“ ม่วงสามสิบ ” แหล่งปลูก “ พริกอินทรีย์ ”

จังหวัดอุบลราชธานีเป็นแหล่งปลูกพริกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยปลูกพริกกันมากในอำเภอม่วงสามสิบ อำเภอเมือง และอำเภอเขื่องใน  ปัญหาอุปสรรคสำคัญของการปลูกพริกเพื่อการส่งออก คือ ปัญหาโรคพืชและแมลงศัตรูพืช เช่น ไส้เดือนฝอยรากปม โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคใบหงิกที่เกิดจากเชื้อไวรัส และโรคแอนแทรกโนส แมลงวันเจาะผลพริก เพลี้ยไฟ ไรขาว และต้นกล้าเหี่ยวยุบ

เมื่อเจอปัญหาโรคแมลงระบาด เกษตรกรจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีเพื่อรักษาผลผลิต แต่ปัญหาที่ติดตามก็คือ เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในพริก โดยสารพิษที่พบเกินค่าความปลอดภัยมากขึ้นทุกปี ได้แก่ สารไซเปอร์เมทริน โปรวิโนฟอส คลอไพรีฟอส เนื่องจากเกษตรกรใช้สารเคมีโดยขาดความระมัดระวัง ใช้ในกลุ่มที่มีพิษร้ายแรง และใช้ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำ มีการเก็บเกี่ยวก่อนระยะปลอดภัยซึ่งเสี่ยงต่อการตกค้างของสารพิษในผลผลิต  นอกจากนี้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราสูงและใส่โดยไม่ได้มีการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ธาตุอาหารสะสมในดิน ทำให้สภาพดินเสื่อม

พื้นที่ปลูกพริกที่มีสภาพเป็นดินร่วน ปนทราย เสี่ยงต่อการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปม ทำให้ผลผลิตลดลง 50 – 100 เปอร์เซ็นต์  ประกอบกับเกษตรกรขาดความรู้และความระมัดระวัง พวกเขาปลูกพริกโดยไม่มีการวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน ใส่ปูนขาวพร้อมกับปลูก ใช้ทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพริก

การปลูกพริกของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวเสี่ยงเจอปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช จำเป็นต้องใช้สารเคมีตั้งแต่เพาะกล้าจนถึงระยะเก็บเกี่ยว และเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนระยะความปลอดภัย  ทำให้มีผลการตกค้างของสารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค

พริกอินทรีย์  

ปัญหาสารพิษตกค้างในพริกส่งออกของประเทศไทย  กลายเป็นจุดอ่อนที่หลายประเทศหยิบยกเรื่องคุณภาพผลผลิต มาเป็นข้อกำหนดในการกีดกันทางการค้า ประกอบกับกระแสความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกมุมโลก   สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี (สวพ. 4) จึงได้วิจัยและพัฒนาระบบการผลิตพริกอินทรีย์ ซึ่งเป็นการผลิตพริกโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตที่นำมาปรับปรุงบำรุงดิน ต้องใช้มาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี (สวพ. 4) ใช้พื้นที่บ้านเดือยไก่ ต.หนองเหล่า และ ต.หนองฮาง เป็นแหล่งนำร่องในการส่งเสริมปลูกพริกอินทรีย์  เมื่อสิ้นสุดโครงการได้คัดเลือก “ คุณวิเชียร  ชีช้าง ” ผู้ปลูกพริกบ้านก่อฮาง ต. หนองฮาง อ. ม่วงสามสิบ เป็นเกษตรกรต้นแบบเรื่องการปลูกพริกอินทรีย์ ตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร

การปลูกดูแล 

คุณวิเชียรปลูกพริกอินทรีย์ ได้แก่ พริกขี้หนูสวนผลใหญ่ พันธุ์ช่อระย้าเบอร์ 13 พันธุ์ทองดำ และพันธุ์หัวเรือเบอร์ 11 ซึ่งทุกพันธุ์ขายในราคาเดียวกันหมด คุณวิเชียรใช้สารชีวภาพมาใช้ควบคุมโรคและแมลง สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างดี ซึ่งการปลูกพริกแต่ละรุ่นจะสามารถเก็บผลผลิตได้ยาวนานถึง4เดือน เฉลี่ยไร่ละ 1,000 กิโลกรัม  มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท ต่อฤดูการผลิต ขึ้นกับราคาพริก ที่ผ่านมา พริกอินทรีย์ขายได้ราคาสูงกว่าพริกทั่วไปถึง 3 – 5 เท่าตัว กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ขายดี เป็นที่ต้องการของบริษัทผู้ส่งออก โดยพริกอินทรีย์ของเขาส่งออกไปขายในประเทศญี่ปุ่นและหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป

พื้นที่ปลูกพริกอินทรีย์ของคุณวิเชียร ไม่อยู่ใกล้กับแหล่งผลิตพืชอื่นที่มีการใช้สารเคมี และ ปลูกต้นไผ่เป็นแนวกันชน เพื่อป้องกันสารเคมี ที่มีการฉีดพ่น มาจากฟาร์มหรือแปลงอื่น ไม่ให้ฟุ้งมากับอากาศ

หากใครสนใจปลูกพริกอินทรีย์  ก่อนปลูก ควรเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์หาความเป็นกรดเป็นด่างเสียก่อน และหว่าน “ปอเมือง” ก่อนปลูกพริก50 วัน เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด โดยไถกลบ ไถพรวนทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน จึงค่อยลงมือปลูกพริกและใช้ปุ๋ยมูลไก่หมัก 3 ตัน/ไร่ แนะนำให้ใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ และน้ำหมักสมุนไพร ซึ่งประกอบด้วย ปุ๋ยคอก รำละเอียด แกลบดิน เศษผัก ปลา กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ฟักทองแก่จัด

ส่วนน้ำหมักสมุนไพรได้แก่ ใบสะเดาทั้งใบและก้าน ใบยูคาลิปตัส  ข่าแก่ เครือบอระเพ็ด  และกากน้ำตาล ปุ๋ยน้ำหมักต้องให้อย่างสม่ำเสมอ  และใช้เชื้อ BT (บาซิลลัส  ทรูรินเอนซิส) เชื้อไตรโคเดอร์มาเข้าไปฉีดพ่นกำจัดศัตรูพืช  หรือใช้วิธีผสมผสานทั้งสมุนไพรและเครื่องมือดักแมลงหรือเหยื่อล่อแมลง ก็ได้ผลดีเช่นกัน

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 อุบลราชธานี โทรศัพท์  0-4520-2190, 08-6465-7595