สกว. หนุนศิริราชพัฒนาสมุนไพรแบบก้าวกระโดด เทคโนโลยีชีวภาพตรวจฤทธิ์เป็นตัวเลขครั้งแรกของโลก

ดร.ภก.ศิวนนท์

สกว. หนุนนักวิจัยศิริราชพัฒนาสมุนไพรและยาตำรับโบราณอย่างเป็นระบบแบบก้าวกระโดด โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพวิเคราะห์ตรวจจับฤทธิ์ออกมาเป็นตัวเลขครั้งแรกของโลก หวังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่ตลาดโลกและรักษาโรคสำคัญได้จริง พร้อมเชิญเอกชนทดสอบกลไกการออกฤทธิ์และพัฒนายาร่วมกัน

แผนที่สมุนไพร-ศึกษาฤทธิ์ยาถึงระดับโมเลกุล

ภก.ดร. ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง “การพัฒนายาสมุนไพรโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ” ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ว่า สมุนไพรและยาแผนโบราณเป็นสมบัติของชาติที่สามารถดูแลสุขภาพคนในประเทศและเป็นพื้นฐานการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาสมุนไพรในรูปแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบันจะไม่สามารถก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากขาดองค์ความรู้จำนวนมาก ทำให้เกิดวิกฤตในการแข่งขันกับต่างชาติ รวมถึงการถดถอยของพื้นที่ป่าความหลากหลายทางธรรมชาติ และองค์ความรู้เก่าแก่ที่เริ่มขาดหายไปพร้อมกับคนรุ่นเก่า

การพัฒนาสมุนไพรจึงควรทำอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง และโรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน และความดัน โรคหัวใจ ในผู้สูงอายุมากขึ้น ฤทธิ์ของสมุนไพรจะต้องได้ประโยชน์ครอบคลุมการรักษาหรือบรรเทาหรือป้องกันโรคเหล่านี้จึงจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจและดูแลผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง

แต่ปัญหาคือ ขาดความรู้ด้านกลไกการออกฤทธิ์ที่ชัดเจน โดยในช่วง 30 ปี หลังมียาที่พัฒนาจากยาสมุนไพรหรือยาตำรับแผนโบราณทั่วโลกไม่เกิน 3 ชนิด ซึ่งถือว่าช้าและไม่สามารถตอบสนองกับความต้องการในการพัฒนาประเทศได้ ขณะที่ไทยเองยังไม่มียาใดเข้าสู่การใช้ด้านคลินิกอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับโรคร้ายแรงในระดับนี้ การวิจัยสมุนไพรที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ก่อนที่ความได้เปรียบและความหลากหลายทางชีวภาพของเราจะหมดไป

สมุนไพร

สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและระดมสมอง คือ การหากลยุทธ์เพื่อพัฒนายาสมุนไพรและยาตำรับโบราณให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด โดยมีปัญหาใหญ่ 4 ข้อ ที่ต้องเอาชนะให้ได้ คือ

(1) จะศึกษาฤทธิ์ของยาสมุนไพรและยาแผนโบราณได้อย่างไร รวมถึงคำถามย่อยว่า ยามีฤทธิ์นั้นจริงหรือไม่ ฤทธิ์ที่เขียนไว้ตามตำราโบราณมีความหมายอย่างไรในเชิงวิทยาศาสตร์ ฤทธิ์ของยาตำรับใดดีกว่ากัน ตัวยาใดออกฤทธิ์อย่างแท้จริง หรือตัวยาเสริม มีพิษหรือพิษนั้นมีเหมาะกับผู้ป่วยโรคใดภาวะใด

(2) จะควบคุมคุณภาพของยาตำรับหรือสมุนไพรได้อย่างไร หากวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ ขาดไปจะหาอะไรมาทดแทน จะบอกได้อย่างไรว่าคุณภาพในเชิงการออกฤทธิ์ของสมุนไพรสม่ำเสมอหรือแหล่งใดดีกว่ากัน

(3) จะทำให้ยาสมุนไพรหรือยาตำรับแผนโบราณดีขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันเราใช้การอ้างอิงจากตำราโบราณหรือสอบถามความรู้จากหมอและผู้เชี่ยวชาญที่นับวันจะมีน้อยลง ทำให้ไม่มีโอกาสพัฒนายาสมุนไพรหรือยาตำรับ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสูตรหรือดัดแปลงตำราใดๆ ได้ ในระยะยาวจึงเป็นอันตรายอย่างมาก

(4) องค์ความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับสุขภาพและร่างกายของมนุษย์ที่เพิ่งถูกเปิดเผย เช่น ข้อมูลจีโนม ข้อมูลระดับโมเลกุลของโรคต่างๆ จะนำมาช่วยพัฒนายาสมุนไพรได้อย่างไร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้พัฒนาสมุนไพร และนำผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มาถ่ายทอดให้กับผู้ผลิตและผู้ค้าสมุนไพรและยาตำรับ โดยร่วมกับ บริษัท CellDx ถ่ายทอดเทคโนโลยีออกสู่สาธารณะ “ทีมของเราได้พัฒนาเซลล์ชนิดพิเศษที่สามารถตรวจจับฤทธิ์ของยาสมุนไพรและยาตำรับใดๆ ได้อย่างแม่นยำ เมื่อใช้ร่วมกับการวิเคราะห์แบบพิเศษที่ใช้ข้อมูลองค์รวมด้านจีโนม และการแสดงออกของยีนเข้ามาประกอบด้วย จะทำให้ตรวจวัดฤทธิ์ของสมุนไพรได้อย่างแม่นยำ นับเป็นครั้งแรกของโลกที่จะวัดธาตุร้อน ธาตุเย็น และอื่นๆ ที่ถูกกล่าวถึงตามศาสตร์โบราณ ออกมาเป็นตัวเลขที่สามารถวัด จับ ต้อง ชั่ง ตวง เทียบเคียงได้โดยไม่มีอคติใดๆ”

ทั้งนี้ ในช่วงแรกทีมวิจัยได้ทดสอบเทคโนโลยีนี้กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าส่งออกยาสมุนไพร โดยร่วมมือกับบริษัทปราชญา องค์การเภสัชกรรม และผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลการทดลองชี้ว่าเทคโนโลยีนี้สามารถรองรับการพัฒนายาสมุนไพรได้อย่างน่าทึ่งและเหมาะสม ซึ่งหากสามารถตรวจวัดและเทียบลิตรได้ก็จะไขความลับของศาสตร์ด้านยาโบราณได้ และนำไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของทรัพยากรของชาติอย่างแน่นอน โดยใช้เทคโนโลยีนี้ได้ในทุกขั้นตอนของการพัฒนายา ตั้งแต่หา พิสูจน์ฤทธิ์ ควบคุมคุณภาพ พัฒนาตำรับให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีพิษน้อยลง

“เราต้องการมีพันธมิตรเพิ่มขึ้น ยิ่งวิเคราะห์มากเท่าไรภาพของยาตำรับไทย ยาตำรับจีน และสมุนไพร เมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบันในบริบทของโรคใดๆ ก็จะชัดเจนมากขึ้น ผู้สนใจสามารถติดต่อเข้าเยี่ยมชม สอบถามและร่วมวิจัยได้ที่ห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โทร. (02) 419-5325”