ทำไม? ‘ถ่านไม้มะขาม’ จึงเป็นที่ต้องการของตลาด

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมเดินทางไปต่างจังหวัดหลายแห่ง พบมีเกษตรกรเผาถ่านไม้เป็นอาชีพเสริม ทั้งที่จังหวัดชัยนาทและภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดเลย ที่มีการโค่นต้นมะขามหวาน แล้วนำมาเผาถ่าน ผมสอบถามชาวบ้านได้รับคำตอบว่าเป็นที่ต้องการของตลาด และสงสัยว่า เพราะเหตุใดเกษตรกรจึงนิยมตัดโค่นต้นมะขามหวานนำมาเผาถ่าน ขอคำแนะนำด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ประสพสุข ค้านิยม
ลพบุรี

ตอบ คุณประสพสุข ค้านิยม

จังหวัดชัยนาท เป็นแหล่งผลิตถานไม้ไผ่เป็นอาชีพเสริม หลายอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอวัดสิงห์ ด้วยที่นี่มีป่าไผ่ธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ข้อดีของถ่านไม้ไผ่ เป็นถ่านไม้ที่ให้ความร้อนสูงและไม่มีควัน เหมาะสำหรับไปใช้ในกระบวนการตีเหล็กทำมีดพร้า หรือจอบ เสียม

ส่วนที่ จังหวัดเลย ซึ่งเคยเป็นแหล่งปลูกมะขามหวานเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยครอบคลุมพื้นที่มากถึง 49,881 ไร่ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนมะขามหวานมีการตัดฟันโค่นต้นมะขามหวานที่ปลูกไว้ในสวน แม้ให้ผลผลิตแล้วก็ตาม เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ คือ มะขามหวานเป็นพืชที่ดูแลรักษายาก ต้องฉีดสารเคมีป้องกันโรค และแมลงศัตรูหลายครั้ง การเก็บเกี่ยวผลผลิตสิ้นเปลืองแรงงานมาก ประการสำคัญเนื่องจากกระแสความต้องการปลูกยางพารามากขึ้น เกษตรกรจึงลดความสำคัญของมะขามหวานลงดังกล่าว ถึงขั้นการตัดโค่นแล้วจำหน่ายให้ผู้มีอาชีพเผาถ่านนำไปใช้ประโยชน์

การผลิตถ่านไม้มะขามหวาน เริ่มจากการทำเตาเผาถ่านอย่างง่าย มีโครงสร้างทำด้วยอิฐทนไฟ แล้วฉาบภายนอกและภายในด้วยดินเหนียว ขนาดบรรจุประมาณ 2-3 คิวบิกเมตร มีประตูสำหรับใส่เนื้อไม้เข้าและออกจากเตาเพียงประตูเดียว มีช่องขนาดเล็กเปิดไว้ 2 ช่อง ตอนท้ายของเตา เพื่อปล่อยควันออกจากเตา และทำท่อดักน้ำส้มควันไม้ไว้ที่ช่องใดช่องหนึ่ง

เมื่อบรรจุเนื้อไม้เต็มเตาแล้วจึงจุดไฟและปิดประตูด้านหน้า พร้อมฉาบด้วยดินเหนียวที่บานประตู เนื้อไม้จะแปรสภาพเป็นถ่าน ใช้เวลาเผาไหม้ รวม 4 วัน ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยที่อุณหภูมิระหว่าง 800-1,000 องศาเซลเซียส เพื่อให้ไฟในเตาดับลง ให้ปิดช่องเล็กทั้ง 2 ช่อง พร้อมกับละเลงผนังเตาด้วยดินเหนียวทั่วทั้งเตา เพื่อลดอุณหภูมิของเตาเผาอีกทางหนึ่ง หลังจากไฟในเตาเผาดับสนิทแล้ว จึงเปิดประตูเตาเผานำเอาส่วนไม้ออก ผลผลิตแต่ละรอบจะได้ถ่านไม้ 10 กระสอบ พลาสติกที่ใหญ่กว่าถุงปุ๋ยพอประมาณ ส่งจำหน่ายตามร้านอาหารในราคากระสอบละ 250 บาท

ความนิยมการใช้ถ่านไม้มะขามหวาน เพราะเป็นถ่านไม้ที่ให้ความร้อนสูง ประมาณ 700-800 กิโลแคลอรี ต่อกิโลกรัม และมีควันน้อยมาก ดังนั้น อาชีพการผลิตไม้มะขามหวานยังจะดำเนินการไปได้อีกหลายปีอย่างแน่นอน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2562