แปลงใหญ่ข้าว จ.ฉะเชิงเทรา ต้นแบบเกษตรแปลงใหญ่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมปทุมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน

กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ผลสำเร็จกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว ต.เขาดิน จ.ฉะเชิงเทรา ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมปทุมคุณภาพดีเกรดพรีเมียม ด้วยวิธีการปลูกและดูแลที่เน้นใช้ปัจจัยการผลิตตามธรรมชาติ ส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ผลผลิตข้าวสูง ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็ง

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวตำบลเขาดิน รวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่เมื่อปี 2561 มีพื้นที่ในการปลูกข้าว 799 ไร่ ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกจำนวน 36 ราย โดยกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่จะเน้นปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี จากนั้นศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรีจะนำเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั่วไป จากการเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ส่งผลให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้จากการหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพทำให้ลดต้นทุนปุ๋ยลงจาก ไร่ละ 250 บาทเหลือ ไร่ละ 200 บาท โดยเฉลี่ย ในขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ที่ผ่านมา มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกกลุ่ม เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มและการวางแผนการผลิต ให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการผลิตของกลุ่มมากขึ้น มีการอบรมและฝึกปฎิบัติการผลิตสารชีวภัณฑ์เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว  โดยกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา/สำนักงานเกษตรอำเภอบางปะกง /สถานีพัฒนาทีดินฉะเชิงเทรา พร้อมกับจัดทำแปลงเรียนรู้เพื่อเป็นแปลงตัวอย่างสาธิตและเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกกลุ่มในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว  โดยศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา กรมการข้าว  รวมไปถึงการอบรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐาน GAP โดยกรมการข้าวร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร

จากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ทำให้สมาชิกมีที่ปรึกษาในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ก่อให้เกิดความสามัคคีในกลุ่ม ทำให้ที่ผ่านการการเข้าไปให้การสนับสนุนของเจ้าหน้าที่เกิดความคล่องตัวและเกิดผลสำเร็จกับเกษตรกรเป็นที่น่าพอใจมาก ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของแปลงใหญ่ข้าว ต.เขาดิน จ.ฉะเชิงเทรา มีจุดเด่นที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากชาวนาจะใช้ภูมิปัญญาการทำนาปีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชนในพื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา คือ การทำนาร่วมกับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ผืนเดียวกัน โดยขุดคูน้ำลึกประมาณ 70 ซม. ไว้ล้อมรอบแปลงนา เพื่อทำนาขาวัง (นาปี) ในช่วงน้ำจืดและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปูทะเล กุ้ง ปลา ) ในช่วงน้ำเค็ม เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าว โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มีคุณภาพดีส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่ที่มีความเค็มเล็กน้อยไม่ได้จืดสนิททำให้หญ้าหรือพืชพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ต้องการไม่สามารถเติบโตได้ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่นี่จึงมีสิ่งเจอปนน้อยไปจนถึงไม่มีเลย อีกทั้งคูน้ำที่ขุดไว้ล้อมรอบแปลงนายังทำให้เวลาจะเก็บเกี่ยวพื้นนาจะแห้งได้ดีกว่า ข้าวที่เก็บเกี่ยวจะมีความชื้นต่ำเป็นการเพิ่มคุณภาพอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีผลผลิตข้าวรวม 639 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ 800 กิโลกรัม/ไร่ ราคาผลผลิตเฉลี่ย 12.40 บาท/กิโลกรัม

นอกจากกระบวนการผลิตข้าวที่ผนวกกับภูมิปัญญาแล้วกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มตัวอย่างการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพที่ใส่ใจการดูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยการเลือกใช้วิธีไถกลบตอซังและฟางข้าวแทนการเผาไหม้ที่จะทำให้หน้าดินเสื่อมโทรม ทำให้เศษซากจากสัตว์น้ำที่ปล่อยเลี้ยงในแปลงข้าว ก่อนการปลูกข้าวช่วยเพิ่มธาตุอาหารแก่ต้นข้าว ช่วยทำให้ลดการใช้ปัจจัยทางการเกษตรอย่างปุ๋ยเคมีให้น้อยลง นับเป็นต้นแบบแปลงใหญ่ สำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแปลงข้าวและบริเวณแปลงข้าวให้คงสภาพความอุดมสมบูรณ์เกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์ในบริเวณแปลงข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้มีปริมาณที่สูงและมีคุณภาพดีไปพร้อม ๆ กัน