การดูแลสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแบบมืออาชีพ ของ “ สุวิทย์ อุดทาเศษ ” อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ในอดีตพื้นที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้หลักจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผัก กะหล่ำและทำสวนลำไย ซึ่งเสี่ยงเจอภาวะราคาตกต่ำและขาดตลาดรองรับที่ชัดเจนทำให้เกษตรกรขาดความมั่นคงทางอาชีพ  แต่วันนี้ วิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเชียงดาวเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภายหลังจากพวกเขาหันมาปลูก  “ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง “ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ช่วยสร้างเงินสร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน  เมื่อเร็วๆ นี้  ” คุณโอฬาร พิทักษ์” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้พากลุ่มสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมความสำเร็จของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

อำเภอเชียงดาว …. แหล่งพัฒนามะม่วงคุณภาพส่งออก

อำเภอเชียงดาว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดเชียงใหม่  แบ่งการปกครองเป็น 7 ตำบล มีประชากรทั้งหมด  83,411 คน  29,926 ครัวเรือน  ครัวเรือนเกษตรกรทั้งหมด 19,451 ครัวเรือน และได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร 9,243 ครัวเรือน  พื้นที่ทั้งหมด 1,355,625 ไร่ พื้นที่การเกษตร 121,656 ไร่

อำเภอเชียงดาว มีพื้นที่ปลูกมะม่วงทั้งหมด 22,083 ไร่  ให้ผลผลิต 12,749 ไร่  มีรายได้รวมประมาณ  337 ล้านบาท/ปี  เดิมเชียงดาวเป็นแหล่งปลูกมะม่วงแก้ว  และมะม่วงโชคอนันต์มากที่สุด  เนื่องจากผลผลิตมีราคาต่ำเกษตรกรจึงเปลี่ยนยอดต้นมะม่วงให้เป็นมะม่วงเศรษฐกิจที่มีราคาสูงและมีความต้องการทางตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น น้ำดอกไม้สีทอง, มันขุนศรี, มหาชนก  โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ทำเงินเข้าอำเภอเชียงดาวปีละประมาณ126 ล้านบาท

การพัฒนามะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกของอำเภอเชียงดาว เกษตรกรได้รวมกลุ่มกัน        ขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว เพื่อดำเนินงานผลิตมะม่วงคุณภาพ จำนวน 9 กลุ่ม ตั้งแต่ปี 2550-2553 ปี 2554-2555 ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง, มันขุนศรี และมหาชนก ออกมาแล้วมีปัญหาไม่มีตลาดรับซื้อในพื้นที่  เกษตรกรต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายที่อำเภอพร้าว  เนื่องจากอำเภอเชียงดาวไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ผลผลิตมีน้อย ปี 2556 ผลผลิตเริ่มออกมากขึ้น คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน  ทั้ง 9 วิสาหกิจชุมชน  ได้รวมตัวกันที่จะขายผลผลิตมะม่วง  จึงได้ประสานกับบริษัทที่รับซื้อ  ให้มาซื้อในพื้นที่ และได้มีบริษัทส่งออกเข้ามารับซื้อในพื้นที่

ปัจจุบันการพัฒนามะม่วงคุณภาพส่งออกของวิสาหกิจชุมชน  โดยกรรมการวิสาหกิจชุมชน  ทั้ง 9 วิสาหกิจชุมชน เป็นเกษตรกรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์การปลูกมะม่วงและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ (Smart Farmer) เน้นการผลิตมะม่วงปลอดภัย (Smart Products) ตามหลักเกณฑ์การผลิตเกษตรที่ดี (GAP) ทุกราย (Smart Group) ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและเป็นอาชีพที่ยั่งยืน

คุณกฤษฎาพร  บุตรแก้ว เกษตรอำเภอเชียงดาว กล่าวว่า อำเภอเชียงดาวมีสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ในหุบเขา เป็นเขตต้นน้ำลำธารที่สำคัญอย่างเช่นแม่น้ำปิง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าประมาณ ร้อยละ 80 ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพหลัก อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  47,075 ไร่  มากเป็นอันดับสองของจังหวัด และเกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยเฉพาะเชียงดาวเป็นเขตต้นน้ำลำธาร ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรง และมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งยังเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาหมอกควัน จากการเผาในพื้นที่ทำกินก่อนการเพาะปลูกข้าวโพดและพืชไร่ ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาวะของประชาชน ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมที่ต้องดูแลคนเจ็บป่วยและต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาล

ปี 2557 สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาวจึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพมะม่วง ทำโครงการสัญจร “การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกมะม่วง เพื่อการส่งออก” ไปทุกตำบล เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการปลูกมะม่วงและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตมะม่วง ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะม่วงแซม หรือทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ซึ่งการปลูกมะม่วงเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้มากกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 10 เท่า ก็ได้รับความสนใจจากเกษตรกร  ปัจจุบันเกษตรได้นำต้นกล้ามะม่วงไปปลูกแซมในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น  ปี 2557    อำเภอเชียงดาวมีพื้นที่ปลูกมะม่วงเพิ่มขึ้น 4,785 ไร่ และคาดว่าภายใน 3 ปี อำเภอเชียงดาวจะมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงร้อยละ 35 และอำเภอเชียงดาวจะเป็นแหล่งผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่  โดยลูกค้าสำคัญมะม่วงของอำเภอเชียงดาวคือ ญี่ปุ่น  เกาหลี  ไต้หวัน  จีน  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย  ไทย

 เกษตรกรต้นแบบ “  สุวิทย์  อุดทาเศษ  ”

คุณลุงสุวิทย์  อุดทาเศษ วัย 67 ปี  เป็นเกษตรต้นแบบ ( Smart Farmer) เรื่องการผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก ของอำเภอเชียงดาว ปัจจุบันสวนแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มะม่วงเพื่อการส่งออก โดยมีคุณลุงสุวิทย์เป็นวิทยากรประจำแปลง ให้ความรู้เรื่องการปลูกและดูแลสวนมะม่วงแก่เกษตรกรและผู้สนใจ

เดิมทีคุณลุงสุวิทย์และเกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้  ปลูกมะม่วงแก้วและโชคอนันต์เป็นจำนวนมาก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มหาชนกและมันขุนศรี เพราะขายได้ราคาที่ดีกว่า  คุณลุงสุวิทย์ไปเรียนรู้เทคนิคการปลูกและจัดการสวนมะม่วงกับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในอำเภอฝางและอำเภอพร้าวและนำความรู้ที่ได้มาจัดการสวนมะม่วงแนวใหม่ที่ตลาดต้องการ โดยใช้ต้นมะม่วงเดิมเป็นต้นตอแล้วนำกิ่งของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาเสียบยอด

หลังจากนั้น คุณลุงสุวิทย์ใช้ดูแลต่ออีก 3 ปี ก็ได้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกวางขายในท้องตลาดเนื่องจากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อในประเทศและส่งออกจึงสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ดี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40-50 บาท ป้อนตลาดต่างประเทศเช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย และกลุ่มประเทศอียู

สวนมะม่วงของคุณลุงสุวิทย์ มีเนื้อที่ปลูกจำนวน 45 ไร่ แบ่งเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง 35 ไร่ มะม่วงมันขุนศรี 10 ไร่ เริ่มปลูกเมื่อปี 2550 ที่นี่เน้นดูแลจัดการสวนให้ได้มาตราฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัย ( GAP) โดยงดใช้สารเคมีก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน และใช้ถุงห่อผลไม้เคลือบคาร์บอน ทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้สุกเหลืองทั้งลูก และป้องกันแมลงวันสีทอง เพลี้ยได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากคุณลุงสุวิทย์ดูแลจัดการสวนมะม่วงอย่างเป็นระบบ จึงขายสินค้าได้ราคาดี ได้ผลผลิตที่ดี เฉลี่ยมะม่วง  1 ต้น จะสามารถเก็บมะม่วงได้เกือบ 100 กก. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตที่มีมาตรฐานเฉลี่ย 5 ผลต่อ 2 กก. เคล็ดลับสำคัญที่ให้สวนแห่งนี้ได้ผลผลิตที่ดี เกิดจากใช้ วิธีการเสียบยอดทำให้ได้ผลดก รวมทั้ง ปลิดผลทิ้งในระยะแรก เพื่อคัดเลือกผลผลิตที่สมบูรณ์เก็บเอาไว้ขาย

สวนแห่งนี้ มีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นสินค้าหลักแล้ว ยังมีรายได้เสริมจาก การขายมะม่วงโชคอนันต์ ในราคาก.ก.ละ 12 บาทอีกด้วย เนื่องจาก สวนแห่งนี้ ใช้ต้นตอมะม่วงโชคอนันต์นั่นเอง เรียกว่า มะม่วงต้นเดียวแต่ฟันกำไรสองต่อ เพราะบนต้นมีมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองห้อยระย้าเต็มไปหมด บริเวณโคนต้น ยังมีมะม่วงโชคอนันต์ให้ผลผลิตดกเต็มต้นเช่นกัน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็ทำให้คุณลุงสุวิทย์โกยผลกำไรก้อนโตได้เลยทีเดียว

ปัจจุบัน คุณลุงสุวิทย์ยังเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนามะม่วงเพื่อคุณภาพบ้านปางเฟื่อง ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว โดยคุณลุงสุวิทย์ได้รวมกลุ่มสมาชิกที่ปลูกมะม่วงเศรษฐกิจ ประเภทน้ำดอกไม้สีทอง  มันขุนศรี และมะม่วงมหาชนก ไปขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มพัฒนามะม่วงเพื่อคุณภาพส่งออก เมื่อปี 2552 กับสำนักงานเกษตรอำเภอเชียงดาว มีสมาชิกทั้งหมด 14 คนผลผลิตที่ออกมาในระยะแรก ปี 2554-55 ต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายที่อำเภอพร้าว เนื่องจากผลผลิตไม่มากพอที่พ่อค้าจะมาเปิดจุดรับซื้อ

ปี 2556 ผลผลิตมะม่วงของอำเภอเชียงดาวเริ่มให้ผลผลิตมากขึ้น คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนระดับอำเภอนำโดยคุณลุงสุวิทย์ ได้ไปติดต่อพ่อค้าให้มาตั้งจุดรับซื้อมะม่วงเพื่อส่งออกในพื้นที่ อำเภอเชียงดาว เพื่อส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น   มะม่วงน้ำดอกไม้ทำรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่าปีละ126 ล้านบาท ส่วนมะม่วงมหาชนก นอกจากขายผลสดแล้วยังนำไปแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ในลักษณะน้ำมะม่วงและมะม่วงกวนขายดิบขายดีเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง