เปิดประสบการณ์ “สวนโชคอำนวย” สวนมะม่วงเงินล้าน เมืองพิจิตร (ตอนจบ)

สวนโชคอำนวย ผลิตมะม่วงคุณภาพปีละกว่า 500 ตัน คุณจรัญ อยู่คำ เจ้าของ “สวนโชคอำนวย” หรือที่หลายคนเรียกว่า “พ่อเลี้ยงจรัญ” เลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร โทร. (099) 271-1303 ถือได้ว่าเป็นเกษตรกรระดับแนวหน้าที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เซียนมะม่วงตัวจริง” เพราะทุกปีมะม่วงจากสวนโชคอำนวย นอกจากจะติดผลดกแล้ว ยังเป็นสวนที่ผลิตมะม่วงได้สวยงาม มีคุณภาพดี ผลผลิตจะเริ่มขายตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน

ระยะเดือยไก่ ล้างโรคแมลง เร่งความสมบูรณ์

หลังจากที่เราเปิดตาดอกจนดอกเป็นระยะเดือยไก่หรือมีความยาวประมาณ 0.5 นิ้วแล้ว เกษตรกรจะต้องเร่งสร้างความสมบูรณ์ของดอกให้เต็มที่ เพราะช่อดอกที่มีความสมบูรณ์ ปริมาณดอกสมบูรณ์เพศจะสูง การติดผลจะง่าย ในช่วงนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยทางใบ สูตร 10-52-17 อัตรา 50 กรัม ฉีดพ่นร่วมกับฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” อัตรา 10 ซีซี (ต่อน้ำ 20 ลิตร) ปุ๋ย 10-52-17 และฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” จะช่วยเร่งความสมบูรณ์ของช่อดอก ทำให้ก้านดอกอวบใหญ่ มีสีแดงเข้ม ปริมาณดอกสมบูรณ์เพศสูงมาก ระยะเดือยไก่ นอกจากจะฉีดปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อสร้างความสมบูรณ์แล้ว เกษตรกรจะต้องฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคแมลงไปในคราวเดียวกัน สารป้องกันกำจัดแมลงที่นิยมใช้คือ สารเมทโทมิล เพราะในระยะนี้ศัตรูที่เกษตรกรจะพบมากที่สุดก็คือ หนอนต่างๆ อัตราที่ใช้ให้ดูตามคำแนะนำของฉลาก ส่วนด้านโรคระยะนี้จะต้องล้างโรคให้หมด แนะนำให้ใช้สารในกลุ่มเบนโนมิล เช่น เมเจอร์เบน อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี

ข้อแนะนำในการพ่นสารเคมีในระยะนี้ สามารถผสมปุ๋ย ฮอร์โมน สารกำจัดโรคและแมลงได้ในคราวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและประหยัดต้นทุนการพ่นสารเคมี

เคล็ดลับในการผสมสารเคมี

  1. ใส่น้ำลงในถังพ่นยา ในปริมาณครึ่งหนึ่งของถัง
  2. ละลายปุ๋ยเกล็ดใส่ลงในถังเป็นอันดับแรก แล้วตามด้วยยาที่เป็นผง แต่ต้องจำไว้ว่าการผสมยาผงทุกครั้งต้องละลายยาผงในภาชนะอื่นก่อน แล้วค่อยเทลงในถังฉีดพ่น เพื่อป้องกันยาจับก้อนหรือการตกตะกอน (ต้องใช้ไม้กวนยาทุกครั้ง)
  3. ใส่กลุ่มฮอร์โมนและยากำจัดแมลงที่เป็นน้ำตามไป แล้วเติมน้ำให้เต็มถังฉีดพ่นหรือเต็มปริมาณที่กำหนด
  4. เติมสารจับใบเป็นอันดับสุดท้าย แล้วกวนส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากันอีกครั้ง

ในระยะนี้ ถ้าพื้นที่ปลูกมะม่วงของท่านมีน้ำรด สามารถให้น้ำได้ การให้น้ำจะช่วยให้ดอกมะม่วงมีความสมบูรณ์ การติดผลดี และช่อดอกโรยช้า

ระยะก้างปลา ก่อนดอกบาน ตามปกติแล้วมะม่วงจะมีระยะเวลาตั้งแต่แทงช่อดอก จนถึงดอกเริ่มบาน ประมาณ 20 วัน (ระยะเวลาอาจเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพอากาศ) การดูแลในช่วงก่อนดอกบานหรือดอกเริ่มบาน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ข้อแนะนำในระยะนี้ยังสามารถฉีดพ่นสารเคมีได้ตามปกติ เกษตรกรจะใช้ฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” อัตรา 10 ซีซี ผสมกับสารกลุ่มแคลเซียมโบรอน เช่น โกรแคล หรือ โฟแมกซ์ อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” และสารในกลุ่มแคลเซียมโบรอนจะช่วยเรื่องความสมบูรณ์ของดอก ทำให้ดอกติดผลง่าย ลดการหลุดร่วงของผล และมีผลติดดก

ศัตรูที่ต้องระวังในระยะนี้ คือ เพลี้ยไฟ และเพลี้ยจักจั่น ซึ่งศัตรูทั้ง 2 ชนิดนี้ จะเข้าทำลายระยะดอกเริ่มบาน จนถึงระยะติดผลอ่อน สร้างความเสียหายให้แก่ช่อมะม่วงอย่างมาก แนะนำให้ใช้สารโปรวาโด อัตรา 3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จะช่วยป้องกันกำจัดแมลงดังกล่าวได้ดี ว่าพบปัญหาการระบาดของเพลี้ยไฟที่รุนแรง แนะนำให้ใช้สารเดซิส อัตรา 10 กรัม ผสมกับโปรวาโด 3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

ฮอร์โมนที่นิยมใช้ฉีดพ่นช่วง “ช่อดอก”

  1. ฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” ช่วยเพิ่มประมาณดอกมะม่วง ช่วยให้ดอกสมบูรณ์ ก้านดอกยาว เพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผล ป้องกันดอกและผลอ่อนร่วง แนะนำให้ใช้ 3 ระยะ คือ เดือยไก่ ก้างปลา และดอกโรย
  2. เอ็นเอเอ (NAA) เช่น บิ๊กเอ เป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มจำนวนดอกสมบูรณ์เพศ เหมาะมากสำหรับแปลงมะม่วงที่ออกดอกช่วงฤดูหนาว หรือออกดอกเต็มต้น บางครั้งเราจะพบว่าแม้มะม่วงจะออกดอกทั้งต้น แต่ก็ไม่ติดผล ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศ ทำให้ดอกมะม่วงแปรผัน การฉีดพ่น NAA จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องเพศของมะม่วงได้เป็นอย่างดี การใช้ NAA ที่ถูกต้อง ให้ฉีดพ่นช่วงเดือยไก่ ความยาวช่อดอก 2-3 เซนติเมตร และฉีดพ่นเพียงครั้งเดียว จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณดอกสมบูรณ์เพศได้มากกว่าต้นที่ไม่ได้พ่น 4-5 เท่าตัว
  3. จิบเบอเรลลิน ห้ามใช้ช่วงก่อนดอกบาน ข้อควรระวัง เกษตรกรหลายท่านเข้าใจผิดในการใช้ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินว่าฉีดแล้วทำให้ช่อยาว ติดผลดี ความเข้าใจนี้คลาดเคลื่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การใช้จิ๊บในมะม่วงให้ฉีดช่วงดอกใกล้โรย หรือช่วงติดผลเล็กๆ เท่านั้น ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน (เช่น จิ๊บแซด) จะไปช่วยขยายขนาดผล ลดการหลุดร่วงของผลอ่อน แต่หากใช้ฉีดพ่นในระยะก่อนดอกบาน จะทำให้ช่อมะม่วงมีเปอร์เซ็นต์ดอกตัวผู้มากขึ้น ส่งให้การติดผลก็จะยากขึ้น ชาวสวนจะต้องใช้ให้ถูกจังหวะ จึงจะได้ผลดีที่สุด

อาหารเสริม ที่นิยมใช้ฉีดพ่นช่วงดอก

  1. แคลเซียม-โบรอน มีประโยชน์ในดอกสมบูรณ์ ไม่หักร่วงง่าย การติดผลดี เกษตรกรจะเลือกใช้เป็นอันดับต้นๆ ในช่วงก่อนที่มะม่วงจะออกดอกเรื่อยไปจนถึงระยะติดผลอ่อน (เช่น แคลเซียมโบรอนอี, โกลแคล, โบร่า)
  2. สาหร่าย-สกัด ช่วยให้ช่อสมบูรณ์ ช่อยาวเร็ว ช่อสดใส ช่วยเพิ่มขนาดของผลอ่อน (เช่น สาหร่ายสกัด, แอ็กกรีน)
  3. สังกะสี ช่วยเร่งความเขียว เร่งการติดผล (เช่น โปรซิงค์)
  4. แม็กนีเซียม ช่อสด แข็งแรง เร่งการติดผล (โฟแม็กซ์)

การใช้อาหารเสริม เกษตรกรต้องศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดให้ดี เพราะบางครั้ง เราซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มา 5-6 ขวด เวลาเอามาดูจริงๆ กลับเป็นอาหารเสริมชนิดเดียวกัน เกษตรกรต้องอ่านฉลากข้างขวดให้ดี อย่าเชื่อแต่คำโฆษณาเชิญชวน เพราะจะทำให้เราสูญเงินโดยใช่เหตุ

ติดผลอ่อน ล้างโรคแมลงทำผิวให้สวย

เมื่อดอกมะม่วงเริ่มโรย เราจะสังเกตเห็นผลอ่อนของมะม่วงติดผลเล็กขนาดไข่ปลาถึงหัวไม้ขีด ช่วงนี้ต้องระวังเพลี้ยไฟกับโรคแอนแทรคโนสให้มาก ระยะนี้เกษตรกรจะใช้สารเคมีที่ค่อนข้างแรง (แรงต่อแมลง แต่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค) เช่น สารไซฮาโลทริล (เช่น เคเต้) อัตรา 10 ซีซี หรือใช้สารคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์) อัตรา 30-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นร่วมกับสารกำจัดโรคแอนแทรคโนส เช่น โพรคลอราช (เช่น เอ็นทรัส) หรือ เบโนมิล (เช่น เมเจอร์เบน)

ในระยะดอกเริ่มโรย และติดผลอ่อน เกษตรกรต้องหมั่นดูแล เพราะหากเพลี้ยไฟหรือโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลายผลอ่อนผิวจะไม่สวยขายไม่ได้ราคา

มีเคล็ดลับอีกข้อสำหรับป้องกันผลอ่อนร่วงและเร่งการเจริญเติบโตของผลอ่อน เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 12-12-12 อัตรา 30-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นร่วมกับฮอร์โมนจิบเบอเรลริล (GA3) เช่น จิ๊บทรี หรือ จิ๊บแซด อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง จะทำให้ผลโตเร็ว ลดการหลุดร่วงของผลได้มาก

ผลเท่าไข่ไก่ ต้องห่อผลเพื่อให้ผิวสวย และป้องกันโรคแมลง การซื้อ-ขาย มะม่วงน้ำดอกไม้ในปัจจุบัน พ่อค้า-แม่ค้าจะนิยมซื้อผลมะม่วงที่ห่อก่อน เพราะมะม่วงที่ห่อผล ผิวจะสวย ขายได้ราคาดีกว่ามะม่วงที่ไม่ได้ห่อ พ่อค้าบางคนเวลาไปติดต่อซื้อผลมะม่วงน้ำดอกไม้ จะถามก่อนว่า “ห่อหรือเปล่า” แปลงไหนห่อผลจะขายง่าย แปลงที่ไม่ห่อบางครั้งไม่มีคนซื้อ เมื่อผลมะม่วงมีขนาดโตกว่าไข่ไก่ (ขนาดประมาณ 3 นิ้วมือ) เกษตรกรจะตัดแต่งผลกะเทยออก ช่อไหนติดผลดกเกินหรือรูปทรงไม่สวยงามจะต้องตัดทิ้ง คัดผลดีๆ ที่ผิวสวย ไว้เพียง 1-3 ผล ต่อก้าน เพื่อควบคุมคุณภาพ ให้ผลมะม่วงออกมาสม่ำเสมอ ไม่เล็กนัก (เกษตรกรบางรายดูแลดีมาก สามารถไว้ผล 3-5 ผล ต่อก้าน) ก่อนห่อทุกครั้งต้องล้างโรคแมลง ด้วยการพ่นสารเอ็นทรัส หรือ ฟลิ้นท์+แอนทราโคล เพื่อป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนส และต้องพ่นสารมาลาไธออน (เช่น แซดมาร์ค) อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง เพราะหากไม่ฉีดพ่นสารกำจัดโรคแมลงตอนนี้ เมื่อเราห่อถุงไป โรคแมลงจะติดเข้าไปอยู่ในถุงห่อและทำลายผลผลิต โดยที่เราไม่รู้ เพราะมองไม่เห็น

ห่อผลระยะเหมาะสม การจะทำให้ผลมะม่วงน้ำดอกไม้มีสีเหลืองสวยงาม จะต้องห่อผลโดยใช้ถุงห่อคาร์บอน (บ. ชุนฟง) โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะเริ่มห่อผลที่มีขนาดเท่า 3 นิ้วมือ แต่ คุณจรัญ จะห่อผลที่มีขนาดเล็กกว่านั้นเล็กน้อย หรือประมาณ 2.5 นิ้ว โดยให้เหตุผลว่า การห่อผลมะม่วงที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย เนื่องจากผิวจะเหลืองสวยไร้รอยโรคและแมลง มากกว่าที่ห่อมะม่วงขนาดผลที่ใหญ่

 

เกร็ดความรู้

หลายท่านมีข้อสงสัยว่า หลังจากมะม่วงออกดอกแล้วกี่วันจะเก็บได้ สามารถดูได้จากตารางนี้ เพื่อเป็นแนวทางเพื่อคาดการณ์การเก็บเกี่ยวผลผลิต

พันธุ์ อายุการเก็บเกี่ยว นับจาก
 – น้ำดอกไม้ 100 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ
 – เขียวเสวย 110 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ
 – ฟ้าลั่น 90 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ
 – โชคอนันต์ 80-100 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ
 – เพชรบ้านลาด 90-100 วัน วันที่ดอกบานเต็มช่อ

 

ความแก่ที่นับจะอยู่ที่ 80-90% เราสามารถบวก-ลบ จำนวนวันได้ ประมาณ 10 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย เช่น ถ้าสภาพอากาศร้อนจัด มะม่วงก็จะแก่เร็วขึ้น หรือบางท่านใช้วิธีตัดผลมะม่วงไปจุ่มน้ำ ถ้าผลมะม่วงลอยที่ผิวน้ำก็ถือว่าเป็นมะม่วงอ่อน ถ้าผลมะม่วงจมน้ำแสดงว่าผลมะม่วงแก่แล้ว