เลี้ยงวัวขุน เป็นอาชีพเสริม ทำได้ไม่ยาก เพียงต้องคิดคำนวณต้นทุนดี มีกำไร ขุน 3 ตัว ก็ได้

การขุนวัวเป็นอาชีพเสริม ที่น่าสนใจแถมสร้างรายได้ที่ดี ใครสนใจตามไปดูกันเลย

เกษตรกรบางรายมีงานประจำอยู่แล้ว กำลังมองหาอาชีพเสริมไปด้วย ขอแนะนำการเลี้ยงโคขุน เป็นอาชีพเสริม รายได้เสริม เริ่มต้นก็ลงทุนกับเรื่องคอกวัวแบบถาวรไปเลยเพราะเห็นว่าการขุนวัวน่าจะเป็นอาชีพเสริมที่ดี เริ่มจากค่อยเป็นค่อยไป ลงทุนขุนวัวจำนวนไม่มาก ครั้งละ 3-7 ตัว มากที่สุดที่เคยขุนก็แค่ 7 ตัว ตามภาวะราคาวัวในตลาด ช่วงไหนวัวราคาดี หาซื้อวัวโครงได้ง่ายก็ขุนมากหน่อย ช่วงไหนราคาแกว่ง ก็เลี้ยงโดยขุนให้น้อยตัวลง

การขุนวัวก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง สิ่งที่มากับธุรกิจก็คือความเสี่ยง แต่จะเสี่ยงมากหรือน้อยนั้น แนะนำคำนวณราคาวัวก่อนตัดสินใจซื้อวัวเข้าขุน

ก่อนจะไปจับวัวโครงเพื่อเอามาเข้าขุนที่ตอนนั้น ควรต้องรู้ราคาขายวัวขุนในช่วงนั้นก่อนจึงจะสามารถคำนวณต้นทุนและกำไรได้ เวลา ไปซื้อวัวซากหรือวัวโครงเพื่อเอามาเข้าขุน จะต้องรู้ราคาขายวัวขุนไปก่อน จากนั้นเมื่อไปถึงตลาดนัด ก็ดูวัวโครงโดยดูที่ น้ำหนัก พันธุ์ อายุ ขนาดตัว แล้วคำนวณต้นทุนดู อย่างวัวโครงหนัก 200 กว่ากิโลกรัม ต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะขุนขึ้นไปที่น้ำหนัก 450-460 กิโลกรัมได้ และเมื่อคำนวณเวลาขุนได้แล้วก็ต้องเอาไปคูณกับค่าอาหารต่อตัวต่อวัน แล้วจะได้ตัวเลขต้นทุนการขุนวัวต่อตัวออกมา

คำนวณต้นทุนกำไรก่อนจับวัวโครง

ข้อมูลต้นทุนโดยสรุป แนะนำให้ใช้ตัวเลขโดยเฉลี่ยมาคำนวณต้นทุนวัวโครง อย่างเวลาขุน ใช้เวลา 3 เดือนครึ่ง เพื่อขุนให้ได้ 450 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องลงทุนค่าอาหารทั้งหมดประมาณ 12,000 บาท ต่อวัว 1 ตัว ดังนั้น หากราคาขายวัวขุนอยู่ที่ 95 บาท ต่อกิโลกรัม เวลาที่จับขายจะได้ราคาประมาณ 42,750 บาท ต่อตัว เพราะฉะนั้น เวลาซื้อวัวโครง จะต้องซื้อที่ราคาต่ำกว่า 30,000 บาท จึงจะได้กำไร

นี่เป็นการคำนวณแบบคร่าวๆ เพื่อกำหนดราคาซื้อวัวโครงเข้าขุน จริงๆ แล้วการคำนวณต้นทุน ผลตอบแทนตามหลักเศรษฐศาสตร์ยังมีรายละเอียดเยอะกว่านี้ ส่วนวิธีนี้เป็นขั้นตอนง่ายๆ จากประสบการณ์ตรง ใครสนใจนำไปใช้ได้ไม่หวงครับ

ต้นข้าวโพดสับบรรจุในถุงดำ ใช้เป็นอาหารหยาบ

ใช้ต้นข้าวโพดสับเป็นอาหารหยาบในเรื่องแหล่งวัวที่ซื้อมาเข้าขุนนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ จะไปเลือกซื้อวัวด้วยตัวเองที่ตลาดนัดที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน โดยเลือกเอาวัวลูกผสมบราห์มันกับลูกผสมชาโรเลส์เป็นหลัก เพราะวัวพวกนี้ขุนน้ำหนักขึ้นง่าย จับมาแล้วก็ทำวัคซีน เหน็บฮอร์โมน ถ่ายพยาธิก่อนเข้าขุน ยกตัวอย่างเช่น วัวลูกผสมชาโรเลส์ที่กำลังขุนอยู่ตอนนี้ ซื้อมาในราคาตัวละ 30,000 บาท เอามาขุนได้ 1 เดือนแล้ว ต้องขุนให้ได้ 450 กิโลกรัมขึ้นไป

 

มีฟางเสริมให้

ในเรื่องของอาหารที่ใช้ขุนวัว เมื่อวัวมาถึงคอกใหม่ๆ จะต้องให้ฟางกินก่อนในช่วงแรกประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อให้วัวปรับตัว เพราะวัวมาจากหลายที่ บางทีอาจจะไม่เคยกินต้นข้าวโพดมาก่อน จากนั้นจึงให้ต้นข้าวโพดสับเป็นอาหารหยาบวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อตัว ต้นข้าวโพดสับ ซื้อจากในพื้นที่ในราคาตันละ 1,500 บาท เป็นต้นข้าวโพดสับใส่มาในถุงดำ น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ต่อถุง หากถุงไม่รั่วจะสามารถเก็บต้นข้าวโพดสับไว้ได้ประมาณ 2 เดือน

ระวัง!! อาหารข้น ห้ามให้มากบ้างน้อยบ้างเด็ดขาด

ในส่วนอาหารข้นนั้น ใช้อาหารข้นที่ผสมขายกันในพื้นที่ โดยให้อาหารข้นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อตัว เหมือนกันกับอาหารหยาบ วัวกินอาหารข้นตกตัวละ 10 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน

ในเรื่องการให้อาหารข้น ต้องให้ในปริมาณที่เท่ากันทุกวันอย่างให้วันละ 10 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน ก็ต้องให้เท่านั้นทุกวัน จะไปขี้เหนียวอาหารข้นบางวันให้มาก บางวันให้น้อยไม่ได้เพราะวัวจะกินอาหารข้นในปริมาณที่เท่ากันทุกวัน หากไปเพิ่มบ้างลดบ้างวัวจะน้ำหนักขึ้นช้า น้ำหนักขึ้นน้อย เป็นภาระให้เราขุนยาวนานขึ้นไปอีก ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปโดยใช่เหตุ

ราคาอย่าต่ำกว่ากิโลละ 90 บาท

เรื่องราคาขายวัวขุนก็สำคัญ หากราคาขายวัวขุน อยู่ที่กิโลกรัมละ 93 บาท ถือว่าคนเลี้ยงยังพออยู่ได้ หักต้นทุนแล้วยังพอมีกำไรนิดหน่อย แต่กำไรก็มาจากการที่วัวของเรา ต้องขุนให้ได้น้ำหนักมากเต็มที่เกิน 450 กิโลกรัมด้วย

เมื่อขุนวัวจนน้ำหนักเป็นที่พอใจ เกษตรกรควรโทรศัพท์ไปสอบถามราคาไปที่พ่อค้ารับซื้อวัวในพื้นที่ พ่อค้าคนไหนให้ราคามากจนพอใจก็จะตกลงขาย หากเจอปัญหาวัวราคาตก คนเลี้ยงวัวขุนรายย่อยมักหาทางออกโดยลดจำนวนวัวลง ขุนให้น้อยตัวลงเพื่อลดภาระ ลดความเสี่ยง อย่างเช่นจับมาเข้าขุนแค่ 3 ตัวเท่านั้น หากโชคดี ราคาวัวโครงลดลงด้วยก็ทำให้ต้นทุนต่ำลงไปอีกหน่อย แต่ถ้าหากราคาวัวขุนตกลงไปต่ำกว่ากิโลกรัมละ 90 บาท เกษตรกรรายย่อย คงอยู่ไม่ได้ คงต้องหยุดขุนวัวชั่วคราว