“กศน. สงขลา” เป็นเลิศด้านการศึกษา ส่งเสริมอาชีพชุมชนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสงขลา (สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา) เป็นหน่วยงานทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) มุ่งส่งเสริมให้ชาวสงขลาได้รับการศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษาวิชาชีพเพื่อการมีงานทำอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ มุ่งสร้างสังคมฐานความรู้ สร้างกลุ่มอาชีพชุมชน จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้

คุณธนกร เกื้อกูล ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา

“คุณธนกร เกื้อกูล” ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา ได้ส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานให้สถานศึกษา กศน. และภาคีเครือข่ายจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 16 อำเภอ และมีห้องเรียนอยู่ทุกตำบล จำนวนทั้งสิ้น 127 ตำบล

ผอ. ธนกร เกื้อกูล รับรางวัลอบรมหลักสูตรประวัติศาสตร์ชาติไทย

ผอ. ธนกร กล่าวว่า สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา ได้จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งดำเนินงานตามนโยบายของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) และปฏิบัติตามนโยบายข้อสั่งการของ พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

“ปัจจุบัน สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบแบ่งเป็น 3 เขตพื้นที่ ได้แก่
1. พื้นที่ทั่วไป จำนวน 11 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองสงขลา สทิงพระ กระแสสินธุ์ ระโนด สิงหนคร ควนเนียง บางกล่ำ รัตภูมิ คลองหอยโข่ง นาหม่อม หาดใหญ่
2. จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย
3. เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ อำเภอสะเดา” ผอ. ธนกร กล่าว

สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง ส.ส.

สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา มอบหมายให้ กศน. อำเภอ ดูแลจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่จังหวัดสงขลาตามบริบทของพื้นที่ สำหรับพื้นที่ชายแดน 4 อำเภอนั้น จะเน้นจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งประกอบด้วยพี่น้องไทยพุทธ ไทยมุสลิมอยู่ร่วมกัน กศน. จะเน้นจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง เน้นความรัก ความสามัคคีปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำในชุมชนท้องถิ่น

ส่วนอำเภอสะเดา ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และเป็นด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย กศน. จะเน้นฝึกฝนประชาชนให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนการฝึกอาชีพจะเน้นเรื่องการสื่อสารกับชาวต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ พื้นที่ที่เหลืออีก 11 อำเภอนั้น มีสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย โซนด้านบนของจังหวัดสงขลาอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา-อ่าวไทย มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ส่วนอำเภอหาดใหญ่ จัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่เศรษฐกิจ ก็มีเป้าหมายที่หลากหลาย ซึ่ง ครู กศน. ต้องจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ

จัดกิจกรรมอบรมภาษาอังกฤษให้กับ ครู กศน.

สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา มี ครู กศน. ประจำอยู่ทุกตำบล สำหรับกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พิการ ทาง กศน. ก็จัดครูผู้สอนคนพิการเข้ามาดูแลให้การศึกษาเช่นเดียวกัน ส่วนเด็กเร่ร่อนที่ย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่ ไม่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ทาง กศน. ก็จัดหาครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน เพื่อดูแลจัดการศึกษาแก่เด็กกลุ่มเหล่านี้ด้วย

ผอ. ธนกร เกื้อกูล เยี่ยมบ้านนักศึกษา กศน.

กศน. สงขลา ส่งเสริมอาชีพชุมชน

ครู กศน. ตำบล แต่ละท่านจะมีความเชี่ยวชาญในหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง เช่น ตำบลที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ เป็นโซนพื้นที่การเกษตร ครู กศน. ท่านนั้นก็จะเชี่ยวชาญด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง การเพิ่มมูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตร กระตุ้นให้ชาวบ้านในชุมชนเกิดการรวมกลุ่มผลิตสินค้าและจำหน่ายสินค้าในตลาดสด ขายสินค้าแบบปากต่อปาก รวมทั้งช่องทางตลาดออนไลน์

สำนักงาน กศน. ได้ใช้พื้นที่ กศน. ตำบลทั่วประเทศ เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. (ONIE Online Commerce Center – OOCC) เป็นสถานที่ประชาสัมพันธ์ จัดแสดงสินค้า อบรมให้ความรู้ชาวบ้านเกี่ยวกับการผลิต-การขายสินค้าออนไลน์ ทำให้ชาวบ้านในแต่ละตำบลมีโอกาสขยายตลาดสินค้าออนไลน์ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Line Facebook Instagram ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบาย “ไทยนิยม ยั่งยืน” ของรัฐบาล

กศน ตำบลบางกล่ำใช้เฟสบุ๊คเป็นสื่อประชาสัมพันธ์การขายสินค้าให้กับกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง

“ปัจจุบัน สินค้าชุมชนทุกอำเภอที่จำหน่ายผ่านศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. (OOCC) ยกตัวอย่างเช่น ประชาชนในพื้นที่อำเภอระโนด และอำเภอกระแสสินธุ์ ที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล ประกอบอาชีพด้านการแปรรูปอาหารทะเล เช่น ปลาดุกร้า ปลาส้ม กุ้งหวาน ฯลฯ ส่วนสินค้าในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ ขนมหวาน อาหารพื้นบ้าน สิ่งประดิษฐ์ ฯลฯ ทุกวันนี้มีสินค้าชุมชนจำหน่ายผ่านช่องทางศูนย์ OOCC เพิ่มมากขึ้น จากการส่งเสริมอาชีพชุมชนของ ครู กศน. ตำบล โดยตรงรวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ” ผอ. ธนกร กล่าว

สร้างความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้

สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา ใส่ใจให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ 4 อำเภอ (อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และ สะบ้าย้อย) โดยมอบให้ ครู กศน. ตำบล สำรวจประชากรวัยเรียน (ระดับประถม ระดับมัธยมต้น-มัธยมปลาย) เพื่อดึงเยาวชนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้เยาวชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ขณะเดียวกันต้องการให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและประเทศ เพื่อให้เกิดมุมมองที่ดีขึ้นกับการเปลี่ยนแปลง
สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา เน้นจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีอาชีพ มีรายได้ และลดรายจ่ายภายในครอบครัว

ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน. อำเภอระโนด

“ผมสั่งการให้ ครู กศน. อำเภอ และ ครู กศน. ตำบล ว่าต้องช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้มีรายได้มากที่สุด จากโครงการอบรมอาชีพที่ ครู กศน. เข้าไปฝึกสอน หากไม่มีรายได้เพิ่ม อย่างน้อยต้องช่วยให้พวกเขาลดรายจ่ายรายวันในครัวเรือนได้ เช่น เรียนรู้ปลูกผักสวนครัวเป็นอาหาร ผลิตน้ำยาล้างจานขึ้นใช้เอง เป็นต้น” ผอ. ธนกร กล่าว

สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา ได้จัดกิจกรรมอบรมอาชีพหลากหลายหลักสูตร เช่น ช่างพื้นฐาน ประเภทช่างไฟฟ้า เปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจด้านช่างไฟฟ้าได้เข้ามาอบรมความรู้กับ ครู กศน. เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าเสีย นอกจากซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าได้เองแล้ว เยาวชนกลุ่มนี้ยังสามารถพัฒนาต่อยอดสร้างอาชีพโดยไปเรียนรู้ด้านไฟฟ้าเพิ่มเติมที่วิทยาลัยการอาชีพ หรือวิทยาลัยเทคนิคได้ ช่วยให้เยาวชนกลุ่มนี้มีความรู้นำไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ในอนาคต

กศน. จังหวัดสงขลา รับมอบโน้ตบุ๊กสำหรับครูอาสาปอเนาะ

สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา ได้มอบหมายให้ครูอาสาสมัครประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ (ครู กศน.) สนับสนุนให้เยาวชนไทยมุสลิมได้เรียนรู้ทั้งการศึกษาสายสามัญ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต การเรียนรู้ตามอัธยาศัยควบคู่กับการศึกษาด้านศาสนา
ประเด็นต่อมาที่จะช่วยสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ คือ การอ่าน-เขียน-พูดภาษาไทย เนื่องจากพี่น้องชายแดนใต้สื่อสารโดยใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดังนั้น สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา จึงมอบให้ครูอาสาสมัครประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ มุ่งจัดกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมการอ่าน-เขียน-พูดภาษาไทยให้แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ สร้างความเข้าใจและสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รถห้องสมุดเคลื่อนที่ออกให้บริการเยาวชนในสถานที่ต่างๆ

“สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา จัดรถโมบายส่งเสริมการอ่าน ภายในรถประกอบไปด้วยสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา หนังสือนานาชนิดออกไปให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ดัดแปลงเป็นห้องสมุดประชาชนเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตามชุมชนหมู่บ้าน มัสยิด และสถาบันศึกษาปอเนาะในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง” ผอ. ธนกร กล่าว

ส่งเสริมเกษตรกรรมธรรมชาติ

หลายคนเข้าใจว่า จังหวัดสงขลา เป็นเมืองเกษตรกรรม โดยเฉพาะอาชีพการทำสวนยางพารา แต่จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมการทำงานของ ครู กศน. ในแต่ละตำบล ผอ. ธนกร ยืนยันว่า แม้เผชิญวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ แต่เกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดสงขลายังมีฐานะรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างสบายๆ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ทำสวนยางพาราและปลูกพืชผัก ไม้ผล เช่น เงาะ สะละอินโดฯ ลองกอง ปลูกผสมผสานในสวนยางพาราไปพร้อมๆ กัน ช่วยกระจายรายได้และลดความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างดี

กศน. อำเภอเทพา สนับสนุนนโยบายสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของรัฐบาล

ที่ผ่านมา ครู กศน. ตำบล เข้าไปอบรมความรู้ด้านเกษตรให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เช่น การทำเกษตรผสมผสาน การเลี้ยงผึ้งโพรง การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การเพาะเห็ดแครง การขยายพันธุ์ไผ่ การผลิตปุ๋ย การขยายพันธุ์มะนาว ปลูกผักในบ่อซีเมนต์ เลี้ยงเป็ด-ไก่ สอนทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น ขณะเดียวกัน กศน. ยังทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น สำนักงานเกษตร สำนักงานปศุสัตว์ ฯลฯ พากลุ่มเกษตรกรไปเรียนรู้กิจกรรมเกษตรธรรมชาติทั้งในจังหวัดสงขลาและพื้นที่ใกล้เคียง

คุณโสมอุษา เลี้ยงถนอม รองเลขาธิการ กศน. เยี่ยมชมผลงาน กศน. ตำบลบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

กศน. ตำบล 4 G

สำนักงาน กศน. จังหวัดสงขลา ปรับบทบาทภารกิจ กศน. ตำบล ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและบริบทของพื้นที่ โดยขับเคลื่อนการดำเนินงาน กศน. ตำบล ประกอบด้วย 4 ศูนย์การเรียนรู้ ได้แก่
1. ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่
2. ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) เพื่อสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยเฉพาะสิทธิและหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย บูรณาการความร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เยี่ยมชมนิทรรศการ กศน. ตำบล 4G

3. ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนได้เรียนรู้เท่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคดิจิทัล
4. ศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตชุมชน ครู กศน. ตำบล มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัยโดยยึดชุมชนเป็นฐานในการดำเนินงาน