เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียน ใช้ตรวจวัดความอ่อนแก่ทุเรียน สู่การมีรายได้ที่มั่นคง

งานเกษตรมหัศจรรย์ 2561 เกษตรสร้างสุขยุคดิจิตอล มีมากมายเรื่องราว โดยเฉพาะการจัดแสดงทุเรียนกว่า 100 สายพันธุ์ ส่วนความก้าวหน้าทางด้านผลงานวิจัยเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าสนใจมากๆ เป็นการจัดแสดงเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับทุเรียนโดยมีทีมงานนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาบรรยายและสาธิตวิธีการ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนหรือเกษตรกรได้เรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

สำหรับท่านที่พลาดโอกาสไม่ได้ไปเที่ยวในงานและชม เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียน…ใช้ตรวจวัดความอ่อนแก่ทุเรียน สู่การมีรายได้ที่มั่นคง วันนี้ผู้เขียนได้นำเรื่องราวมาบอกเล่าสู่กันครับ

คุณลลิตา ออมสิน ทีมงานนักวิจัย เล่าให้ฟังว่า ทุเรียน เป็นไม้ผลเศรษฐกิจเงินล้านที่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและเทศชื่นชอบในรสชาติความอร่อย แต่การเก็บให้ได้ผลทุเรียนที่สุกแก่ระยะเหมาะสม ได้กลิ่นหอม เนื้อแห้ง กรอบนอกนุ่มใน หวานกำลังดี ก็ต้องใช้ประสบการณ์หรือความชำนาญของเกษตรกรผู้เก็บแต่ละคน

คุณลลิตา ออมสิน ทีมงานนักวิจัย

แต่ก็มีบางคนบางกลุ่มไม่มีความรู้และประสบการณ์แล้วไปเก็บได้ผลทุเรียนอ่อนหรือแก่เกินไป ก็จะทำให้ตลาดผู้บริโภคได้สิ่งที่ไม่ตรงกับความต้องการ ในโอกาสต่อไปก็จะไม่ใช้บริการ ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตทุเรียนไม่ได้ มีรายได้ไม่พอเพียงต่อการยังชีพ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมา เป็นผลงานของทีมงานวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาทดลองกระทั่งประสบความสำเร็จ ทำให้ได้ เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียน มาเป็นเครื่องมือให้เกษตรกรหรือผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการตรวจวัดคุณภาพทุเรียนหรือวิเคราะห์ความอ่อนแก่ของทุเรียนที่มีค่าความถูกต้องสูง เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียนเมื่อจัดทำเสร็จก็พร้อมจะนำออกมาใช้งานจริงในเร็ววันนี้

เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียน เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความยาวคลื่น 700-2,500 นาโนเมตร (nm) สามารถใช้ประโยชน์ของการเกิดอันตรกิริยาย่าน Near Infrared Spectroscopy NIR กับองค์ประกอบภายในตัวอย่าง เพื่อการวิเคราะห์คุณภาพทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ และไม่ทำลายตัวอย่างผลผลิต

คุณศุธหทัย โภชนากรณ์ ทีมงานนักวิจัย เล่าให้ฟังว่า เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียน จะทำงานได้อย่างรวดเร็วและไม่ทำลายตัวอย่าง เป็นเครื่องแบบพกพา มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ใช้งานง่าย มีส่วนประกอบสำคัญคือ
1. หัววัด (Probe) ที่มีขนาดเล็ก 23x35x15 เซนติเมตร
2. สวิตช์วัดหรือปุ่มสแกน (Scan button)
3. หน้าจอแสดงผลการตรวจวิเคราะห์ (Display screen) และ
4. สถานะแบตเตอรี่ (Battery) ใช้งานได้นาน 8 ชั่วโมง

การใช้เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียนหรือวิเคราะห์ความอ่อนแก่ของทุเรียน ทำได้ด้วยการนำหัววัดไปแนบหรือจ่อให้สัมผัสที่ผิวเปลือกทุเรียนในตำแหน่งที่ต้องการ กดปุ่มสวิตช์ให้เครื่องวัดสแกนซึ่งจะมีลำแสงผ่านออกมาจากหัววัดไปสัมผัสที่ผิวเปลือกทุเรียน

เครื่องวิเคราะห์และแสดงผลบนหน้าจอ จะเป็นค่าปริมาณเนื้อแห้งเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) ผ่านออกมาทางด้านหน้าจอ ภายใน 3 วินาที ก็จะทำให้เกษตรกรหรือผู้เกี่ยวข้องที่ใช้เครื่องมือได้รู้ว่า ทุเรียนผลนั้นอยู่ระยะใด เป็นทุเรียนอ่อน-แก่ หรือเป็นทุเรียนสุกแก่พอดี

การแสดงผลบนหน้าจอ จะเป็นค่าปริมาณเนื้อแห้ง (%) ค่าน้ำหนักเนื้อแห้งทุเรียน (ไม่ต่ำกว่า) เช่น หมอนทอง 32% ชะนี 30% กระดุม 27% หรือพวงมณี 30%

เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียนนี้มีความเหมาะสมที่จะใช้ตรวจวัดผลทุเรียนที่ตัดลงมาจากต้นใหม่ๆ เช่น เมื่อเครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียนจากผลทุเรียนที่ตัดลงมาใหม่แล้วทางหน้าจอแสดงผลออกมาว่าเป็นทุเรียนอ่อนหรือความบริบูรณ์ของทุเรียนไม่เหมาะสม หรือคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานไม่ควรบริโภคหรือเพื่อการส่งออก

เครื่องตรวจวัดคุณภาพทุเรียนหรือเครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียน ทำให้เราสามารถทราบความอ่อนแก่ของทุเรียนทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวได้ ไม่ต้องทำลายผล สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ทุกผล ส่งผลให้ทุเรียนที่ซื้อขายอยู่ในตลาด เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ส่งผลให้ภาพลักษณ์คุณภาพของสินค้าเกษตรของประเทศดีขึ้น

เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียนนี้ สามารถประเมินปริมาณเนื้อแห้ง (%) ของผลทุเรียน ซึ่งเป็นดัชนีบ่งบอกถึงความบริบูรณ์ของผลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และไม่แตกต่างจากค่าที่วิเคราะห์ด้วยวิธีการอบอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

คุณศุธหทัย โภชนากรณ์ ทีมงานนักวิจัย

จากเรื่องราวของ เครื่องวิเคราะห์ความบริบูรณ์ของทุเรียน…ใช้ตรวจวัดความอ่อนแก่ทุเรียน สู่การมีรายได้ที่มั่นคง เหมาะที่จะเป็นเครื่องมือของเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องนำไปวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน หรือรู้ระยะสุกแก่พอดีที่เหมาะสมต่อการบริโภค

สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณลลิตา ออมสิน โทร. (087) 761-3301 และ คุณศุธหทัย โภชนากรณ์ โทร. (089) 774-0586 หรือ ผศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ หัวหน้าโครงการวิจัย โทร. (089) 917-1017 หรือที่ภาควิชาวิศวกรรม-การอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ครับ