โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ) ชูผลิตภัณฑ์เด่น “น้ำพริกดาหลาสวรรค์” ปลูกกาแฟส่งกลุ่มแม่บ้าน

“ดอกดาหลา” เป็นไม้ดอกที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันอยู่ทั่วไป ปลูกได้ในทุกภาค ส่วนใหญ่ผู้คนในภาคใต้มักจะนำดอกดาหลามาใส่ในเมนูต่างๆ อย่างเช่น ขนมจีน หรือข้าวยำ บ้างก็นำมาทำเป็นน้ำดอกดาหลา แต่เพิ่งเคยเห็นน้ำพริกดอกดาหลา โดยใช้ชื่อว่า น้ำพริกดาหลาสวรรค์ อันเป็นผลงานของนักเรียนและคณะครูอาจารย์โรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่มี นางจุไรลี่ สาและ เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งเมื่อไปตั้งโชว์ที่ไหนก็ได้รับความสนใจ ขณะที่แม่บ้านบางคนซื้อไปหลายกระปุก

นางจุไรลี่ สาและ (ซ้ายสุด) พร้อมครูและนักเรียน โชว์น้ำพริกดอกดาหลา

เน้นแปรรูป สร้างรายได้

นางจุไรลี่ เล่าที่มาที่ไปของการทำน้ำพริกดอกดาหลาให้ฟังว่า ด้วยความที่เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ระดับดีเยี่ยมของจังหวัดยะลา โดยเน้นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเรื่องการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ด้านการประมง ด้านปศุสัตว์ การปลูกผัก เพาะเห็ด ทำปุ๋ย  สหกรณ์ และการแปรรูป เป็นกิจกรรมที่เด็กต้องทำเป็นประจำทุกวัน เพื่อจะส่งเสริมคุณลักษณะและปลูกฝังเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วัตถุดิบในการทำน้ำพริกดอกดาหลา

ทั้งนี้ กลุ่มแปรรูปเป็นกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเด็กๆ จะนำผลผลิตต่างๆ ที่มีในโรงเรียนมาแปรรูปเป็นอาหารแห้ง หรือเป็นอาหารต่างๆ ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน สิ่งหนึ่งที่ทางโรงเรียนพยายามส่งเสริมคือการแปรรูป ต้องสร้างรายได้ และต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่ในโรงเรียนหรือมีอยู่ชุมชน โดยเริ่มจากการสำรวจก่อนว่าชุมชนมีอะไรบ้าง ปรากฏว่าดอกดาหลาเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอยู่ในชุมชนจำนวนมาก แต่โดยปกติจะใช้ใส่ในขนมจีน หรือใส่ในข้าวยำเท่านั้น ซึ่งเก็บไม่ได้นาน ขณะที่ดอกดาหลามีจำนวนมาก และบางครั้งถูกปล่อยให้เหี่ยวไปเฉยๆ เด็กๆ จึงคิดทำโครงงานขึ้นมาเพื่อแปรรูปดอกดาหลาเป็นน้ำพริก เพราะน้ำพริกเก็บได้นาน นอกจากนี้ ดอกดาหลายังมีสรรพคุณในการลดความดันและลดเบาหวานได้ด้วย

บู๊ธของโรงเรียนในงานต่างๆ มีน้ำพริกดอกดาหลาให้ชิมกัน

ทั้งนี้ โรงเรียนได้เริ่มทำน้ำพริกดาหลาอย่างจริงจังเมื่อปี 2559 วิธีการทำจะใช้วัตถุดิบเหมือนน้ำพริกปกติ เช่น พริก กระเทียม แต่จะผสมกลีบดอกดาหลาเข้าไปด้วย โดยนำมาหั่นก่อนแล้วไปปั่น ใช้เนื้อใช้น้ำด้วย ทำให้มีกลิ่นดอกดาหลา รสชาติจะออกหวานๆ นิดหน่อย แต่กลมกล่อม หลังจากเด็กๆ ทำแล้วก็ให้ชุมชน ให้ผู้ปกครอง และเด็กชิม จากนั้นลองส่งประกวดศิลปหัตกรรมนักเรียนในระดับภาคใต้ ปรากฏว่าได้รับรางวัลเหรียญทองในระดับภาค

คาดหวังเป็นสินค้าโอท็อป

ดอกดาหลา

นางจุไรลี่ บอกว่า หลังจากได้เหรียญทองในระดับภาคแล้ว ก็นำผลผลิตตัวนี้มาทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ตอนนี้เริ่มจำหน่ายให้ชุมชน เริ่มประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่เบตงรู้จัก เพราะน้ำพริกดาหลา เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ชุมชน และสามารถก้าวสู่การเป็นสินค้าโอท็อปของชุมชนบ้านกาแป๊ะกอตอได้ ซึ่งน้ำพริกดาหลามีสรรพคุณต่อร่างกาย คือลดความดัน และลดเบาหวานได้ด้วย

ช่วง 2 ปีกว่าแล้วที่ทางโรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ) ทำน้ำพริกดาหลา ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนรสชาติมาหลายครั้ง เริ่มจากตอนแรกใช้ดอกดาหลาเยอะ ตอนนี้ลดปริมาณดอกดาหลาให้น้อยลงเหลือประมาณ 50% จากเดิมใช้ 70% เพื่อให้รสชาติถูกปากผู้บริโภค สาเหตุที่ลดปริมาณดอกดาหลาเพราะกลิ่นอาจจะแรงไปสำหรับคนบางคน

ผู้ร่วมปลูกต้นกาแฟ

แม้ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 (บ้านกาแป๊ะกอตอ) จะไม่กล้าฟันธงว่าโรงเรียนทำน้ำพริกดาหลาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย แต่ได้ย้ำว่า นี่เป็นสูตรเฉพาะของโรงเรียนเอง และจากที่ทำมาลูกค้ามักจะถามเรื่องอย. และวันหมดอายุ รวมทั้งข้อมูลทางโภชนาการ ซึ่งทางโรงเรียนก็กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้เครื่องหมาย อย. เพราะถ้าได้ อย.ก็สามารถผลิตเป็นสินค้าโอท็อปของชุมชนได้ โดยโรงเรียนมีห้องคหกรรมอยู่แล้ว

อีกทั้งการทำน้ำพริกไม่ได้ใช้พื้นที่อะไรมาก และนักเรียนก็ทำกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว ในกรณีที่มีออเดอร์มาเยอะจะมีเครือข่ายผู้ปกครองที่สนใจเข้ามาช่วยด้วย และไม่ต้องกังวลเรื่องจะขาดแคลนดอกดาหลา เพราะในชุมชนมีเยอะมาก

สำหรับผู้สนใจอยากได้สูตร หรืออยากชิมน้ำพริกดาหลาสวรรค์ ติดต่อได้ โทร.มาที่ คุณครูยุทิญา แซ่ลิ่ม โทร. (087) 479-4030

เด็กๆ กับต้นกาแฟที่ต้องช่วยกันดูแล

นอกจากจะให้เด็กทำน้ำพริกดาหลาแล้ว ทางโรงเรียนยังได้จัดพื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าด้วย เพื่อป้อนให้กับกลุ่มแม่บ้านที่ผลิตกาแฟจำหน่าย โดยนางจุไรลี่ ให้ข้อมูลว่า ได้ใช้พื้นที่ของโรงเรียนจำนวน 5 ไร่ ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า จำนวน 1 พันต้น สาเหตุที่ปลูกเพราะได้คุยกับคณะวิจัยโกปี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในโครงการการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนากลุ่มผลิตโกปี๊ (กาแฟโบราณ) อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สนับสนุนโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรกาแป๊ะกอตอใน (กลุ่มผู้ผลิตโกปี๊วังเก่า) พบว่า ในการผลิตโกปี้ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบคือเมล็ดกาแฟจากชุมพร ถ้าชุมพรไม่ขายให้ หรือไม่พอ ทางกลุ่มแม่บ้านก็ต้องจะหยุดผลิต

ประเด็นนี้ทางโรงเรียนมองว่า กลุ่มแม่บ้านคือผู้ปกครองของนักเรียน ถ้าเกิดกลุ่มแม่บ้านมีคุณภาพชีวิตดี มีรายได้ นักเรียนก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ซึ่งเป็นความสัมพันธ์กัน เลยมองว่าอะไรที่สามารถช่วยเหลือได้ก็จะช่วยเหลือ

เด็ก-ผู้ปกครองช่วยกันปลูกกาแฟ

ทางคณะนักวิจัยจึงได้เสนอแนวคิดว่า ถ้าโรงเรียนมีพื้นที่ในการปลูกกาแฟได้จะเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ไม่มีเรื่องวัตถุดิบ ประกอบกับพื้นที่หลังโรงเรียนว่างรกร้างอยู่ เป็นแค่สวนผลไม้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงตกลงปลูกกาแฟ อีกอย่างโรงเรียนก็เป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้เรื่องพวกนี้อยู่แล้ว และมีกลุ่มยุวเกษตร มีครูเกษตร เป็นกลุ่มที่ทำเกษตรได้ มีปัจจัย มีความพร้อม ดังนั้น จึงคุยกับ นายกสมยศ เลิศลำยอง นายกเทศมนตรีเมืองเบตง ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณ

หลังจากนั้น ทางเทศบาลเบตงก็มาช่วยปรับพื้นที่ ซึ่งทางเกษตรอำเภอเบตง แนะนำว่า ควรจัดตั้งเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร เพราะจะสามารถสนับสนุนงบประมาณต่างๆ ได้ โดยให้กลุ่มคณะกรรมการสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร กลุ่มนี้จะมีตัวแทนครู ตัวแทนผู้ปกครอง ตัวแทนศิษย์เก่า มีตัวแทนชุมชน มีโต๊ะอิหม่าม เข้ามาร่วม เป็นการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน

หลังจากนั้นพอจัดตั้งเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร จะเสนอขอรับงบประมาณต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก็มาทำวิจัยเรื่องโกปี้ และได้ผลักดันเรื่องของบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทาง ศอ.บต.จึงให้งบประมาณกับโรงเรียน 150,000 บาท เพื่อให้ทำเป็นโครงการปลูกกาแฟบ้านตาแป๊ะกอตอ ขึ้น โดยซื้อต้นกาแฟ ซื้อปุ๋ย และทำรั้ว ให้สวยงาม

ปัจจุบัน ทางกลุ่มปลูกกาแฟบ้านตาแป๊ะกอตอ ใช้กลุ่มยุวเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนมาทำเรื่องของการปลูกกาแฟ และคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง คณะครู มีส่วนร่วมในการปลูกกาแฟด้วย ตอนนี้อายุของกาแฟเกือบ 1 ปีแล้ว คิดว่าประมาณอีก 2 ปี จะได้เก็บเมล็ด และผลผลิตส่วนนี้จะนำกลับมาที่กลุ่มแม่บ้าน ให้เป็นต้นทุนการผลิตโกปี้ของชุมชน

นางจุไรลี่ ให้รายละเอียดด้วยว่า ในการปลูกกาแฟ จำนวน 5 ไร่นี้ ทางโรงเรียนทำเป็นโครงการ “พ่อถาง แม่ปลูก ลูกรักษา” โดยผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ช่วยขุด ช่วยปลูก ส่วนเด็กจะเป็นคนช่วยรดน้ำดูแล  ถือเป็นโครงการที่มีส่วนร่วมระหว่างผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และคณะครูในโรงเรียน

นับเป็นโรงเรียนตัวอย่างอีกแห่งที่ใช่จะสอนเนื้อหาสาระความรู้อย่างเดียว แต่ยังให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เรื่องการงานอาชีพที่สามารถตอบโจทย์ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี