บันนังสตา ยะลา มีหมอนทองแปลงใหญ่ ปลูกเชิงเขาแทนสวนยาง รายได้ดี

อำเภอบันนังสตา เป็นอำเภอหนึ่งที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากตัวอำเภอเมืองยะลาตามเส้นทางลงไปสู่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใต้สุดแดนสยาม อันเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่แม้อำเภอบันนังสตาจะไม่ได้ถูกจดจำว่ามีการเกษตรชนิดใดโดดเด่นเป็นหลัก แต่เมื่อถึงฤดูที่ทุเรียนให้ผลผลิต ก็มีทุเรียนหมอนทองจำนวนไม่น้อยที่ออกจากพื้นที่นี้ไป

คุณอาลี บือแน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา พาเราเข้าพื้นที่ไปดูแปลงทุเรียนหมอนทอง ที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเองการันตีว่า หมู่ที่ 2 เป็นแปลงปลูกทุเรียนหมอนทองแปลงใหญ่ที่สุดของอำเภอบันนังสตา

คุณฮามะ ตรอแซ

คุณอาลี บอกว่า เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกยางพารา มีอาชีพกรีดยางขาย เป็นหลัก แต่เมื่อราคายางตกต่ำ ชาวบ้านหลายรายคิดเปลี่ยนอาชีพ ที่มองเห็นช่องทางของรายได้ขณะนั้นคือ การปลูกทุเรียน เพราะไม่มีปีใดที่ทุเรียนราคาถูก ทำให้มีเกษตรกรจำนวน 114 ราย โค่นยางพาราและปลูกทุเรียนหมอนทอง เฉลี่ยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนหมอนทอง ประมาณ 5 ไร่ ต่อราย รวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ โดยในจำนวนนี้ มีเกษตรกรคุณภาพ 13 ราย

การรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านระบุว่า เพราะช่วยให้เกษตรกรสามารถต่อรองราคาผลผลิต มีหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน ให้ความรู้และคำแนะนำ ซึ่งเกษตรกรยินดีและพึงพอใจมาก

คุณฮามะ ตรอแซ และ คุณอาลี บือแน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2

ผลผลิตทุเรียนหมอนทองของกลุ่มเกษตรกร หมู่ที่ 2 จะเก็บเกี่ยวทุเรียนเมื่อความสุกที่ 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สุกเมื่อถึงมือผู้บริโภคพอดี และได้ทุเรียนที่มีความแก่จัด ไม่ถูกตำหนิว่าเป็นทุเรียนไม่ได้คุณภาพ

ผลผลิตทั้งหมดที่เก็บได้ จะนำไปส่งยังตัวจังหวัดยะลาให้กับผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่งทุกปีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเท่าที่รู้ ทุเรียนหมอนทองของอำเภอบันนังสตาแห่งนี้ ถูกกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน บรรจุลงกล่องส่งไปจำหน่ายที่มาเลเซียเป็นส่วนใหญ่

คุณฮามะ ตรอแซ ชาวบ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ผู้ปลูกทุเรียน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ หมอนทอง พวงมณี ชะนี และก้านยาว บนพื้นที่ 10 ไร่ ที่ลาดเชิงเขา ให้ข้อมูลว่า เดิมทำสวนยางพารา เมื่อราคายางตกต่ำ จึงโค่นยางพาราทิ้งและลงปลูกทุเรียนทั้ง 4 สายพันธุ์ไว้ เพราะเห็นว่าเป็นสายพันธุ์ที่ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อสายพันธุ์ทุเรียนทั้งหมดมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี

อายุต้นทุเรียนเกือบ 30 ปีแล้ว

“ที่เลือกปลูกทุเรียน เพราะเป็นที่ลาดเชิงเขา และดินไม่เหมาะกับไม้ผลชนิดอื่น เริ่มจากการทดลองปลูกเพียง 5 ไร่ เมื่อได้ผลผลิตดี ราคาซื้อขายดี จึงขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 10 ไร่”

คุณฮามะ ปลูกทุเรียนมานานกว่า 30 ปี ถือว่าเป็นเกษตรกรยุคแรกๆ ที่เริ่มโค่นยางและตัดสินใจปลูกทุเรียนเต็มแปลง แม้จะไม่มีความรู้เรื่องการปลูกไม้ผลมาก่อน แต่เพราะมีความสนใจใฝ่รู้ ความรู้เรื่องการดูแลรักษาทุเรียนจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณฮามะ

เมื่อได้ต้นพันธุ์ทุเรียนมา ควรขุดหลุมปลูกความลึก 1 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางหลุมปลูก 1 เมตร เมื่อนำต้นพันธุ์ลงปลูกให้กลบแล้วพูนโคนรอบต้น ระยะปลูก 10×10 เมตร เหตุที่ต้องมีระยะปลูกมาก เพราะเป็นที่ลาดเชิงเขา ทรงพุ่มของต้นทุเรียนจะไม่ชิดกันมากเกินไป เมื่อระยะปลูกเช่นนี้ ทำให้ปลูกทุเรียนได้จำนวน 20 ต้น ต่อไร่

ค่าจ้างโยงกิ่ง-ลูก 200 บาท ต่อต้น

การให้ปุ๋ย ใช้สูตร 15-15-15 ให้ 3 เดือน ต่อครั้ง ครั้งละกำมือหรือมากกว่า ให้พิจารณาจากอายุของต้นทุเรียน

การให้น้ำ เมื่อทุเรียนเริ่มติดผล ควรให้นาน 10 นาที หากฤดูแล้งควรเพิ่มเวลาให้น้ำเป็น 15-20 นาที ทุกวัน ยกเว้นฤดูฝนที่ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ หากไม่แน่ใจให้ดูจากความชื้นของดิน

ผลผลิต แต่ละต้นจะให้จำนวนไม่เท่ากัน หากอายุต้นทุเรียน 15-17 ปี ควรไว้ผลทุเรียนเพียง 50 ผล จึงจะทำให้ผลทุเรียนมีความสมบูรณ์มากเพียงพอ

เมื่อผลผลิตออกจำนวนมาก จำเป็นต้องจ้างแรงงานโยงกิ่ง ปัจจุบัน ค่าจ้างแรงงานโยงกิ่งต่อต้น วันละ 200 บาท

การตัดแต่งกิ่ง จะทำก็ต่อเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องทำ

ตลาดรองรับทุเรียนทุกชนิดอยู่ที่จังหวัดยะลา

เมื่อถามถึงรสชาติ เพราะแน่นอนว่า ทุเรียนในภาคตะวันออกได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง คุณฮามะ กล่าวว่า รสชาติทุเรียนแต่ละถิ่นไม่เหมือนกัน ของอำเภอบันนังสตาแม้จะไม่โด่งดังเช่นภาคอื่น แต่ก็มีความหวานมัน และที่สำคัญไม่ใช้ยาฆ่าแมลงในการดูแลรักษา ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือ ปัญหาหนอนเจาะลำต้นและในผลทุเรียน ซึ่งทั้งสองปัญหา ยังไม่สามารถแก้ได้

ในปีที่ผ่านมา ทุเรียนแปลงใหญ่ของ หมู่ที่ 2 นี้ สามารถเก็บผลผลิตส่งจำหน่ายได้มากถึง 2 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไม่น้อย และแม้จะไม่ได้มีเทคนิคการดูแลทุเรียนมากเป็นพิเศษ แต่ก็สามารถทำทุเรียนได้คุณภาพตามตลาดต่างประเทศต้องการ ด้วยการปลูกแนวธรรมชาติ ใช้สารเคมีบ้างตามความจำเป็น เน้นการใช้ธรรมชาติดูแลมากกว่า

ให้อาหารเสริมที่โคนต้น

หากเกษตรกรในภาคใต้รายใด สนใจศึกษาดูงานการทำทุเรียนแปลงใหญ่ หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา แห่งนี้ ติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอบันนังสตา โทรศัพท์ 073-289-229 ในวันและเวลาราชการ