สมาคมอ้อย-อุตสาหกรรมอ้อย เรียกร้องรัฐบาลไทยอย่าซ้ำเติมอุตสาหกรรมเกษตรไทย

สมาคมอ้อย-อุตสาหกรรมอ้อย เรียกร้องรัฐบาลไทย อย่าซ้ำเติมอุตสาหกรรมเกษตรไทย กรณีแบนสารเคมี ตรงข้ามอเมริกา-ออสเตรเลีย-บราซิล ปกป้องสิทธิ์สินค้าของประเทศตนเอง

สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย หวั่นเดือดร้อนหนักในปีหน้า อุตสาหกรรมอ้อยคาดสูญเม็ดเงินปีหน้ากว่า 3 แสนล้านบาท เหตุแบนสารเคมีเกษตร กระทบต้นทุน กำลังการผลิตลด ร้องรัฐบาลควรช่วยภาคเกษตรของไทย เหมือนรัฐบาลต่างชาติ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบราซิล ที่ออกมาปกป้องสิทธิ์สินค้าเกษตร และเกษตรกรของตนเอง

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “ขณะนี้มีการเรียกร้องจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย บราซิล เพื่อปกป้องสินค้าเกษตรถั่วเหลืองของตนเอง แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทย เช่น อ้อย ที่ทำเงินเข้าประเทศ และสร้างรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท ต่อปี ทันทีที่มีข่าวแบน 3 สารเคมี ตลอดสองปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้วิเคราะห์ตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากยกเลิกพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อย เพราะเป็นสารตัวเดียวในกลุ่ม non selective ที่ไม่เป็นสารดูดซึม ปลอดภัยต่ออ้อย ระยะปลอดฝนสั้น ตรงกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย และยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้ เกษตรกรชาวไร่อ้อยทราบดีว่า กลูโฟซิเนต และไกลโฟเซต จะใช้ฉีดลงโดยตรงในแปลงอ้อยไม่ได้ เพราะเป็นสารกึ่งดูดซึม และดูดซึม ทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโตเสียหาย

ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย

การมีมติแบนพาราควอต จึงส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรไร่อ้อยแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ ผลผลิตอ้อยรวมต่อปีประมาณ 130 ล้านต้น ถ้าคิดง่าย ๆ ว่า 10 ตัน ผลผลิตหายไป 1 ตัน เท่ากับว่าผลผลิตหายแล้ว 13 ล้านตัน คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริงผลผลิตอาจหายไปมากกว่านี้ และต้นทุนเกษตรกรต้องเพิ่มขึ้นแน่นอน อีกทั้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ ขาดวัตถุดิบ ต้นทุนผลิตสูงขึ้น รวมทั้งกระทบยังส่วนอื่นๆ อาทิ ไม่สามารถส่งกากอ้อยไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย

หากเป็นเช่นนี้ ปีหน้า คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมอ้อยอาจสูงถึง 5 แสนล้านบาท และยังต้องเสียศักยภาพความเป็นผู้นำในการส่งออกน้ำตาลให้ออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งสองประเทศนั้นก็ยังอนุญาตให้ใช้พาราควอตในอุตสาหกรรมการผลิตอ้อยในประเทศของเขา

“รัฐบาลควรมองถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศ เป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผลกระทบกับสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน เพราะทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท เช่นเดียวกับที่สหรัฐออกมาปกป้องการส่งออกถั่วเหลืองของตนเอง หลังจากรู้ว่าเราจะแบนสารเคมี ทั้งที่สหรัฐนอกจากจะใช้ไกลโฟเซต ยังใช้สารพาราควอตในถั่วเหลือง และพืชอื่น ๆ ด้วย แต่รัฐบาลไทยนอกจากไม่ปกป้องสินค้าเกษตรไทยแล้ว ยังซ้ำเติม ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียโอกาสในการแข่งขันสูญเสียรายได้เข้าประเทศ ที่สำคัญไม่ปกป้องเกษตรกรไทยเหมือนที่กำลังปกป้องสินค้าเกษตรจากต่างชาติ สมาคมฯ จะนำเรียนท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ท่านรองนายก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ท่านต้องไม่ดูผลกระทบที่จะเกิดกับต่างชาติ และต้องไม่ห่วงใยสินค้านำเข้าเพียงอย่างเดียว จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อปกป้องสินค้าเกษตร และเกษตรกรไทยด้วย เพราะต่างชาติก็ยังมีการใช้ทั้งไกลโฟเซต และพาราควอต ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย แคนนาดา ญี่ปุ่น และอีกกว่า 80 ประเทศ เกษตรกรจากประเทศเหล่านี้ก็ใช้สารพาราควอตเหมือนเกษตรกรไทย เราต้องศึกษาจากเขาว่าเขาใช้อย่างไร มีวิธีการอย่างไร การจะแบนสารเคมีตัวนั้นตัวนี้ตามกระแส และแรงกดดัน โดยไม่คำนึงถึงข้อมูลความจริงทางวิชาการ และผลกระทบอย่างรอบด้านจึงไม่ควรเกิดขึ้น วันนี้เราถูกอเมริกาตัด GSP คิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้านบาท แต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยทำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท” ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ กล่าวสรุป