ไก่ยิ้มร่าครึ่งปีแรกไม่ล้นตลาด หมูขาดทุนหนักทยอยเลิกเลี้ยง

ผู้เลี้ยงไก่เนื้อยังยิ้มได้ เทศกาลปีใหม่-ตรุษจีนช่วยดันราคา นายกสมาคมมั่นใจจนถึงกลางปีนี้ยังไม่มีปัญหาล้นตลาดเหมือนหมู ด้านนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรราชบุรียอมรับราคาหมูตกทั่วโลก ระบุผู้เลี้ยงครบวงจรในไทยยังขาดทุนถึง กก.ละ 3-4 บาท คาดปีนี้รายย่อยทยอยเลิกเลี้ยงกันมากขึ้น

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี พื้นที่เลี้ยงสุกรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ราคาสุกรว่า ปัจจุบันราคาซื้อขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มลดลงมาเหลือ กก.ละ 58-60 บาท หลังจากสภาพภูมิอากาศเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในกลางปีที่ผ่านมา และมีการเลี้ยงสุกรในประเทศเพิ่มขึ้น ต่ำกว่าราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ กก.ละประมาณ 70 บาทในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรที่เลี้ยงแบบครบวงจรมีต้นทุนการเลี้ยง กก.ละ 62-63 บาท จึงขาดทุนอยู่ประมาณ กก.ละ 3-4 บาท คาดว่าผู้เลี้ยงสุกรที่ไม่ครบวงจรหรือเป็นรายย่อยจะต้องทยอยเลิกเลี้ยงมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากผลผลิตสุกรล้นและราคาตกต่ำทั่วโลก และในส่วนจังหวัดราชบุรีจะมีสุกรออกสู่ตลาดวันละ 8,000-10,000 ตัว

นอกจากนี้ ยังมีสุกรที่หนีน้ำท่วมจากภาคใต้ที่เลี้ยงกันมากในจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และตรัง ขนขึ้นมาขายภาคกลางวันละ 3-4 เที่ยว สูงสุดถึงวันละ 1,000 ตัวก็มี ในขณะที่สุกรภาคอื่นจะส่งไปจำหน่ายภาคใต้ไม่ได้ เพราะเป็นเขตปลอดโรค ยกเว้นแต่ภาคใต้จะขาดแคลน กรมปศุสัตว์จึงจะกำหนดโควตาสุกรปลอดโรคลงไปจำหน่ายภาคใต้ได้ ซึ่งปัจจุบันปริมาณการบริโภคและปริมาณการเลี้ยงสุกรในภาคใต้ค่อนข้างสมดุล เพียงแต่ช่วงนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงจากภาคใต้มีการรับซื้อวัตถุดิบจากภาคอื่นลงไปเลี้ยง

ทางด้านนายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ไก่เนื้อของไทยว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการปรับราคารับซื้อไก่เนื้อมีชีวิตหน้าฟาร์มจาก กก.ละ 35 บาท เป็น 36 บาท จากต้นทุนการเลี้ยงประมาณ กก.ละ 32-33 บาท ทั้งนี้ เป็นการปรับราคาขึ้นมารับกับเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงทยอยขายไก่ขนาดเล็กและขนาดกลางไปทำไก่ย่างฉลองเทศกาลกันมาก ทำให้ไก่ในตลาดขาดแคลนเล็กน้อย

ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกทั้งไก่สดและไก่ต้มสุกประมาณ 7.2 แสนตัน ปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 7.6 แสนตัน ถือว่าการส่งออกไก่ไทยยังไปได้ดี คาดว่าจนถึงกลางปีนี้ไก่จะไม่ล้นตลาด เนื่องจากปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นได้น้อย สาเหตุมาจากการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ช่วง 3-4 เดือนแรกปี 2559 มีการนำเข้าน้อย จากปัญหาแหล่งนำเข้าของไทยมีปัญหาไข้หวัดนก แต่หลังจากช่วงกลางปีนี้ไป คาดว่าผลผลิตไก่ที่จะออกสู่ตลาดจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหลังนี้ราคาไก่จะขึ้นอยู่กับออร์เดอร์ต่างประเทศ และการบริโภคภายในประเทศจะฟื้นตัวมากน้อยแค่ไหน

“ปีที่ผ่านมาแม้การบริโภคสินค้าภายในประเทศโดยรวมจะไม่ดีแต่ในส่วนของการบริโภคไก่ภายในประเทศไม่ลดลงเพราะไก่เป็นอาหารประเภทโปรตีนราคาถูก อีกทั้งมีประชากรแฝงในประเทศ ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ในขณะที่มีการนำเข้าข้าวสาลีมาทำอาหารสัตว์ได้มากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงตรึงต้นทุนอาหารสัตว์ให้อยู่ที่ กก.ละ 32-33 บาทได้นาน”

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์