การปลูก “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน” ในประเทศไทย

“ชมพู่” จัดเป็นไม้ผลเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียตอนใต้ และได้มีการแพร่กระจายสายพันธุ์มาปลูกมากในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศที่มีชื่อเสียงในการปลูกชมพู่และมีชมพู่สายพันธุ์ดีๆ ก็คือประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นต้น ที่ผ่านมาชมพู่ที่มีชื่อเสียงในบ้านเรา อาทิ “พันธุ์ทับทิมจันท์” ได้มีการพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย

ขนาดผลใหญ่ 5 ผล ต่อ กก.

หรือแม้แต่ “พันธุ์เพชรปฐม”ได้สายพันธุ์มาจากหมู่เกาะมลายู ประเทศมาเลเซีย ชมพู่ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Water Apple” และยังมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น ที่อินโดนีเซียเรียกว่า jambu air, ที่มาเลเซียเรียก Rose apple,ที่ฟิลิปปินส์เรียก “wax apple” และที่ไต้หวันเรียกว่า “bell fruit” เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยพันธุ์ชมพู่ที่มีการปลูกในอดีตมาถึงปัจจุบันแทบจะไม่มีใครปลูกกันแล้วหรือรู้จักกันน้อยมาก เช่น “ชมพู่มะเหมี่ยว” เป็นชมพู่ที่มีขนาดลำต้นใหญ่ ใบกว้างหนาเป็นมันดอกออกบริเวณกิ่งและมีสีแดงสด เมื่อผลแก่จะมีสีแดงเข้มและมีกลิ่นหอมเหมือนดอกกุหลาบลักษณะของเนื้อนุ่มและฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยวและมีเมล็ดใหญ่ เป็นที่สังเกตว่าในขณะนี้เริ่มมีเกษตรกรไทยหลายรายได้ให้ความสนใจที่จะขยายพื้นที่ปลูกชมพู่ม่าเหมี่ยวกันมากขึ้น ดูได้จากร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ได้มีการนำต้นชมพู่เพาะเมล็ดมาจำหน่ายในราคาต้นละ 40-50 บาท

ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน ออกดอกทั่วทั้งต้น

ในหนังสือ คู่มือการทำสวนชมพู่อย่างมืออาชีพ เรียบเรียงโดย คุณสุพจน์ ตั้งจตุพร (สำนักพิมพ์นาคา) ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับชมพู่ม่ะเหมี่ยวไว้ว่าเป็นชมพู่ที่มีต้นสูงใหญ่ ความสูงประมาณ8-10 เมตร ปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี จะเริ่มออกดอกติดผลและมีการออกดอกติดผลตลอดทั้งปี ผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน

ในวงการนักขยายพันธุ์ชมพู่บอกว่าการเสียบยอดชมพู่พันธุ์ดีบนต้นตอชมพู่ม่ะเหมี่ยวจะได้ต้นชมพู่ที่แข็งแรงและมีอายุยืน “ชมพู่สาแหรก” จัดเป็นชมพู่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับชมพู่ม่ะเหมี่ยว ต่างกันตรงที่ผลของชมพู่สามีสีแดงอมชมพู และมีริ้วจากขั้วมาที่ก้นผล เนื้อมีสีขาวนุ่มรสชาติหอมหวาน ลำต้นและใบคล้ายกับชมพู่มะเหมี่ยว แต่กิ่งแขนงจะตั้งฉากกับลำต้น

และ “ชมพู่น้ำดอกไม้” จัดเป็นชมพู่สายพันธุ์โบราณของไทยหารับประทานได้ยากมาก ลักษณะของผลถ้าไม่บอกจะไม่รู้เลยว่าเป็นชมพู่ลักษณะของผลถ้าไม่บอกจะไม่รู้เลยว่าเป็นชมพู่เหมี่ยว ในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียลักษณะผลจะออกกลมมีสีขาวอมเหลืองอาจจะมีสีชมพูปนบ้าง จัดเป็นชมพู่ที่มีเนื้อบางกว่าชมพู่สายพันธุ์อื่นแต่มีรสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นดอกกุหลาบและเมล็ดใหญ่ ื้อบางกว่าชมพู่สายพันธุ์อื่นแต่มีรสชาติ

ชมพู่ยักษ์ไต้หวันที่ปลูกโดยชมรมฯ ที่ จ.พิจิตร

ลักษณะต้นของชมพู่น้ำดอกไม้จัดเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มขนาดกลาง ใบเล็กเรียวยาวมีสีเขียวเป็นมัน ดอกมีสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม จัดเป็นชมพู่แปลกและหายากในปัจจุบัน

สายพันธุ์ชมพู่ที่ปลูกในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย

ในอดีตที่ผ่านมาชมพู่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย คือ

“พันธุ์เพชรสายรุ้ง” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีชื่อเสียงและมีการปลูกมากในเขต จ.เพชรบุรี ชมพู่พันธุ์นี้มีชื่อเสียงมายาวนานคาดว่ามีการนำพันธุ์มาปลูกที่ จ.เพชรบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2375 ปัจจุบันยังมีปลูกอยู่บ้างแต่น้อยลงกว่าเดิม ลักษณะเด่นของชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้งคือ ขนาดของผลใหญ่ ทรงผลรูประฆังคว่ำ เมื่อผลแก่จะมีสีขาวอมชมพู่ รสชาติหวานกรอบและภายในผลจะมีเมล็ด 1-3 เมล็ด

“พันธุ์ทูลเกล้า” จัดเป็นพันธุ์การค้าที่ได้รับความนิยมและครองตลาดมายาวนานสายพันธุ์หนึ่ง ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าประวัติความเป็นมาของชมพู่สายพันธุ์นี้เป็นอย่างไรบ้างก็ว่าเป็นชมพู่ที่เกิดการกลายพันธุ์ที่ อ.สามพรานหรือมีคนนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ลักษณะเด่นของชมพู่พันธุ์ทูลเกล้าก็คือ ออกดอกและติดผลง่าย ออกทะวายตลอดทั้งปีและไม่เลือกพื้นที่ปลูก มีการขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ลักษณะของผลจะเป็นทรงยาวเมื่อผลแก่จะมีสีเขียวอมเหลือง เป็นชมพู่ที่มีความหวานไม่มากนัก ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกน้อยลง

ชมพู่ยักษ์ไต้หวันแม้ปล่อยให้ติดผลเป็นพวง ผลก็ยังมีขนาดใหญ่

“พันธุ์ทับทิมจันท์” หลังจากที่ อ.ประเทือง อายุเจริญ นำพันธุ์ชมพู่พันธุ์ “ซิต้า” มาจากประเทศอินโดนีเซีย นำมาปลูกเป็นครั้งแรกที่ จ.จันทบุรี เมื่อต้นชมพู่พันธุ์ซิต้าที่นำมาปลูกเริ่มให้ผลผลิตพบว่า เป็นชมพู่ที่ผลสีแดงเข้มและมีผลขนาดใหญ่ เนื้อแน่นมีน้ำหนักผลเฉลี่ย 120-130 กรัม เนื้อแน่นและรสชาติหวานมากไม่มีเมล็ด มีคุณสมบัติที่ดีกว่าชมพู่พันธุ์การค้าอื่นๆหลายสายพันธุ์ อ.ประเทือง อายุเจริญ จึงได้ตั้งชื่อว่า “พันธุ์ทับทิมจันท์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ จ.จันทบุรี และในปี พ.ศ. 2541 อ.ประเทืองได้เริ่มขยายพันธุ์กิ่งชมพู่ทับทิมจันท์ออกจำหน่ายได้รับความนิยม มีการนำไปปลูกกันทั่วประเทศ

ช่วงที่ผลผลิตชมพู่ทับทิมจันท์ออกสู่ตลาดใหม่ๆจะมีราคาแพงมากราคาถึงผู้บริโภคสูงกว่ากิโลกรัมละ100 บาท จากที่ได้กล่าวมาแล้วเมื่อมีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากทำให้ราคาตกลง นอกจากสายพันธุ์ชมพู่ที่ได้กล่าวมาแล้วยังมีสายพันธุ์ชมพู่อีกหลายสายพันธุ์ที่เกษตรกรนำพันธุ์มาปลูก อาทิ พันธุ์เพชรสามพราน, พันธุ์เพชรน้ำผึ้ง, พันธุ์เพชรจินดา ฯลฯ แต่ไม่มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากนักและเป็นที่รู้จักน้อยกว่าพันธุ์ทูลเกล้าและพันธุ์ทับทิมจันท์

ดอกชมพู่ยักษ์ไต้หวันกำลังบาน

สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรที่คิดจะปลูกชมพู่ในเชิงพาณิชย์จะต้องเน้นในเรื่องของคุณภาพของผลผลิต การปลูกชมพู่ในพื้นที่มากๆ อาจดูแลไม่ทั่วถึง การให้ปุ๋ยและการจัดการสวนชมพู่เป็นเรื่องสำคัญมาก ฝนเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรที่ปลูกชมพู่โดยเฉพาะในช่วงกำลังติดผล จะพบปัญหาผลแตก ชมพู่เป็นไม้ผลที่ต้องการแรงงานในการห่อผลเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเกษตรกรที่คิดจะปลูกชมพู่ควรจะยึดหลัก “ทำน้อย ได้มาก” คือปลูกและสามารถจัดการสวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาถึงปัจจุบันดูเหมือนว่าในวงการผู้ปลูกชมพู่จะเงียบเหงาลง จนกระทั่งได้เริ่มมีการนำเอาสายพันธุ์ชมพู่ยักษ์จากประเทศไต้หวันออกมาเผยแพร่และขายกิ่งพันธุ์ในราคาสูงมาก แต่ยังไม่เคยเห็นผลผลิตว่าปลูกในประเทศไทยแล้วให้ผลผลิตเป็นอย่างไร

ทำความรู้จักกับชมพู่ยักษ์ไต้หวันที่ให้ผลผลิตแล้ว

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวัน ดูงานการเกษตรหลายอย่างที่โดดเด่นที่สุด ก็คือการปลูกกล้วยไม้ฟาแลนนอฟซีสที่ไต้หวันได้ชื่อว่าผลิตเพื่อการส่งออกมากที่สุดในโลก ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการดูงานในครั้งนั้นผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยวชมตลาดขายพันธุ์ไม้ผลที่มีชื่อเสียงของไต้หวันซึ่งมีไม้ผลหลากหลายชนิด จะต้องยอมรับกันว่าสายพันธุ์มะม่วงไต้หวันที่มีการนำพันธุ์มาปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมาหาซื้อพันธุ์จากที่นี่ อาทิ มะม่วงพันธุ์หยู่เหวิน เบอร์ 6, พันธุ์งาช้างแดง, พันธุ์หงจู ฯลฯ

ผลมีความยาว 4 นิ้ว เนื้อหนา หวานกรอบ ไม่มีเมล็ด

ผู้เขียนได้ซื้อชมพู่มาต้นหนึ่งราคาต้นละ 500 เหรียญไต้หวันซึ่งเมื่อคิดเป็นเงินไทยประมาณ 500 บาท (ราคาแลกเปลี่ยนเงินตราเงินไต้หวันกับเงินไทยใกล้เคียงกัน) รายละเอียดที่ติดมากับชมพู่ต้นนั้นเป็นภาษาจีนและเมื่อแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า “ชมพู่น้ำหอมที่ใหญ่เท่ากับฝ่ามือ”

ผู้เขียนได้นำกิ่งพันธุ์ชมพู่ไต้หวันมาเลี้ยงให้ต้นเจริญเติบโตและได้นำยอดมาเสียบบนต้นชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์ที่แผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร ได้ปลูกไว้เพื่อบริโภค 2 ต้น และมีอายุต้นประมาณ 5 ปี ได้เสียบยอดชมพู่ไต้หวันบนต้นชมพู่ทับทิมจันท์เพียงต้นเดียว เลี้ยงยอดชมพู่ไต้หวันที่แตกออกมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปี และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้น มาทางผู้เขียนเห็นว่าต้นชมพู่ไต้หวันแตกทรงพุ่มใหญ่เห็นว่าควรใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อบังคับให้ต้นชมพู่ออกดอกติดผลนอกฤดู

ในการบังคับให้ต้นชมพู่ออกนอกฤดูนั้นผลปรากฏว่า ต้นชมพู่ได้ออกดอกมาเพียง 1-2 ช่อเท่านั้น ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นมากได้พยายามบำรุงรักษาเป็นอย่างดีเพื่อดูว่าผลชมพู่จะมีขนาดผลใหญ่จริงหรือไม่ ในขณะที่ต้นชมพู่เลี้ยงผลอยู่เพียง 1-2 ช่อนั้น พอเข้าเดือนมีนาคม 2555 ผลปรากฏว่าต้นชมพู่ไต้หวันที่เสียบไว้ทยอยออกดอกทั้งต้น ถึงทุกวันนี้เดือนพฤษภาคม ก็ยังมีดอกออกมา อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนสะสมมาโดยตลอด

ผู้เขียนกับต้นชมพู่ยักษ์ไต้หวันที่ปลูกที่ จ.พิจิตร

หลังจากที่ห่อผลชมพู่ไต้หวันไปได้ประมาณ 25-30 วัน (โดยเริ่มห่อในระยะที่ผลชมพู่ถอดหมวกหรือผลใหญ่ขนาดนิ้วโป้ง) พบว่า ผลชมพู่ไต้หวันที่เก็บเกี่ยวมานั้นมีขนาดของผลใหญ่กว่าชมพู่สายพันธุ์อื่นๆ ที่ผู้เขียนพบมาโดยมีคุณสมบัติของผลดังนี้

“ผลมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักผลประมาณ 200 กรัม หรือ 5 ผลต่อกิโลกรัม ผิวผลมีสีขาวอมชมพูหรือสีชมพูอมแดง ลักษณะของผลเป็นรูประฆังคว่ำใหญ่  มีความกว้างของผลเฉลี่ย 7 เซนติเมตรและความยาวของผลเฉลี่ย 9-10 เซนติเมตร เนื้อหนามากและเป็นชมพู่ไร้เมล็ด รสชาติหวานกรอบมีความหวานประมาณ 11-12 บริกซ์ ถ้าผลผลิตแก่และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งจะมีความหวานสูงกว่านี้ จัดเป็นชมพู่สายพันธุ์หนึ่งที่ออกดอกและติดผลดกมาก”

ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จึงได้ตั้งชื่อชมพู่ไต้หวันสายพันธุ์นี้ว่า “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน” ผู้เขียนมีความเชื่อที่ว่าชมพู่ยักษ์ไต้หวันนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการปลูกชมพู่ในประเทศไทยเพราะมีความโดดเด่นในเรื่องขนาดผลและความอร่อยไม่แพ้ชมพู่พันธุ์การค้าสายพันธุ์อื่น