ปลูกมัลเบอร์รี่ แบบซุ้มอุโมงค์ เทคนิคง่ายๆ ช่วยสวนเป็นระเบียบ ง่ายต่อการดูแล

มัลเบอร์รี่ หรือ หม่อน ผลไม้หนึ่งในตระกูลเบอร์รี่ ปลูกง่าย แปรรูปเป็นผลิตภัณ์เพื่อสุขภาพสร้างมูลค่าได้หลากหลาย สามารถปลูกได้กับทุกสภาพพื้นที่ มีข้อดี ข้อเสีย ต่างกัน หากปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน แดดจัด ผลจะดก โตเร็ว มีข้อเสียคือ ผลจะนิ่ม ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นผลหม่อนจะออกไม่ดกมาก ข้อดีคือ ผลจะมีความหวาน กรอบ หากจะปลูกเชิงการค้าแนะให้เลือกพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศเย็นและมีแดดส่องถึง

คุณนันทวัน โตอินทร์ หรือ ครูไก่ เจ้าของสวนแม่หม่อน ตั้งอยู่ เลขที่ 201 หมู่ที่ 5 ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เผยเทคนิคการปลูกมัลเบอรร์รี่ แบบซุ้มอุโมงค์ ว่าเริ่มทำเต็มรูปแบบ เมื่อปี 2557 ปลูกทั้งหมด 13 ไร่ แบ่งปลูก 2 พันธุ์ แปลงแรก จำนวน 8 ไร่ ปลูกพันธุ์เชียงใหม่ 60 อีก 5 ไร่ แบ่งปลูกพันธุ์ดำออสตุรกีเป็นพันธุ์ของต่างประเทศ เพื่อสร้างความหลากหลาย ในส่วนของพันธุ์ดำออสตุรกี ตอนนี้ยังผลิตไม่พอขาย

ข้อดีของพันธุ์เชียงใหม่ 60 เหมาะกับทุกสภาพพื้นที่ทั่วประเทศ เพียงแต่มีข้อดี ข้อด้อย ต่างกัน ถ้าปลูกที่อำเภอวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่อากาศเย็น เพราะฉะนั้นผลจะหวาน กรอบ ลูกแข็ง โดยธรรมชาติ

ปลูกมัลเบอร์รี่แบบอุโมงค์ ดูแลจัดการง่าย ดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี

ที่สวนแม่หม่อน ใช้วิธีการปลูกแบบแบ่งโซน มีการจัดกิ่งให้โน้มเข้าหากันคล้ายอุโมงค์ เพื่อง่ายต่อการดูแลเก็บเกี่ยวผลผลิต และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม เก็บผลสดถ่ายรูปได้ตลอดทั้งปี วิธีการไม่ยาก แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน ถ้าปลูกที่บ้าน ให้ปลูกแค่ 4 ต้น สมมุติว่า ที่สวนมี 400 ต้น ให้แบ่งปลูกเป็นโซน โซนละ 100 ต้น

Advertisement

100 ต้นแรก ให้ตัดแต่งกิ่งและยอด เอาใบออก แล้วจับกางออกให้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง แล้วนับตั้งแต่วันตัดแต่งกิ่ง 50 วัน จะเริ่มเก็บลูกได้ ระยะเวลาในการเก็บลูก 20 วัน ถึง 1 เดือน ลูกจะหมด เพราะฉะนั้น 100 ต้นแรก แต่ง วันที่ 1 ของเดือนมกราคม เว้นไว้ 1 เดือน วันที่ 1 ของเดือนกุมภาพันธ์ มาแต่งอีกโซน ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 4 โซน พอครบก็จะกลับมาโซนที่ 1 ใหม่ 1 ต้น 1 ปี จะตัดได้ 3 ครั้ง ด้วยวิธีนี้มัลเบอร์รี่ที่นี่จึงไม่ขาดลูกเลยตลอดทั้งปี

ระยะห่างระหว่างแถว 4×4 เมตร ต้นโตดี ให้ผลผลิตดก

Advertisement

ระยะห่างที่เหมาะสมคือ 4×4 เมตร เพื่อให้กิ่งแผ่รับแสงแดดได้เต็มที่ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ทำงานสะดวก เก็บผลง่ายเวลาเดินเก็บไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง” ครูไก่ บอก

ระบบน้ำ เนื่องจากอำเภอวังน้ำเขียว เป็นอำเภอที่มีหมอกหนา น้ำค้างเยอะ ที่สวนจึงใช้สปริงเกลอร์สูง รดจากด้านบนลงมา ตั้งแต่ตี 5 ข้อดีคือ ชุ่มชื้น ล้างใบป้องกันโรคได้ดี แต่ข้อเสียของสปริงเกลอร์คือ เปลืองน้ำ หญ้าขึ้นเยอะ

ตัดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ย

เจ้าของบอกว่า ให้นับตั้งแต่วันที่เก็บลูกรุ่นแรกหมด พักไว้แล้วใส่ปุ๋ยคอก รดน้ำ พักทิ้งไว้ให้ต้นเก็บอาหารอย่างน้อย 2 เดือน แล้วตัดใหม่ ปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ตามสูตรของวิศวกรรมแม่โจ้ ลงสม่ำเสมอ เยอะไม่เป็นไร จะเป็นมูลอะไรก็ได้ ที่นี่จะใช้มูลวัว เพราะโดยแวดล้อมเกษตรกรเลี้ยงวัวเยอะ ถ้าที่อื่นมีฟาร์มหมูหรือฟาร์มไก่ ก็ใช้ได้เช่นกัน