ที่มา | บันทึกไว้เป็นเกียรติ |
---|---|
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ |
เผยแพร่ |
เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงของประเทศไทยในปัจจุบัน การใช้ “สารแพคโคลบิวทราโซล” ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการใช้บังคับให้ต้นมะม่วงออกนอกฤดู มีการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลกันอย่างแพร่หลาย อาจจะกล่าวได้ว่า มีการใช้กันแทบทุกสวนทั่วประเทศที่มีการผลิตมะม่วงเชิงพาณิชย์ แม้แต่เกษตรกรที่ปลูกแบบสวนหลังบ้าน ยังได้มีการนำเอาสารชนิดนี้ไปใช้เช่นกัน เนื่องจากสารแพคโคลบิวทราโซลนี้สามารถบังคับให้ต้นมะม่วงออกดอกได้ก่อนหรือนอกฤดูจริง สรุปได้ว่า สารแพคโคลบิวทราโซลสามารถกำหนดการออกดอกของมะม่วงได้จริง ในขณะเดียวกันเกษตรกรเจ้าของสวนมะม่วงที่มีการใช้สารชนิดนี้กับต้นมะม่วงติดต่อกันหลายปีจะต้องพึงระวังเกี่ยวกับเรื่องต้นมะม่วงทรุดโทรมเร็วขึ้น ทรงต้นมะม่วงเสีย ต้นมะม่วงแตกใบอ่อนยากมาก หรือไม่แตกยอดเลย
ผลการใช้สารแพคโคลบิวทราโซล ว่าสามารถบังคับให้ต้นมะม่วงออกดอกได้อย่างแน่นอน แต่หลังจากที่ต้นมะม่วงออกดอกมาแล้วจะทำให้ดอกมีการติดผลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ความสมบูรณ์ของต้น สภาวะแวดล้อมของฤดูกาล ธรรมชาติ แมลงที่ช่วยในการผสมเกสร ฯลO ในขณะนี้สรุปได้เพียงว่า สารแพคโคลบิวทราโซล ช่วยในการออกดอกเท่านั้น ไม่ได้ช่วยในการติดผลแต่อย่างใด
ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการผลิตมะม่วงนอกฤดูที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเน้นการผลิตมะม่วงในเขตแล้งน้ำในโซนเขตจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ดังนั้น อาจจะมีรายละเอียดและช่วงเวลาบางอย่างแตกต่างไปจากในเขตที่ลุ่มหรือพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะลำดับขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงเสร็จสิ้นเป็นต้นไป แต่ขั้นตอนการผลิตมะม่วงนอกฤดูจะเหมือนกัน เพียงแตกต่างกันเรื่องของช่วงเวลาหรือเดือนที่ปฏิบัติงานที่อาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละภาค
ในช่วงเวลานี้สวนมะม่วงส่วนใหญ่ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดไปแล้ว และกำลังเข้าสู่กระบวนการตัดแต่งกิ่ง เตรียมความพร้อมของต้นมะม่วงให้พร้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตมะม่วงนอกฤดู
เดือนมีนาคม-เมษายน หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงเสร็จเรียบร้อย จะใส่ปุ๋ยคอกให้กับต้นมะม่วง อัตราการใส่ให้คำนวณจากความดกของต้นมะม่วงในปีที่ผ่านมา ถ้าดกมากก็ใส่ทดแทนให้มาก แต่โดยทั่วไปจะเฉลี่ยการใส่ให้ปริมาณ 2 เท่า ของอายุต้น ตัวอย่าง ถ้าต้นมะม่วงอายุ 5 ปี ก็ใส่ปุ๋ยคอกเก่า (ขี้วัว ขี้ไก่ หรืออื่นๆ) ปริมาณ 10 กิโลกรัม ใส่ให้เพียงปีละ 1 ครั้ง ก็ถือว่าใช้ได้ แต่จะใส่มากกว่านี้ก็ยิ่งดี ขณะที่ใส่ปุ๋ยคอก ก็ตัดแต่งกิ่งมะม่วงไปพร้อมกันเลยก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละสวน
ข้อแนะนำในการให้ปุ๋ยคอก “สำหรับการใส่ปุ๋ยคอกฟื้นฟูสภาพต้นตามหลักวิชาการนั้น ก็จะทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย แต่ในสวนมะม่วงที่ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก ปุ๋ยคอกบางชนิด เช่น ปุ๋ยจากมูลเป็ด ไก่ ปุ๋ยเหล่านี้อาจจะมีเชื้อราปะปนอยู่ หากนำมาใส่กับต้นมะม่วงช่วงที่มีฝนตก ไอระเหยจากปุ๋ยคอกจะระเหยขึ้นไปยังต้นมะม่วงพร้อมกับเชื้อรา ไปติดเกาะยังต้นหรือใบมะม่วงได้ ทำให้เป็นที่สะสมของเชื้อรา และอาจจะทำให้เกิดโรคแอนแทรกโนสตามก็ได้ แต่หากจะใช้ปุ๋ยคอกควรมีการหมักให้ดี ก็สามารถใช้ได้ดี การฟื้นฟูสภาพต้นด้วยปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากปลาหรือหอยเชอรี่ โดยฉีดพ่นให้ทางใบและราดให้ทางดิน ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้ได้ เพราะทำให้ต้นมะม่วงสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยคอกได้เป็นจำนวนมาก”
การตัดแต่งกิ่งมะม่วง
แนะนำให้ตัดแต่งอย่างหนัก หลังจากการเก็บเกี่ยวมะม่วงเสร็จ เหตุผลของการตัดแต่งกิ่งมะม่วงอย่างหนัก ก็คือ “หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงแล้ว ต้นมะม่วงสูญเสียอาหารไปมาก ตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นได้สะสมอาหารเพื่อมะม่วงชุดใหม่แตกออกมาพร้อมกัน มีผลโดยตรงต่อการออกดอกและติดผลในฤดูกาลต่อไป” ซึ่งในพื้นที่แล้งน้ำหรือไม่มีระบบน้ำก็อาจจะรอให้ฝนตกสัก 1-2 ครั้ง ก่อนการตัดแต่งกิ่ง
ข้อคิดเกี่ยวกับการตัดแต่งกิ่ง การป้องกันกำจัดโรคแอนแทรกโนสที่ดี ควรจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การจัดการสภาพแวดล้อมของสวนไม่ให้เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรค หรือเป็นแหล่งสะสมของโรค คือเริ่มตั้งแต่การจัดทรงพุ่มให้โปร่งแจ้ง ดินอย่าแฉะน้ำมาก จะสังเกตได้ว่าพื้นที่ลุ่มจะเกิดโรคนี้มากกว่าพื้นที่ดอน การจัดการเรื่องของดินให้มีการระบายน้ำที่ดี การตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งโดยสามารถมองจากด้านล่างให้เห็นท้องฟ้าประปราย ด้านข้างต้องมองทะลุถึงกัน หากมีลมพัดเอาสปอร์ของเชื้อรามาด้วย สปอร์จะได้หลุดผ่านไป ไม่เกาะติดจนก่อโรค จะต้องไม่ทำให้ต้นเป็นเหมือนม่านรับสปอร์ของเชื้อรา
เดือนพฤษภาคม หลังที่ตัดแต่งกิ่งเสร็จ ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-0-0 (แคลเซียมไนเตรต) หรือปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตราการใช้ปุ๋ยเคมีที่ใส่ให้กับมะม่วงในแต่ละปี จะใส่ในอัตราครึ่งหนึ่งของอายุต้น ตัวอย่าง ต้นมะม่วงอายุ 6 ปี จะใส่ปุ๋ยเคมี ในอัตรา 3 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี สำหรับต้นมะม่วงจะใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้ง ต่อปี ดังนั้น ในช่วงนี้ถ้าต้นมะม่วงมีอายุ 6 ปี จะใส่ปุ๋ย สูตร 15-0-0 อัตรา 1.5 กิโลกรัม ต่อต้น ถ้าไม่สามารถหาปุ๋ย สูตร 15-0-0 ได้ อาจจะใช้สูตรเสมอก็ได้ เช่น สูตร 16-16-16 ในพื้นที่ที่มีน้ำให้ได้หลังจากใส่ปุ๋ยเคมีเสร็จ ควรจะให้น้ำในทันที ถ้าเป็นพื้นที่ขาดน้ำ จะรอให้มีฝนตกลงมาอย่างน้อย 1-2 ครั้ง ก็เริ่มใส่ปุ๋ยและคอยฟังข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ว่าจะมีฝนตกภายใน 1-2 วันนี้ ก็ใส่ปุ๋ยรอได้ทันที
แนะนำถึงการใช้ปุ๋ยหลังการตัดแต่งว่า การให้ปุ๋ยหลังการตัดแต่งกิ่ง เราจำเป็นที่จะให้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของตัวหน้าคือ ไนโตรเจน (N) สูง และตัวท้าย คือ โพแทสเซียม (K) สูง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สูตรปุ๋ยที่มี ตัวกลาง คือ ฟอสฟอรัส (P) สูงเลย เพราะพืชต้องการใช้ฟอสฟอรัสน้อย โดยปุ๋ยที่แนะนำ อัตราส่วน N:P:K เท่ากับ 3:1:2 หรือสูตรใกล้เคียงก็ได้ ซึ่งหากเราเลือกใช้ปุ๋ยเคมีที่มีฟอสฟอรัส (P) น้อย ต้นทุนในการซื้อปุ๋ยเคมีจะลดลงถึง 50%
การใส่ปุ๋ยมะม่วง จะต้องใส่แบบฝังกลบโดยการขุดเป็นหลุม กระจายทั่วทรงพุ่ม ต้นละ 8-10 หลุม จะทำให้มีประสิทธิภาพของปุ๋ยเต็มร้อย ดีกว่าการหว่านแล้วรอฝน
ส่วนทางใบ ควรจะฉีดพ่นอาหารทางใบในกลุ่มของสาหร่ายสกัดชนิดต่างๆ เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน โดยฉีดพ่นร่วมกับสารไทโอยูเรีย ร่วมกับสาหร่ายชนิดต่างๆ (เช่น แอ๊กกรีน) มีส่วนช่วยอย่างมากในการที่จะช่วยให้ต้นมะม่วงมีความแข็งแรง เร่งกระบวนการสร้างอาหารและช่วยให้ต้นมะม่วงแตกใบอ่อนได้เร็วยิ่งขึ้น “การกระตุ้นให้มะม่วงแตกใบอ่อนพร้อมกันทั่วทั้งต้น แนะนำให้ใช้สารไทโอยูเรีย 50 กรัม ผสมกับสารโพแทสเซียมไนเตรต 250 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) จะช่วยให้มะม่วงแตกใบอ่อนได้เป็นอย่างดีทั่วทั้งต้น
เดือนมิถุนายน หลังจากที่ฉีดพ่นสาหร่ายสกัดและไทโอยูเรียไปแล้วประมาณ 7-10 วัน ต้นมะม่วงจะแตกใบอ่อนทั้งสวน ในระยะที่แตกใบอ่อนนี้ เกษตรกรมีความจำเป็นจะต้องดูแลใบอ่อน เพราะจะมีศัตรูลงทำลายหลายชนิด เช่น ด้วงงวงกรีดใบ แมลงค่อมทอง ระยะนี้แนะนำเกษตรกรให้ใช้ยาฆ่าแมลงและเชื้อราที่มีราคาถูก จะเน้นยาที่มีราคาแพงในช่วงที่มีการออกดอกและติดผล หลังจากที่ต้นมะม่วงแตกใบอ่อนและใบอ่อนมีระยะใบพวง (แตกใบอ่อนเพียงครั้งแรก) จะราดสารแพคโคลบิวทราโซลให้กับต้นมะม่วง อัตราการใช้สารคำนวณจากอายุต้น (ต้นมะม่วงที่จะราดสารควรมีอายุอย่างน้อย 3 ปี) ดูจากกำลังและความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นมะม่วงเป็นหลัก รวมถึงพันธุ์มะม่วงที่ใช้ปลูกด้วย
ใช้สารแพคโคลบิวทราโซลคุมใบอ่อน
ชาวสวนจะเน้นการเลือกใช้สารแพคโคลบิวทราโซล (เช่น สารแพนเที่ยม) ที่มีคุณภาพดี และละลายน้ำง่าย การเลือกใช้สารแพคโคลบิวทราโซลนั้นจะต้องเลือกบริษัทที่มีมาตรฐาน เพราะหลายครั้งพบว่า มีการหลอกขายสารแพคโคลบิวทราโซลราคาถูก แต่เปอร์เซ็นต์ไม่เต็ม ทำให้ไม่สามารถควบคุมการแตกใบอ่อนได้ ในการราดสารแพคโคลบิวทราโซลทุกครั้งจะต้องผสมน้ำราดที่โคนต้นในขณะดินมีความชื้น ไม่แนะนำให้นำสารแพคโคลบิวทราโซลไปโรยแบบแห้งแล้วรอฝนตก เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของสารแพคโคลบิวทราโซลไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่
ตัวอย่าง มะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่น อายุ 6 ปี มีทรงพุ่มต้นเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร จะใช้สารแพคโคลบิวทราโซล (เช่น แพนเที่ยม 10%) ในอัตรา 60 กรัม ต่อต้น ให้ยึดหลักว่า ความกว้างของทรงพุ่มเป็นหลักในการคำนวณใช้สารราดฯ โดยทรงพุ่มต้นเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ต่อสารราดฯ 10 กรัม จากตัวอย่างของมะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่น นำไปใช้ได้กับมะม่วงพันธุ์ที่ออกดอกง่าย โดยใช้ในอัตราที่เท่ากัน เช่น พันธุ์น้ำดอกไม้ เพชรบ้านลาด มะม่วงไต้หวันสายพันธุ์ต่างๆ เป็นต้น
ในกรณีที่เป็นพันธุ์หนักและออกดอกยาก เช่น พันธุ์เขียวเสวย อกร่อง อาร์ทูอีทู ฯลฯ จะต้องใช้สารแพนเที่ยมมากกว่าที่ใช้กับพันธุ์ฟ้าลั่น 1.5-2 เท่า ตัวอย่าง มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย อายุ 6 ปี มีทรงพุ่มต้นเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร จะใช้สารแพนเที่ยม ในอัตรา 90-120 กรัม
เทคนิคการราดสาร
จากประสบการณ์ของชาวสวนมะม่วงหลายรายที่ผ่านมาราดสารบริเวณโคนต้นจะดีกว่าบริเวณทรงพุ่ม ที่บริเวณโคนต้น ให้ราดสารฯ ห่างจากโคนต้นประมาณ 1 คืบมือ หรือราว 20 เซนติเมตร โดยขุดดินให้เป็นแอ่งกระทะ ยกคันขึ้นเพื่อให้สารที่ราดไปไม่ไหลไปที่อื่นหลังจากราดเสร็จควรจะมีการให้น้ำทันทีเพื่อให้รากของต้นมะม่วงดูดซึมสารได้ดี แล้วกรณีที่ฝนตกเกษตรกรไม่ต้องเป็นห่วงว่าเมื่อราดสารฯ ไปแล้วฝนจะตกลงมาจะเป็นผลเสียหรือไม่ ฝนตกจะเป็นการดี ทำให้รากสามารถดูดสารไปใช้ได้เร็วที่สุด ตามปกติถ้าหลังจากราดสารไปแล้ว ฝนไม่ตกจะแนะนำให้เกษตรกรราดน้ำด้วยซ้ำไป
วิธีการราด แนะนำให้ราดทีละต้น โดยเตรียมถังน้ำใส่น้ำลงไป ประมาณ 5 ลิตร ใส่สารแพนเที่ยม ตามอัตราที่กำหนด กวนสารให้เข้ากันดี นำไปรดที่โคนต้นที่เตรียมเป็นแอ่งกระทะไว้ สำหรับมะม่วงแปลงใหญ่มีการผสมสารราดฯ ทีเดียว ครั้งละ 200 ลิตร และมีการคำนวณดูว่าจะแบ่งราดต้นละเท่าไร ผลที่ออกมาความสม่ำเสมอไม่ดีเท่าที่ควร มีปัญหาสารนอนก้นถัง ทางที่ดีจะผสมสารทีละต้นจะเป็นการดีที่สุด ตามปกติแล้วจะราดสารเมื่อต้นมะม่วงแตกใบอ่อนในชุดที่ 2 แต่ที่พบในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ถ้าให้มีการแตกใบอ่อนถึง 2 ครั้ง จะราดสารไม่ทัน ดูแลต้นให้สมบูรณ์แตกใบอ่อนเพียงครั้งเดียวก็จะราดสาร
แต่ถ้าเป็นไปได้ควรให้มีการแตกใบอ่อนอย่างน้อย 2 รุ่น จะดีที่สุด ระยะใบที่เหมาะต่อการราดสารมากที่สุดคือ ระยะใบพวง (ภาษาวิชาการเรียก ใบเพสลาด) อย่างไรก็ตาม การราดสารแพคโคลบิวทราโซลให้กับต้นมะม่วงนี้ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จะราดให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม
เดือนกรกฎาคม “ช่วงที่สะสมอาหารให้กับใบ ควรมีการให้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีตัวท้ายสูง คือ โพแทสเซียม (K) สัดส่วนปุ๋ยที่แนะนำ คือ 1:1:3 หรือ สูตรใกล้เคียง การใส่ปุ๋ย ควรให้ในระยะใบพวงหรือใบเพสลาด จะเห็นว่าการให้ปุ๋ยในช่วงนี้เราไม่จำเป็นที่จะใช้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของฟอสฟอรัสสูง เพราะพืชเองมีการใช้น้อยแล้วปริมาณที่ให้มาก่อนหน้านี้ก็เพียงพออยู่แล้ว แต่หากมีการใช้ปุ๋ย ที่มีธาตุฟอสฟอรัสบ่อยครั้ง พบว่า ธาตุฟอสฟอรัสจะไปตรึงธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียม ทำให้มะม่วงขาดธาตุอาหาร เกษตรกรต้องสิ้นเปลืองเงินในการซื้อปูนขาวหรือโดโลไมท์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดธาตุดังกล่าว”
สำหรับทางใบ จะฉีดพ่นปุ๋ย สูตร 0-52-34 อัตรา 100 กรัม ผสมกับสารโปรดั๊กทีฟ อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) เพื่อเร่งการสะสมอาหารทางใบ ฉีดพ่นทุก 7-10 วัน ติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 ครั้ง (ในระยะนี้ถ้ามีโรคและแมลงระบาด ผสมยาและฉีดพ่นไปพร้อมกับปุ๋ยทางใบได้เลย)