ดึง YSF ผนึกกำลังแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชน ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

ผุดไอเดียสร้างต้นแบบ 6 จุด ดึงพลังคนรุ่นใหม่ YSF เกษตรกรแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ภายใต้โครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง เช่นเดียวกับงานส่งเสริมการเกษตรที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มจากการวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุมมิติของพื้นที่ – คน – สินค้า ตามหลักสำคัญของงานส่งเสริมการเกษตร จนเข้าสู่การส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ในปัจจุบัน

โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรร่วมกัน ซึ่งการพัฒนายังไม่ขยายผลไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรยังมีหน้าที่ในการจดทะเบียนผู้ประกอบการเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนายกระดับกิจการ และยังมีเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer (YSF) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ หัวคิดก้าวหน้า และมีพลังในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงคิดว่าทำอย่างไรจะให้กลุ่มต่างๆ เหล่านี้มาทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงกันได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ดังนั้น จึงจัดทำโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยปรับวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลงในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนเกษตรให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้

สำราญ สาราบรรณ์

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินกิจการของกลุ่มเกษตรกร โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และเกษตรกรรุ่นใหม่มีบทบาทในกระบวนการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน รวมทั้งพัฒนารูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ให้มีการบูรณาการการทำงาน สามารถยกระดับให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก โดยปี 2562 กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 6 จุด ประกอบด้วย

1) แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 2) วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ตำบลดอนมโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 3) แปลงใหญ่มะพร้าว ตำบลบางตลาด อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา 4) แปลงใหญ่ผัก อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ 5) แปลงใหญ่มังคุด อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 6) อะโวกาโดพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า รูปแบบการดำเนินงานโครงการฯ จะมีกรอบแนวคิดการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 5 กรอบเป็นหลัก ได้แก่ 1) การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ หลักเกณฑ์ คือ ต้องมีพื้นที่ดำเนินการ สินค้า และเกษตรกรเป้าหมายที่ชัดเจน มีเกษตรกรรุ่นใหม่ YSF เป็นสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเกษตรกรมีการรวมกลุ่มและดำเนินกิจการอยู่แล้ว รวมทั้งมีแนวคิดในการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ของชุมชน 2) เตรียมความพร้อม/จัดทำแผนพัฒนา โดยวิเคราะห์และประเมินศักยภาพของกลุ่ม การปรับวิธีคิด เพิ่มทักษะการบริหารจัดการ/ขับเคลื่อนกลุ่ม มีการจัดทำแผนพัฒนากลุ่ม เช่น พัฒนากิจการ/ธุรกิจ และพัฒนาคน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม

3) สนับสนุนการพัฒนากลุ่ม โดยรวบรวมและวิเคราะห์แผนพัฒนาของกลุ่ม มีการบูรณาการกิจกรรมและงบประมาณ จัดหาแหล่งทุน รวมทั้งประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 4) ขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่ม ตั้งแต่ต้นทาง เน้นส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพ/มาตรฐานสินค้าเกษตร และสนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ กลางทาง พัฒนาการแปรรูปสินค้า การสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการ การสร้าง Brand สินค้า และระบบตรวจสอบย้อนกลับ ปลายทาง มีการเชื่อมโยง/พัฒนาตลาด และเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและมีความหลากหลาย

5) เพิ่มขีดความสามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง มีการต่อยอดเชิงธุรกิจ สร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจและพันธมิตร เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน โดยจะมีงบประมาณสนับสนุนให้แก่กลุ่มเกษตรกรทั้ง 6 พื้นที่นี้กลุ่มละ 500,000 บาท

“ผลที่คาดว่าจะได้รับ จะทำให้กลุ่มเกษตรกรทั้ง 6 กลุ่มในพื้นที่ได้รับการสนับสนุน และดำเนินการตามแผนพัฒนากลุ่ม คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาร่วมกับองค์กรเกษตรกร เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน รวมทั้งได้รูปแบบและกระบวนการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาให้เป็นต้นแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก สามารถนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป”