จิตต์มาลี ส้มโชกุนอินทรีย์ แห่งแรก ที่ เบตง ใต้สุดแดนสยาม

อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนใต้สุดเมืองสยาม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง อุณหภูมิเย็นและมีหมอกเกือบตลอดทั้งปี ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นทำเลที่ดีของการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในหลายรูปแบบ ทั้งพืชไร่และพืชสวน แม้กระทั่งการเลี้ยงสัตว์บางชนิด ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเบตง เช่น ไก่เบตง เป็นต้น

คงไม่ต้องถามว่า มีพืชกี่ชนิดที่ปลูกและให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่อำเภอเบตง เพราะย้อนหลังไปหลายสิบปี “ส้ม” ก็เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นชื่อลือชาว่ามีแหล่งผลิตมากที่สุดอันดับต้นๆ และรสชาติดีไม่น้อยไปกว่า สวนส้มหลายแห่งในภาคเหนือของไทย

เพราะความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ “ส้มโชกุน” ที่อำเภอเบตง มีความโดดเด่น

คุณธรรมนูญ ชาญวิรวงศ์ ผู้ดูแลสวนส้มโชกุนสืบทอดต่อจากบิดา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มทำสวนส้มเป็นรายแรกๆ ของอำเภอ ให้การต้อนรับผู้เขียนเป็นอย่างดี และด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นภูเขา ทางลาดชัน และดินที่สะสมความชื้นไว้มาก ทำให้การเดินทางเข้าไปยังสวนส้มค่อนข้างลำบาก แต่ก็ใช้เวลาไม่นานนัก สวนส้มแปลงที่ 2 ก็อยู่ถัดจากสายตาไปเพียงนิดเดียว

คุณธรรมนูญ ชาญวิรวงศ์ (เสื้อสีเขียว) และคุณพ่อ

“พ่อผมเป็นคนเบตง แรกเริ่มทำสวนยางพารา แล้วก็เปลี่ยนเป็นทำสวนส้มเขียวหวาน แต่ทำได้เพียง 5-6 ปี ก็ต้องเลิก เพราะราคาส้มถูกมาก เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาท และพ่อเองก็ไม่ได้มีความรู้อะไร ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก หลังยกเลิกทำสวนส้มเขียวหวาน ก็เริ่มปลูกทุเรียนหมอนทอง มังคุด แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอำเภอเบตง เมื่อถึงฤดูแล้ง ความแห้งแล้งก็ไม่น้อยไปกว่าที่อื่น”

คุณธรรมนูญ เล่าว่า ในยุคนั้น มี เฮียช้าง ปลูกส้มโชกุนในอำเภอเบตงเพียงรายเดียว และตลาดราคาดี คุณพ่อก็มองว่า ถ้าเราทำสวนส้มโชกุน และนำประสบการณ์เดิมที่เคยทำสวนส้มเขียวหวานมาประยุกต์ใช้ ก็น่าจะทำสวนส้มโชกุนได้เช่นกัน จึงเริ่มปลูกส้มโชกุน เริ่มจาก 30 ไร่ เมื่อต้นส้มมีอายุ 2 ปี จึงปลูกเพิ่มอีกกว่า 50 ไร่ รวมกว่า 80 ไร่ จำนวนต้นส้มทั้งหมดประมาณ 3,000 ต้น เพียง 4 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิต เก็บขายได้ราคาดีไม่น้อยไปกว่าเฮียช้าง ที่ทำสวนส้มโชกุนก่อนหน้า แต่ต่อมาเพียงไม่กี่ปี ราคาส้มโชกุนที่ทำรายได้ให้กับแต่ละสวน ก็เริ่มถูกลง เหตุเพราะมีเกษตรกรหลายรายเริ่มปลูกส้มโชกุนตาม เนื่องจากตลาดให้ราคาดี ทำให้ไม่กี่ปีต่อมา สวนส้มโชกุนในพื้นที่อำเภอเบตง มีมากเกือบ 3,000 ไร่ แต่เมื่อผลผลิตมากขึ้น คุณภาพไม่ได้พัฒนาตาม ราคารับซื้อผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาดก็ถูกลง เกษตรกรเริ่มเห็นว่า การทำสวนส้มโชกุน ไม่ได้สร้างรายได้ดีเช่นที่ผ่านมา ทำให้หลายรายล้มเลิกไป อีกทั้งการทำสวนส้ม แท้จริงแล้ว ต้องใช้สารเคมีมาก เพราะโรคและแมลงค่อนข้างเยอะ สวนของคุณพ่อเองก็เช่นกัน

คุณธรรมนูญ บอกว่า การปลูกส้มของคุณพ่อ จากผู้ที่ไม่มีความรู้ในการทำสวนส้ม จึงลงปลูกระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 5×4.5 เมตร ถือว่าถี่ และเมื่อการดูแลสวนส้มทำตามหลักการบริหารจัดการเช่นเดียวกับสวนผลไม้ทั่วไป การใช้สารเคมีกับส้มเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีก็มากเช่นเดียวกับสวนอื่น

“ผมกลับมาช่วยพ่อดูแลสวนส้ม เมื่อปี 2543 พอ 4-5 ปีต่อมา ต้นส้มก็เริ่มโทรม พอปลูกถึง 10 ปี ต้นส้มยิ่งแย่มาก จึงหันกลับมองสาเหตุที่แท้จริง ว่าทำไมต้นส้มถึงโทรม ผลผลิตก็ค่อนข้างน้อย ราคาส้มก็ตกต่ำ ก็พบว่า สาเหตุมาจากการใช้สารเคมี พยายามฟื้นต้นส้มให้ดีขึ้นเท่าไร ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายหลายต้นตายไป ต้องปลูกซ่อม เพราะเราไม่ได้มีทางเลือกอื่น จึงพยายามต่อ”

ท้ายที่สุด คุณธรรมนูญ มองว่า การใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี น่าจะเป็นการดูแลต้นไม้ได้ถาวรและดีที่สุด จึงเริ่มศึกษา และทยอยนำมาใช้กับสวนส้ม

สวนส้ม “จิตต์มาลี” เป็นชื่อสวนที่คุณพ่อและคุณธรรมนูญช่วยกันดูแล

จากการศึกษาการใช้สารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี การศึกษาสภาพดิน บำรุงดิน การป้องกันโรคและแมลงด้วยสารชีวภัณฑ์ที่ทำขึ้นเอง เป็นแนวทางที่คุณธรรมนูญศึกษาแล้วว่าเป็นแนวทางการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งยังสร้างคุณภาพสินค้าให้ติดตลาดอีกระดับ

2-3 ปีแรก ของการปรับเปลี่ยนมาใช้สารชีวภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายให้เป็นสวนส้มโชกุนอินทรีย์ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องง่าย

คุณธรรมนูญ ยอมรับว่า ในช่วงแรกถือว่าหิน เพื่อนๆ หลายสวนที่เริ่มทำอินทรีย์ด้วยกัน ถอดใจ หันกลับไปใช้สารเคมีตามเดิม แต่สำหรับเขาและคุณพ่อ มองว่า การทำอินทรีย์นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังทำให้สวนส้มอยู่อย่างยั่งยืนอีกด้วย

คุณพ่อ เดินสำรวจแปลง ตัดแต่งกิ่งที่ไม่สวย

ส้มโชกุนกว่า 3,000 ต้น แบ่งปลูกในพื้นที่ 3 แปลง คุณธรรมนูญ เริ่มจากแปลง 600 ต้นก่อน ด้วยการนำดินไปตรวจวิเคราะห์หาแร่ธาตุในดิน และเริ่มทำสารชีวภัณฑ์ที่ใช้แทนปุ๋ยเคมี แทนปุ๋ยที่ให้ทางใบ และแทนสารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นกันแมลง

ปัจจุบัน จากแปลงที่ปลูกไว้ 600 ต้น เริ่มขยับไปแปลงที่ 2 และ 3 ตามลำดับ รวมแล้วกว่า 3,000 ต้น ที่มีอยู่ เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นอินทรีย์ทั้งหมด

“3 เดือนแรกที่ลองเปลี่ยนจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ เราใช้สารชีวภัณฑ์ที่ทำขึ้นเอง เมื่อ 3 เดือนผ่านไป เริ่มเห็นผล เพลี้ยไฟ ไรแดง หายไปจากระบบ แต่มีหนอนเข้ามากินใบแทน ไม่ได้เป็นอุปสรรคกับผลส้ม ไม่ได้ทำให้ผลส้มเสียหาย มีเพียงใบแหว่งๆ เท่านั้น ส่วนหนอนเจาะผลพบบ้างแต่น้อย ไม่ถือว่าเป็นปัญหา เรียกว่า ดีทีเดียว”

หลังการทดลองผ่านไป 1 ปี ตรวจค่าสารเคมี ไม่พบตกค้าง

คุณธรรมนูญ บอกว่า ผลผลิตที่ได้ สามารถบอกลูกค้าได้อย่างเต็มปากว่า ส้มโชกุนของสวนจิตต์มาลี เป็นส้มปลอดสารเคมี ราคาขายก็ดีกว่าส้มโชกุนจากสวนอื่น ลูกค้าพอใจ ถามหา มีเท่าไรก็ขายได้หมด

การให้ปุ๋ยทางดิน ในยุคที่ให้สารเคมี ให้ทุก 3 เดือน เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นขี้วัว ก็ให้ 6 เดือนครั้งเท่านั้น

การให้ปุ๋ยทางใบ ต้องให้สัปดาห์ละครั้ง เพื่อป้องกันแมลง

น้ำหมักจากต้นกล้วย

“ผลผลิตที่ได้ ส้มจะให้ผลผลิตมากในปีที่ 7 ขึ้น ยุคที่ได้เยอะได้มากถึง 200 กิโลกรัม ต่อต้น เมื่อเปลี่ยนมาใช้สารชีวภัณฑ์ พยายามปรับให้เป็นอินทรีย์ ผลผลิตที่ได้ต่อต้นลดลง เหลือเพียง 80-100 กิโลกรัม ต่อต้น แต่ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 50-60 บาท ต้นทุนการผลิตลดลงจากเดิมถึง 5 เท่า ก็ถือว่าคุ้มทุนแล้วครับ”

เกิดโรคที่ใบ แต่ไม่ทำลายไปถึงผลส้ม

ผลผลิตส้มโชกุนที่ได้ทุกวันนี้ มีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงสวน แต่ระยะหลัง เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นส้มโชกุนอินทรีย์แล้ว ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่ประเด็นนี้ ไม่ได้เป็นประเด็นที่คุณธรรมนูญและคุณพ่อต้องการ ทั้งคู่ต้องการเพียงให้สวนส้มจิตต์มาลี เป็นสวนส้มอินทรีย์แห่งแรกของเบตง ที่ได้รับการยอมรับ และเป็นต้นแบบให้กับสวนส้มหรือสวนไม้ผลชนิดอื่น เพื่อให้เกษตรกรรมในพื้นที่เบตงปลอดภัย

คุณธรรมนูญ เป็นชายหนุ่มที่ไม่หวงความรู้ พร้อมจะถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้สนใจ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณธรรมนูญ ชาญวิรวงศ์ โทรศัพท์ 081-388-0994 หรือติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก ส้มโชกุน เบตง จิตต์มาลี

การตอนกิ่งสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ส้มโชกุนอินทรีย์แห่งแรกในเบตง

 

 การทำสวนส้มโชกุนเบตง (สวนส้มจิตต์มาลี)

เริ่มปี 2542 แปลงที่ 1 จำนวน 1,000 ต้น แปลงที่ 2 (ปี 2545) จำนวน 2,000 ต้น

ปี 2551-2553 เกิดวิกฤตส้มราคาตกต่ำ (ประมาณ 10 บาท) ตามมาด้วยต้นส้มเสื่อมโทรม

ทั้งประเทศ (ปรากฏการณ์โดมิโน่) ทำให้แปลงแรกล้มเหลวไป แปลงที่ 2 ยื้อได้ประมาณ 1,000 ต้น จนถึงปัจจุบัน

ราคาส้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2554-ปัจจุบัน (สูงถึง 100 บาท)

แม้ราคาจะสูงแต่กลับไม่มีการปลูกเพิ่มมากเหมือนในอดีต เนื่องจาก

  1. ปัญหาต้นเสื่อมโทรมที่ชาวสวนแก้ไม่ตก จึงไม่มั่นใจที่จะปลูกใหม่
  2. ไม่มีพื้นที่ใหม่ที่เหมาะสม จะปลูกที่เก่า สภาพดินแข็งจากการใส่ปุ๋ยและสารเคมีมาอย่างยาวนาน ทำให้ไม่เหมาะกับการปลูก
  3. ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น บวกกับแรงงานที่หายากขึ้น
  4. ไม่มั่นใจในการปลูกส้มโชกุน

เนื่องจากผ่านช่วงวิกฤตที่สำคัญมา และยังเหลือต้นส้มแปลงเก่าที่ยังให้ผลผลิตได้ระดับหนึ่ง จึงทำให้มั่นใจที่จะปลูกส้มเพิ่มอีกครั้ง และโชคดีที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเบตง ได้ติดต่อมาว่า มีโครงการฟื้นฟูการปลูกส้มโชกุนในจังหวัดยะลา โดยเฉพาะที่เบตง จึงได้เข้าร่วมโครงการนี้ เมื่อกลางปี 2557 ปลูกเพิ่มทั้งในพื้นที่แปลงเก่าและแปลงใหม่ จำนวน 2,000 ต้น ซึ่งจะให้ผลผลิตได้ทั้งหมดในปี 2559 เป็นต้นมา

กิ่งพันธุ์ส้มโชกุนก็มีขาย

เทคนิคการจัดการส้มโชกุนเบตง

  1. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยคอก (ขี้วัว ขี้ไก่ ฯลฯ) ปีละ 1-2 ครั้ง
  2. ตัดหญ้า แทนการฉีดยาฆ่าหญ้า
  3. ใส่ปุ๋ยเคมีสลับกับการปรับความเป็นกรดของดินด้วยเสมอ (โดโลไมท์ ยิปซัม)
  4. ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา เชื้อ บีที (Bt) ในการป้องกันเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แทนยาเชื้อราที่เป็นเคมี
  5. ฉีดยาฆ่าแมลง เมื่อแมลงระบาดเท่านั้น
  6. ใช้กับดักกาวเหนียว เพื่อดักแมลงวันผลไม้
  7. ใช้เชื้อ บีที (Bt) ในการกำจัดหนอนเจาะผล
  8. ก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ใช้สารชีวภาพฉีดพ่น เช่น สารสะเดา น้ำส้มควันไม้ อื่นๆ (เพื่อความปลอดภัยของผลผลิต)

9. ตัดแต่งผลให้พอเหมาะกับต้นส้มอยู่เสมอ (หลีกเลี่ยงต้นเสื่อมโทรมและอ่อนแอต่อโรค)