เพชรชุมพร จากทุเรียนพื้นบ้าน สู่เพชรเม็ดงามประดับวงการทุเรียน

ทุเรียน เป็นผลไม้เมืองร้อน ที่มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก สามารถปลูกได้ทั้งในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพรนับเป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพส่งออก ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดชุมพรที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน จึงมักพบทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านคุณสมบัติโดดเด่นอยู่บ่อยครั้ง

คุณอภิสิทธิ์ อยู่สุข หนุ่มร่างสันทัด เป็นเกษตรกรปลูกทุเรียนพันธุ์เพชรชุมพร และเจ้าของไร่พอใจสไตล์ลุงแอ้ป จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาเขตปทุมธานี (เกษตรปทุม) คณะเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ วิชาเอกสัตวศาสตร์ เล่าว่า “ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้น ได้ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ประมาณ 9 ปี ภายหลังถึงจุดอิ่มตัว ผนวกกับครอบครัวตนเองมีสวนทุเรียนอยู่ที่บ้านเกิดในจังหวัดชุมพร จำนวน 18 ไร่ มีทุเรียนประมาณ 200 ต้น จึงเริ่มหันเหให้กับการทำงานในเมือง แล้วมุ่งหน้าสู่วิถีเกษตรอย่างเต็มตัว”

ที่นี่มีทุเรียนคุณสมบัติโดดเด่น นามว่า “เพชรชุมพร”

โดยจุดเริ่มต้นของการค้นพบทุเรียนพันธุ์เพชรชุมพรมาจากบิดา (คุณทวีป อยู่สุข) เดิมทีประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกกาแฟ แต่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในปี พ.ศ. 2550 จึงเริ่มเบนเข็มเปลี่ยนทิศทางมาปลูกทุเรียนแทน ซึ่งทุเรียนสายพันธุ์แรกที่นำเข้ามาปลูกภายในสวนอันเป็นนิวาสสถานอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ และสามารถที่จะซื้อหาต้นพันธุ์ได้ง่ายภายในจังหวัดชุมพร

กอปรกับการที่คุณพ่อมีความชื่นชอบในการกินทุเรียน จึงเริ่มเสาะหาทุเรียนพันธุ์ดีภายในตำบลนาสัก ซึ่งมีอยู่จำนวนหลากหลายสายพันธุ์มาปลูกภายในสวน ทำให้ได้ไปพบต้นทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านภายในสวนของทวด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ตำบลนาสัก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร โดยทุเรียนต้นดังกล่าวมีการเล่าสืบทอดกันมาว่า เริ่มพบเห็นเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อครั้งก่อนการก่อตั้งตำบลนาสัก จึงได้ทดลองนำเมล็ดมาปลูกภายในสวน ผลปรากฏว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีและเมื่อผลสุกมีรสชาติอร่อย จนปัจจุบันต้นแม่พันธุ์มีอายุประมาณ 15 ปี จึงตัดสินใจเพาะขยายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ไว้ต่อไป

ส่วนสาเหตุที่ตั้งชื่อทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์ที่พบว่า “เพชรชุมพร” นั้น ก็มีเหตุผลสืบเนื่องมาจากทุเรียนสายพันธุ์นี้ค้นพบในพื้นที่จังหวัดชุมพร จึงใช้นามประจำจังหวัดมาเป็นชื่อตั้งต้น ส่วน คำว่า “เพชร” นั้น เปรียบเสมือนสิ่งที่มีค่า จึงนำมาตั้งเป็นชื่อประสมของทุเรียนสายพันธุ์นี้

 

จุดเด่นของทุเรียน พันธุ์เพชรชุมพร

คุณอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “เพชรชุมพร มีจุดเด่นอยู่ที่ชื่นชอบสภาพอากาศร้อนชื้น ทำให้เจริญเติบโตได้ดีโดยเฉพาะที่จังหวัดชุมพร ที่มีฝนตกชุก ส่วนในหน้าร้อนก็มีความต้องการน้ำปริมาณที่น้อย ติดดอกง่าย กลีบดอกกลมมน สีดอกเป็นสีเงินมีจุดแทรก ไม่แหลมเหมือนทุเรียนพันธุ์อื่น ใบมีลักษณะสั้นโค้งมนกว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ด้านหน้าใบมีสีเขียวเข้ม ส่วนใต้ใบมีลักษณะสีเขียวอ่อนแกมเหลือง

ลำต้นเปลือกมีความเรียบเนียนสีน้ำตาล ส่วนระบบรากมีการแตกพอนได้ดี (รากที่งอกออกมาจากโคนต้นทุเรียน) ซึ่งจะเริ่มสังเกตเห็นการแตกพอนเมื่ออายุได้ประมาณ 9 ปี เนื่องจากเป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านคุ้นชินกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่น จึงสามารถการันตีได้ว่าระบบรากที่ใช้ในการหาอาหารจะทำได้ดี เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุต้นได้ประมาณ 8 ปี จึงสามารถที่จะตัดผลสดออกจำหน่ายได้ เนื่องจากเป็นต้นแม่พันธุ์ แต่หากเป็นกิ่งพันธุ์ที่ถูกเพาะพันธุ์ขึ้นในปัจจุบันจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุได้ประมาณ 5 ปี เป็นต้นไป

ผลเมื่อสุกเต็มที่มีรูปทรงกลมมนประหนึ่งสามารถที่จะตั้งกับพื้นราบได้ ปลายผลไม่แหลมเหมือนทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์อื่น หนามมีลักษณะถี่เล็กเมื่อผลแก่จัดสังเกตได้ง่ายโดยเปลือกจะขึ้นผด หากผ่ากินผลสุกจะพบเนื้อทุเรียนสีเหลืองนวลทองรสชาติหวานนำมัน น่ากิน เนื้อมีความละเอียดเนียนไม่มีเสี้ยนถึงจะสุกมาก ก็ไม่มีรสขม อีกทั้งปริมาณเนื้อของทุเรียนสายพันธุ์นี้มีมาก เม็ดตาย ต่อให้ฝนตกหนักก็ไร้ปัญหาผลทุเรียนเป็นไส้ซึม”

ทั้งนี้ ทุเรียนพันธุ์เพชรชุมพร ให้น้ำหนักต่อผลอยู่ที่ประมาณ 3-5 กิโลกรัม ขนาดผลใหญ่สุดมีน้ำหนักอยู่ที่ 5.2 กิโลกรัม ถือเป็นทุเรียนไซซ์มาตรฐาน ระดับ A, B ที่สามารถส่งออกทำตลาดยังต่างประเทศได้ ปัจจุบันมีราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท

คุณอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า “เพชรชุมพร เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านในจังหวัดชุมพร จึงมีภูมิต้านทานโรคมากกว่าทุเรียนสายพันธุ์อื่น เนื่องจากผ่านการปรับสภาพจากการกลายพันธุ์ เหมาะแก่การส่งเสริมการปลูก จึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาโรคระบาดในทุเรียนแต่อย่างใด ส่วนการบำรุงต้นทุเรียนเพชรชุมพรก็แสนง่ายดาย ใช้วิธีการเดียวกันกับทุเรียนพันธุ์ทั่วไป โดยในช่วงระยะเวลา 1 ปีแรก จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 เมื่อต้นเจริญเติบโตขึ้นในช่วงที่ยังไม่ให้ผลผลิต จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อไล่ยอด จนได้ประมาณ 3 ยอด แล้วจึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย สูตร  8-24-24 เพื่อเร่งให้ออกดอกซึ่งจะใช้ประมาณปีที่ 4 หรือ 5 ในช่วงที่ต้นพันธุ์มีความสมบูรณ์เต็มที่”

ส่วนการขยายพันธุ์ทุเรียนเพชรชุมพรนั้น ปัจจุบัน คุณอภิสิทธิ์ได้เตรียมทำต้นกล้าทุเรียนสายพันธุ์นี้เอาไว้ ประมาณ 3,000 กิ่ง โดยใช้วิธีการตัดยอดทุเรียนเพชรชุมพร โดยอาศัยการสังเกตยอดที่มีความแก่พอดี (ยอดทุเรียนรุ่น) ตัดยอดลงมาเสียบกับต้นพันธุ์ทุเรียนบ้าน (ต้นตอ) ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 4 เดือน แต่อย่าให้มากเกินกว่า 1 ปี เนื่องจากเปลือกไม้จะมีความแข็ง อาจทำให้ไม่สามารถเสียบต้นพันธุ์ให้แนบสนิทได้ จากนั้นจึงนำมาผ่าออกในลักษณะปากฉลาม โดยเว้นระยะจากโคนต้นขึ้นมาประมาณ 6 นิ้ว

เมื่อผ่าเสร็จแล้ว ให้นำยอดของทุเรียนพันธุ์เพชรชุมพรที่เตรียมไว้ในลักษณะปาดปลายกิ่งพันธุ์และตัดใบออกให้เหลือแต่ส่วนยอด เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำในปริมาณที่มาก หากมีใบจำนวนมากติดอยู่กับกิ่งพันธุ์แล้วนำมาเสียบเข้าหากันก่อนพันปิดทับรอยเสียบยอดด้วยสก๊อตเทปใสเป็นอันเสร็จ โดยต้นพันธุ์ทุเรียนเพชรชุมพรที่เสียบยอดเรียบร้อยแล้วนั้นต้องอนุบาลไว้ในที่ร่มแสงแดดรำไร อีกประมาณ 4 เดือน จึงจะนำลงแปลงปลูกได้

ส่วนการเตรียมดินปลูกทุเรียนนั้น คุณอภิสิทธิ์ เลี่ยงที่จะไม่ใช้ปุ๋ยคอกในการปรับสภาพดิน เนื่องจากปุ๋ยจำพวกนี้เมื่ออยู่ในดินเป็นระยะเวลานานจะเกิดเชื้อรา แต่ปรับเปลี่ยนมาใช้ธาตุอาหารในการปรับสภาพดิน หรือดินปลูกที่มีจำหน่ายอยู่ในร้านเคมีภัณฑ์โดยทั่วไป นำมาคลุกเคล้ากับดินที่เตรียมไว้ในบริเวณปากหลุมปลูก ซึ่งไม่ควรขุดหลุมให้มีความกว้างมากนัก เนื่องจากเมื่อหลุมมีขนาดกว้างหากเจอลมพายุจะทำให้ต้นทุเรียนล้มหักโค่นได้ง่าย แต่ใช้วิธีขุดหลุมให้มีความลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วจึงนำทุเรียนลงปลูก ก็สามารถที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้

นอกจาก คุณอภิสิทธิ์ จะเป็นนักอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านผ่านการปลูกและขยายพันธุ์ทุเรียนเพชรชุมพรแล้ว ยังได้ปลูกทุเรียนหมอนทองเอาไว้ในแปลงเดียวกันอีก เพื่อเป็นรายได้หลักในรูปแบบสวนเกษตรแนวผสมผสานปลูกพืชหมุนเวียนที่สามารถพึ่งพิงเอื้อประโยชน์ต่อกันได้ ผ่านการจัดการแปลงปลูกระดับมืออาชีพ พร้อมแนะนำเคล็ดลับในการเริ่มต้นปลูกทุเรียนสำหรับเพื่อนเกษตรกรมือใหม่

 

ให้ความสำคัญกับระบบน้ำเป็นอันดับแรก

การบำรุงต้นทุเรียนให้ได้ผลผลิตดีทั้งปี นอกจากการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้องตรงตามสูตรแล้ว ระบบน้ำก็นับเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ นับเป็นสมการแห่งความสำเร็จที่คุณอภิสิทธิ์เลือกเป็นอันดับแรกผ่านการร่วมมือกันระหว่างเพื่อนเกษตรกรที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ช่วยลงแรงสร้างฝายกักเก็บน้ำเอาไว้ในบริเวณท้ายสวน ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้มากกว่า 10 หลังคาเรือน ที่ได้รับผลประโยชน์จากฝายกักเก็บน้ำดังกล่าว

คุณอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “การออกแบบระบบน้ำภายในสวนที่มุ่งเน้นจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นทุเรียนโดยเลือกใช้ท่อเมนหลักที่ทำการชักน้ำ ขนาด 3 นิ้ว พร้อมปั๊มน้ำแบบมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 4 แรง ในการดูดน้ำขึ้นมารดต้นทุเรียน ด้วยวิธีการเปิดวาล์วรดน้ำต้นทุเรียนแต่ละต้น ประมาณ 15 นาที เพื่อไม่ให้ชื้นจนเกินไปประมาณ 2 วัน ต่อ 1 ครั้ง แต่หากเป็นหน้าแล้งจะให้น้ำทุเรียนทุกวันผ่านระบบสปริงเกลอร์ ซึ่งจะมีจำนวน 1 หัว ต่อ ทุเรียน 1 ต้น โดยการให้น้ำต้นทุเรียนเล็กนั้นจะต้องเน้นติดตั้งสปริงเกลอร์ชนิดหัวสเปรย์ ให้มีลักษณะน้ำพุ่งเข้าหาลำต้น

เมื่อทุเรียนมีอายุได้ประมาณ 3-4 ปี หรือทุเรียนใหญ่จะมีลักษณะรากกระจายออกไปด้านนอก จึงต้องเปลี่ยนเป็นหัวจ่ายน้ำในแบบสปริงเกลอร์ติดตั้งไว้ จำนวน 3 หัว ต่อทุเรียน 1 ต้น ซึ่งเป็นไปตามลักษณะทางกายภาพของทุเรียนเมื่ออายุได้ประมาณ 6-7 ปี ที่เริ่มให้ผลผลิตระบบรากจะมีตำแหน่งเท่ากับปลายสุดของทรงพุ่ม หมายถึง พุ่มทุเรียนกว้างถึงจุดใด รากย่อมยาวถึงบริเวณนั้นเช่นกัน จึงต้องมีการออกแบบสปริงเกลอร์ให้มีวงรอบที่จะตีน้ำได้ถึงบริเวณดังกล่าวอีกด้วย”

 

การจัดการแปลงปลูกสวนผสมแห่งความสำเร็จ

การปลูกพืชแบบสวนผสมในภาษาปักษ์ใต้เรียก “สวนสมรม” นับเป็นสิ่งที่ดีในการช่วยเพิ่มรายได้มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่หากไม่มีการจัดการที่ดีแล้วย่อมไร้ความหมาย คุณอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรหลายรายประสบปัญหาคือ ความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดใดสามารถที่จะปลูกร่วมกันได้ และบางชนิดก็ไม่สามารถที่จะนำปลูกร่วมกันได้ส่งผลให้มีปัญหาในเรื่องผลตอบแทนในท้ายที่สุด อีกทั้งการดูแลจัดการก็ทำได้ยากด้วย สวนผสมนับเป็นสิ่งที่ดีแต่พืชต้องพึ่งพาอาศัยกันได้”

คุณอภิสิทธิ์ เลือกที่จะเริ่มต้นจัดการแปลงปลูกด้วยการตัดต้นไม้ที่แย่งชิงอาหารออกไป คงเหลือไว้แต่ต้นไม้ที่สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ ซึ่งจะมี ทุเรียน มะพร้าว และหมาก เป็นพืชหลัก สอดคล้องกับผลตอบแทนที่ได้รับจากการปลูกมะพร้าวไว้ภายในสวนทุเรียน ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงที่ทุเรียนยังไม่ให้ผลผลิต โดยทุเรียนที่ปลูกจะมีระยะห่างระหว่างต้น อยู่ที่ประมาณ 9×9 เมตร ส่วนมะพร้าวจะมีระยะปลูกอยู่ที่ 15×15 เมตร แล้วจึงปลูกต้นทุเรียนไว้ตรงกึ่งกลาง ซึ่งการใช้ระยะปลูกดังกล่าวจะช่วยให้ทุเรียนและมะพร้าวสามารถอยู่ร่วมกันได้ รวมถึงให้ผลผลิตในประมาณที่ดีด้วย ทั้งนี้ภายในสวนทุเรียนได้ปลูกมะพร้าวไว้ ประมาณ 60 ต้น ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อรอบ (45 วัน) อยู่ที่ 1,000 ลูก นับเป็นเงินเดือนใช้กินอยู่ได้อย่างสบายเลยทีเดียว

นอกจากการเรียนรู้ที่จะทำสวนผสมแล้ว คุณอภิสิทธิ์ ยังเลือกใช้วิธีการแบ่งโซนการปลูกทุเรียนภายในสวนออกเป็น 2 ส่วน อย่างชัดเจน โดยด้านซ้ายจะปลูกทุเรียนถุง (ทุเรียนบ้านเสียบยอดทุเรียนพันธุ์หมอนทอง) ส่วนในด้านขวาเลือกเพาะทุเรียนเม็ด (เมล็ดทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน) และเมล็ดทุเรียนพันธุ์หมอนทองลงแปลงปลูกโดยตรงก่อนนำมาทาบกิ่งกัน ใช้เทคนิคปลูกเมล็ดทุเรียนพันธุ์หมอนทองลงไปก่อน เมื่อได้เมล็ดทุเรียนบ้านมาแล้วก็นำมาปลูกไว้บริเวณด้านข้าง ให้มีระยะห่างระหว่างกัน ประมาณ 50 เซนติเมตร เมื่ออายุได้ประมาณ 1-2 ปี จึงนำมาทาบกิ่งเข้าหากัน

แล้วนำมาเทียบเคียงกันว่า ในระยะเวลา 3 ปี การให้ผลผลิตทุเรียนชนิดใดจะทำได้ดีกว่ากัน ซึ่งทุเรียนเม็ดที่ปลูกลงแปลงและทาบกิ่งกับทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะมีโครงสร้างลำต้นที่สมบูรณ์กว่าทุเรียนถุง อีกทั้งระบบรากของทุเรียนเม็ดจะมีความมั่นคงมากกว่า ช่วยลดปัญหาทุเรียนโค่นหักล้มได้ง่าย รวมถึงทนทานต่อโรคอีกด้วย

คุณอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า “ตำบลนาสัก มักพบปัญหาเพลี้ยไฟระบาดในสวนทุเรียน ซึ่งจะใช้สารเคมีกำจัดแมลงจำพวกอิมิดาโคลพริด (Imidacloprid) ในการฉีดพ่นป้องกันแมลงเข้าทำลายใบทุเรียนในช่วงระยะใบอ่อนด้วยวิธีการฉีดพ่นทางใบ ในปริมาณ 50 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ขณะเดียวกันก็จะใช้ยากำจัดแมลงในกลุ่มอะบาเเม็กติน (Abamectin) ซึ่งประกอบไปด้วยสารคลอร์ไพริฟอส และไซเพอร์เมทริน (Chlorpyrifos+Cypermethrin) เข้ามาฉีดพ่นป้องกันกำจัดหนอนกัดกินลำต้นทุเรียน

 

ตัดแต่งกิ่งทุเรียน ช่วยลดปัญหาเชื้อราสีชมพู

คุณอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “การตัดแต่งกิ่งทุเรียน ถือเป็นปัจจัยหลักในการป้องกันปัญหาโรคระบาดอันเกิดขึ้นได้จากความชื้น จึงต้องมีการตัดแต่งกิ่งบริเวณด้านล่างลำต้นให้มีความโปร่ง สามารถระบายอากาศได้ดี เนื่องจากเมื่อมีความชื้นมากแล้วจะทำให้เกิดเชื้อราจำพวกราสีชมพู และไฟทอปทอร่า (Phytophthora) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเชื้อราที่ชาวสวนทุเรียนในจังหวัดชุมพรมีความกังวลใจเป็นอย่างมาก แต่จะบรรเทาทุเลาลงได้ด้วยวิธีการตัดแต่งกิ่งด้านล่างลำต้น โดยเว้นระยะห่างจากพื้นจนถึงกิ่งแรก ประมาณ 1 เมตร แล้วคงเหลือกิ่งทุเรียนที่มีความแข็งแรงเอาไว้ประมาณ 35 กิ่ง ต่อต้น เท่านั้น”

เมื่อมีการตัดแต่งกิ่งที่ไม่มีความจำเป็นออกไปแล้ว จึงเริ่มขั้นตอนการโยงกิ่งต้นทุเรียนเพื่อช่วยในการป้องกันลมกระพือทำให้ลูกร่วง เปรียบเสมือนการรักษากิ่งให้อยู่ในตำแหน่งเดิม ไม่ให้ต้นทุเรียนมีการผลัดกิ่ง หรือผุไปเพื่อในฤดูกาลหน้าจะสามารถให้ผลผลิตได้อีก หากไม่มีการโยงกิ่งทุเรียนเมื่อมีลมแรง หรือลมที่พัดมาตามร่องเข้าจะทำให้กิ่งหัก อีกทั้งยังลดภาระความจำเป็นเมื่อลูกทุเรียนมีขนาดผลที่ใหญ่ ทำให้กิ่งห้อยภายหลังตัดลูกแล้ว จะต้องสูญเสียกิ่งไปด้วย

สำหรับเทคนิคสำคัญในการโยงกิ่งทุเรียน ต้องโยงให้ใกล้ขั้วลูกมากที่สุด เพื่อให้เชือกที่ผูกยึดไว้กับลำต้นทุเรียนสามารถที่จะช่วยพยุงน้ำหนักของกิ่งที่ติดผลเอาไว้ได้ อีกทั้งการผูกโยงระหว่างกิ่งกับลำต้นทุเรียนนั้นต้องทำมุมให้ได้ประมาณ 45 องศา เพื่อให้การรับน้ำหนักระหว่างทรงพุ่มและลำต้นทำได้ดีที่สุด

 

เผยเคล็ดลับ เร่งผลผลิตทุเรียนสไตล์ลุงแอ้ป

ปัจจุบัน นอกเหนือจากการใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตทุเรียนนอกฤดูแล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือ วิธีการโชยสาร หรือใช้สารเคมีเป็นตัวเร่งในปริมาณที่น้อย คุณอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ปกติแล้วเกษตรกรในภาคใต้นิยมผลิตทุเรียนนอกฤดูออกจำหน่าย เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง โดยใช้สารแพคโคลบิวทราโซล (Paclobutrazol) ที่มีความเข้มข้น ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร เพื่อเร่งให้รากทุเรียนเกิดความแห้งผ่านวิธีการฉีดพ่นสารเคมีเข้าไปบริเวณใต้ทรงพุ่มของต้นทุเรียน มักเริ่มต้นประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี

ส่วนวิธีการโชยสาร ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ที่ชาวสวนทุเรียนในจังหวัดชุมพรมีความนิยมกันอยู่ในปัจจุบัน จะใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน แต่มีความแตกต่างอยู่ตรงที่ใช้ฉีดสเปรย์พ่นนอกทรงพุ่มต้นทุเรียนที่โตเต็มวัย พร้อมให้ผลผลิตเพียงอย่างเดียว หลีกเลี่ยงไม่ฉีดในทรงพุ่มทุเรียนโดยตรง เพื่อเร่งให้ทุเรียนออกผลผลิตนอกฤดูเช่นเดียวกัน แต่คุณภาพต้นทุเรียนยังคงดีอยู่”

นอกจากนี้แล้ว คุณอภิสิทธิ์ ยังเพิ่มการให้ปุ๋ยทางดินจำพวกสารอินทรีย์ที่สามารถหาได้จากในท้องถิ่น รวมถึงปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงที่ผสมมูลสัตว์จากเบทาโกร และอาหารเสริมพืช HB-101 ชนิดน้ำเข้ามาเป็นธาตุอาหารเสริมให้ต้นทุเรียนแทนที่การใช้สารเคมีเร่งให้ทุเรียนออกผลผลิตนอกฤดู ซึ่งจะทำให้มีผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดทุเรียนในจังหวัดชุมพรช่วงเดือนกรกฎาคม-มีนาคม ของทุกๆ ปี

คุณอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ฝากถึงผู้ที่ต้องการปลูกทุเรียน ควรเตรียมระบบน้ำให้พร้อม เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำค่อนข้างมาก หากไม่มีการจัดการระบบน้ำภายในสวนที่ดีแล้ว อาจทำให้ประสบปัญหาทุเรียนยืนต้นตายได้”

สำหรับผู้ที่สนใจต้นพันธุ์ทุเรียนเพชรชุมพร หรือเข้าเยี่ยมชมสวน ติดต่อได้ที่ คุณอภิสิทธิ์ อยู่สุข (คุณแอ้ป) เลขที่ 180 หมู่ที่ 1 ตำบลนาสัก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130 โทร. (081) 324-8296 และติดตามได้ทางเฟซบุ๊กไร่พอใจสไตล์ลุงแอ้ป