“เครื่องวิเคราะห์ ความอ่อน-แก่ของทุเรียน” ผลงานวิจัย ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เตรียมพัฒนาต้นแบบเพื่อใช้งานจริง

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ นำโดย คุณฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปะชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน และ รศ.ดร. อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ปรึกษาศึกษาความต้องการสินค้าเกษตร และจับคู่เจรจาธุรกิจ โครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตร ได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้นำเข้าผลไม้อินเดีย จำนวน 12 บริษัท กับผู้ประกอบการของไทยในจังหวัดตราด จันทบุรี และภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง 12-13 บริษัท ที่โรงแรมบ้านปูรีสอร์ท อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ในงานนี้ ทีมคณะวิจัย ของ ผศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ คือ ดร. สุรีพร ณรงค์วงศ์วัฒนา และ คุณศุทธหทัย โภชนากรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ได้สาธิตการใช้ “เครื่องวิเคราะห์ ความอ่อน-แก่ของทุเรียน”…นวัตกรรมใหม่ในวงการธุรกิจตลาดทุเรียนที่น่าสนใจ

ผศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ อาจารย์หัวหน้าห้องปฏิบัติการ Near Infrared (NIR) Technology ประจำภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน กล่าวถึงที่มาของการคิดประดิษฐ์ “เครื่องวิเคราะห์ ความอ่อน-แก่ของทุเรียน” ว่า ปัญหาทุเรียนอ่อนที่ทำลายตลาดการค้าทุเรียนของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการตัดทุเรียนที่เปอร์เซ็นต์ของเนื้อแป้งหรือค่าน้ำหนักเนื้อแห้ง (Dry Matter,DM) ไม่ได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.33-2556 ซึ่งได้กำหนดค่าคุณภาพทุเรียนแก่ที่เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยว เช่น พันธุ์หมอนทอง ไม่ต่ำกว่า 32% ชะนี และพวงมณี 30% กระดุม 27% อย่างไรก็ตาม การจะทราบค่าน้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน ต้องผ่าผลและนำเอาเนื้อทุเรียนมาอบแห้ง นานถึง 48 ชั่วโมง และยังเป็นการทำลายผล นำไปซื้อ-ขาย ต่อไม่ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ และทีมนักวิจัยห้องปฏิบัติการ Near Infrared (NIR)  Technology จึงได้คิดค้นและพัฒนา “เครื่องวิเคราะห์ ความอ่อน-แก่ของทุเรียน” โดยใช้หลักการทำงานของเทคโนโลยีอินฟราเรดย่านใกล้ (NIR Technology) ซึ่งจะวัดค่าการดูดกลืนของพลังงานแสงของทุเรียน โดยองค์ประกอบภายในของทุเรียน เช่น แป้ง น้ำตาล สามารถดูดกลืนแสงอินฟราเรดย่านใกล้ในตำแหน่งความยาวคลื่นจำเพาะและปริมาณที่ดูดกลืนจะสะท้อนถึงปริมาณองค์ประกอบที่มีอยู่ภายในตัวอย่าง ซึ่งหลักการทำงานทำให้สามารถตรวจสอบคุณภาพทุเรียนได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายตัวอย่าง และได้ผลการวิเคราะห์ที่ไม่ต่างจากค่าวิเคราะห์ด้วยวิธีอบอย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

ดร. สุรีพร ณรงค์วงศ์วัฒนา ทีมวิจัยกล่าวเพิ่มเติมขณะสาธิตวิธีการใช้เครื่องวิเคราะห์ความอ่อน-แก่ทุเรียนว่า ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ สามารถใช้งานได้ยาวนาน 8 ชั่วโมง พกพาได้สะดวก วิธีการใช้งานง่ายมาก เพียงนำหัววัดของเครื่องแนบที่ผิวของทุเรียนให้สนิท บริเวณร่องหนาม ในตำแหน่งที่ต้องการวัด จากนั้นกดปุ่มวัด แสงจากเครื่องจะผ่านเปลือกเข้าไปในผลทุเรียน เครื่องจะประมวลผลและแสดงค่าน้ำหนักเนื้อแห้งบนหน้าจออย่างรวดเร็วภายใน 3 วินาที แต่การใช้งานมีข้อควรระมัดระวังที่อาจจะทำให้ค่าเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอาจจะมีปัญหาสภาพภูมิอากาศ ผลทุเรียนเปียกชื้น รูปทรงผลผิดปกติ ปลายหัววัดไม่สามารถแนบกับเปลือกได้

ทางด้าน คุณฉัตรชัย ศักดิ์ศิลปะชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เครื่องมือนี้ทางกรมการค้าภายในได้สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยเครื่องต้นแบบ ต่อไปจะสนับสนุนให้พัฒนาเครื่องมือ ให้สามารถตรวจสอบได้หลายสายพันธุ์ เพราะงานวิจัยยังทดลองกับสายพันธุ์หมอนทองเท่านั้น เนื่องจากมีปริมาณส่งออกต่างประเทศมาก ซึ่งจะส่งผลให้การซื้อขายทุเรียนในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เป็นการยกระดับมาตรฐานทุเรียน ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย และพัฒนาเครื่องมือให้มีน้ำหนักเบาขึ้นจากเครื่องต้นแบบ น้ำหนัก 2 กิโลกรัม และประหยัดต้นทุนการประดิษฐ์จากงบประมาณในการวิจัย จำนวน 300,000 บาท อาจจะประมาณ 50,000-60,000 บาท ต่อจากนั้นจะนำไปจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของกรมการค้าภายใน สำหรับภาคเอกชนที่สนใจพัฒนาเชิงธุรกิจพาณิชย์ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ผศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ e-mail [email protected]

เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของงานวิจัยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง…

ระหว่าง วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2561 นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จะจัดงานเกษตรมหัศจรรย์ขึ้น ที่สกายฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในงานมีพันธุ์ทุเรียนมาแสดง กว่า 100 พันธุ์ พร้อมทั้ง “เครื่องวิเคราะห์ ความอ่อน-แก่ของทุเรียน” ก็จะนำมาสาธิตในงานด้วย