“ไผ่” พืชหล่อเลี้ยงชีวิต สร้างประโยชน์นานับประการ

ผงถ่านที่มีประสิทธิภาพ ใช้ทำผลิตภัณฑ์เวชสำอาง

ถือว่าเป็นที่ฮือฮากันในกลุ่มพลังงาน เมื่อชุมชนผาปัง สามารถสร้างปรากฏการณ์ด้วยการนำถ่านไม้ไผ่มาใช้เป็นพลังงานแก๊สในรถยนต์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จจากการนำไผ่มาผลิตเป็นถ่านให้พลังงานความร้อน รวมถึงยังนำผงถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูงไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเป็นยาเวชภัณฑ์ เวชสำอางสบู่ไผ่  ครีมขัดหน้า ครีมบำรุงผิว น้ำยาสระผม น้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ พร้อมไปกับการเป็นชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากร อย่างไรก็ตาม คงมีหลายคนเกิดความสงสัยว่า พวกเขาเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำไมจึงเก่งจัง??

 

เชื่อแน่ว่ามีหลายคน

ยังไม่รู้จักชุมชนแห่งนี้

ชาวผาปัง เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 1,774 คน เป็นตำบลที่อยู่ในอำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน เช่น บ้านนาริน บ้านผาปังกลาง บ้านห้วยไร่ บ้านเด่นอุดม เป็นต้น

คำว่า “ผาปัง” เป็นชื่อท้องถิ่นที่มีประวัติว่าตำบลแห่งนี้มีขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ในหุบเขาอย่างโดดเดี่ยว และเป็นทางตันที่ไม่อาจเดินทางด้วยรถยนต์ เพื่อจะผ่านไปยังอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนได้ ทั้งที่อยู่คนละฟากของภูเขา ที่มีชื่อเรียกว่า “ดอยอานม้า” และ “ดอยหลวง”

(จากซ้าย) กำนันธวัชชัย, คุณรังสฤษฏ์, คุณวิรัตน์ และคุณไพรัตน์ โดยมีด้านหลังเป็นต้นยาง อายุกว่าร้อยปี
(จากซ้าย) กำนันธวัชชัย, คุณรังสฤษฏ์, คุณวิรัตน์ และคุณไพรัตน์ โดยมีด้านหลังเป็นต้นยาง อายุกว่าร้อยปี

ขุนเขาทั้งสองลูกนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของผาปัง อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าเหตุผลที่มาของชื่อผาปังก็สืบเนื่องมาจากขุนเขาที่เป็นภูเขาหิน เมื่อมีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวหรือฝนตกเซาะพื้นดินเป็นเวลานานจำนวนมาก จึงทำให้หินกร่อนแล้วนานวันเข้าจึงได้พังทลายลงมา (“ปัง” เป็นภาษาคำเมือง หมายถึง พัง)

การเดินทางที่ไม่มีรถยนต์เข้าถึงได้สะดวก จึงทำให้ตำบลผาปังมีความบริสุทธิ์ด้วยสภาพอากาศที่ดีเยี่ยม มีทิวทัศน์ที่ยังไม่ได้เปิดเผยหลายแห่งที่ถือเป็นจุดขายของตำบลผาปัง และประการสำคัญพื้นที่ในตำบลผาปังมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น เห็ดโคน เห็ดเผาะ และเห็ดอีกหลายชนิดที่ทำให้เศรษฐกิจของผาปังดีขึ้น รวมไปถึงสัตว์ป่าอนุรักษ์ที่จัดว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ อึ่ง แย้

ทั้งยังมีผักป่าพื้นบ้านเก่าแก่ ซึ่งเมื่อได้รับน้ำฝนที่โปรยปรายลงมาต่างเจริญเติบโตงอกงามสร้างรอยยิ้มให้แก่พี่น้องชาวผาปังด้วยความสุขจากอาหารจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ดอกก้าน ผักหวาน ผักก้อแก้ ผักบอนเต่า ฯลฯ

แม้ภาพรวมดูเหมือนว่า ผาปัง จะมีความสมบูรณ์จากธรรมชาติ แต่ทว่าทำเลของตำบลนี้ตั้งอยู่ด้านหลังเขา เนื่องจากด้านหน้าเขาเป็นป่า มีเมฆฝนมาก เพราะความชื้นสูง และเย็น เมฆกระทบความเย็นกลายเป็นฝนตกหมด จนทำให้อีกด้านฝนตกน้อย ไม่ค่อยตกหรือได้รับน้ำแค่เพียงละอองเท่านั้น จึงถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่อยู่ในเขตเงาฝน

เมื่อประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจนเกิดความแห้งแล้งติดต่อยาวนาน จึงทำให้คนในชุมชนผาปังขาดทรัพยากรในการทำกิน ทุกคนต้องดิ้นรนออกไปหางาน หาอาชีพในต่างถิ่น พอนานวันจึงเกิดเป็นลักษณะการอพยพต่างถิ่นถาวร ทิ้งบ้านเรือนไม่ยอมกลับมา หรืออาจจะกลับบ้านเกิดเฉพาะเทศกาลเพื่อมาเยี่ยมพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ยังมีชีวิตอยู่

สำหรับครอบครัวที่ไม่มีเครือญาติอาศัยอยู่แล้วก็ปล่อยให้เป็นบ้านร้างกว่า 20 หลังคาเรือน ประชากรมีไม่ถึง 2,000 คน อันมีผลทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเป็น อบต. ได้ และจำเป็นต้องไปรวมการบริหารท้องถิ่นกับตำบลแม่พริกที่มีขนาดพื้นที่มากกว่า จึงทำให้ผาปังได้รับงบประมาณไม่เพียงพอกับการพัฒนาชุมชน

ดังนั้น ในปี 2547 จึงเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการมีส่วนร่วมของ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน-ครูอาจารย์-พระสงฆ์-เด็กและเยาวชนตำบลผาปัง-(บ.ว.ร.ส) ร่วมกันออกแบบความคิด ร่วมทำ ร่วมกันตัดสินใจ และร่วมเป็นเจ้าของการพัฒนาชุมชน โดยจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศทางการพัฒนาชุมชนตำบลผาปังขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการเชิงโครงสร้างชุมชน และแยกออกเป็นการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนตามสาขาต่างๆ 

จากนั้นจึงนำมารวมกันเป็นเครือข่าย และได้พัฒนาเป็นหน่วยงานนิติบุคคล ชื่อ “มูลนิธิพัฒนาชุมชนตำบลผาปัง”  มีการวางแผนงานอย่างเป็นระบบและขั้นตอน ด้วยการ สำรวจ ดิน น้ำ ป่า ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างที่มีอยู่ เพื่อการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเอง แล้วนำไปบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น จัดตั้ง “คณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง” เพื่อเป็นหน่วยงานศูนย์กลางภาคประชาชนในการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างองค์กร

และในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวชุมชนผาปังได้เปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชล้มลุก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง หันมาปลูกไผ่ เพื่อต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิด “มีป่า มีน้ำ มีพลังงาน มีชีวิต” แล้วต่อยอดด้วยการตั้งกลุ่มกิจกรรมย่อยด้านต่างๆ ที่เป็นลักษณะสอดคล้องกัน อีกทั้งวิสาหกิจเหล่านั้นสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง อาทิ วิสาหกิจผลิตตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น ก้านธูป เครื่องจักสาน ส่วนเศษวัสดุที่เหลือ เช่น ข้อไผ่ นำมาเผาและบดเป็นถ่านอัดแท่ง เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม

พลังงานอัดแท่ง
พลังงานอัดแท่ง

มีผลพลอยได้จากการเผาถ่านเป็นน้ำส้มควันไม้ ที่สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ใช้ผสมน้ำสำหรับฉีดพ่นขับไล่แมลงและป้องกันเชื้อรา เป็นผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ ส่วนเศษวัสดุส่วนที่เหลือจะเก็บสต๊อกไปบดอัดเป็นเชื้อเพลิงใช้ในสถานีวิสาหกิจโรงไฟฟ้าชุมชน นอกจากนั้น ยังมีวิสาหกิจอื่นอีกมากมาย เช่น วิสาหกิจผลิตอิฐ วิสาหกิจผลิตปุ๋ยชุมชน วิสาหกิจผลิตผักปลอดสารพิษ วิสาหกิจผลิตสมุนไพรพื้นบ้าน วิสาหกิจผลิตข้าวกล้อง วิสาหกิจผลิตกล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

โดยในแง่ของการบริหารจัดการทางชุมชนมีการจัดตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปังขึ้น เพื่อมากำหนดขอบเขตกติกาต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ต่อชุมชน เช่น การจัดหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผาปัง การจัดการบัญชีรายรับรายจ่าย รวมถึงการดำเนินโรงไฟฟ้าชุมชนจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยร่วมลงทุนกับบริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อขายไฟฟ้าให้กับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนแห่งนี้สู่ความพอเพียง

อย่างไรก็ตาม โมเดลวิสาหกิจชุมชนผาปัง เป็นที่สนใจจากหน่วยงานหลายแห่ง พร้อมกับมีการเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมดูงานเป็นจำนวนมาก และกำลังถูกขยายผลเป็นต้นแบบไปอีก 10 ชุมชน

 

การปลูกไผ่

มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ได้ร่วมมือกับจังหวัดลำปาง โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง ได้เพาะกล้าพันธุ์ไผ่ซาง เพื่อนำไปปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ ที่ดินสิทธิทำกิน และที่ดินบริเวณป่าชุมชน ด้วยความตระหนักว่า “ไผ่” เป็น พืช “เศรษฐกิจ พืชกินได้ พืชใช้สอย” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ   

จากสภาพพื้นที่มีความสมดุลระหว่างคนในตำบลผาปัง จึงมีการออกแบบพัฒนาไผ่ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจชุมชน พืชดูแลสิ่งแวดล้อม และรักษาสุขภาพ มีการศึกษาการจัดการไผ่ชุมชนอย่างครบวงจร เพื่อแก้ไขวิกฤตน้ำ วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพได้ เพราะไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้า อุ้มดิน อุ้มน้ำ ดูดซับความชื้น เพิ่มออกซิเจนให้กับป่ามากกว่าไม้ชนิดอื่น ร้อยละ 35 

อีกทั้งยังเป็นพืชที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ตำบลผาปัง สอดคล้องกับการดำรงชีพของชุมชนตำบลผาปัง และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างไรก็ตาม เนื้อที่การปลูกไผ่ทั้งหมด ได้แก่การปลูก และการบริหารจัดการไผ่บริเวณที่ดินสิทธิทำกิน สทก./ส.ป.ก. 145 ไร่ (เดิม) และมีการปลูกเพิ่มของสมาชิกเครือข่ายไผ่ชุมชนตำบลผาปัง จำนวน 200 ไร่/ปี 5 ปีต่อเนื่อง มีการปลูก และการจัดการไผ่ ในที่ดินกรรมสิทธิ์ โฉนด น.ส. 3 ก จำนวน 50 ไร่ (เดิม) และการปลูกเพิ่มของเครือข่ายสมาชิก จำนวน 100 ไร่/ปี 5 ปีต่อเนื่อง

 

การนำไผ่ไปใช้ประโยชน์

ในตำบลผาปัง ได้นำไผ่ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต พัฒนาอาชีพ สร้างการเรียนรู้ วิจัย ปัญญาปฏิบัติศึกษาจริง  ก่อนนำมาสรุปสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างเป็นระบบครบวงจรที่ยั่งยืน โดยออกแบบประเมินรายละเอียดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจชุมชน Detaildesign จับคู่ทางธุรกิจชุมชน Business Matching กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ  เอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิสาหกิจในแต่ละด้าน 

ภาชนะที่แปรรูปมาจากไผ่
ภาชนะที่แปรรูปมาจากไผ่

โดยวิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานความร่วมมือจะเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมคิด เสนอแนะ ร่วมทำ ร่วมตัดสินในการพัฒนาวิสาหกิจร่วมกันตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การขายลำไผ่ ขายหน่อไผ่ มีระบบการตัดมาใช้ประโยชน์ตามวงจรชีวิตของไผ่ ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ โดยหมุนเวียน 3 ปี ตัด 30 ไร่/ปี ใช้ปริมาณไผ่ วันละ 3 ตัน ทำให้เครือข่ายสมาชิกวิสาหกิจชุมชนปลูกไผ่มีรายได้ เฉลี่ย 1,080,000 บาท/ปี เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการแปรรูป

แนวทางการใช้ประโยชน์จากต้นไผ่จะต้องมีการศึกษา วิจัย ทดสอบ ในทุกส่วนของไผ่ว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าอย่างเต็มที่ และเป็นการสร้างมูลค่าด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง เช่น การนำเศษขี้เลื่อยอันเกิดจากการตัดไผ่ การขัดเหลาตะเกียบ มาผลิตเป็นก้อนเชื้อเพลิงอัดแท่ง Pellets เพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน หรือก๊าชธรรมชาติ ก๊าชหุงต้ม

ในกรณีของการใช้ประโยชน์จากถ่าน ข้อไผ่ สามารถผลิตเป็นถ่านประสิทธิภาพต่ำ Black Charcoal เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็ก หรือนำไปเป็นพลังงานก๊าชสะอาด Syngas ที่ให้พลังงานสูง การเผาไหม้ สมบูรณ์ ไม่มีมลภาวะ เป็นระบบการผลิตก๊าชที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการผลิตด้วยระบบก๊าชซิฟิเคชั่นที่ใช้ วัตถุดิบชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานความร่วมมือ คือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิสร้างสุขชุมชน และวิสาหกิจผลิตเชื้อเพลิงพลังงานชุมชนผาปัง กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย การประยุกต์ใช้เชื้อเพลิงพลังงานถ่านไผ่ พร้อมไปกับการขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ในเดือนสิงหาคม 2559 มีระยะเวลาคืนทุน 3 ปี 8 เดือน

ส่วนประโยชน์ที่เกิดจากปล้องไผ่ เป็นการนำส่วนปล้องของไผ่ มาผลิตเป็นตะเกียบ และไม้เสียบอเนกประสงค์  สร้างรายได้ให้กับชุมชน ราษฎรในพื้นที่มีงานทำ สร้างรายได้เฉลี่ยให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปและสมาชิก

นอกจากนั้นแล้ว ซังไผ่ที่เกิดจากเศษตะเกียบยังนำมาอบเป็นถ่านประสิทธิภาพต่ำ ผลิตเป็นถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่งนำไปขายสร้างรายได้, มีการนำฝอยตะเกียบไผ่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตภาชนะไบโอ Biopack,ใช้ฝอยใยไผ่ผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเยื่อใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ 

หรือแม้แต่การใช้ประโยชน์จากถ่านไผ่ เป็นการศึกษาวิจัย จากการนำเศษวัตถุดิบจากไผ่มาผลิตเป็นถ่านประสิทธิภาพต่ำ Black Charcoal นำมาเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ผลิตเป็น Syngas เพื่อนำมาทดแทนก๊าชหุงต้ม LPG และน้ำมัน ในการดำรงชีวิตประจำวัน 

ล่าสุด…มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ยังได้พัฒนาและทดลองใช้เชื้อเพลิงจากถ่านไผ่ ในรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องยนต์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำมาเป็นพลังงานทางเลือก ที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป 

ที่เห็นในภาพ ไม่ใช่กองขยะ แต่เป็นกองไม้ไผ่ที่เตรียมเผา
ที่เห็นในภาพ ไม่ใช่กองขยะ แต่เป็นกองไม้ไผ่ที่เตรียมเผา

ถ่านไผ่ไม่เพียงสร้างประโยชน์ทางด้านพลังงาน แต่ในด้านความสวยงามแล้วถือเป็นวัตถุดิบสำคัญ แล้วยังได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนี้ด้วยการนำผงถ่านไผ่ประสิทธิภาพสูงนี้ Activated Charcoal มาผลิตเป็นยาเวชภัณฑ์  เวชสำอางสบู่ไผ่ ครีมขัดหน้า ครีมบำรุงผิว น้ำยาสระผม น้ำยาทำความสะอาด รวมถึงการนำผงถ่านไผ่มาใช้ในอุตสาหกรรมโรงกลั่น เป็นต้น และทางด้านการตลาดได้จับคู่องค์กรความร่วมมือสร้างธุรกิจชุมชน (Business Matching) กับองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ

ขณะเดียวกันทีมงานเทคโนฯ ได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับบุคคลสำคัญในคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ได้แก่ คุณรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง คุณธวัชชัย เทวราช กำนันตำบลผาปัง คุณวิรัตน์ สีคง ประธานเครือข่ายฯ และ คุณไพรัตน์ คันธชุมภู อบต. เป็นการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์เพื่อเข้าสำรวจพื้นที่ปลูกไผ่ตามแหล่งปลูกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ ที่ดินสิทธิทำกิน ที่ดินบริเวณป่าชุมชนและไผ่ตามธรรมชาติที่เกิดตามหัวไร่ปลายนา 

 

กำนันผาปัง ขอร้อง

ชาวบ้าน อย่าเผาป่า              

คุณธวัชชัย เทวราช กำนันตำบลผาปัง กล่าวว่า ผืนป่าที่เห็นเบื้องหน้าเป็นป่าไผ่ธรรมชาติ บริเวณนี้เรียกว่า ป่าแม่ขะยาก เป็นไผ่ซางนวล อายุต้นไผ่น่าจะราวร้อยกว่าปี ไผ่ตามธรรมชาตินี้ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดที่ร่วงหล่นลงพื้น หรือขุยไผ่ตามภาษาทางภาคเหนือ และเมื่อได้น้ำจากธรรมชาติก็จะเติบโตขึ้น ขณะเดียวกันถ้าชาวบ้านเผาป่าแล้วไปโดนต้นไผ่อ่อนก็จะตายทันที แล้วกว่าจะมีต้นอ่อนใหม่เกิดขึ้นต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้น หากชาวบ้านงดการเผาป่าแล้วในอีกต่อไปก็จะพบว่าป่าไผ่แห่งนี้มีความสมบูรณ์

สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ของชาวบ้านคงตัดไปใช้ได้เพียงเล็กน้อยเฉพาะในเรื่องการก่อสร้างบ้านเรือน ทำอุปกรณ์เครื่องมือ หรือหาหน่อเท่านั้น ขณะเดียวกันกำลังมีการหารือกับทางป่าไม้เกี่ยวกับการนำไผ่ในป่าชุมชนมาสร้างมูลค่า ซึ่งต้องมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะป้องกันไม่ให้ชาวบ้านตัด มิเช่นนั้นป่าไผ่หมดเกลี้ยงแน่ ขณะเดียวกันชาวบ้านทุกคนต้องช่วยกัน ร่วมมือกันอนุรักษ์ และรักษาผืนป่าไว้ด้วย

กำนันให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า กำลังจะมีพิธีบวชป่าและทำบุญต้นน้ำ ถือเป็นประเพณีความเชื่อของชาวบ้านในท้องถิ่นนี้ก่อนถึงช่วงเวลาทำนา

ขี้เลื่อยไผ่อัดก้อน ส่งขายต่างประเทศ
ขี้เลื่อยไผ่อัดก้อน ส่งขายต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในระยะยาว ได้มีการทำฎีกาของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อทูลเกล้าฯ เมื่อปี 2554 เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยต้อง ตามโครงการตามแนวพระราชดำริ เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่มีความเดือดร้อนในเรื่องแหล่งน้ำสำหรับไว้ใช้บริโภคและการเกษตร โดยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถเก็บน้ำได้ถึง 700,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่ทางการเกษตรได้ถึง 800-1,000 ไร่

 

ต้องสางป่า

เพื่อจัดระเบียบให้ถูกต้อง

ช่วยสร้างธรรมชาติให้ยั่งยืน

คุณรังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง เสริมว่า ชาวบ้านที่ขึ้นมาตัดไผ่ไปใช้ประโยชน์ ยังตัดไม่ถูกวิธี เพราะอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต การตัดไผ่อย่างถูกวิธีตามวงจรชีวิตของไผ่ โดยการใช้เสียมตัดที่โคนต้น เพื่อไม่ให้ออกกิ่งข้าง และบังคับให้ออกเป็นหน่อใหม่ทดแทน เฉลี่ยตัด 1 แม่ จะออกลูกใหม่เพิ่ม 3 หน่อ

ที่ปรึกษามีความเห็นว่า ควรมีการสางป่า หมายถึง การจัดระเบียบในป่าไผ่ใหม่ ด้วยการเริ่มต้นจากการให้ความรู้แก่ชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ประกาศเป็นป่าชุมชนแล้ว เพียงแต่รอให้ทางกรมป่าไม้เข้ามาจัดการออกระเบียบ ข้อบังคับ และกติกาต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงค่อยหารือเพื่อทำตามแผนงานที่วางไว้ต่อไป

“ในอนาคตมีแผนร่วมกับทางการท่องเที่ยวและตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีแนวคิดว่า จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ และไม่ต้องการให้ตัดไผ่มาใช้ เพราะต้องการเก็บไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ทุกวันนี้ปัญหาอยู่ตรงที่ชาวบ้านต้องให้ความร่วมมือสอดส่องดูแล”

ถ่านจากส่วนต่างๆ ของต้นไผ่
ถ่านจากส่วนต่างๆ ของต้นไผ่

ในอดีตถึงแม้บ้านผาปังจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก และมีความเป็นอยู่แบบทุกข์ยาก แต่ด้วยความสามัคคี ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ทุ่มเท มุ่งมั่น แล้วไม่ยอมแพ้แม้จะต้องฝึกฝนกันอย่างหนักและยาวนาน จนเมื่อเวลาผ่านไป ความวิริยะ อุตสาหะ พาพวกเขาฝ่าด่านความยากเข็ญออกมาได้

แต่วันนี้ชุมชนผาปังกลับเป็นที่รู้จักดีในฐานะชุมชนต้นแบบที่มีความเป็นอยู่แบบพอเพียง เป็นชุมชนที่ร่วมกันอนุรักษ์ผืนดินเกิดในทุกตารางนิ้ว ชาวผาปังทุกคนมีใบหน้าสดใส อันเป็นผลมาจากความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกบ้านอยู่อย่างมีความสุข ไม่มีโจรผู้ร้าย บ้านแต่ละหลังรวมถึงถนนหนทางมีความเป็นระเบียบ สะอาด ไม่ต้องจ้างคนเก็บขยะ เพราะทุกคนต่างมีวินัย รักษากฎกติกาอย่างจริงจัง

แล้วในที่สุดพวกเขาสามารถก้าวมายืนแถวหน้าเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศได้อย่างภาคภูมิใจ พร้อมจะต้อนรับทุกท่านที่มาเยือน และจากทั้งหมดที่เกิดขึ้น จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “ไผ่” เป็นพืชหล่อเลี้ยงชีวิตชาวผาปัง จังหวัดลำปางอย่างแท้จริง

 

สนใจต้องการเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมของชุมชนกลุ่มวิสาหกิจผาปัง ติดต่อได้ที่ สำนักงาน เลขที่ 2/1 วัดผาปังกลาง (บริเวณดอยพระบรมธาตุเจดีย์หลวง 12 นักษัตร) หมู่ที่ 3 ตำบลผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง โทรศัพท์/โทรสาร (054) 837-202 มือถือ (081) 805-9889  FB: วิสาหกิจชุมชนตำบลผาปัง Web : มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง

สำหรับท่านที่สนใจสุดยอดนวัตกรรมของไผ่ ขอเชิญร่วมงานใน วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2559 ในงานสัมมนา สุดยอดนวัตกรรมจากไผ่ของไทย ที่ห้องประชุมหนังสือพิมพ์ข่าวสด ประชานิเวศน์ 1 กรุงเทพฯ  ผู้สนใจ จองที่นั่ง เพื่อพบปะกันได้ สำรองที่นั่ง หรือ สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ 082-9939097 และ 082-9939105 หรือ 02-9543977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124