กันตัง ปลูก “ผักเหรียง ขาไก่ ผักกูด” สร้างรายได้เพิ่ม สู้วิกฤตยางตกต่ำ

“ตรัง” เป็นจังหวัดแรกที่ส่งเสริมให้คนไทยปลูกยางพารา ทุกวันนี้จังหวัดตรังเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญของภาคใต้ และมีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดเป็น อันดับ 4 ของประเทศ (พื้นที่สวนยางพารา 1.5 ล้านไร่) ยางพาราจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดตรัง และมีอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราแบบครบวงจรในท้องถิ่น เช่น สหกรณ์กองทุนสวนยางวังคีรี ที่มีผลงานแปรรูปยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมี่ยมที่มีคุณภาพสูง และชุมนุมสหกรณ์ตรัง ผู้นำด้านการแปรรูปยางอัดก้อนจำหน่ายทั้งในและส่งออก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราจำนวนมาก รัฐบาลจึงวางเป้าหมายพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกยาง โดยการโค่นสวนยางเดิมและส่งเสริมให้ผู้ปลูกยางพาราปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมใหม่ เช่น การเลี้ยงสัตว์ หรือการปลูกพืชผัก ผลไม้

ทั้งนี้ รัฐบาลจะมอบทุนอุดหนุนแก่เกษตรกรชาวสวนยาง ที่สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน ไร่ละ 10,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ เพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ทดแทนการทำสวนยาง ถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงด้านผลกระทบจากราคายางตกต่ำ และช่วยเพิ่มรายได้ รวมไปถึงสร้างทางเลือกในอาชีพ เพื่อความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

ครู กศน. กับแกนนำกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง (ขวาสุด-ลุงศรี แก้วลาย)

กศน. ร่วมพัฒนาอาชีพ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”

สำนักงาน กศน.จังหวัดตรัง ได้ส่งเสริมให้ชาวสวนยางพารา หันมาปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และทำประมงภายในสวนยางพารา เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารเลี้ยงดูครอบครัว เหลือจากการบริโภคจึงค่อยนำผลผลิตออกจำหน่าย ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง หวังช่วยเกษตรกรลดรายจ่ายในครัวเรือน และเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ พึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

สำนักงาน กศน. จังหวัดตรัง มอบหมายให้ อาจารย์นพรัตน์ โชติเกษมกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผน คุณกาญจนา รุ่งเมือง ครูอาสา กศน. อำเภอกันตัง คุณบุญภพ ดวงสุด ครู กศน. ตำบลคลองชีล้อม พาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านไปเยี่ยมชมกิจกรรมสร้างอาชีพสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สอดรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยสำนักงาน กศน. จังหวัดตรัง บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมให้ความรู้กับเกษตรกร นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปบริหารจัดการพืชผลการเกษตรอย่างเป็นระบบ และให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพระยะสั้น ตามความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น

ผักเหรียง ที่ปลูกร่วมแปลงสวนยางพารา

ชาวสวนยางพารา อำเภอกันตัง

ปรับตัวสู่วิถีเกษตรพอเพียง

ชาวบ้านส่วนใหญ่ของตำบลคลองชีล้อม อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีรายได้หลักจากการทำสวนยางพารามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเผชิญกับปัญหาราคายางตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนอย่างมาก

ลุงศรี แก้วลาย (โทร. 081-272-3901) ผู้นำชุมชนและแกนนำ หมู่ที่ 4 ตำบลคลองชีล้อม อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง หนึ่งในสมาชิกสภาชุมชนบริหารจัดการตนเองคลองชีล้อม ได้ชักชวนเพื่อนเกษตรกร ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการพึ่งพารายได้จากการทำสวนยางเพียงอย่างเดียว ให้หันมาใช้เกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง ผักกาด ผักเหรียง ผักกูด ฯลฯ ในสวนยางพาราตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพึ่งพาตัวเองได้ ลดต้นทุน

คุณสุพรชัย หมุนเวียน กับแปลงปลูกผักกูด

ปรากฏว่า ผักเหรียง ขายดีมาก ผลิตไม่ทันกับความต้องการของผู้บริโภค แถมจำหน่ายได้ราคาสูง กิโลกรัมละ 50-60บาท ลุงศรีจึงชักชวนเกษตรกรจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (ผักเหรียงปลอดสารพิษ) กลุ่มปศุสัตว์ (เป็ดเนื้อ เป็ดไข่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่) และกลุ่มปลูกไม้ยืนต้น พวกเขาแบ่งปันความรู้เรื่องการจัดการที่ดิน การคัดเลือกพันธุ์ผักที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและสภาพแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี ด้านตลาด วางแผนจัดตั้งตลาดชุมชน เป็นจุดรับและส่งวัตถุดิบในท้องถิ่น การปรับตัวสู้วิกฤตครั้งนี้สามารถเพิ่มรายได้ แก้ปัญหาปากท้องได้เป็นอย่างดี ลุงศรีมีโอกาสถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกผักเหรียง และพืชสมุนไพรต่างๆ ให้กับชาวบ้านและผู้สนใจภายใต้การสนับสนุนของ กศน. อำเภอกันตัง อีกด้วย

เทคนิคการตอนกิ่ง ผักเหรียง

ผักเหรียง เป็นพืชเมล็ดเปลือยในสกุลมะเมื่อย เดิมเป็นผักป่าขึ้นเองทั่วไป เนื่องจากเป็นผักที่มีรสชาติอร่อย นิยมนำมาทำอาหารในเมนูผัดผักเหรียง แกงเหรียง ผัดใส่ไข่ แกงจืด ห่อหมก เมื่อกระแสความนิยมบริโภคผักเหรียงมีมากขึ้น ชาวบ้านจึงนำผักเหรียงมาปลูกขยายพันธุ์ และปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจร่วมแปลงยาง ผักเหรียง ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น เหลียง (ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์) เหมียง (พังงา ภูเก็ต กระบี่) เขลียง เรียนแก่ (นครศรีธรรมราช) เหรียง (สุราษฎร์ธานี) ผักกะเหรี่ยง (ชุมพร) ผักเมี่ยง (พังงา)

การตอนกิ่งผักเหรียง โดยใช้กะปิเป็นตัวช่วยเร่งราก

ปัจจุบัน ลุงศรี มีพื้นที่ปลูกผักเหรียงกว่า 8 ไร่ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำตลอดทั้งปี จากการจำหน่ายใบสด กิ่งตอน และต้นกล้า ลุงศรีมีเคล็ดลับในการตอนกิ่งผักเหรียงที่ได้ผลดีเยี่ยม โดยใช้กะปิมาเป็นส่วนผสม เพื่อช่วยเร่งการงอกรากให้เร็วขึ้นแล้ว ยังได้ต้นกล้าที่แข็งแรง ช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา แทนการใช้ฮอร์โมนเร่งรากที่มีราคาแพง นอกจากต้นเหรียงแล้ว ลุงศรี บอกว่า วิธีนี้สามารถประยุกต์ใช้เพื่อตอนกิ่งต้นไม้อื่นๆ ได้อีกมากมาย

ปลูกผักเหรียง ขาไก่ ผักกูด ร่วมแปลงยาง

คุณสุพรชัย หมุนเวียน อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 161 หมู่ที่ 1 ตำบลคลองชีล้อม อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โทร. (082) 823-8639) เกษตรกรชาวสวนยางพาราต้นแบบที่ปรับตัวสู้วิกฤตราคายางพาราตกต่ำ โดยหันไปทำสวนเกษตรผสมผสาน ในแปลงยางพารา เช่น ปลูกผักเหรียง ขายได้กิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่วนผักกูด ขายได้กิโลกรัมละ 30-45 บาท ทำให้มีรายได้เสริมก้อนโตตลอดทั้งปี จากการขายใบสด กิ่งตอน และต้นกล้าให้เกษตรกรที่สนใจ

คุณสุพรชัย หมุนเวียน โชว์ผักกูดที่เตรียมเก็บขายตลาด

นอกจากนี้ เขายังปลูก “ต้นขาไก่” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมสูง จนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด เพราะผักขาไก่มีรสชาติหวาน หอม และมันกว่าผักเหรียง แถมขายได้ราคาดี 100 บาท ต่อกิโลกรัม

ต้นขาไก่ มีลักษณะทรงพุ่มคล้ายต้นผักเหรียง ใบเหมือนกุหลาบ ชอบที่ร่ม ไม่ทนแล้ง ต้องคอยระวังอย่าให้ต้นขาไก่ขาดน้ำจะเฉาตายได้ ต้นขาไก่ปลูกดูแลง่าย ขุดหลุมลึก 30 เซนติเมตร ปลูกในระยะห่าง 2×2 เมตร หลังปลูก 6 เดือน ก็เริ่มเก็บใบอ่อนออกขายได้ ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ดูแลตัดแต่งต้นขาไก่ไม่ให้สูงเกิน 1.20-1.50 เมตร เพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวใบอ่อนได้ง่าย ต้นขาไก่ แทบไม่มีปัญหาโรคแมลงรบกวนเลย แค่ดูแลให้ปุ๋ย ให้น้ำ อย่างเพียงพอก็สามารถเก็บใบอ่อนออกขายได้ทุกสัปดาห์ ต้นขาไก่เป็นพืชที่มีอายุยืนมาก ลงทุนปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ยาวนานถึง 15 ปี คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มทีเดียว

ใบอ่อนต้นขาไก่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดีต่อสุขภาพ

คุณสุพรชัย บอกว่า เกษตรกรที่ปลูกต้นขาไก่ ไม่ต้องห่วงเรื่องตลาดเลย เพราะต้นขาไก่เป็นผักเพื่อสุขภาพ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เพราะใบอ่อนของต้นขาไก่ มีสารคลอโรฟิลล์ในปริมาณสูง ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงสายตา และบำรุงโลหิต แถมกินอร่อย ยิ่งทำให้ใบอ่อนต้นขาไก่เป็นที่ต้องการของตลาดตลอดทั้งปี

เลี้ยงปุ๋ยไส้เดือน ลดต้นทุนการผลิต

ทุกวันนี้ คุณสุพรชัย ไม่ต้องควักกระเป๋าซื้อปุ๋ยจากภายนอก เพราะเขาลงทุนเลี้ยงปุ๋ยมูลไส้เดือนมาใช้ดูแลสวนยางพารา และพืชผักที่ปลูกร่วมแปลงยางพารา เนื้อที่ 3 ไร่ ได้ตลอดทั้งปี ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตไปพร้อมๆ กัน

ฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนของ คุณสุพรชัย หมุนเวียน

คุณสุพรชัย สนใจเลี้ยงปุ๋ยไส้เดือน หลังจากมีโอกาสไปดูงานเรื่องการทำปุ๋ยไส้เดือนที่จังหวัดสตูลเมื่อ 3 ปีก่อน และได้ไส้เดือน 8 ตัว กลับมาเลี้ยงต่อที่บ้าน เขาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องการทำปุ๋ยไส้เดือน จนประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์ไส้เดือนได้หลายพันตัวในเวลาต่อมา ทำให้เขากลายเป็นผู้เลี้ยงปุ๋ยมูลไส้เดือนรายแรกของท้องถิ่น และแจกจ่ายไส้เดือนให้เพื่อนบ้านนำไปเลี้ยงเพื่อลดต้นทุนค่าปุ๋ย และจำหน่ายปุ๋ยมูลไส้เดือนให้ผู้สนใจจนกลายเป็นอาชีพเสริมรายได้จนถึงทุกวันนี้

เทคนิคการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนของคุณสุพรชัย เริ่มจากนำไส้เดือนมาเลี้ยงในภาชนะที่มีรูเปิด-ปิด อยู่ด้านล่าง ใส่ขี้วัว ขี้แพะ หรือปุ๋ยคอก คลุกเคล้ากับวัสดุเหลือใช้ เช่น ก้อนเชื้อเห็ด ทิ้งไว้ 15-21 วัน หากเห็นว่ากระบะเลี้ยงไส้เดือนเริ่มแฉะและมีไส้เดือนไต่ขึ้นมาข้างบน เนื่องจากไส้เดือนได้ฉี่ออกมาจนเต็มแล้ว ให้หยิบตัวไส้เดือนออกมาแล้วเติมน้ำเปล่าลงไปให้ท่วม เปิดจุกที่อยู่ด้านล่างให้น้ำฉี่ไส้เดือนไหลลงในภาชนะที่เตรียมไว้

จากนั้น จึงนำฉี่ไส้เดือนไปผสมน้ำเปล่า ในอัตราส่วน 2 ต่อ 8 ก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยสำหรับรดพืชผักผลไม้และพืชสวนทุกชนิดได้อย่างปลอดภัย ส่วนไส้เดือนก็นำไปเพาะเลี้ยงต่อไป วิธีนี้จะช่วยให้ผู้เลี้ยงได้ทั้งปุ๋ยมูลไส้เดือนและฉี่ไส้เดือนไปพร้อมๆ กัน ช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยได้จำนวนมาก หากใครมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก คุณสุพรชัย หมุนเวียน ได้ที่เบอร์โทร. (082) 823-8639 ได้ทุกวัน

 ………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2561

………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354