วัชรี จีระศักดิ์ หญิงเหล็กในวงการธุรกิจอาชีพด้านขายผลไม้ สร้างห้องเย็นใหญ่สุด ย่านตลาดไท

คำพังเพยที่กล่าวไว้ว่า “ลำบากก่อน แล้วจะสบายในภายหลัง” เห็นจะเป็นคำกล่าวที่เป็นจริงในหมู่ลูกหลานชาวจีน ที่มาจากผืนแผ่นดินใหญ่ ได้ปลูกฝังและพร่ำสอนให้เด็กเล็กรู้จักขยัน ทำงานตั้งแต่ยังเล็ก ฝึกปรือจนชำนาญ หัดค้าขายตามบรรพบุรุษเรื่อยมา พอเติบโตขึ้นมาเรียนรู้จนสามารถเจริญรอยตามได้สำเร็จ เห็นได้จากพ่อค้าแม่ขายที่มีเชื้อสายชาวจีน มีธุรกิจค้าขายหลายขนาด หลายสิ่งหลายอย่างล้วนแต่ถูกสั่งสอนกันมาจนเป็นวัฒนธรรม ประเพณีนิยมสืบสานกันจนถึงปัจจุบัน

จนสามารถมีฐานะส่งบุตรหลานไปเล่าเรียนมา ทั้งในและต่างประเทศที่น่าเป็นแบบอย่างของคนไทยที่ไม่ละทิ้งอาชีพดั้งเดิม ที่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ได้สร้างเอาไว้ สืบสานกิจการไม่รู้จบสิ้น

เมื่อกว่า 30 ปีแล้ว ได้รู้จักกับสาวใหญ่ เชื้อสายชาวจีนโดยกำเนิดที่บรรพบุรุษอพยพจากผืนแผ่นดินใหญ่ แล้วมาปักหลักอยู่ในย่านตลาดบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

งานเพาะพันธุ์ไม้ในกระถางยามว่างของหญิงเหล็กวัชรี ไว้แจกเพื่อนๆ มิตรสหายที่มาเยี่ยม

เธอคนนั้นมีนามว่า “วัชรี (ฮุ้ง) จีระศักดิ์” ความขยันและค้าขายเก่ง พูดจาคล่องแคล่ว ได้ทั้งภาษาจีนแต้จิ๋ว และภาษาจีนกลาง จนสามารถบุกเบิกค้าผัก ผลไม้ไทยไปถึงตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ และจีนแผ่นดินใหญ่ในเวลาต่อมา

การบอกเล่าชีวประวัติของเธอในอดีตให้ฟังไว้น่าสนใจ

“สมัยอายุยังไม่ถึง 10 ขวบดี เธอไปโรงเรียนพร้อมแนบถุงห่อผักที่บิดามารดาเธอปลูกไว้บริเวณรอบบ้าน แล้วนำติดตัวไปโรงเรียน เพื่อเอาผักไปขายให้เพื่อนร่วมโรงเรียนของเธอนำไปปรุงอาหาร เพื่อให้บิดามารดาไปทำกับข้าวเกือบทุกวัน”

เธอเล่าถึงความหลังที่อยู่กับบิดาและครอบครัวในกรุงเทพฯ ด้วยพี่น้องหลายคน โดยใช้แผ่นดินที่เหลืออยู่ว่างเปล่าใช้ให้เป็นประโยชน์ แล้วเธอก็เสริมขึ้นอีกว่า

“คุณพ่อเป็นคนขยันมาก ตื่นเช้าพร้อมมารดาขึ้นมารดน้ำผัก เพื่อตัดผักมาขายที่หน้าบ้านทุกวัน”

นอกจากนั้น บิดาเธอมีฝีมือการดองผักที่ปลูกไว้ ปรากฏว่าผักดองของคุณพ่อขายดีมาก ผักดองขายหมดทุกวัน ลูกค้าชมว่า รสชาติอร่อยไม่มีใครเหมือน จนขยายการดองเพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งให้ลูกค้า แม่ค้านำไปขายที่ตลาดสด จนมีรายได้เลี้ยงลูกๆ หลายคนที่กำลังเติบโต

หลังเธอเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ครอบครัวเธอได้อพยพย้ายไปที่เชียงใหม่ ตามคำชักชวนของญาติๆ ที่ไปอยู่มาก่อนว่า เชียงใหม่เป็นเมืองอากาศน่าอยู่ เหมาะกับการปลูกผักและผลไม้ ดินดี อากาศหนาวเย็น ถ้าถึงฤดูหนาวสงบร่มเย็น

ในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นชาวจีน ฐานะไม่ร่ำรวย บิดาไปอาศัยเช่าที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยและปลูกผักได้เพิ่มมากขึ้น และขยันดองผัก ผลไม้ เพิ่มมากขึ้น นอกจากผักดองแล้วบิดาเธอก็ดองผลไม้ “ลูกท้อ” ที่ทำส่งให้ร้านค้าจนขายดี รสชาติเป็นที่ถูกใจกับผู้ซื้อไปบริโภค

ลูกค้ามาสั่งจองผลไม้ไปขาย

หลังออกจากโรงเรียนในวัย 12 ขวบ เธอนำจักรยานบรรทุกผักที่บิดาปลูกไว้ เวลาเช้ามืด ใส่เข่งซ้อนจักรยานแล้วเธอจะขี่ไปขายที่ตลาดในเมือง ถนนที่เธอขี่จักรยานบรรทุกผักนั้น เข่งผักที่บรรทุกก็หนัก แต่เธอแข็งแกร่ง แต่เมื่อมาถึงสะพานนครพิงค์ เธอปั่นจักรยานขึ้นไม่ไหว เด็กหญิงตัวเล็กๆ กำลังปั่นไม่มีแรงพอจะถีบต่อไปได้ เธอต้องลงมาจูงจักรยานแทน เมื่อถึงตีนสะพานด้วยความหนักของเข่งผัก บนกระแตะท้ายจักรยานลากขึ้นเนินชันจนจักรยานล้มลง เธอยกขึ้นไม่ไหว ต้องอาศัยผู้ใหญ่ใจดีที่เดินผ่านไปมา ต้องลงมาช่วยเหลือยกทั้งเข่งผักและจักรยานจนตั้งรถได้ แล้วถึงจะปั่นจักรยานไปจนถึงตลาด…เธอนึกถึงในอดีตที่จำภาพติดตาของผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่จิตใจเข้มแข็ง

กิจวัตรประจำวันของเธอก็คือ หลังส่งผักขายแล้วก็มาช่วยที่แปลงผักที่บิดาปลูกไว้ เพื่อรดน้ำผักทุกวัน ช่วยกันกับพี่ๆ น้องๆ วันหนึ่งก็เกิดเรื่องที่เธอไม่คาดคิดมาก่อนว่า
เธอเล่าว่า บ้านและแปลงผักของบิดามารดาเธอเช่าไว้อยู่ตรงข้ามกับบ้านพักคหบดี คนรวยระดับพ่อเลี้ยงเชียงใหม่ ที่คนทั้งจังหวัดต้องรู้จักทั้งชื่อและนามสกุล

ความขยันและอดทนของเธอไม่ได้คาดสายตาพ่อเลี้ยงที่ชื่อ พ่อเลี้ยงไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์ อดีตบิดารัฐมนตรีคลังของพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง อยากขอเธอไว้เป็นลูกบุญธรรม เห็นความขยันและแข็งแรง สู้งาน เป็นเด็กหน้าตาดี จิตใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือบิดามาตั้งแต่ยังเล็ก กอปรกับพ่อเลี้ยงไม่มีลูกสาวด้วย ความน่ารักและขยันของเธอ พ่อเลี้ยงได้ขอเธอไว้เป็นบุตรบุญธรรม โดยบิดาไม่ขัดข้องเพราะลูกสาวจะมีอนาคตได้ดีกว่านี้ จึงตอบตกลงยกให้พ่อเลี้ยงทันที

บวบงู ที่คุณวัชรีปลูกไว้บริเวณบ้านพักหลังตลาดไท

ความทราบถึงเธอ แทนที่เธอจะดีใจ จะได้ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหญ่ เธอกลับร้องไห้คร่ำครวญ บอกไม่ไปเด็ดขาดและขออยู่กับบิดาตลอดไป จนบิดาใจอ่อน ต้องไปเจรจากับพ่อเลี้ยงเพื่อมิให้เธอเสียใจไปกว่านั้น และสงสารลูกสาวที่ไม่อยากพรากไปจากบิดามารดา
นี่คือ เสี้ยวชีวิตหนึ่งของอดีตยามวัยเด็กของเธอที่เล่ามาจากประสบการณ์ความจำได้ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานจนบรรพบุรุษที่กล่าวถึงได้พ้นไปจากโลกนี้แล้ว

หลังเธอเติบโตเป็นสาวเชียงใหม่ ครอบครัวและพี่น้องเธอได้โยกย้ายไปมีครอบครัว และแต่งงานกันหมดแล้ว ส่วนชีวิตเธอได้แต่งงานกับหนุ่มคาราวานรถบรรทุกสิบล้อจากจังหวัดมุกดาหาร นามว่า “มนตรี จีระศักดิ์”

คุณมนตรี จีระศักดิ์ กลายเป็นเจ้าของห้องเย็นใหม่ใหญ่สุดในประเทศไทย

จากนั้นจึงหันมาประกอบอาชีพค้าขายผัก ผลไม้ ในย่านริมคลองประปา แล้วต่อไปถึงตลาดไท ค้าผัก ผลไม้ส่งออกและนำเข้าผัก และผลไม้จากต่างประเทศ หมุนเวียนกันมาเพิ่มขยายกิจการในตลาดต่างประเทศ ที่ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน แถบยุโรปหลายประเทศ
เริ่มชีวิตการค้าขายผลไม้และผักที่รับมาจากผู้ผลิต มาเปิดร้าน ชื่อ “วัชมน” ย่านคลองประปา ป้ายปิดไว้ที่ร้าน รถแล่นผ่านไปมา อดจอดแวะซื้อไม่ได้ เพราะผักสวยงามน่ารับประทาน ผลไม้จากต่างแดนและในประเทศ

พริก เมล่อน สายพันธุ์จากไต้หวันที่วัชมนเป็นตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์

นอกจากนี้ ยังมีจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักและผลไม้ ทั้งแตงโม เมล่อน ผักในฤดูหนาว มะเขือเทศสีดา ที่เป็นเมล็ดพันธุ์จากไต้หวัน เธอเป็นตัวแทนขายเมล็ดพันธุ์ด้วย ทำให้เธอต้องเดินทางไปที่แหล่งลูกค้าและตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศบ่อยทุกสัปดาห์ เป็นธุรกิจที่เธอต้องค้าขายกับชาวจีน อาศัยภาษาที่เธอพูดได้ทั้งแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน และจีนกลาง จนธุรกิจเธอไปได้อย่างรวดเร็ว ผลไม้ที่นำเข้ามาเธอต้องสร้างห้องเย็นขนาดเล็กไว้ในตลาดไท ที่เช่าเอาไว้เก็บผลไม้แอปเปิ้ล สาลี่

ห้องเย็นเก่าในตลาดไทที่ยังเล็กไป บรรจุของได้น้อย

ผลไม้เมืองหนาวราคาแพงได้สร้างชื่อเสียงในนามหญิงเหล็กแห่งผลไม้ส่งออกและนำเข้า เกษตรกรต้องนำสินค้าที่ต้องมีคุณภาพดีถึงจะไปสู้กับต่างประเทศได้ ผลิตออกมาต้องได้รับความเชื่อถือตรวจสอบได้ เธอจึงได้ไปเจรจากับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร ขอให้ตั้งเครื่องทดสอบสารพิษจากผลไม้ไทย และผักที่จะส่งไปขายยังต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบสารเคมีตกค้างหรือไม่ หากหลุดออกไปจะถูกตีกลับเอาได้

เมื่อสินค้าดังกล่าวไปถึงปลายทางแล้ว จะมีการทดสอบสุ่มตัวอย่างสินค้าซึ่งจะเป็นข่าวออกมาบ่อยๆ ว่า ผัก ผลไม้ไทยมีพบสารเคมีตกค้างอยู่บ่อย ที่ทำให้ไทยได้รับความเสียหาย บางประเทศถึงกับ “แบน” สินค้าจากไทยก็มี หากไม่รีบแก้ไขปัญหานี้ เธอเล่าถึงขั้นตอนการขนส่งผัก ผลไม้ส่งออก ที่เธอต่อสู้มาตลอดชีวิตมาตรการความปลอดภัย

ในเวลาต่อมาเมื่อกิจการเจริญรุ่งเรือง เธอได้ปรึกษากับสามีว่า เห็นจะต้องหาที่ดินใกล้ๆ กับตลาดไท มาสร้างห้องเย็นไว้สำรองเก็บผัก ผลไม้ ในต่างประเทศ เพื่อนำมาจำหน่ายในเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สารทจีน และวันสำคัญๆ ของไทย

ครอบครัว “จีระศักดิ์” ที่มาร่วมพิธีทำเสาเอก ห้องเย็นใหม่ เพื่อก่อสร้างจนสำเร็จ

จนกระทั่งห้องเย็นที่เธอวาดฝันเอาไว้ก็เกิดขึ้นจริง หลายหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ค้าขายอาชีพผัก ผลไม้ ในตลาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ต่างมาแสดงความยินดีเพื่อสร้างความอุ่นใจของผู้ขายผลไม้จะไม่ให้ขาดตลาด ในขณะที่ร้านตลาดไทที่เธอมีจำหน่ายก็เป็นการระบายสินค้าที่มาจากผลไม้เมืองหนาวจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ฯลฯ

. กล่องใส่บรรจุผลไม้จากต่างประเทศเข้ามาไทย เก็บไว้ในห้องเย็นก่อนออกจำหน่าย

บางครั้งก็มีสถานทูตแต่ละประเทศมาเยี่ยมห้องเย็นเธอที่ก่อสร้างใหญ่สุดในประเทศไทย บ้างก็ขอร้องให้เธอช่วยอุดหนุนแอปเปิ้ล สาลี่ ลูกพลับสด ผลไม้ยอดนิยมของคนไทย ตลอดทั้งผักที่ปลูกจากสายพันธุ์ของไต้หวัน แตงโม เมล่อน ข้าวโพดหวาน ที่คนไทยรู้จักดี แม้แต่มะเขือเทศสีดา ที่เธอเป็นคนแรกนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรต่างจังหวัดปลูกแล้วซื้อคืน จนเป็นที่รู้จักของคนไทย

มะเขือเทศสีดา จากไต้หวัน มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก

เรื่องราวดีๆ จากร้านวัชมน ไม่หมดลง เพราะแม้ว่าเธอจะมอบหมายให้ทายาทดำเนินการต่อเพื่อสืบสานตำนานค้าขายผัก ผลไม้ ที่เธอและสามีต้องคอยเป็นพี่เลี้ยงให้
ขออวยพรให้กิจการรุ่งเรืองต่อไป หญิงเหล็กที่สร้างตำนานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และแก้ไข