มกอช.โหมประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรภายใต้สัญลักษณ์ Q

“มกอช.”โหมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรภายใต้สัญลักษณ์   Q  เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) กล่าวว่า  ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้ขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหารและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิต ด้วยการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและอาหารให้สูงขึ้นจากการผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐานสากล มกอช.ได้ขานรับนโยบายดังกล่าวด้วยการเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร Q ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ใช้แสดงกับสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดภัย

รวมทั้งได้ขอความร่วมมือกับทางภาคเอกชน ผู้ประกอบการค้าประเภท Modern trade เช่น ท็อปส์ บิ๊กซี เดอะมอลล์ แม็คโครรวมถึงตลาดสดต่าง ๆ ผ่านทางสมาคมตลาดสด ฯลฯ เพื่อให้ช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรและอาหารที่มีเครื่องหมาย Q โดยเปิดให้มีมุมจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมาย Q ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าดีมีคุณภาพให้มากยิ่งขึ้นและผู้บริโภคก็สามารถเลือกหาซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยและมีมาตรฐานได้มากขึ้นและง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ “Q” ต้องรักษาคุณภาพ ความปลอดภัย และได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพราะหน่วยงานที่ให้การรับรองจะทำการติดตามตรวจสอบเป็นระยะ หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่รักษาคุณภาพ ความปลอดภัย ตามมาตรฐาน จะถูกยกเลิกการใช้ “Q” ฉะนั้นสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการเลือกหาสินค้าคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ต้องเลือกสินค้าที่มี Q เท่านั้น.

นางสาวจูอะดี   กล่าวด้วยว่า   สำหรับเครื่องหมาย Q มี 2 แบบคือ 1.Q สีเขียวทรงกลมอยู่ในกรอบหกเหลี่ยมสีเขียวเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ และ 2. Q สีเขียวทรงกลมเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป  สำหรับมาตรฐานบังคับปัจจุบันมีจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่  1.หลักปฏิบัติสาหรับกระบวนการรมผลไม้ สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2.เมล็ดถั่วลิสง: ข้อกำหนดปริมาอะฟลาทอกซิน 3.การปฏิบัติที่ดีสาหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง  5.การปฏิบัติที่ดีสาหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ 6.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรค   นอกจากนี้  มกอช.ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551แล้ว จำนวนทั้งสิ้น   322   เรื่อง  ได้แก่  มาตรฐานสินค้า  117  เรื่อง  มาตรฐานระบบการผลิต  158  เรื่องและมาตรฐานข้อมูลกำหนดทั่วไป  47  เรื่อง

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถขอการรับรองมาตรฐานสินค้า กับผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ภาครัฐ  6  แห่ง ประกอบด้วย กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)และภาคเอกชน  10  แห่งคือ  บริษัทโกลบอล เซอร์ติฟิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด  สำนักรับรองระบบคุณภาพ(สรร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.)  สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บริษัท ไทย จี เอ พี 09 จำกัด  บริษัทเอเจเอ รีจีสตร้าส์ จำกัด  บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท ทูฟ นอร์ด(ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วูฟแกงค์ พล์าท (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท อินเตอร์เทค อินดัสทรี แอนด์  เซอร์ทิฟิเคชั่น เซอร์วิสเซส(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท  เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ ผู้ได้รับประโยชน์การใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ในกรณีเป็นผู้ผลิต ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในการแสดงและใช้เครื่องหมายรับรองนำไปใช้ประโยชน์ในการเจรจาต่อรองทางการค้า นำไปใช้ประโยชน์ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่เพื่อแนะนำสินค้าที่ผลิตตามมาตรฐาน เพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตร เพื่อให้ได้สินค้าที่มีมาตรฐานคุณภาพและปลอดภัย ตอบสนองความต้องการ ของผู้บริโภค

ผู้จำหน่ายสินค้า Q สามารถใช้ประโยชน์ในการแนะนำเผยแพร่การจำหน่ายสินค้าที่ได้รับการรับรองและแสดงเครื่องหมายรับรอง สามารถตอบสนองแหล่งที่มา ของสินค้าทั้งในกรณีปกติ และ/หรือ กรณีพบว่าสินค้ามีปัญหาส่วนผู้บริโภค มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการซื้อสินค้าที่มีมาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัยภายใต้เครื่องหมายรับรอง และ สามารถตามสอบแหล่งที่มาของสินค้าทั้งในกรณีปกติ และ/หรือ กรณีพบว่าสินค้ามีปัญหา

“หากถามว่าสินค้า Q ดีอย่างไร มกอช.ให้ความมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Q ทุกชนิดเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัย  ปลอดภัยจากสารเคมี และสิ่งแปลกปลอม  มีคุณภาพ  ผ่านการคัดคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตร และสินค้ามีคุณภาพดี  เหมาะสมต่อการบริโภค และได้มาตรฐานผลิตด้วยระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน เทียบเท่ามาตรฐานสากล เช่น GAP  GMP ผ่านการรับรองเป็นสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบ และรับรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”  นางสาวจูอะดี  กล่าว