พิชิต ศิริเมือง เกษตรกรตัวอย่างเมืองน้ำดำ “เพาะเห็ด-ปลูกผักหวาน-เลี้ยงหนูนา” รายได้เป็นกอบเป็นกำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงสูง ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนไม่น้อยจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรผสมผสาน พร้อมๆ กับเลี้ยงสัตว์ด้วย เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี

คุณพิชิต ศิริเมือง กับคอกที่เลี้ยงหนูนา

ย้อนกลับไปก่อนปี 2552 คุณพิชิต ศิริเมือง อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลสะอาดไชยศรี อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็เหมือนเกษตรกรทั่วไปในตำบลสะอาดไชยศรี ที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และทำนา จนเมื่อได้ไปศึกษาดูงานได้รู้ได้เห็นและเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงนำมาปฏิบัติในพื้นที่ทำกินของตัวเองจำนวน 19 ไร่ ที่ตำบลสะอาดไชยศรี โดยแบ่งที่ทำกิน เป็นที่นา 5 ไร่ และทำประมง 2 ไร่ นอกนั้นปลูกพืชแบบผสมผสาน และได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นแปลงต้นแบบโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดกาฬสินธุ์ ในโครงการกาฬสินธุ์ คนดี สุขภาพดี รายได้ดี ปี 2557

ปลูกน้อยหน่า 500 ต้น ไม่พอขาย

คุณพิชิต เล่าให้ฟังว่า ได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของตำบลสะอาดไชยศรี เมื่อปี 2552 ตอนนี้มีรายได้วันละ 300-600 บาท ไม่รวมรายได้เป็นเดือนและรายปี ซึ่งล้วนมาจากผลผลิตในศูนย์ ทั้งจากการทำประมง คือเลี้ยงปลานิล ปลาดุก เลี้ยงกบ และเลี้ยงหนูนา และมีรายได้จากการทำสวน ที่ปลูกทั้งกล้วยน้ำว้า ต้นผักหวานป่า 150 ต้น และเพาะพันธุ์กล้าไม้ขาย นอกจากนั้น ยังปลูกน้อยหน่าหนัง 500 ต้น ขายกิโลกรัมละ 20 บาท โดยขายให้กับคนในท้องถิ่น รวมถึงผู้มาอบรมที่ศูนย์ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ

พืชผักผลไม้ในสวนแห่งนี้ใช้ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยหมักที่เขาทำขึ้นเอง พร้อมกันนั้นยังมีรายได้จากการเพาะเห็ด ทั้งเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า และเห็ดขอนขาว โดยมีลูกสาว คุณอรพิน ศิริเมือง ซึ่งเรียนจบ ปวช. เป็นกำลังสำคัญ รวมๆ แล้วสองคนพ่อลูกนี้มีรายได้จากศูนย์เดือนละหมื่นกว่าบาท

ใครไปที่ศูนย์จะเห็นพืชผักผลไม้นานาชนิด และที่ผู้คนสนใจก็เห็นจะเป็นหนูนา ซึ่งคุณพิชิตบอกว่า ขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท หากเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขายตัวละ 200 บาท จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน เช่นเดียวกับเห็ดฟางที่ขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท

ในการปลูกต้นน้อยหน่านั้น คุณพิชิตให้ข้อมูลว่า ปลูกมา 3 ปีแล้ว ปีหน้าน่าจะได้ผลผลิตมากขึ้น ซึ่งตนเองได้บำรุง โดยให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เป็นปุ๋ยหมักที่ทำจากหอยเชอรี่ ใส่ตอนต้นฝนและปลายฝน เริ่มใส่เดือนกันยายนเป็นช่วงต้นฝน เพื่อให้ลำต้นแข็งแรง เจริญเติบโตเลี้ยงลูกได้

โรงเรือนเพาะเห็ดฟางที่ทำเป็นชั้นๆ

พร้อมกันนั้นยังได้ผลิตจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงไว้ใช้เองด้วย เพื่อช่วยให้เร่งใบ ให้พืชเจริญเติบโตได้ดี การทำก็ไม่ยาก ส่วนผสมมีไข่ไก่ 3 ฟอง ชูรส 1 ช้อนโต๊ะ น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันแล้วใส่ในขวดที่มีน้ำ 1.5 ลิตร เขย่าทุกวันและนำไปตากแดด พอ 4-5 วันจะเริ่มเป็นสีชมพูอ่อนๆ ทิ้งไว้ 15 วันใช้ฉีดได้เลย ถ้าทำไม่ได้ตามสูตรจะออกเป็นสีน้ำตาล ฉีด 1 ลิตร ใส่น้ำ 20 ลิตร ต้องฉีดช่วงที่มีแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าและเย็น

ต้นไม้ชนิดใหม่ล่าสุดที่อดีตผู้ใหญ่บ้านท่านนี้นำมาปลูกคือ “โกโก้” เนื่องจากมีบริษัทมารับซื้อและรับประกันราคา คุณพิชัยแจกแจงว่า ตนเองเป็นตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่งที่ส่งเสริมการปลูกโกโก้ด้วย ในศูนย์แห่งนี้เพิ่งเริ่มปลูกโกโก้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปลูกแล้ว 200 ต้น และจะปลูกให้ได้ 600 ต้น จากการไปดูงานมาหลายที่ เวลานี้ปลูกต้นโกโก้กันหลายจังหวัด ทั้งที่ชัยภูมิ อุดรธานี กำแพงเพชร เป็นพืชที่ได้ผลผลิตเร็วแค่ 3 ปีก็เก็บผลได้แล้ว มีโรงงานรับซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท แต่ทางบริษัทจะประกันราคาให้กิโลกรัมละ 5 บาท หากมีปัญหาราคาตกต่ำ

พื้นที่ภายในศูนย์ที่ปลูกพืชแบบผสมผสาน

การปลูกโกโก้ บำรุงรักษาเหมือนไม้ผลทั่วๆ ไป ดูแลง่าย ระยะปลูก 4 คูณ 4 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 100 ต้น 3 ปีเก็บผลิตได้เลย 1 ต้นให้ผลผลิตประมาณ 40 กิโลกรัม 

ขั้นตอนเพาะเห็ดให้ได้ผลผลิตดี

อดีตผู้ใหญ่บ้านรายนี้แจกแจงขั้นตอนการเพาะเห็ดให้ฟังว่า เพาะเห็ดฟาง เห็ดขอนขาว และเห็ดนางฟ้า ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อ เห็ดฟางและเห็ดนางฟ้ากิโลกรัมละ 60-65 บาท ส่วนเห็ดขอนขาวกิโลกรัมละ 80-90 บาท และยังขายปลีกให้ชาวบ้านในย่านนี้ด้วย ซึ่งแต่ละฤดูจะให้ผลผลิตที่แตกต่างกัน อย่างช่วงหน้าหนาว เห็ดฟางจะไม่ค่อยออก เพราะไม่ชอบอากาศเย็น ขณะที่เห็ดนางฟ้าชอบอากาศหนาว และจะออกดอกดี ซึ่งถ้าเป็นหน้าร้อนจะเพาะเห็ดขอนขาว

คุณอรพิน ศิริเมือง หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการเพาะเห็ด

ในบรรดาเห็ด 3 ชนิดนี้ คุณพิชิตระบุว่า เห็ดฟางทำยากสุด เพราะในพื้นดินมีสารเคมีหรือปลวกกินบ้าง ไม่ได้คุณภาพ จึงทำเป็นเห็ดคอนโดฯ ที่มี 9 ชั้น และต้องมีเตาอบไอน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค ที่ผ่านมาทำแล้วได้ผลดี มีกำไรรอบละ 3,000 บาท อีกทั้งต้นทุนต่ำ เนื่องจากทำครบวงจร เริ่มตั้งแต่วัสดุที่ใช้เพาะทำเอง โดยนำฟางข้าว เปลือกมัน รำข้าว กากน้ำตาล ผสมกันหมักไว้ 5-6 วันเพื่อให้เกิดเชื้อจุลินทรีย์ จากนั้นอบไอน้ำ 60 องศา 3 ชั่วโมง รุ่งเช้ามาเปิด แล้วโรยเชื้อก่อนนำไปขึ้นชั้น โดยในช่วง 21 วัน จะได้ผลผลิต 170-200 กิโลกรัม ต่อรอบ

ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อ ถ้าเห็ดเป็นดอกตูมสวยจะไว้ขายส่ง ส่วนเห็ดออกดอกหัวแตกไม่สวย ไว้ขายในละแวกบ้าน ขณะที่ต้นทุนประมาณ 2,500 บาท

บ่อเลี้ยงกบ

คุณพิชิตอธิบายขั้นตอนการทำเห็ดฟางในโรงเรือนว่า การทำก้อนเชื้อ วัสดุที่ใช้มี 1. เปลือกมันล้าง 2. รำข้าว 60 กิโลกรัม 3. ขี้วัวแห้ง 4. ปูนขาว 5. ยิปซัม 6. กากน้ำตาล 7. EM หรือน้ำหมักชีวภาพ 8. ฟางข้าว หมักเปลือกมันล้าง ฟางข้าว รำ 30 กิโลกรัม ยิปซัม ปูนขาว ขี้วัวแห้ง 8 กระสอบ ผสมให้เข้ากัน รดด้วยน้ำผสมกากน้ำตาล และ EM หมักในบ่อหมักคลุมด้วยพลาสติก 5-7 วัน

หลังจากผ่านกระบวนการหมัก นำวัสดุที่หมักแล้วขึ้นชั้น นำรำข้าว 30 กิโลกรัม ผสมกับขี้วัวแห้ง 2 กระสอบ โรยบนวัสดุหมักอีกชั้น ปิดพลาสติกด้านในให้มิดชิด ทำการอบไอน้ำด้วยอุณหภูมิ 60 องศา เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ในตอนเช้าของวันถัดมา เปิดพลาสติกเพื่อระบายความร้อน ประมาณ 1 ชั่วโมง นำก้อนเชื้อเห็ดฟางมาขยี้ ผสมกับแป้งข้าวเหนียวเล็กน้อย รดน้ำวัสดุบนชั้น เพื่อระบายความร้อน นำเชื้อเห็ดโรยให้เต็ม ปิดโรงเรือนให้มิดชิด ทิ้งไว้อีก 5 วัน หลังจาก 5 วันแล้ว เปิดโรงเพื่อตัดใย

ยอดผักหวานป่าขายกิโลกรัมละ 200 บาท

ช่วงนี้ค่อนข้างอันตรายมาก เพราะหลังจากผ่านมา 5 วัน ภายในโรงเรือนจะเกิดก๊าชแอมโมเนีย อาจทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้ ต้องเปิดโรงเรือนทิ้งไว้ก่อน 1 ชั่วโมง ค่อยเข้าไป เปิดช่องอากาศด้านบน 8 ช่อง ด้านหน้าฝั่งละ 2 ช่อง หลังจากนั้นจึงตัดใยเห็ด ลักษณะใยเห็ดจะเป็นปุยสีขาวขึ้นเต็มชั้น การตัดคือการใช้น้ำฉีดเป็นฝอย แต่มีความแรง เพื่อให้เส้นใยขาด

จากนั้นปิดโรงเรือน เปิดอากาศด้านล่างเล็กน้อย ประมาณ 3 วัน ใยเห็ดจะเริ่มจับตัวกันเป็นดอกเห็ด

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มหมักจนเริ่มเห็นดอกประมาณ 15 วัน ระยะเก็บอีกประมาณ 15 วัน จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 170-200 กิโลกรัม ส่วนราคาขายขึ้นอยู่กับช่วงฤดู ถ้าหน้าหนาวจะแพงขึ้นมาหน่อย ปกติจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-65 บาท ส่วนเทคนิคของที่ศูนย์นี้จะใช้เศษเห็ดหรือตีนเห็ดมาหมักเป็นจุลินทรีย์ เพื่อนำกลับมาใช้ ในขั้นตอนการหมักหรือฉีดพ่นตอนตัดใบ 

วิธีเพาะเมล็ดผักหวานป่า

สำหรับการปลูกผักหวานป่า คุณพิชิตแจกแจงว่า เริ่มจากการเพาะเมล็ดก่อน การดูเมล็ดแก่จะมีลักษณะลูกรีๆ เล็กๆ คล้ายมะปรางแต่ลูกเล็กกว่า จากนั้นบีบเพื่อนำเนื้อออกขัดด้วยทรายจนเหลือแต่แก่นเมล็ดข้างใน ต้องขัดเนื้อให้หมด ถ้าขัดไม่หมดจะเกิดราก่อนจะงอก จะเพาะใส่ถุงหรือใส่กะละมังก็ได้

ดินที่ใช้เพาะจะเป็นดินทรายผสมแกลบดำ นำเมล็ดตะแคงฝังในดินครึ่งเดียวประมาณ 1 สัปดาห์จะเริ่มงอก อายุ 45 วันขึ้นไป เริ่มนำไปปลูกได้เลย

ต้นผักหวานป่าต้นใหญ่

ผักหวานตอนต้นเล็กๆ ต้องการร่มเงา จึงต้องมีไม้พี่เลี้ยง เช่น ต้นกล้วย ตะขบ น้อยหน่า ลำไย แต่ไม่ควรปลูกใกล้ยางพารา ผักหวานต้องการน้ำไม่มากให้สัปดาห์ละ 2 ครั้งก็พอ เมื่ออายุปีครึ่งขึ้น ต้นผักหวานป่าจะสามารถหาน้ำได้เองเหมือนต้นไม้ทั่วไป ผักหวานไม่ชอบปุ๋ยเคมี จะใส่แต่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักเท่านั้น ผลผลิตจะเริ่มออกตอนปลายฝนไปจนตลอดฤดูหนาว ถ้าอยากให้ออกก่อนฤดู ใช้วิธีรูดใบแก่ออกเพื่อเร่งให้ผักหวานออกยอดเร็วขึ้น ซึ่งยอดผักหวานป่าขายกิโลกรัมละ 200 บาท

เทคนิคการเลี้ยงหนูนา

ในส่วนการเลี้ยงหนูนา คุณพิชิตให้รายละเอียดว่า ต้องหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก่อน ตอนแรกชาวบ้านแถวนั้นเอามาขายให้เป็นตัวเมีย ซึ่งกำลังท้อง พอมันออกลูก 7 ตัว ด้วยความตื่นเต้นจึงเปิดดูทั้งวัน ไม่นานลูกหนูก็ค่อยๆ หายไปจนไม่เหลือ จึงเริ่มศึกษาและได้รู้ว่าหนูที่นำมาเลี้ยงเป็นหนูป่า ยังไม่เชื่อว่า การที่ไปเปิดดูบ่อยๆ ด้วยสัญชาตญาณแม่หนูจะกินลูกตัวเองจนหมด

จากนั้นเริ่มเลี้ยงใหม่ตอนแรกเลี้ยงในวงบ่อก่อน นำบ่อกลมๆ มาตั้งซ้อนกัน 2 บ่อ เทพื้นปูน ใส่แกลบ ปล่อยหนูพ่อแม่พันธุ์ บ่อหนึ่งปล่อยตัวเมีย 2 ตัว ตัวผู้ 1 ตัว พ่อแม่พันธุ์อายุ 4 เดือนขึ้นไป คอยสังเกตตัวเมีย ถ้าตัวไหนท้องเต้านมจะเริ่มเป็นเม็ดใสๆ เหมือนเม็ดข้าวสาร ต้องแยกออกเลี้ยงเดี่ยว หนูนาที่ใกล้คลอดจะไม่ค่อยกินอาหารและค่อนข้างดุ จึงไม่ควรยุ่งกับมันมาก มันจะทำรังและเตรียมออกลูก ชอบอยู่แบบเงียบๆ ในระยะลูกอ่อนก็ไม่ควรไปยุ่งกับมัน แค่ให้น้ำให้อาหารก็พอ

ลูกหนูในระยะเดือนแรกจะกินแต่นม จากนั้นแม่หนูจะฝึกให้กินอาหาร พอ 2 เดือนก็จับแยกลงบ่อใหญ่เลี้ยงรวมกับตัวอื่น ตัวแม่ก็นำไปผสมพันธุ์ต่อไป หนูนาจะไม่ค่อยกัดกัน เป็นสัตว์สังคมชอบอยู่รวมกันหลายๆ ตัว อาหารของหนูนาส่วนมากเป็นอาหารธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง หญ้าต่างๆ รำข้าว ปลายข้าว ผักสวนครัวต่างๆ

การเลี้ยงหนูนาลงทุนก็ไม่เยอะ พ่อแม่พันธุ์ราคาแล้วแต่พื้นที่ ถ้าแถวกาฬสินธุ์ประมาณคู่ละ 500-600 บาท ต้นทุนในการทำบ่อเลี้ยงเริ่มต้นไม่ถึง 2,000 บาท ส่วนราคาหนูหนุ่มตัวหนึ่ง 200-300 บาทแล้วแต่ขนาด หนูนาไม่ค่อยล้นตลาดเพราะคนอีสานนิยมรับประทานเนื้อหนูนา ส่วนหนึ่งเพราะหนูนาตามธรรมชาติหายาก อาจเป็นเพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ยาฆ่าแมลงกันเยอะ หนูนานอกจากจะเพื่อขายไว้รับประทานแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์หนูนาไว้ด้วย

วันนี้นอกจากจะมีผู้คนจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์นี้แล้ว คุณพิชิตซึ่งรับหน้าที่เป็นหมอดินอาสาด้วย ยังเดินสายไปเป็นวิทยากรในงานต่างๆ เรียกว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่น้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้จนประสบความสำเร็จ และยังได้แบ่งปันความรู้ให้กับผู้คนในสังคมด้วย

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

……………………………………….สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354