใช้ปุ๋ย สูตร 0-52-34 สลับกับปุ๋ยเฟอร์ติไจเซอร์ (3-16-36) และเฟตามิน ฉีดพ่น 3-4 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน การฉีดพ่นปุ๋ยสะสมอาหารทางใบ จะเร่งทำให้ใบแก่เร็ว ออกดอกดก บางครั้งถ้าต้นมะม่วงไม่สมบูรณ์อาจใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 8-24-24 หรือ 9-25-25  ต้นละ 1 กิโลกรัม ก็ได้

 

ดึงดอกในระยะที่เหมาะสม

หลายคนใช้วิธีนับวัน ดึงดอกหลังจากราดสารแล้ว 60 วัน
แต่คุณจรัญกล่าวว่า ไม่จำเป็นเสมอไป ให้ดูความพร้อมของต้นมะม่วงเป็นหลัก ถ้าใบและตาดอกพร้อมก็ดึงดอกได้ เนื่องจากสวนโชคอำนวยเป็นสวนขนาดใหญ่ คุณจรัญจึงแบ่งเป็นแปลงย่อย ประมาณ 10-12 แปลง เพื่อลดความเสี่ยงในการโดนพายุฝนและความต่อเนื่องในการเก็บผลผลิต แต่ละแปลงจะห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์

สูตรดึงดอกที่ใช้ประจำคือ ไทโอยูเรีย 60 กรัม ผสมโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) 150 กรัม และสาหร่าย แอ็กกรีน 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ดอกมะม่วงจะออกเสมอทั้งแปลง ดูแลช่อดอกให้ดีในช่วงช่อดอกและผลอ่อนจะมีศัตรูที่สำคัญอยู่ 3 ตัว คือ

เพลี้ยไฟ…เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่จะทำให้ช่อดอกมะม่วงและผลอ่อนเสียหาย การจะขายมะม่วงน้ำดอกไม้ให้ได้ราคา ผิวของผลมะม่วงจะต้องไม่มีรอยการทำลายของเพลี้ยไฟโดยเด็ดขาด ที่สวนโชคอำนวย ผิวมะม่วงจะสวยใสทำให้ขายได้ราคา คุณจรัญแนะนำว่าให้เจ้าของสวน หมั่นสำรวจปริมาณเพลี้ยไฟ บนช่อมะม่วงถ้าพบตัวเพลี้ยไฟเกิน 5 ตัว ต่อช่อ ให้ฉีดพ่นการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ เช่น ฟิโพรนิล (เช่น เฟอร์แบน), อิมิดาคลอพริด (เช่น โปรวาโด, โคฮีนอร์ เอ็กซ์), คาร์บาริล (เช่น เซฟฟวิน 85, เอส-85), อะบาเม็กติน (เช่น โกลแจ็กซ์) หรือ ไธอะมีโธแซม (เช่น มีโซแซม) แนะนำให้ฉีดสลับกัน เพราะเพลี้ยไฟเป็นแมลงที่ดื้อยาง่าย หากฉีดแล้วไม่ตายอาจผสมสารสองชนิดรวมกันในการฉีดพ่น

ปัจจุบัน มีสารกลุ่มใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดเพลี้ยไฟ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคคือ สารเอ็กซอล (สไปนีโทแรม) สามารถกำจัดเพลี้ยไฟดื้อยาได้ดีมาก ใช้อัตราน้อย เพียง 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร จะทำให้ผิวมะม่วงสวยใสไร้รอยเพลี้ยไฟแน่นอน

โรคแอนแทรคโนสเป็นโรคร้ายแรงที่สุดของการผลิตมะม่วง บางคนรู้ในชื่อ โรคช่อดำ หรือผลเน่า คุณจรัญ แนะนำว่า ที่สวนจะใช้สารป้องกันและกำจัดเชื้อราที่มีประสิทธิภาพสูงในช่วงเวลาที่สำคัญ เช่น สารฟลิ้นท์  อัตรา 5 กรัม ผสมแอนทราโคล ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นช่วงช่อดอก 3-4 ครั้ง เมื่อถึงระยะก่อนห่อผล จะพ่นด้วยสาร อมิสตา อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร อีกครั้ง รับประกันแอนแทรคโนส ไม่มารบกวนผลมะม่วงแน่นอน ที่สำคัญปลอดภัยได้มาตรฐานส่งออก

โรคราแป้ง… เป็นภัยเงียบ พบมากช่วงอากาศแห้งและเย็น เช่น ปลายฝนต้นหนาว หรือช่วงอากาศหนาว โรคนี้ถือว่าเป็นโรคร้ายแรงมาก แต่เกษตรกรทั่วไปไม่รู้และไม่ค่อยใส่ใจ ให้หมั่นตรวจสอบช่อดอกดีๆ

ถ้าพบอาการดอกแห้งเร็ว หรือที่เรียกว่า “ชอบวูบ” เป็นสีน้ำตาลโคนดอกพบลักษณะคล้ายแป้งสีขาวให้ระวังให้ดี โรคนี้ถ้าเอาชัวร์ให้พ่นสารป้องกันล่วงหน้า ตัวที่ได้ผลดีคือตัว เฮ็กซะโคนาโซล หรือ สารไมโครบิวทานิล (เช่น ซีสเทน-24 อี) ตัวใดตัวหนึ่ง โรคราแป้งต้องฉีดป้องกันล่วงหน้า ถ้าเป็นแล้วจะทำให้เกิดความเสียหายมาก